เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#ดิออนออนเดอะโรลdionyk
17: การเริ่มต้นครั้งใหม่
  •      สวัสดีค่ะ กลับมาอีกครั้งกับ #ดิออนออนเดอะโรล หายกันไปนานมาก อย่างที่เราบอกในทวิตเตอร์เสมอเลยว่าเราหมดมุกจะเขียนเกี่ยวกับออแพร์อเมริกาแล้ว เหตุผลข้อหนึ่งคือเราอยู่นานแล้วหลายๆคนเพิ่งจะเริ่มมาสนใจโครงการ ในขณะที่เราจะกลับไทยอยู่รอมร่อ ข้อมูลที่เรามีมันเลยข้อมูลที่ไม่อัปเดตเลย แถมล้าหลังไป 3 ปีก่อนที่โควิดจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ทุกๆอย่างตอนนี้มันเปลี่ยนจากตอนที่เราเริ่มโครงการเยอะมากๆค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นใครที่มีคำถามหรืออยากปรึกษาอะไร เราเปิด DM ให้มาสอบถามเสมอเลยนะคะ ยินดีตอบคำถามมากๆเลยค่ะ เราจะพยายามตอบเท่าที่ทำได้นะคะ
         เอาล่ะ ก่อนที่จะไปเริ่มพูดเนื้อหาหลักในอีพีนี้ เดี๋ยวเรามาอัปเดตชีวิตตอนนี้กันสักหน่อยน้า ถ้าใครตามทวิตเตอร์เราอยู่และติดตามบล็อกอยู่ตลอดๆ จะรู้ว่าตอนนี้เรากลับมาไทยแล้วนะคะ กลับมาได้จะครบ 5 เดือนเต็มแล้วค่ะ ตอนนี้ก็มีสถานะว่างงาน เตร็ดเตร่ไปเรื่อย เที่ยวภาคอีสานเยอะ เพราะบ้านอยู่ทางนี้ และในขณะเดียวกัน เราก็กำลังทำเรื่องออกนอกประเทศอีกครั้ง หลายคนคงรู้แล้วว่าเราจะไปไหน เพราะเราก็ไม่ได้ปกปิดอะไรอยู่แล้ว แค่ไม่ได้พูดบ่อยๆว่าจะไปไหน ฮ่าๆ ใช่ค่ะ ตอนนี้เรากำลังทำเรื่องไปออแพร์ยุโรปเพิ่มอีก 1 ปี เหตุผลไม่ใช่อะไรมากมาย แค่เราอยากเก็บประสบการณ์บวกกับอยากเที่ยวในประเทศทางยุโรปก่อนที่จะลงหลักปักฐานกับที่ไหนสักที่ แต่ตอนนี้ในหัวก็มีคำตอบเดียวคือไม่อยู่ไทยจนกว่าอายุจะ 40 ปีแน่ หรือถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เราก็คงกลับมาไทยก่อน แต่ช่วงอายุ 20 ปีของเรา เราตัดสินใจแล้วว่าจะไม่อยู่ไทยแน่ๆค่ะ กลับมาพักผ่อนกับครอบครัวได้แหละ แต่ให้อยู่ในตอนนี้ เราขอโบกมือลาก่อนนะ ตอนที่เรามีกำลังและสุขภาพที่ดีอยู่ เราอยากตะลุยใช้ชีวิตในต่างแดนให้สุดๆก่อนค่ะ
         เรื่องราวเนื้อหาในอีพีนี้ก็คือการเริ่มต้นใหม่ของเราในโซนยุโรปนั่นเอง อีพีนี้เราจะพาทุกคนมาดูขั้นตอนการทำเรื่องไปออแพร์ยุโรปของเรา เราเคยบอกในอีพี 15 ว่าอาจจะไม่ได้มาพูดในบล็อก แต่เอาไปเอามา รายละเอียดมันเยอะมาก จนคิดว่าใส่ในบล็อกคงดีกว่า เราจะพยายามเขียนให้เป็นกลางที่สุด ไม่เอนเอียงเข้าข้างตัวเองหรือเอเจ้นมากเกินไป เพราะการทำเรื่องไปออแพร์ยุโรปรอบนี้ เราก็ไปกับเอเจ้นอีกแล้ว มันเลยจะแตกต่างจากที่หลายๆคนเคยรีวิว ที่ว่าสามารถหาโฮสต์เองได้นะคะ ถ้าพร้อมแล้วก็มาเริ่มกันเลยค่ะ

    การไปเป็นออแพร์ยุโรปโดยสมัครผ่านเอเจนซี่ในไทย
