เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#ดิออนออนเดอะโรลdionyk
12 : การดำรงชีวิต
  •      สวัสดีค่ะ กลับมาอีกแล้ว เอาจริงๆเราก็ไม่รู้จะเขียนอะไรแล้วแหละ คิดว่าเขียนไปเยอะมากแล้วกับขั้นตอนก่อนมา ขั้นตอนตอนมาถึงก็ค่อนข้างจะช้าไปหน่อยสำหรับเรา ผ่านมาจะครบ 2 ปีเต็มแล้วค่ะและเราก็จำไม่ได้แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง ฮ่าๆ สำหรับตอนนี้เลยขอมาเขียนเรื่องการดำรงชีวิต ประเด็นที่จะพูดในอีพีนี้คือเรื่องเงินค่ะ เงินล้วนๆ เพราะหลายคนทักมาถามเราเรื่องเงินเยอะอยู่เหมือนกัน เราบอกตรงๆนะคะว่าออแพร์เงินเดือนน้อย น้อยมากๆด้วย แต่อย่าลืมว่าออแพร์มาในฐานะวีซ่า J-1 นั้นก็คือวีซ่าแลกเปลี่ยนในโครงการของรัฐบาล ฉะนั้นก็อยากพูดให้ชัดเจนอีกครั้งเกี่ยวกับเรื่องเงินตอบแทนว่ามันเป็นยังไง พอใช้มั้ย หรือคำถามอื่นๆเกี่ยวกับเรื่องเงินที่เพื่อนๆหลายคนเคยส่งมาถามนะคะ หวังว่าอีพีนี้จะตอบคำถามให้ทุกคนได้ไม่มากก็น้อยนะคะ ;)

    คำถามที่ทุกคนทักมาถามบ่อยๆ
         เราขออนุญาตรวบรวมคำถามที่ทุกคนทักมาถามเกี่ยวกับการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานที่สองหรือเรื่องเงินนะคะ ว่ามันเป็นยังไง เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอย่างใด ทุกคำถามที่ถูกถามเข้ามา เราก็ตอบในส่วนที่เรารู้เท่านั้น แต่หวังว่าจะช่วยทุกคนให้เข้าใจมากขึ้นนะคะ ก่อนจะไปตอบคำถามกัน ขออนุญาต disclaimer เลยนะคะว่าเราไม่ใช่คนที่ทำผิดกฎของออแพร์ แต่ก็ไม่สามารถไปบงการใครได้ ทุกอย่างขึ้นกับดุลพินิจของตัวออแพร์เอง เราแค่มาเล่าในส่วนที่เรารู้ รวมถึงประสบมา ถ้าทำให้ทุกคนไม่พอใจใดๆ สามารถดีเอ็มมาอธิบายหรือ discuss กับเราได้ทางทวิตเตอร์นะคะ คลิก ถ้าพร้อมแล้ว มาเริ่มกันเลยค่ะ

