เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
CITY SIGHT เมืองที่มองไม่เห็นSALMONBOOKS
คำนำ




  • คำนำสำนักพิมพ์


    คุณพอใจในเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่แค่ไหน?

    สำหรับเราแล้ว การใช้ชีวิตในเมืองเป็นหัวข้อที่หยิบมาคุยกันได้แทบทุกวัน

    ไหนจะเรื่องการจราจรที่ไม่ว่าช่วงไหนของวันก็ติดเอี้ยด เรื่องของทางเดินเท้าที่วันดีคืนดีก็มีมอเตอร์ไซค์บีบแตรไล่ มีพ่อค้าแม่ขายวางของเกลื่อนกลาดจนไม่มีที่ขยับตัว เรื่องของการขนส่งที่ดูเหมือนไม่เพียงพอต่อความต้องการ เรื่องของต้นไม้ใบหญ้าที่หากไม่ถูกตัดโค่นล้มก็ต้องดั้นด้นไปสูดหายใจตามสวนสาธารณะ ซึ่งกว่าจะฝ่าไปถึงก็อาจปิดแล้ว หรือถ้ารีบวิ่งไปก็มีสิทธิ์ล้มหัวคะมำเพราะพื้นกระเบื้องที่ดันไม่เรียบเนียน

    บทสนทนาส่วนใหญ่มักจบลงด้วยการถอนหายใจ บางทีอาจเป็นไปได้ว่าเราไม่พอใจในเมืองของตัวเองมากนัก

    เราคิดต่อไปว่าทำไม

    ส่วนหนึ่งคงเพราะเมืองที่น่าพึงพอใจควรเป็นเมืองที่เราหย่อนใจได้ระดับหนึ่ง หากเมืองในทุกวันนี้กลับเป็นเหมือนสนามอารมณ์ที่พร้อมปะทุได้ตลอดเวลา

    อีกส่วน เพิ่งเกิดขึ้นในเร็ววัน มันเกิดขึ้นหลังจากเราอ่านหนังสือในมือคุณจบลง

    CITY SIGHT เมืองที่มองไม่เห็น เป็นบทความคัดสรรของ ‘สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์’ หรือ ‘ดร.อ้อย’ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว องค์กรที่ให้ความรู้เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกับคนไทยมาเนิ่นนาน

    เรื่องราวที่ ดร.อ้อย เลือกมาพูดล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

    ครบครันทั้งเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เพียบพร้อมไปด้วยเรื่องเล็กๆ ที่เราเคยมองข้าม

    หลายสิ่งชวนให้คิดต่อ ทั้งในเชิงเปรียบเทียบว่าทำไมเมืองของเราถึงไม่เหมือนเขา หรือในเชิงสร้างสรรค์ว่าแล้วต้องทำยังไง เราถึงจะมีชีวิตท่ามกลางเมืองแบบนั้นได้บ้าง

    ยอมรับว่าเราเศร้านิดหน่อยที่เมืองตรงหน้าดูห่างไกลจากภาพฝัน

    แต่ก็ยอมรับเหมือนกัน ว่าเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ เราแอบใจชื้นเล็กๆ และคิดว่าคงถอนหายใจแบบข้างต้นน้อยลง

    เราอยากให้เมืองเป็นยังไง? เราอยากใช้ชีวิตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมแบบไหน?

    ลองเป็นส่วนหนึ่งที่ดีในเมืองก่อน

    แล้วเมืองที่เราอยากเห็นอาจปรากฏขึ้นในสักวัน


    สำนักพิมพ์แซลมอน


  • คำนิยม: สายตาพิเศษ


    ชื่อหนังสือ เมืองที่มองไม่เห็น ประจวบเหมาะกับความรู้สึกที่ผมมีต่อพี่อ้อย—สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว พอดิบพอดี

    ตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน, ผมรู้สึกว่าความพิเศษของพี่อ้อยอยู่ที่ ‘สายตา’ พี่อ้อยสามารถมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น เป็นสายตาที่เฉียบคม ลุ่มลึก และ (สำหรับผมเอง) น่ากลัวหน่อยๆ เพราะเมื่ออยู่ต่อหน้า ก็คล้ายกับว่าเราจะหลบหรือซ่อนอะไรจากพี่อ้อยไม่ได้เลย ตอนเจอกันครั้งแรกๆ พี่อ้อยมองเพียงปราดเดียวก็อธิบายตัวผมได้ตรงเผงจนทำให้หวั่นใจ เป็นสายตาราวกับมองทะลุทุกอย่างและทุกคนเข้าไปจนถึงแก่น

    เมื่อเราเสพสื่ออย่างเดียวกัน บางคนอาจมองสื่อนั้นในเชิงความบันเทิงหรือพิจารณาที่แก่นเรื่อง แต่สายตาของพี่อ้อยนั้นมองแตกต่างออกไป ในขณะที่เรากำลังพูดคุยกันถึงความสมจริงของภาพยนตร์ไซไฟ พี่อ้อยพิจารณาความสมจริงของภาพยนตร์เรื่องนั้นด้วยการมีหรือไม่มีอยู่ของ Algae ในขณะที่พวกเราเล่นบอร์ดเกมอย่างสนุกสนาน พี่อ้อยก็เพลิดเพลินไปกับการพิจารณาความถูกต้องของพันธุ์นกที่วาดอยู่บนกระดาน

    จะให้ทำเป็นมองไม่เห็นก็คงไม่ได้ เพราะธรรมชาติคือชีวิตของเธอ

    ความรู้สึกเช่นนั้นมีอยู่ครบถ้วนใน CITY SIGHT เมืองที่มองไม่เห็น พี่อ้อยชี้ให้เรามองดูรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวที่ไม่ ‘เล็กน้อย’ อย่างขนาด เธอพาไปสำรวจประเด็นที่เราไม่เคยรู้ว่ามีอยู่มาก่อน—หรือถ้าให้ใจร้ายไปกว่านั้น ก็เป็นประเด็นที่เรารู้ว่ามีอยู่แต่ไม่เคยสนใจหรือเห็นค่าความสำคัญของมัน เป็นงานเขียนที่เฉียบขาดและแม่นยำ พี่อ้อยถักทอองค์ความรู้ทั้งเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ สานเป็นเรื่องราวเดียวอย่างไร้รอยต่อ

    คุณจะทำเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อรู้เรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง

    CITY SIGHT เมืองที่มองไม่เห็น เป็นการรวบรวมงานเขียนที่เหมือนกับรถไฟเหาะ บางตอนทำให้คุณตาสว่าง บางตอนทำให้ตัวเบา บางตอนทำให้รู้สึกหนักอึ้ง และที่สำคัญที่สุด บางตอนทำให้เรารู้สึกตัวลีบ—สำคัญตนน้อยลง ให้ความสำคัญกับโลกรอบข้าง และ ‘มองเห็น’ มันมากกว่าเดิม


    ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
    บรรณาธิการบริหาร The MATTER


  • คำนำผู้เขียน


    เราอยู่ในยุคอลหม่าน และใต้คลื่นปั่นป่วนของความอลหม่านคือปัญหาการจัดการและจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกชีวิตในโลกต้องพึ่งพา

    เมื่อ 60 ปีก่อน ประชากรยังไม่ล้น ทรัพยากรธรรมชาติมีมากมาย เราก็จ้วงใช้แบบไม่คิดมาก วันนี้มันกลับกัน จำนวนคนเยอะขึ้น ทรัพยากรเหลือน้อย แถมมีปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสม และทุกคนก็ล้วนอยากสะดวกสบายเท่ากัน ทางออกเดียวของเราจึงต้องหาวิธีใช้และจัดการทรัพยากรในรูปแบบใหม่ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม หลายอย่างเป็นทางออกแนวใหม่ที่บรรพบุรุษเราอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เราไม่เคยเจอกับปัญหานี้—อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในระดับโลก

    ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงหันมาสนใจเมือง

    เมืองเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่เป็นได้ทั้งตัวสร้างปัญหาและตัวให้ทางออก เมืองเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ผลิต 80% ของจีดีพีโลก แต่มันก็บริโภคทรัพยากรทั่วโลกถึง 75% ผลิตขยะ 50% และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60-80%

    ขณะเดียวกันมันก็กินพื้นที่ไม่มากนัก ราว 3% ของผืนแผ่นดินโลก และรวมคนจำนวนมากเข้ามาอยู่ด้วยกัน ในสิบปีที่ผ่านมา เรามีคนอาศัยอยู่ในเมืองทั่วโลกมากกว่าอยู่ในชนบท

    เมืองจึงมีศักยภาพที่จะเป็นได้ทั้งผู้ร้ายและพระเอก เช่นเมืองอย่างกรุงเทพฯ มีลักษณะเหมือนปรสิตยักษ์ ดูดกินทรัพยากรจากทั้งประเทศ เฉพาะน้ำประปาก็ใช้ถึง 54% ของราชอาณาจักร ไฟฟ้าใช้ 30% ยังไม่ต้องพูดถึงวัตถุดิบอื่นๆ หรืองบประมาณแผ่นดิน แถมคนเมืองยังไม่ค่อยจะรู้ว่าความสะดวกสบายเหล่านี้มาจากไหน แย่งอะไรจากใครที่ไหนมาบ้าง เมื่อเกิดความขัดแย้งกับคนนอกกรุงก็ไม่อาจเข้าใจได้

    แต่ถ้าเราปรับและพัฒนาเมืองให้เป็นระบบนิเวศที่ดูแลตัวเองได้เหมือนระบบนิเวศในธรรมชาติเช่นป่าดิบเขตร้อน ผลิตพลังงานได้เอง ฟอกอากาศได้เอง บำบัดน้ำได้เอง หมุนเวียนวงจรแร่ธาตุได้เอง ผลิตอาหารได้เองระดับหนึ่ง มีความยืดหยุ่นสามารถรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ได้โดยไม่ต้องโยนความเดือดร้อนไปสู่ผู้อื่น เมืองจะกลายเป็นทางออกที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างน่าอัศจรรย์ มันจะกลายเป็นถิ่นอาศัยที่ดีของมนุษย์ ลดการเบียนเบียนธรรมชาติ เพื่อให้ธรรมชาติทั้งนอกเมืองและในเมืองสามารถเกื้อหนุนคุณภาพชีวิตของเราสืบต่อไป ผ่านการปฏิสัมพันธ์ของนานาชีวิตต่างสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมโลกใบเดียวกับเรา ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกลไกทางนิเวศไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    หนังสือเล่มนี้หากพลิกดูเผินๆ อาจเหมือนรวมบทความหลากหลายประเด็นในหลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับเมืองบ้าง ไม่เกี่ยวกับเมืองโดยตรงบ้าง แต่ทั้งหมดมีทิศทางเดียวกัน คือความหวังให้เราช่วยกันหาทางออกไปสู่การสร้างสรรค์เมืองที่ใจดีต่อทุกชีวิต มีปัญญาทางนิเวศพื้นถิ่น ออกแบบเมืองบนพื้นฐานความเข้าใจธรรมชาติ พร้อมที่จะรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติในอนาคตได้

    ผู้เขียนเน้นการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับธรรมชาติแม้เราจะอยู่ในเมือง เพราะมันเป็นฐานของทุกสิ่งที่มีค่า ความสุข สุขภาพ และปัญญาสร้างสรรค์ เป็นโจทย์ท้าทายในยุคอลหม่านแห่งศตวรรษ 21

    ถ้าทำได้ เราจะไม่แค่ ‘พัฒนาอย่างยั่งยืน’ แบบพอประคองเอาตัวรอด แต่เราจะสามารถเจริญงอกงามมีชีวิตชีวาได้ แม้จะรับทอดโลกที่พิกลพิการทางธรรมชาติมาจากคนรุ่นก่อนก็ตาม


    สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in