เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
In My Dream, In My Thoughtdouble_sherbet
The Crown SS1: ชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืม (3)
  • The Crown Season 1 (10 Episodes, Netflix)


    Episode 10: Gloriana
    Gloriana, Good Queen Bess 

    The Crown SS1 ตอนที่ 10 ตัดจบที่ภาพนายกเอเดนอยู่ในห้องคนเดียวขณะดูภาพฉายเกี่ยวกับวิกฤตคลองสุเอซ นายกเอเดนได้เกิดอาการปวดจึงหยิบยาขึ้นมาฉีดใส่แขนตัวเอง หลังจากนั้นก็ฟุบลงกับโต๊ะ แล้วภาพก็ตัดไป หลายๆคนอาจจะคิดว่าตาย ยังค่ะยัง ยังไม่ตายค่ะ นายกเอเดนจะลาออกในปี 1957 หลังจากจบวิกฤตคลองสุเอซ แล้วเสียชีวิตในปี 1977 ด้วยโรคมะเร็งตับค่ะ ดังนั้นพี่แกยังมีบทต่อในซีซั่น 2 อีกนิดหน่อย ทีนี้เราลองมาโฟกัสกันที่เกร็ดทางประวัติศาตร์ที่โผล่มาในตอนนี้กันค่ะ

    นายกรัฐมนตรีเอเดน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 43 ของสหราชอาณาจักร โดยได้รับตำแหน่งสืบทอดจากการเกษียณอายุของนายกวินสตัน ในปี 1955 ถ้าหากเสิร์ชชื่อของนายกเอเดน ในกูเกิ้ลจะต้องเจอคีย์เวิร์ดคำว่า Suez-Crisis อยู่ด้วยเกือบตลอด เรียกได้ว่าตลอดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลาเกือบ ปี วิกฤตคลองสุเอซที่ประเทศอียิปต์ เป็นผลงานที่ตราตรึงใจที่สุด


    วิกฤตคลองสุเอซ (Suez CanalCrisis)

    คลองสุเอซคืออะไร คลองสุเอซคือคลองที่ขุดด้วยน้ำมือชาวอียิปต์ บนประเทศอียิปต์ แต่เงินดันไม่เข้าประเป๋าอียิปต์ คลองสุเอซเชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอเรเนียนและทะเลแดง (นักประวัติศาสตร์คาดการณ์ว่าใช้แรงงานชาวอียิปต์กว่า 120,000 คน ใช้เวลาขุดประมาณ 10 ปี ค.ศ. 1859-1869) การขุดคลองนี้สร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับธุรกิจเดินเรือ (ซึ่งสมัยนั้นตะวันตกเป็นใหญ่) เอาแบบเข้าใจง่ายที่สุด มันคือทางลัดระหว่างยุโรปกับเอเชีย ทำให้เรือไม่ต้องอ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮป ผู้ดำเนินการเริ่มแรกหรือพูดง่ายๆคือเจ้าของเงินทุนในการขุด คือฝรั่งเศส (SuezCanal Company) บริษัทนี้ถือหุ้นครึ่งๆกับประเทศอียิปต์เอง แต่ในภายหลังยังไงไม่รู้ อังกฤษซื้อหุ้นต่อจากอียิปต์และกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับฝรั่งเศสแทน ทำให้เงินไม่เข้าอียิปต์สักแดง (อังกฤษประกาศว่าอียิปต์เป็นรัฐในเครือจักรภพเมื่อปี ค.ศ. 1822)

    ในปี 1922 ชาวอียิปต์ได้เรียกร้องเอกราชจากทางอังกฤษและก็กลายมาเป็นประเทศอียิปต์ดังใจหวัง (เริ่มแรกปกครองโดยกษัตริย์ ต่อมาเกิดการปฏิวัติในปี1953 หลังจากนั้นจึงกลายเป็นสาธารณรัฐอียิปต์ ปกครองโดยทหาร) หลังจากนั้นไม่นาน ปี 1956 ชาวอียิปต์ก็ได้ยึดคลองสุเอซมาเป็นของตัวเองภายใต้การนำของ Gamel Abdel Nasser ประธานาธิบดีในตอนนั้น พวกเขาอ้างเหตุผลจากที่อังกฤษไม่สนับสนุนเงินทุนการสร้างเขื่อนอัสวาน (Aswan Damn) เป็นหนึ่งในการใช้กฎอัยการศึกเข้ายึดคลองและบริษัทกลับมาเป็นสมบัติของรัฐ เริ่มแรกอังกฤษกับฝรั่งเศสพยายามใช้การทูต แต่แน่นอนว่าไม่ได้ผล ภายหลังจึงใช้กองกำลังทหารเข้ายึด (เป็นพันธมิตรชั่วคราวกับอิสราเอล) 