         - เงินพอไหม
         เราตอบไปแล้วในอีพี 08 ที่ว่าด้วยวิชาออแพร์ แต่ไหนๆก็เอาเรื่องเงินๆทองๆมาเขียนอีกรอบ เลยขอเอามารวมกับอีพีนี้ด้วยนะคะ สำหรับเรา เราบอกตลอดว่าเรา 'พอ' มีเงินเก็บด้วยซ้ำ เราทำงานเป็นครูพี่เลี้ยงให้ nursery แถวบ้านก่อนเราจะมาอเมริกา เราได้เงินเดือนแค่หลักพันค่ะ แล้วโดนไล่ออก เราไปทำงานที่กรุงเทพได้เงินเดือนหลักหมื่นต้นๆค่ะ แต่เราไม่ได้จะทำงานจริงจังมากอยู่แล้วนะที่กรุงเทพ เลยไม่ได้คาดหวังเงินเดือนสูงมาก เราทำงานบริษัททัวร์ค่ะในขณะนั้น เราไม่มีเงินเก็บเลย เพราะต้องจ่ายค่าเดินทาง, ค่าที่พัก, ค่าอาหาร ต้องยืมเงินแม่ด้วยซ้ำตอนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ พอมาออแพร์ ปีแรกเราได้เท่ากฎเป๊ะๆเลยค่ะ 195.75$ แต่มีเงินเก็บนะคะ ถึงจะไม่ได้มาก เพราะว่ามาถึงนี่เราเล่นซื้อตระกูลแอปเปิ้ลทั้งไอโฟนและไอแพดมาไว้ใช้ รวมถึงซื้อกล้อง ซื้อเสื้อผ้า ซื้อกระเป๋า ซื้อรองเท้า เอาง่ายๆว่าใช้จ่ายทุกเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 300$ (หากเฉลี่ยๆเดือนที่ซื้อหนักๆไปใส่เดือนที่ไม่ค่อยได้จ่ายด้วยนะคะ) เผื่อเงินส่งกลับบ้าน แถมเรายังลงวิดีโอคอลไซน์กับศิลปินเกาหลีอีก หมดไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทไทยค่ะ ไม่ได้จะอวดอะไรนะคะ แต่แค่มาชี้แจงให้เพื่อนๆเห็นว่าเราใช้จ่ายทุกเดือนจริงๆ ใช้เงินเป็นน้ำในหลายๆเดือนอีกด้วย แต่เรามีเงินเก็บค่ะ มีเงินไปเที่ยว มีเงินสำรองสำหรับชีวิตหนึ่งปี เราไม่ใช่คนวางแผนการเงินเก่งอะไรเลย เดือนไหนอยากใช้ก็ใช้ แต่เราก็ทำบันทึกรายจ่ายไว้เตือนใจตัวเองนะ ว่าเดือนนี้เกินกำหนดแล้ว รอซื้อเดือนถัดไป ฮ่าๆ เราทำประมาณนี้ค่ะ แต่ที่อยากเน้นเลยคือเรามีเงินพอใช้ค่ะ

         - งานที่สอง
         เราตอบคำถามนี้มาหลายครั้งมากเลย แต่ก็เข้าใจได้ว่าเงินมันสำคัญสำหรับยุคเราจริงๆค่ะ บอกตรงนี้แล้วกันเนอะว่าใครที่สนใจอยากทำงานที่สอง ทำไม่ได้ค่ะ เพราะมันผิดกฎของตัววีซ่าที่เราถือ ออแพร์คือโครงการแลกเปลี่ยนที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลค่ะ ซึ่งขึ้นกับ Department of the State พี่ๆทางเอเจนซี่ของไทย เขาก็จะให้รายละเอียดเราเรื่องนี้ก่อนเราบินอยู่แล้ว อย่างเอเจนซี่เรามีการให้เซ็นสัญญาเลยค่ะว่าต้องอยู่ให้ครบหนึ่งปีและห้ามทำผิดกฎที่ระบุไว้ในตัววีซ่า J-1 (ในส่วนของออแพร์) สถานะวีซ่านี้ต้องมาแลกเปลี่ยนเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นแค่ออแพร์ มันจะไม่เหมือนวีซ่าของ W&T ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด ตัวนั้นจะสามารถทำงานได้หลายอย่าง แล้วแต่ว่าตัวผู้แลกเปลี่ยนจะหานายจ้างได้หรือไม่ หากเราเข้าใจผิดประการใด ต้องขออภัยด้วยนะคะ
         เราตอบคำถามไปว่าทำไม่ได้ แต่ใครๆก็รู้ค่ะว่ามันมีคนไปทำอยู่แล้ว ซึ่งถ้าจะให้ตอบแบบไม่คิดถึงกฎใดๆเลย เราก็คงจะตอบว่าสามารถไปทำงานที่สองได้ค่ะ ถ้าคิดว่าเราโอเคกับโฮสต์ในระดับหนึ่งแล้ว สามารถพูดคุยกันได้อย่างเปิดเผยก็คุยกับเขาให้แน่ใจเรื่องงานที่สอง แล้วขอไปทำได้ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นงาน babysitter, งานร้านอาหาร หรืองานอื่นๆที่เพื่อนๆสนใจ แต่ถ้าโฮสต์ไม่โอเค และเราดูลาดเลาแล้วมันไม่เหมาะจริงๆจะคุยกับเขา แต่เราอยากทำ ทำได้ค่ะ แต่ต้องแอบทำ มีหลายคนที่เรารู้จักก็แอบไปทำ โดยไม่ให้โฮสต์รู้ มันก็จะยากหน่อยในช่วงโควิดที่ผ่านมา แต่โดยรวมแล้วตอนนี้เห็นเพื่อนเราหลายคนกลับไปทำร้านอาหารกันบ้างแล้วนะคะ ซึ่งเพื่อนที่เรารู้จักเขาคุยกับโฮสต์ว่าเขาจะเรียนต่อที่นี่ เลยขออนุญาตโฮสต์ไปทำเป็นงาน part-time ค่ะ
          ก็เหมือนที่เราบอกเลยนะคะว่าเราไม่ blame ใครและเข้าใจทุกสถานการณ์ดี แต่ตัวเราเลือกที่จะไม่ทำ เพราะไม่ได้มีแพลนอะไร รวมถึงเราก็ใช้จ่ายได้ปกติ ไม่ได้ติดขัดอะไร ใช้ชีวิตเป็นออแพร์อย่างเดียวก็เหนื่อยแล้ว ฮ่าๆ เราหวังว่าคำตอบของเราจะช่วยให้ความกระจ่างกับเพื่อนๆนะคะ