         เราได้พูดเรื่องเอเจนซี่ไปบ้างแล้วในอีพี 15 นะคะ ถ้าสนใจ คลิก ไปอ่านก่อนได้ค่ะ เราพูดถึงเอเจนซี่ ที่มีในไทยและพูดเกริ่นเล็กๆน้อยๆไป แต่วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้เพิ่มเติมจากประสบการณ์ของเรานะคะและเราจะ specify แค่เรื่องออแพร์เบลเยียม เพราะเรามีประสบการณ์แค่ประเทศเดียวนะ ถ้าพร้อมแล้วก็มาเริ่มกันเลย

         + คุณสมบัติของออแพร์เบลเยียม ย้อนดูคุณสมบัติพื้นฐานอีกทีนะ เผื่อใครไม่อยากย้อนกลับไปที่อีพี 15 ที่เราใส่ลิงก์ไว้ให้
              ขออนุญาตแนบรูปเดิมที่เคยทำไว้ในอีพีที่ 15 นะคะ เพราะจริงๆก็ไม่มีอะไรเพิ่มเติม คุณสมบัติพื้นฐานที่ควรมีก็ตามในรูปเลยค่ะ ส่วนที่อยากเสริมเพิ่มเติมคืออายุแล้วกันเนอะ อายุ 25 ได้ แต่วันเดินทางต้องไม่ถึง 26 นะคะ อย่างเราก็เดินทางมาถึงเบลเยียมตอนอายุ 25 ปี 4 เดือน อันนี้ถือว่าตามเกณฑ์ที่เขากำหนดค่ะ ไม่มีปัญหา และให้เกร็ดเพิ่มอีกอย่างคือการเดินทางโดยรถไฟในเบลเยียมถ้าอายุยังไม่ถึง 26 ปี เราจะได้จ่ายแบบ Youth ticket ค่ะ ซึ่งราคาจะถูกลงกว่าปกติเกือบครึ่งเลย ฉะนั้นเลยแนะนำว่าถ้าอายุน้อยๆอยู่ให้เริ่มเป็นออแพร์ในประเทศที่กำหนดอายุไม่เกิน 25 ปีดีกว่านะคะ เราจะได้ใช้สิทธิพิเศษสำหรับคนวัยรุ่นแบบเราๆ อิอิ (ไปเที่ยว Switzerland ถ้าอายุไม่เกิน 25 จะได้ราคาลดลงเยอะมาก)

         + ขั้นตอนการสมัครผ่านเอเจนซี่ เอาล่ะ มาเข้าเรื่องการมาเป็นออแพร์ยุโรปผ่านเอเจนซี่ไทยกันเลย
              (1) สมัครเข้าเอเจนซี่ : ทักข้อความไปหาเลยค่ะว่าสนใจจะไปเป็นออแพร์ยุโรป เดี๋ยวพี่เอเจ้นเขาจะจัดการต่อเอง ให้เรากรอกข้อมูลใบสมัครแล้วจะนัดพูดคุย/ทดสอบภาษาอังกฤษในภายหลังค่ะ ถ้าเราผ่าน พี่เขาก็จะให้เราจ่ายเงินค่าแรกเข้า และจะได้เริ่มขั้นตอนต่อไปเลยค่ะ
              (2) ทำวิดีโอและโปรไฟล์ : ด้วยความที่สมัครกับเอเจ้น แน่นอนว่าต้องกรอกใบประวัติและแนบลิงก์วิดีโอที่เราทำเพื่อนำเสนอตัวเองไปด้วย เพื่อให้โฮสต์พิจารณา ระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนนี้ เขาก็จะถามว่าเราอยากไปประเทศอะไร เลือกได้หลายประเทศนะคะ เขาสามารถร่อนใบสมัครเราไปกับเอเจนซี่ทางยุโรปที่เป็นพาร์ทเนอร์กับเขาได้ (เราไปกับเอเจนซี่ที่มีพาร์ทเนอร์อยู่ 9 ประเทศในยุโรป เลยเลือกได้ค่ะ) หรือถ้าไม่อย่างนั้นก็เจาะจงไปเลย เพราะเราก็เจาะจงไปที่เบลเยียมอย่างเดียวค่ะ
              (3) กรอกโปรไฟล์เพิ่มเติมกับเอเจนซี่พาร์ทเนอร์ : ใช่ค่ะ กรอกโปรไฟล์กับเอเจนซี่ไทยแล้ว ยังต้องกรอกฟอร์มของเอเจนซี่ของประเทศนั้นๆด้วย ถ้าไปหลายประเทศก็กรอกเยอะค่ะ อย่างเราเคยกรอกเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียม เพราะอายุที่จำกัดมันเท่ากันคือ 18-25 ปี โดยก่อนเดินทางต้องไม่เกิน 26 ปี พี่เอเจ้นเลยให้กรอกดู เผื่อเราเปลี่ยนใจ แต่สุดท้ายเราเลือกไปแค่เบลเยียม เพราะเป็นอยากมาอยู่ประเทศเดียว ฮ่าๆ