    มาถึงขั้นนี้ อียิปต์จะยอมหรอ ไม่ยอมเด็ดขาด สมบัติชาตินะเว้ย!! (เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกอีกชื่อว่าสงครามอิสราเอล-อาหรับครั้งที่สอง) ก็สู้กันไปพลางถอยร่นไปพลาง อียิปต์นะที่ถอย (ก็พวกน้อยกว่าเขานิ) แต่แรงต้านจากประชาชนและกองทัพของอียิปต์ยังคงรุนแรง จนส่งผลให้สหรัฐต้องเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย เพราะดูแล้วไม่มีทางยอมง่ายๆต่อให้ต้องแพ้จนยับเยินก็ตาม (ช่วงนั้นอียิปต์สนิทกับโซเวียต ลุงแซมเรากลัวเป็นสงครามใหญ่เลยขอมติประชาชาติมาช่วยไกล่เกลี่ย) สุดท้ายแล้วเรื่องนี้จึงจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของ อังกฤษ-ฝรั่งเศสที่ต้องเสียดินแดนและอิทธิพลในตะวันออกกลางไป ด้านอิสราเอลไม่ได้สิทธิในการเดินเรืออย่างเสรีผ่านคลอง ส่วนอียิปต์ก็ได้สมบัติของชาติกลับคืนมา และเป็นชัยชนะที่สวยงามของประธานาธิบดี Nasser ถึงขั้นมีคนยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของประเทศเลย ช่างแตกต่างกับนายกเอเดนอย่างสิ้นเชิง ที่กลายมาเป็นนายกที่คนชื่นชอบลำดับท้ายๆ (โดนด่าด้วย)

    ปัจจุบันเส้นทางการขนส่งผ่านคลองสุเอซยังคงเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญลำดับต้นๆของโลกและรายได้จากคลองนี้ยังเป็นหนึ่งใน GDP หลักของประเทศอียิปต์ ส่วนบริษัท Suez ยังคงดำเนินการภายใต้การบริหารงานของชนชาติฝรั่งเศสเพียงแต่เปลี่ยนประเภทธุรกิจไปก็เท่านั้น (อายุบริษัทร่วม 160 ปี)


    นายกรัฐมนตรีเอเดน เป็นผู้ใช้ยาเสพติดหรือไม่

    หากใครติดตาม The Crown แบบไม่หลับระหว่างทาง จะเห็นซีนที่ตัวละครนายกเอเดนใช้เข็มฉีดยาฉีดของเหลวเข้าร่างกายตัวเอง ซีนแรกคือระหว่างบินไปอเมริกา ซีนที่สองคือตอนสุดท้ายของซีซั่นแรก หลายๆคนฟันธงว่านั่นคือ แอมเฟตามีน หนึ่งในยาเสพติดที่อันตรายที่สุด

    ไม่มีการออกมายอมรับจากสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ แต่มีบทความมากมายจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ฟันธงว่านายกรัฐมนตรีเอเดนติดยาเสพติดอย่างหนัก การฟันธงดังกล่าวมาจากสองประเด็นหลักๆ ดังนี้

    1) ในช่วงระหว่างดำรงตำแหน่งนายกเอเดนเต็มไปด้วยความเครียด กล่าวกันว่าเขานอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงในแต่ละวัน และเขาจะต้องพึ่งพายาที่อยู่ในกระเป๋าที่เขาพกติดตัวตลอดเพื่อให้ตื่นตัวเสมอ นักวิชาการคาดว่ายานั้นคือ Bendzedrine ยาแก้โรคลมหลับ ที่มีส่วนผสมของแอมเฟตามีน (สมัยนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นยาเสพติด ยา Bendzedrine เป็นที่นิยมในช่วงสงครามโลกมาก ทหารมักจะใช้เพื่อให้ตื่นตัวตลอดเวลา ยาผลิตจากอเมริกาแบบถูกกฎหมาย)

    2) ภาวะอารมณ์และการจัดการของนายกเอเดน ในระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกเอเดนมีภาวะนอนไม่หลับ มีอาการกระสับกระส่าย ทุรนทุราย (คำอังกฤษคือ restlessness เราไม่แน่ใจว่าควรเลือกคำไหนดี) และมีภาวะอารมณ์แปรปรวน (moodswing) ทั้งสามอาการดังกล่าวคือผลข้างเคียงของการเสพติดแอมเฟตามีนอย่างแน่นอน

    นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่เชื่อว่านายกเอเดนเสพติดมอร์ฟีนด้วยคาดว่าน่าจะติดมาจากการผ่าตัดกระเพราะปัสสาวะที่อเมริกา (สมัยนั้นมอร์ฟีนใช้งานอย่างแพร่หลาย)



    นับว่าเป็นตอนปิดซีซั่น 1 ที่เนื้อหาเข้มข้นได้ใจ ทั้งเนื้อเรื่องการเมืองและชีวิตส่วนตัวของควีน เราชอบช่วงท้ายของตอนจบมาก จังหวะในการตัดต่อภาพและเพลงตรึงใจ ชวนให้กดเปิดซีซั่นสองต่อเหลือเกิน ว่าแล้วก็ไปดูซีซั่นสองต่อดีกว่า





    อ้างอิง

    https://www.washingtonpost.com/archive/opinions/1990/01/28/substance-abuse/e2c9a3da-12a5-4893-908a-3f2b92f19925/
    https://www.longtunman.com/13913
    https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1233


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in