         - งาน extra กับโฮสต์
         อันนี้ทำได้เหมือนกัน แม้มันจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องทำ แต่ใครที่ต้องการเงินเพิ่มแล้วเปิดใจคุยกับโฮสต์ได้จริงๆก็แนะนำค่ะ ดีกว่าไปทำลับหลังเขาเนอะ โดยเรทจะขึ้นอยู่กับรัฐนั้นๆหรือครอบครัวนั้นๆเลยนะคะ แต่ส่วนใหญ่จะได้อยู่ที่ประมาณชั่วโมงละ 10$ ค่ะ เราอาจจะพูดมากไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะไม่เคยทำงาน extra มีแต่ทำงานเกินไปแบบฟรีๆ ฮ่าๆ (เฉพาะบ้านแรกนะคะ อ่านประสบการณ์ของเราได้ในอีพีที่ 10 ฮะ) ยังไงถ้าใครอยากมีรายได้เพิ่มและไม่อยากทำลับหลังโฮสต์ก็แนะนำเป็นตัวนี้ดีกว่าค่ะ

         - ค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน
         ถ้าให้พูดเป็นรายวันเลย แน่นอนว่าเราคงจะตอบ 0$ ค่ะ เพราะมันไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย ยกเว้นไปเที่ยวหรือซื้อของส่วนตัว ซึ่งเป็น your own expenses อันนี้ขึ้นกับ lifestyle ส่วนบุคคลตามที่พูดมาตลอดเลยนะคะ หลายๆคนอาจจะเคยมีงานที่ดีกว่า ได้เงินเยอะกว่าที่ไทย เลยคิดว่างานตรงนี้มันจะพอมั้ย แต่เราว่ามันได้ประสบการณ์มากกว่าค่ะ ได้มาใช้ชีวิตต่างประเทศในราคาที่ไม่เกินเอื้อม เราว่าคุ้มมาก
         เราอาจจะเริ่มมาไม่ได้สวยหรูอะไร เพราะเรียนจบก็ว่างงาน มารู้จักโครงการออแพร์หลังเรียนจบไปหกเดือน ก็เลยช้ากว่าเพื่อนไปนิดหน่อย หลังจากนั้นก็เริ่มทำเอกสาร ก็เลยไปเก็บชั่วโมงแบบทำงานฟรีๆอยู่เกือบสามเดือน ทางโรงเรียนเลยจ้างต่ออีก 5 เดือน ก่อนถูกไล่ออก ด้วยสถานะทางการเงินของโรงเรียน แล้วก็ไปทำบริษัททัวร์ที่ไม่ได้เงินเดือนเยอะอะไร ฉะนั้นต้นทุนในการตัดสินใจมาอเมริกาของเรามันต่ำกว่าใครหลายๆคน เราเลยไม่ได้มองว่างานตรงนี้มันเงินน้อยเกินไป มันพอดีนะคะสำหรับเรา เราไม่ได้จ่ายอะไรมากมายเลยในชีวิต ใช้เยอะสุดก็ตอนจ่ายภาษีแบบ federal income tax (ก็คือ tax ที่ถูกคิดจากการทำงานของเรานั่นแหละค่ะ) ถ้าทำงานทั้งปีก็จ่าย 1,000$+ ไม่มากไม่น้อยเกินเลขนี้เท่าไหร่ค่ะ แล้วก็มีอีกหนึ่งตัวที่เป็นข้อสงสัยอยู่เหมือนกัน นั่นก็คือตัว state tax แต่เราไม่เคยจ่ายนะ เพราะเราถามแอเรียเราแล้วเขาก็บอกให้จ่ายแค่ federal