              (4) เริ่มหาโฮสต์ : ไม่ใช่ว่าเราหาเองนะคะ ระบบจะคล้ายๆของออแพร์อเมริกานั่นแหละค่ะ แค่ของเราจะไม่ใช่เว็บไซต์ เอเจ้นจะส่งใบประวัติเราไปทางเอเจนซี่ประเทศพาร์ทเนอร์ แล้วทางนู่นเขาก็จะส่งประวัติเราไปให้ครอบครัวที่กำลังหาออแพร์ว่าสนใจเรามั้ย ถ้ามีคนสนใจ เขาก็จะบอกเอเจ้นที่ไทยเรา แล้วเอเจ้นไทยจะเอาส่งอีเมลมาแจ้งว่ามีครอบครัวสนใจเรา พร้อมแนบใบประวัติของครอบครัวอุปถัมภ์มาด้วยค่ะ พอเราได้รับอีเมลแล้วเราก็ส่งอีเมลไปหาโฮสต์ว่าสนใจจะคุยด้วย ของเราตอนอยู่ในขั้นตอนนี้คือใช้เวลาหาโฮสต์อยู่เกือบ 3 เดือนเต็ม เราเริ่มได้ข้อความแรกตอนเดือนกรกฎาคมจนมาช่วงปลายกันยายน เราถึงได้แมทช์กับโฮสต์ที่เบลเยียมค่ะ จำนวนที่คุยทั้งหมดมีประมาณ 9 บ้านค่ะ ซึ่งเราเข้าใจนะ เพราะประเทศเบลเยียมมันเล็ก โฮสต์จะน้อยก็ไม่ได้น่าเกลียดเกินไปค่ะ ถ้าไปเยอรมันที่ใหญ่กว่ามากๆ น่าจะได้คุยเยอะกว่านี้ค่ะ
              (5) เริ่มทำเอกสาร : พอเราได้แมทช์กับโฮสต์แล้ว เราก็จะได้เริ่มทำเอกสารแล้วค่ะ ซึ่งออแพร์เบลเยียมนี่ก็ถือว่านานอยู่นะ เพราะว่าเราต้องขอเอกสารหลายอย่างมากและทุกอย่างต้องเอาไปรับรองกับสถานฑูตก่อนถึงจะเอาไปทำอย่างอื่นได้ งั้นเดี๋ยวเราเจาะรายละเอียดย่อยๆเพิ่มเติมจากตรงนี้แล้วกันนะคะ ทุกคนที่สนใจออแพร์เบลเยียมจะได้เห็นภาพมากขึ้นเนอะ
                   - ขอ work permit: พอแมทช์แล้ว อย่างแรกที่ทำคือการขอ work permit ค่ะ เราต้องส่งไปให้เอเจนซี่ของเบลเยียมขอให้นะคะ ซึ่งส่งผ่านเอเจ้นไทยไปนั่นแหละค่ะ เอกสารที่ต้องมีในที่นี่คือใบปริญญาบัตร+ใบรับรองการจบการศึกษา (ต้องเป็นภาษาอังกฤษ), สำเนาพาสปอร์ต, รูปถ่ายขนาด 3.5*4.5 cm ดูรายละเอียดรูปภาพเพิ่มเติมได้เว็บไซต์สถานฑูตเบลเยียมนะคะ ระยะเวลาการรอ work permit นี่นานที่สุดแล้วค่ะ เรารอประมาณ 2 เดือนครึ่ง เอกสารตัวนี้ถึงจะถึงบ้านโฮสต์แล้วเราต้องรอให้โฮสต์ส่งมาให้เราที่ไทย ของเรารวมๆแล้วก็เกือบ 3 เดือนเต็มค่ะ ฉะนั้นต้องเผื่อเวลาตรงนี้ไว้หน่อยนะ (ตรงนี้เรามีการเอาเอกสารขอใบรับรองอาชญากรรมไปให้สถานฑูตรับรองก่อนด้วย ต้องจองคิวเข้าไปนะคะ เขาไม่รับวอคอินแล้วค่ะ ไม่อยากให้เสียเวลาเหมือนของเรา)
