เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
I write what I likePgram
[La Casa de Papel] : เมื่อเราผูกพันกับ “เมือง” แปลกหน้า

  •                                                                                                                                        

    La Casa de Papel (Money Heist) ซี่รีส์สเปนใน Netflix ที่ค้างอยู่ในหัวมาหลายวันหลังจากดูจบทั้ง 4 พาร์ท ในเรื่องกล่าวถึงการรวมตัวของกลุ่มโจรที่ถูกเชื่อมกันด้วยความสัมพันธ์แปลกๆ เป็นครอบครัวประหลาดที่พร้อมจับ M16 ออกไปตายด้วยกันทั้งๆ ที่ไม่รู้จักชื่อจริงกันเลยด้วยซ้ำ

    พวกเขาถูกเรียกขานด้วยชื่อเมือง - เมืองแปลกหน้าและคนแปลกหน้า

    (Spoiler Alert ) 

    ระหว่างการดูก็เข้าใจแล้วว่า “โรลเลอร์โคสเตอร์” มันเป็นเช่นนี้เอง ฉวัดเฉวียง สนุก และน่าเบื่อผสมกันไป มีกดหยุดดูด้วยความรำคาญเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หลายครั้ง แต่หลายคืนก็ดูยาวแบบนอนไม่ได้ วัดใจเหลือเกินว่าจะหยุดหรือไปต่อ (เหมือนซีนที่โตเกียวเล่นรัสเชียน รูเลตต์กับเบอร์ลิน - ตบตีกันประมาณนั้น) แต่ท้ายที่สุดเราก็ไปกับมันได้จนจบ

    นั่นเป็นเพราะเราถูกดึง-ลาก-ถู ให้ผูกพันกับตัวละครแบบไม่รู้ตัวจนกลายเป็นพรรคพวกเดียวกันไปเสียดื้อๆ (เหมือนเรารู้จักกันแล้ว แกจะทิ้งฉันลงเหรอวะ บางกอก - รับบทโดยนางสาว P) 

    ทั้งหมดก็เป็นเพราะผู้ชายเคราเฟิ้มกับชุดสูทเชยๆ ที่ไนโรบีเชื่อมั่นอยู่เสมอนั่นแหละ


    จริงอยู่ ในช่วงแรกเราถูกดึงดูดด้วยบทคนฉลาดเป็นกรดแต่ลูสเซอร์ของโพรเฟสเซอร์ (ซึ่งเราชอบบทประเภทนี้มาก) ภายใต้ท่าทางกระย่องกระแย่งเหมือนว่าเป็นคนตัวเล็กที่สุดในโลกนั้น ซุกซ่อนแผนการในหัวเต็มไปหมด ในขณะเดียวกันก็ยังเป็น “มนุษย์” ที่มีความกลัวตายจนตัวสั่น ลนลาน ยังถูกครอบงำด้วยเรื่องหัวใจ และเมื่อถูกชื่นชมต่อหน้าก็เขินจนเก็บอาการไม่อยู่

    แต่เมื่อดูไปเรื่อยๆ ก็พบว่า “เบอร์ลิน” คือคาแรกเตอร์ที่ค้างอยู่ในใจมากที่สุด มีมิติ 48 ประการ เบอร์ลินถูกสร้างมาเพื่อให้เราเกลียดฉิบหายแต่ก็ขาดไปไม่ได้ (เมื่อจบพาร์ท 2 เพื่อเข้าพาร์ท 3 ดิฉันจึงตีกับตัวเองหนักมาก) ตัวละครที่ฉูดฉาด เลวมาก แต่ก็น่าสงสารมาก เห็นแก่ตัวมาก กล้าหาญมาก เขาเขียนออกมาได้ยังไงกัน


    ไม่ใช่แค่นั้น ความรู้สึกเดิมก็เกิดขึ้นอีกแล้วกับ “ปาแลร์โม่” ในพาร์ทที่ 4 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ชังหนักมาก (เพราะใครก็แทนเบอร์ลินไม่ได้หรอก) แต่สุดท้ายเราก็โดนเล่นงานอีกครั้ง ส่วนตัวรู้สึกว่าปาแลร์โมน่าสงสารกว่าเบอร์ลินตรงที่ขี้ขลาดมากเสียจนต้องแสร้งแข็งกร้าว สันดานเสีย ซึ่งสะท้อนมาถึงตัวคนดูอย่างดิฉันแบบเต็มๆ

    แต่ทั้งหมดทั้งมวล พวกนี้ก็เป็นโจรอยู่ดี

    นอกจากเรื่องคาแรกเตอร์ที่ปรากฎ สิ่งที่กล่อมจิตคนดูให้อยู่หมัดคือโทนสีมืดๆ ทึมๆ ซึ่งขับให้ชุดสีแดงและหน้ากากดาลีที่แสนจะมีพลังนั้นโดดเด่นตลอดทั้งเรื่อง การต่อต้านระบบทุนนิยมที่น่าจะเป็นแกนหลักของเรื่องนี้ หลายครั้งที่บทน่าเบื่อและหลวมมาก แต่ระหว่างที่เราเบื่อจนหลุดโฟกัสก็มักจะมีจุดเล็กๆ มาสะกิดให้กลับมา เช่น ฉากตบตาตำรวจด้วยเสียงของริโอและโตเกียวที่โพรเฟสเซอร์สั่งให้ทำอันนำมาซึ่งความเจ็บปวด การบอกชื่อจริงออกมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย (อ้าว ฉันรู้ชื่อจริงได้ยังไง ไม่พร้อม ไม่อยากรู้) รวมถึงเสียงเล่าเรื่องของโตเกียว คาแรกเตอร์ที่ติดอันดับความน่ารำคาญ แต่ฉันก็รักเธอโตเกียว เธอเล่าเรื่องได้น่าฟังเสมอ 

    เออ หรือคนที่เป็น stockholm syndrome ไม่ใช่โมนิก้า แต่เป็น...

    ซีนที่ชัดมากหลังจากดูจบ ไม่ใช่ซีนสะเทือนใจ แต่เป็นซีนสั้นๆ เมื่อการผ่าตัดไนโรบีจบลง โตเกียวพาเรากลับไปสู่ช่วงเวลาแสนสุขในสนามบอล แล้วตัดสลับมาที่ปาแลร์โมหน้ากระจก เขาถอดผ้าปิดตาออกแล้วร้องเพลง Days Like This จากนั้นก็สวมสูทหล่อเหลาแล้วเต้นรำออกไป

    เวลานั้นเองที่ทุกอย่างในใจมันตีกัน แย่งกันผุดขึ้นมา 
    เราไม่รู้หรอกว่าปาแลร์โมกำลังจะทำอะไร แต่ใช่แล้ว คนเราก็จะมีวันแบบนี้แหละ Days Like This.


    โดยสรุปชอบไวบ์เรื่องนี้นะ รักความมีดนตรีในหัวใจของทุกคนด้วย ไม่ว่าจะจังหวะไหน เพลงที่เลือกมาใช้ก็ลิงก์กันไปเสียหมดและมันเกาะกุมหัวใจเราเหนียวแน่นจนต้องตะเกียกตะกายมาหาฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

    จนกว่า Part 5 จะกลับมาพร้อมกับสาวท้องโตแสนแสบ 

    แด่ไนโรบี เบอร์ลิน ออสโล และมอสโค...




    รูปประกอบจาก Twitter : @lacasadepapel





Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in