tax ค่ะ เคยมีคนออกมาโพสต์แจ้งว่าถ้าจะอยู่ต่อแบบแต่งงานหรือทำกรีนการ์ดใดๆจนถึงการเป็น citizen อาจมีการเรียกเก็บ state tax ย้อนหลัง แต่สำหรับเรา เรามองว่ารายได้ออแพร์น้อยมาก แถมช่วงเวลาที่อยู่ก็ไม่ได้อยู่นานและเราไม่ได้จะอยู่ต่ออยู่แล้ว เราเลยไม่ได้สนใจตัวนี้ค่ะ แต่ถ้าใครวางแพลนจะทำเรื่องอยู่ต่อ ต้องลองอ่านดูนะคะ 
         เรื่องเงินที่อยากให้เตรียมอีกอย่างก็คือ tax นี่แหละค่ะ เราต้องจ่ายนะคะ จริงๆมีข้อถกเถียงเยอะมากสำหรับ tax ตัวนี้ เราก็สงสัยเหมือนกัน แต่เราก็ไม่รู้จะหาคำตอบได้จากที่ไหน ที่เราจ่ายก็เพราะทางเอเจนซี่แจ้งให้จ่าย เขาบอกวิธีการและช่วยให้เราจ่ายเลยค่ะ เราเลยคิดว่ามันก็คงเป็นไฟล์ทบังคับที่เราต้องจ่ายแหละ โดยเฉลี่ยแล้ว tax จะหักออกประมาณ 20$ ต่อสัปดาห์จากเงินเดือนที่เราได้ค่ะ เก็บๆไว้จ่ายก็ประมาณเดือนละ 80$ นะคะ ไม่ต่ำกว่านี้ค่ะ

         - ค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ควรเตรียม
         อย่างของเรา เราเตรียมเงินต่อปีสองค่ะ เพราะตั้งใจจะย้ายฝั่งอยู่แล้ว เราเลยต้องเตรียมตรงนี้เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นค่าต่อสัญญาปีที่สองกับเอเจนซี่ ของเราอย่างที่บอกว่าจ่ายไป 367$ ค่ะ แต่เราก็เตรียมค่าขนย้ายและค่าอื่นๆไว้อีก เพราะต้องใช้จ่ายเยอะมากในช่วงนั้น เราซื้อของขวัญให้ทั้งบ้านแรก รวมถึงบ้านที่สองด้วย เดือนก่อนย้ายของเราก็ถือว่าค่าใช้จ่ายสูงอยู่เหมือนกันค่ะ ฮ่าๆ
         อีกเรื่องคงเป็นเรื่องเที่ยว อย่างแพลนเที่ยวระยะสั้นๆเราวางไว้ที่ 400-500$ อาจมีเกินบ้างหรือเหลือบ้าง ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์เลยค่ะ อย่างเราไปนิวยอร์ก 2 วัน ก็เตรียมไว้ที่ 300$ รวมค่าเดินทางและโรงแรม มีเกินบ้างนิดหน่อยแต่โดยรวมแล้วโอเคค่ะ ไม่ได้เยอะเกินไป อีกอย่างก็คงจะเป็นทริประยะยาว เราวางแพลนจะ raod trip อยู่แล้ว เราเลยเตรียมเงินไว้ทริปละ 1,000-1,300$ ประมาณนี้ แต่ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์อีกนะคะ เราเที่ยวธรรมชาติอย่างเดียว ไม่ได้ดื่มและไปเล่นอะไรที่แพงๆ ก็พอได้ค่ะ พูดมาถึงตรงนี้ก็คงต้องบอกอีกว่ามาแน่ค่ะ สำหรับบทความเกี่ยวกับ road trip :)