                   - ขอเอกสารอื่นๆ: ระหว่างรอตัว work permit เราก็มีขอเอกสารอื่นๆรอไว้ เพราะว่าต้องเอาไปรับรองทั้งที่กงสุลไทยและสถานฑูตถึงจะใช้งานได้ นั่นก็คือใบประวัติอาชญากรรมนะคะ เตรียมเอกสารไปขอที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เรียบร้อยนะ เราจำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง แต่เราคิดว่ามันเหมือนๆกันกับที่เราเคยเขียนไว้ในอีพี 1 ของเราค่ะ ยังไงลองย้อนกลับไปดูได้น้า แต่เพิ่มเติมคือต้องมีใบที่เอาไปรับรองจากสถานฑูตเบลเยียมและสัญญาการทำงานเป็นออแพร์เบลเยียมแนบไปด้วยนะคะ เขาจะได้รู้ว่าเราขอไปทำอะไรที่ประเทศไหนค่ะ พอได้รับใบประวัติอาชญากรรมที่เขาส่งไปที่บ้านแล้ว เราก็เอาไปรับรองกับกงสุลไทยก่อนค่ะ ทุกอันต้องจองนัดหมายก่อนเข้าไปนะ เราไปรับรองกับกงสุลไทยที่แจ้งวัฒนะถ้าไปไม่เกิน 11 โมง รอรับเอกสารที่รับรองแล้วได้ในวันนั้นเลยค่ะ ตอนบ่ายๆก็ได้รับแล้ว หลังจากนั้นก็เอาไปรับรองกับสถานฑูตเบลเยียมต่อ อันนี้ต้องรอนิดนึงใช้เวลานานอยู่ค่ะ ของเรารอ 1 อาทิตย์ค่ะ
                   - หลังได้รับ work permit: พอได้รับ work permit ที่โฮสต์ส่งมาให้แล้ว เราก็เช็คว่าข้อมูลของเราถูกต้องมั้ย พอได้อันนี้แล้วก็ไปบอกโฮสต์ค่ะ ถามด้วยนะว่าจะให้บินวันไหน เพราะเราจะต้องเอาข้อมูลนี้ไปกรอกเพื่อยื่นขอวีซ่านะคะ พอได้ข้อมูลที่ต้องการแล้วก็เริ่มยื่นขอวีซ่าเลย อันนี้เราขอไม่พูดถึงนะ เพราะว่าเราไม่ได้กรอกเอง เราไปกับเอเจนซี่ไทย พี่เขาเลยจัดการให้ทั้งหมดเลยค่ะ ลืมเว็บไปแล้วด้วย แง แต่ถ้าใครหาเอง เราคิดว่าโฮสต์ต้องมีเอเจนซี่ของเขาทางเบลเยียมอยู่แล้วนะ ทางนู่นน่าจะช่วยไกด์ตรงนี้ได้ค่ะ
                   - ตรวจร่างกาย: อันนี้ต้องตรวจร่างกายตามที่ทางสถานฑูตรับรองเท่านั้นนะคะ ส่วนตัวเราไปตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ค่าบริการทั้งหมด 1,750 บาทค่ะ เราคิดว่าน่าจะเป็นเรทที่ถูกสุดหรือเปล่า เพราะของเราอยู่ทางอีสาน เราโทรถามสกลนครและมุกดาหาร ของเขาราคาอยู่ที่ 2,300-2,500 บาทค่ะ ต้องดูรายละเอียดจากรายการที่เราต้องตรวจอีกที ซึ่งถ้าเพื่อนๆหาโฮสต์เอง เราคิดว่าทางเอเจนซี่ของโฮสต์น่าจะมีแบบฟอร์มให้นะคะ ไม่งั้นต้องลองหาในเว็บ AuPairWorld ดูอีกทีนะ
                   - ขอวีซ่า: หลังเรายื่นนัดหมายทางเว็บไซต์ของ TLS แล้ว พอถึงวันที่นัดหมายไว้เราก็ไปยื่นเอกสารต่างๆที่ TLS เลยค่ะ ค่าธรรมเนียมประมาณ 7,800 บาท เตรียมไป 8,000 เลยแล้วกันค่ะ (เงินโอนเท่านั้นนะคะ เขาไม่รับเงินสด เราดันกดเงินไปวันนั้น เพราะเอเจ้นไทยของเราบอกเขารับแต่เงินสด ดีที่มีเงินติดบัญชี ไม่งั้นก็ไม่รอด แง) ที่ให้เตรียมไปเกิน เหตุผลคือเผื่อเกิดอะไรขึ้นนะ อย่างเรา เราถ่ายเอกสารไปไม่ครบ ได้จ่ายค่าถ่ายเอกสารเพิ่มอีกเกือบ 300 บาท เพราะว่าค่าถ่ายเอกสารที่ TLS จะแพงกว่ามาก หน้าละ 8 บาทค่ะ ถ่ายข้างนอกไม่เกินหน้าละ 2 บาทแน่นอน ฉะนั้นเตรียมเอกสารไปให้ครบและต้องเป็นอย่างละ 2 ชุดด้วยนะคะ (เราไม่แน่ใจว่าตอนนี้เขาเปลี่ยนกลับไป VFS หรือยัง เพราะถ้าเป็น VFS ค่าวีซ่าจะถูกกว่า 2-3,000 เลย ข้อมูลเราคือข้อมูลเดือนมกราคม 2023 นะคะ) 