         สำหรับคำถามที่เราถูกถามบ่อยๆเกี่ยวกับเรื่องการดำรงชีวิต(โดยเฉพาะเรื่องเงิน)ก็มีประมาณนี้ค่ะ หวังว่ามันจะช่วยตอบคำถามทุกคนได้บ้างนะคะ หรือถ้าใครมีคำถามอื่นนอกเหนือจากนี้ สามารถส่งดีเอ็มมาสอบถามเราได้เสมอนะคะ เราตอบกลับแน่นอน แต่อาจจะช้าบ้างเพราะเรื่องเวลานะคะ

    บัญชีธนาคารที่อเมริกา
         ไหนๆก็ขอมาแนะนำบัญชีธนาคารหน่อยแล้วกันนะคะ เราไม่ได้ค่าโฆษณาใดๆนะคะ แต่เราใช้บัญชีของธนาคารนี้อยู่ แล้วคิดว่าเป็นตัวเลือกที่ดีตัวหนึ่งเพราะมันสะดวกมาก เราเปิดบัญชีออนไลน์ได้เลย ไม่ต้องไปติดต่อธนาคารเอง, ไม่มี fee ใดๆทั้งนั้น, เงินฝากขั้นต่ำเริ่มที่ 0$ และมีแอพทำธุรกรรมการเงินที่สะดวกมากๆ ธนาคารที่เราจะแนะนำคือธนาคาร Capital One ค่ะ อ่านรายละเอียดของธนาคารเพิ่มเติมจากเว็บไซต์นี้ได้เลยนะคะ คลิก
         เราใช้บริการของธนาคารนี้ทั้ง Credit card และ Debit card เลยค่ะ ก็เลยคิดว่าเป็นตัวเลือกที่ไม่ได้แย่สำหรับออแพร์ แต่วันนี้จะมาพูดถึงประเภทของบัญชีนะคะ ซึ่งที่นี่จะมีบัญชี 2 รูปแบบ คือ Saving และ Checking สำหรับธนาคารที่เราใช้ มีดอกเบี้ยให้ทั้งสองประเภท แต่ตัว Saving จะได้เยอะกว่า เราจำไม่ได้ว่ากี่ % แต่ก็ถือว่าไม่ได้แย่ไปค่ะ เราแค่แยกบัญชีเงินเก็บกับเงินใช้เฉยๆ

         (1) Saving account - ตัวนี้เราใช้เป็นบัญชีเก็บเงินค่ะ นั่นก็คือจะไม่ใช้เลย ไม่แตะต้องใดๆทั้งนั้น เราจะกำหนดเงินที่เราใช้ได้จากยอดล่าสุดของบัญชี Checking เช่นเรามีเงินเหลือในนั้นอยู่ 1,563$ เราก็จะโอนเข้า Saving ไป 1,000$ และใช้ส่วนที่เหลือให้รอด แต่ไม่ใช่ว่าเราโอนทุกเดือนนะคะ เราโอน 4-5 เดือนต่อครั้งค่ะ ทีละ 1,000$ ไม่ได้เยอะเกินไป แต่ก็ไม่ได้น้อยเกินไป เพราะ shopping เก่งนั่นแหละค่ะ ฮ่าๆ ทำมากกว่านี้ไม่ได้ และไม่เคยทำงานเสริมอื่นๆ ทำแค่งานออแพร์ค่ะ

         (2) Checking account - ตัวนี้โดยส่วนใหญ่แล้วมันมีเพื่อการใช้จ่ายเลยค่ะ สามารถโอนเงินได้และใช้จ่ายได้ผ่านบัตรเดบิต ทุกคนต้องมีบัญชีนี้อยู่แล้ว เพื่อรับเงินเดือนจากโฮสต์ด้วย แต่ก็มีหลากหลายธนาคารให้เลือกสรรนะคะ ตัวดังๆอย่าง chase, bank of america, wells fargo เป็นต้น หรือแม้กระทั่งธนาคารท้องถิ่นที่มีแค่ในรัฐนั้นๆ อย่างปีแรกเราอยู่เพนซิลเวเนีย เขาจะมี citizens ที่มีแค่ในระแวกบ้านเรา ไม่แน่ใจว่าทั่วทั้งรัฐหรือมีในรัฐอื่นมั้ยนะคะ แต่ไม่มีในรัฐแคลิฟอร์เนียที่เราย้ายไปค่ะ ฉะนั้นปีสอง ใครจะต่อบ้านใหม่และที่รัฐนั้นไม่มีธนาคารที่เราใช้จากปีแรกก็ต้องเปิดบัญชีใหม่นะคะ เวลาติดต่อธุรกรรมมันจะยากค่ะ

         ก็นั่นแหละค่ะ ธนาคารที่เราแนะนำไปมันสะดวกมากจริงๆ มันเป็นธนาคารออนไลน์ตัวหนึ่งเลยค่ะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของโฮสต์บ้านนั้นๆด้วยนะคะ ถ้าเขาใช้ตัวอื่นอยู่ เขาก็จะให้เราเปิดตัวเดียวกันกับเขา แต่พอดีของเรามันมีสาขาทั่วประเทศ เราเลยใช้บัญชีตัวเดิมมาตลอดตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบันค่ะ

    โอนเงินภายในประเทศ
         ก่อนจะไปในส่วนอื่นๆ ทุกคนก็คงสงสัยว่าที่นี่มีแอพโอนเงินแบบที่ไทยหรือเปล่า คำตอบคือคล้ายๆกันค่ะ แอพที่เราจะแนะนำมี 2 ตัว นั่นก็คือ Venmo และ Zelle 

         • Venmo - จะมีความคล้ายคลึงกับแอพ True Wallets เพราะมันจะเป็นเหมือนเติมเงินไว้ในบัญชีของแอพค่ะ แล้วใช้จ่ายภายในแอพ แต่ก็สามารถโอนเงินเข้าธนาคารได้เช่นกัน อันนี้เรามีไว้เวลาไปเที่ยวกับเพื่อน แล้วโอนเงินคืนกัน มันสะดวกดีค่ะ หรือโฮสต์หลายๆบ้านก็ใช้ตัวนี้ในการโอนนะคะ แต่เราว่าตัว Zelle จะสะดวกกว่า แถมหนึ่งเบอร์เปิดได้หนึ่งครั้งเท่านั้นค่ะ แต่เวลาโอนใช้เป็นไอดีแทนนะคะ ไม่ใช่เบอร์
         • Zelle - อันนี้จะคล้ายกับแอพธนาคารทั่วไปที่สุด เพราะปัจจุบัน Zelle ถูกบรรจุลงไปในทุกแอพของธนาคารนั้นๆแล้วค่ะ โอนเงินสะดวก เพียงเชื่อมบัญชีธนาคารกับเบอร์โทรหรืออีเมลเท่านั้น ส่วนตัวชอบอันนี้ที่สุด เพราะไม่ต้องสมัครอะไรมากมาย แค่เชื่อมบัญชีกับอีเมล (เราเปลี่ยนเบอร์บ่อยเลยเชื่อมแค่อีเมลค่ะ) แล้วเอาอีเมลไปให้เพื่อน เงินที่เพื่อนโอนมาจะเข้าบัญชีเราอัตโนมัติ ไม่ต้องไปเสียเวลาโอนเงินเข้าบัญชีอีกค่ะ