                   - รับวีซ่า: ทาง TLS จะส่งข้อความมาบอกค่ะถ้าเราผ่าน แล้วหลังจากนั้น 2-3 วันก็ได้รับพาสปอร์ตคืนจากเขา เขาจะส่งมาที่อยู่ที่เรากรอกบนซองจดหมายเลย หลังจากนี้ก็ไปจองตั๋วเครื่องบินได้เลย ของเราโฮสต์รับผิดชอบทั้งหมดค่ะ ซึ่งอันนี้แล้วแต่ว่าเราตกลงได้แค่ไหนนะคะ แนะนำว่าเรื่องตั๋วเครื่องบินก็ถามให้แน่ใจก่อนแมทช์นะ หลังจากนี้ก็ไม่มีอะไรให้น่าเป็นห่วงแล้วค่า เตรียมตัวเดินทางได้เลย
                   - ทำใบขับขี่สากล: เราทำที่สาขาในจังหวัดกาฬสินธุ์บ้านเรานะคะ อันดับแรกต้องเข้าไปจองคิวไว้ก่อนที่แอพ DLTSmartQueue เลือกว่าจะทำใบอนุญาตขับขี่ระหว่างประเทศนะคะ แล้วก็จองคิวเข้าไป ส่วนเอกสารที่เตรียมไปก็มีดังนี้เลยค่ะ พาสปอร์ต,ใบขับขี่ตัวจริงพร้อมสำเนา 1 ใบ, บัตรประชาชนและรูปถ่าย 2 นิ้ว 2 ใบ ส่วนค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 505฿ นะคะ และหลายคนคงรู้อยู่แล้วว่าคนที่จะขอใบขับขี่สากลได้ต้องถือใบขับขี่ 5 ปีของประเทศไทยนะคะ ไม่อย่างนั้นก็ต้องขอใบรับรองแทน เราไม่แน่ใจว่ามันใช้ได้มั้ยนะในส่วนของใบรับรอง แต่ถ้าเป็นใบขับขี่สากลใช้ได้ที่เบลเยียม 6 เดือนแรก หลังจากนี้ต้องเอาไปแลกเป็นใบขับขี่ของเบลเยียมค่ะ (ใบขับขี่สากลที่ขอมามีอายุ 3 ปีตามอนุสัญญาเจนีวา 1968 นะคะ แตกต่างจากอเมริกา)

              อันนี้เพิ่มเติมให้สำหรับคนที่หาโฮสต์เองและได้แมทช์กับโฮสต์เบลเยียมนะคะ รายละเอียดเอกสารที่ใช้ในการขอวีซ่าจากสถานฑูตเบลเยียมค่ะ click ส่วนอันนี้จะเป็นรายชื่อของโรงพยาบาลและผู้แปลเอกสารที่ทางสถานฑูตรับรองนะคะ click
              เราคิดว่าขั้นตอนการมาเป็นออแพร์เบลเยียมกับทางเอเจนซี่มันดูสบายดีแต่เราก็วิ่งวุ่นเข้ากรุงเทพมหานครบ่อยมาก แทบจะเหมือนทำเองทุกอย่างอยู่แล้ว แต่ของเรานั้นเคยติดต่อไว้ตั้งแต่เราเป็นออแพร์ปีสองที่อเมริกาและเสียค่าแรกเข้าไปแล้ว เราเลยตัดสินใจมากับเอเจนซี่ต่อนะคะ ค่าใช้จ่ายกับการเป็นออแพร์ยุโรปผ่านเอเจนซี่ไทย เราเสียให้เอเจนซี่อยู่ที่ 3,500 บาท (ค่าแรกเข้า) + 21,500 บาท ค่าดำเนินการของเอเจนซี่ค่ะ อันนี้เป็นรายจ่ายแค่ส่วนที่เราเสียให้เอเจ้นไปนะ ยังไม่รวมทั้งหมด เดี๋ยวยังไงเราแจกแจงรายละเอียดอีกทีในหัวข้อถัดไปค่ะ
              แต่ก่อนจะไปเนื้อหาในหัวข้อถัดไป เราขออนุญาตอัปเดตเพิ่มเติมอีกนิดนึงนะ เพราะเราคิดว่าหลังจากนี้มันจะเป็นเนื้อหาในเบลเยียมมากขึ้นแล้ว ตอนนี้เราบินมาอยู่ที่เบลเยียมได้เกือบ 2 เดือนแล้วนะคะ ที่เกริ่นเริ่มอีพีนี้พิมพ์ว่าอยู่ไทยคือตอนนั้นเรายังอยู่ไทยจริงๆ (เดือนมกราคม) พอตอนนี้เราเพิ่งจะมีเวลามาเขียนต่อ มันก็ล่วงเลยมา 2 เดือนแล้ว มันเลยจะงงๆ ถ้าเราไม่บอกไว้ก่อน กลัวทุกคนจะสับสนว่าสรุปเราอยู่ไหนกันแน่ ฮ่าๆ ถ้าทุกคนเข้าใจตรงกันแล้วว่าตอนนี้เราอยู่เบลเยียม ก็ไปเริ่มหัวข้อถัดไปเลยค่ะ

    ค่าใช้จ่ายในการเป็นออแพร์เบลเยียมผ่านเอเจนซี่ไทย
         อย่างที่บอกมาตลอดเลยว่าการเป็นออแพร์ผ่านยุโรปทำได้สองทางคือหาด้วยตัวเอง อันนี้จะประหยัดลงมากๆ ส่วนอีกแบบคือแบบเราที่มาผ่านเอเจนซี่ไทยนะคะ แน่นอนว่าแพง แพงมากถ้าได้รู้ว่าเพื่อนที่เขามาเองจ่ายกันเท่าไหร่ บางทีราคาก็x3จากของเพื่อนที่เขามาเองกันเลยทีเดียว เราจะมาบอกคร่าวๆแล้วกันนะ เอาแต่รายการที่เป็นค่าใช้จ่ายเรื่องดำเนินการเอกสารต่างๆจริงๆ จะไม่รวมค่าเดินทางอะไรนะคะ เพราะถ้าเรารวมเข้าไปด้วยเราช็อกแน่ เดินทางเข้ากรุงเทพบ่อยมาก ก็เรามันลูกอีสาน ฮ่าๆ ด้านล่างนี้คือค่าใช้จ่ายที่อิงจากเรานะ ถ้าเอเจนซี่อื่นอาจแตกต่างในด้านค่าดำเนินการของเขานะคะ
              
              - ค่าแรกเข้าเอเจนซี่ 3,500฿
              - ค่าดำเนินการของเอเจนซี่ (จ่ายหลังแมทช์) 21,500฿
              - ค่าแปลเอกสาร 500฿ (อันนี้เราแปลใบรับรองการจบการศึกษาและใบปริญญาบัตรนะคะ และต้องแปลกับสถานที่รับแปลที่ทางสถานฑูลเบลเยียมยอมรับเท่านั้น)
              - ค่าถ่ายรูป 180฿ (เราถ่าย Big camera เลยค่ะ ในสยามพารากอน)
              - ค่าขอใบ criminal record กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ใกล้ๆกับสยาม) 160฿
              - ค่ารับรองใบ criminal record แบบด่วนกับกงสุลไทย (แจ้งวัฒนะ) 400฿
              - ค่ารับรองใบ criminal record กับสถานฑูตเบลเยียม (สาทร) 760฿
              - ค่าทำ passport 1,540฿ (เราทำเล่มใหม่ เพราะเล่มเก่าเราเหลือน้อยกว่า 3 เดือนนับจากวันที่ต้องเดินทางกลับจากเบลเยียม คือวีซ่าออแพร์อยู่ได้ 1 ปีเนอะ นับจากวันที่วีซ่าหมดอายุแล้ว พาสปอร์ตเราเหลือแค่ 1 เดือนกับ 27 วัน ก็เลยใช้ไม่ได้นะคะ ต้องไปทำใหม่)
              - ค่า service ที่ TLS 969฿ (อันนี้ก็คือเราจะจ่ายตอนเข้าไปจองคิวยื่นวีซ่านะคะ แต่ละวันจะราคาไม่เท่ากัน เรานัดวันศุกร์บ่าย 2 ราคาก็จะประมาณนี้นะ ถ้าวันเสาร์ก็จะแพงไปอีกค่ะ)
              - ค่าตรวจร่างกาย (รามาธิบดี) 1,750฿
              - ค่า visa 8,000฿ (จริงๆราคาประมาณ 7,800฿ แต่เราลืมถ่ายเอกสารให้ครบอย่างละ 2 ชุด ก็โดนเลยค่ะ ค่าถ่ายเอกสารหน้าละ 8 บาท ฮือ)
              - ค่าใบขับขี่สากล 505฿ (ของเราโฮสต์ให้ขับรถรับส่งน้องนะคะ เลยต้องขอมาด้วย)