    ส่งเงินกลับไทย
         มาแนะนำแอพที่เราใช้ส่งเงินกลับไทยกันบ้างนะคะ ตัวที่ดังๆของเหล่าออแพร์เลยคือแอพ Wise ค่ะ แต่เราใช้ WireBarley มากกว่า มีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้มากมาย อย่างตัว Wise จะเรทสูงที่สุดเลยค่ะ เราเลยเอาไว้เช็กเรทเงินในเวลานั้นๆ แต่มันมีค่า fee ที่ถือว่าค่อนข้างเสียเปรียบกว่าตัว WireBarley ที่ไม่มี fee เราเลยเอาตัว WireBarley ไว้โอนเงินมากกว่าค่ะ เราเลือกโอนแบบ ACH นั่นคือใช้ทางผู้พัฒนาแอพเป็นตัวกลางในการโอน ไม่ได้ตัดบัตร Debit เราโดยตรง อาจจะช้ากว่าตัดโดยตรงเล็กน้อย แต่ว่าก็ใช้ในการโอนประมาณ 2-3 วันเท่านั้นค่ะไม่ได้แย่เลยและเพราะด้วยมันไม่มี fee เวลาโอนเงินก็จะได้เงินบาทเยอะกว่า Wise เล็กน้อย 80-100 บาท หรืออาจมากกว่านั้น แล้วแต่ตัวเลือกที่ทุกคนเลือกใน Wise นะคะ หน้าตาของแอพก็จะเป็นประมาณในภาพเลยนะคะ

         ส่วนใครที่สงสัยเรื่องการใช้งาน ของ WireBarley มีตัวเลือกให้ใช้ภาษาไทยได้นะคะ ใช้งานไม่ยากเลย แต่ถ้าไม่เข้าใจตรงไหน ดีเอ็มมาถามเราอีกได้ค่ะ ยินดีช่วยเหลือมากๆเลย

    แนะนำแอพสำหรับสายช็อป
         คิดว่าน่าจะเป็นหัวข้อสุดท้ายที่จะพูดถึงในอีพีนี้ นั่นคือแอพ cash back ที่เราใช้ช็อปปิ้งประจำ แอพที่ชื่อว่า Rakuten ขอมาแปะไว้เลยแล้วกันนะคะว่าถ้าเข้าร่วมผ่านลิงก์เราจะได้เงินคืน 30$ ค่า คลิก
         หากเพื่อนๆช็อปปิ้งผ่านทางแอพนี้จะได้รับ cash back ตาม % ที่แสดงในขณะนั้นค่ะ แล้วก็มีรวม code ส่วนลดไว้ให้ด้วยนะคะ สะดวกมาก ถึงจะได้คืนไม่เยอะ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้คืนนะ ฮ่าๆ ยังไงลองใช้กันดูนะคะ :)

         เป็นยังไงกันบ้างคะ พอพูดเรื่องเงินๆทองๆเราก็อาจจะอินไปหน่อย เพราะใช้เงินเป็นน้ำมากเลยช่วงนี้ ก็เลยจัดเต็มที่ มาชี้แจงให้ทุกคนเห็นเป็นข้อๆเลยว่าเรามีเงินเก็บ ถึงจะเสียเงินเยอะก็ตาม เราไม่คิดว่าเราจะสามารถทำแบบนี้ได้แน่ๆถ้าเรายังอยู่ที่ไทย ฉะนั้นใครที่กังวลเรื่องเงินไม่ต้องกังวลเลยนะ ถ้ามันหมดเมื่อไหร่ก็ค่อยหาเพิ่มค่ะ
         ขอบคุณทุกคนที่ติดตามบล็อกเรามาเสมอ เช่นเดิมว่าถ้าสงสัยอะไร ส่งมาถามได้ในดีเอ็มทวิตเตอร์ค่ะ เราสแตนด์บายรอทุกคนอยู่ สำหรับวันนี้ก็คงต้องขอตัวลาไปก่อนนะคะ ไว้กลับมาเจอกันใหม่ในอีพีหน้านะคะ Stay safe! ;)


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in