         ของเราก็จะประมาณนี้ค่ะ 39,491฿ ถือว่าแรงนะ เพราะเพื่อนๆหลายคนจ่ายประมาณหมื่นกลางๆถึงสองหมื่นกลางๆ (บางคนต้องจ่ายค่าเครื่องเองนะคะ แต่ของเราโฮสต์จ่ายให้) แล้วอันนี้ก็เป็นแค่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการทางเอกสารต่างๆนะคะ บอกแล้วว่าไม่อยากรวมค่าเดินทางที่ตัวเองจ่ายด้วยเลย ตีกลมๆคือเราเดินทางเข้าออกกรุงเทพเพื่อเดินเอกสารประมาณ 4 รอบ รอบละไม่ต่ำกว่า 2,000 อยู่แล้ว ไม่รวมค่ากินนะเนี่ย ฮ่าๆ จะร้องไห้ หมดพอๆกับไปเป็นออแพร์ที่อเมริกาเลยค่ะคุณผู้ชม ฮืออออ
         ไม่กล้ารวมรายจ่ายมาจนถึงวันนี้ แต่ก็ได้มารวมให้ทุกคนดู ฮ่าๆ เราเลยบอกทุกคนที่มาถามเราเสมอว่าถ้ามาเองได้ก็มาเองดีกว่าค่ะ ค่าใช้จ่ายถูกลงเยอะมาก แล้วสัญญาออแพร์ของที่นี่บางประเทศมันได้แค่ปีเดียวเนอะ รู้สึกไม่ค่อยจะคุ้มกับเงินที่ได้เท่าไหร่ ส่วนตัวเราคิดเสมอนะว่ามันคือการเปิดโอกาสและการสร้างประสบการณ์ให้ตัวเอง ถึงจะไม่มีเงินเก็บกลับบ้านเลยแต่การที่เราได้มาลองใช้ชีวิตที่นี่ก็ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราเติบโตอย่างมีประสบการณ์ค่ะ

    แนะนำของที่ควรแพ็ค สำหรับคนที่ได้น้ำหนักกระเป๋า 25-30 กิโลกรัม (1 ใบ)
         เหมือนเคยเขียนไปแล้วในอีพีแรกของเราว่าควรเอาอะไรมาบ้าง แต่ตอนนั้นเราได้ 2 ใบ ใบละ 23 kg มารอบนี้ได้แค่ใบเดียวค่ะ เหมือนทางยุโรปเพิ่งเปลี่ยนกฎเพราะเรื่องมลภาวะอะไรสักอย่าง ช่วงนี้คนยุโรปรณรงค์จริงจังมากนะ เราเลยคิดว่าคงเพราะงี้ด้วยมั้ง หลังเกิดสงครามยูเครนอะเนอะ ทำไรไม่ได้นอกจากทำใจ ฮ่าๆ สำหรับลิสต์ของเราที่เราคิดว่าจำเป็นก็ประมาณนี้นะคะ ลองดูนะ
      
              - ผ้าอนามัย เรารักเอลิสมาก ต้องเอามา ตอนอยู่เมกาก็ลำบากกับการหาผ้าอนามัย แล้วเราไม่ชอบแบบห่วงหรือแบบ tampon ไง ใส่ไม่เป็น+กลัวเลือด แค่แบบแผ่นธรรมดาก็แทบจะร้องแล้ว อันนี้เราเตรียมมาเลยให้ครบ 1 ปี เพราะเราเป็นคนที่มีรอบเดือนไม่เยอะอะ เป็นทีแค่ 3-4 วันแล้วไหลน้อยด้วย ก็เลยคิดว่าตัวเองน่าจะพอจนถึงปีหน้าก่อนกลับไทยอยู่ ฮ่าๆ
              - ยาสามัญประจำบ้าน เราพกตลอดเลยเวลาเดินทาง เผื่อเป็นอะไรไปอะเนอะ แบบเจ็บเล็กๆน้อยๆ ที่ยังไม่ถึงขั้นต้องไปหาหมอ เราก็มีอันนี้แหละติดตัวไว้ พวกยาพารา, ยาแก้ไอ, ยาลดน้ำมูก, ยาแก้ท้องอืด, ยาแก้ท้องเสีย ต่างๆนะคะ เราบวกมาเพิ่มอีกอย่างคือยานวดค่ะทุกคน ดิฉันวัยรุ่นปวดหลัง ต้องมียาที่ช่วยเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว แง
              - อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แน่นอนว่ายังต้องมาเรียนภาษาที่นี่ค่ะ เลยต้องมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกพวกนี้อยู่อย่าง laptop, iPad และอื่นๆที่ทุกคนคิดว่าเหมาะสม ทางเรานั้นก็เอากล้องมาหมดค่ะ ชอบถ่ายรูป แต่จะได้แบกไปถ่ายรูปมั้ยก็ต้องรอดูอีกทีนะคะ ฮ่าๆ
              - ของกินไทยๆ เราเอามานะ แต่ว่ารอบนี้น้อยลงมาก ด้วยเรื่องความจำกัดของน้ำหนักกระเป๋าด้วย เอาเป็นว่าเอามาพอกรุบกริบให้หายคิดถึงได้ค่ะ หลังจากนี้ค่อยหา asian groceries store เอาเนอะ อย่างเมืองเรามีร้านเวียดนาม ลองไปดูแล้วก็พอได้อยู่ค่ะ
              - สกินแคร์+เครื่องสำอาง เราเอามากระเป๋าใบเล็ก 1 ใบ เอาเป็นว่าเอามาให้ได้ใช้ได้ใน 2-3 เดือนแรกค่ะ หลังจากนี้ค่อยไปหาซื้อเอา เราก็คงจะได้ไปซื้อเร็วๆนี้เหมือนกัน ฮ่าๆ
              - เครื่องแต่งกาย ส่วนของเสื้อผ้านั้นเราเอามาทั้งหน้าหนาวและหน้าร้อนเลย แต่ไม่ได้เยอะมากนะ อย่างชุดหน้าหนาวเรามีแค่ 5-6 ชุดเองค่ะ หน้าร้อนก็ด้วยและชุดนอน 3 ชุด ส่วนของเราที่หนักเลยคือเราเอา jacket หน้าหนาวมาอันหนึ่ง, sneaker มา 3 คู่และรองเท้า hiking มา 1 คู่ เพราะอะไร เพราเราชอบเดิน hiking แต่ดูสถานที่รอบกายในเมืองของเราแล้วนั้น ไม่มีที่ให้เดินเลยค่ะ ไม่เหมือนอเมริกาเลย เขาไม่มี national park ฮ่าๆ ถ้าใครสายแฟชั่นก็แนะนำว่าไม่ต้องเอามาเยอะหรอกค่ะพวกรองเท้า รอมาซื้อที่นี่ดีกว่า บางรุ่นถูกกว่าที่ไทยและรองเท้า boots เขาก็เยอะมากจนงง
          
         เอาเป็นว่าเราแนะเป็นแนวทางให้แค่นี้แล้วกันนะคะ เพราะเรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของใครของมันจริงๆ แต่ที่แน่ๆเลย ทุกคนต้องเช็กน้ำหนักกระเป๋ากับทางสายการบินดีๆนะ เราชั่งแล้วชั่งอีก พอไปชั่งจริงที่สนามบินปาไปเลย 31 kg ยังดีที่เขาอนุโลมให้ แล้วก็ให้ดู carry-on ด้วยนะ อย่างเราบิน Qatar เขาก็กำหนดมาว่า 15 lbs หรือประมาณ 7 kg เราแพ็คมาให้พอประมาณ 15 lbs เลย แต่เขาไม่ตรวจ สุดท้ายเราเลยถ่ายเทน้ำหนักจากกระเป๋าสะพายหลังไปที่ carry-on แบบลากของเรานะคะ ตอนแรกคือหลังแทบหัก เพราะสายการบินไม่ชั่ง personal bag อยู่แล้ว ถ้ามันไม่ใหญ่เกินเหตุ

         มาค่ะ ย่อหน้าสุดท้ายก่อนจะบอกลากันในอีพีนี้แล้ว ขอ disclaimer อีกทีว่านี่เป็นประสบการณ์ของเราที่เอามาแชร์ให้เพื่อนๆอ่านกันนะ หลายคนพอเริ่มทำจริงๆก็อาจจะแตกต่างจากเรา โดยเฉพาะคนที่มาเองโดยไม่ผ่านเอเจนซี่ไทย เราหวังว่าเรื่องราวของเราจะเป็นประโยชน์ให้ทุกคนไม่มากก็น้อยนะคะ เราไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะยังได้มาเขียนเรื่องราวในนี้อีกมั้ย แต่ถ้ามีโอกาสก็จะพยายามมาบันทึกประสบการณ์ของเราให้เพื่อนๆที่ติดตามอยู่ได้รับรู้ด้วยกัน จนถึงวันนี้ที่เราพิมพ์อีพีนี้อยู่ ขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามกันมาอีกครั้งนะคะ รักษาสุขภาพด้วยนะ และถ้าใครมีคำถามอะไร แน่นอนว่า dm ทางทวิตเตอร์ของเราเปิดอยู่เสมอค่ะ :) คลิก

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in