เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
In a Dreamy StateYarimmie
4th
  • The Last chapter of Student life is not so bad. Time is all it takes.

    วันที่ได้อยู่กับตัวเองคือวันที่สงบที่สุด 
    ห้องที่มีแต่เสียงของอุปกรณ์ไฟฟ้าทำงานอย่างพัดลมกับทีวีทำให้นึกอยากขีดเขียนและบันทึกบางอย่าง

    ที่ผ่านมา เวลาที่ช้าก็ช่างช้าเหลือหลาย กว่าจะกระเสือกกระส้นดั้นด้นอ่านหนังสือให้ผ่านไปแต่ละเทอมนั้นยืดยาวจนทรมาน แต่เมื่อนึกขึ้นได้ว่าเวลาที่เหลือในสถาบันนี้ เวลาที่จะได้นั่งเรียนนั่งคุยกับเพื่อนเหลือน้อยลงเต็มที มันก็ต้องยอมรับประโยคสัจธรรมยอดฮิตของเด็กใกล้จบว่า 'เวลาสี่ปีผ่านไปไวจัง' 

    ด้วยคณะที่เราเรียนไม่ใช่คณะสายอาชีพ ถ้าไม่เตรียมตัว ไม่สร้างเป้าหมาย ไม่พัฒนาสกิลตัวเอง โอกาสที่จะเคว้งคว้างและเดินเตะฝุ่นนั้นสูงเหลือเกิน และเป็นที่น่าน้อยใจนักที่ความรู้ตลอด 4 ปีจะไร้ค่า ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะไม่ได้ยกย่องเชิดชูความรู้ประเภทนี้อะไรมากนักอยู่แล้ว แต่ท้ายที่สุด เราเองนี่แหละที่จะเป็นคนตัดสินว่าจะทำให้ความรู้พวกนั้นไร้ความหมาย หรือนำมันไปใช้ประโยชน์อย่างที่มันถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นเช่นนั้น 

    คาบเรียนเมื่อวานทำให้เรากลับมานั่งนึกทบทวนว่า ใช่, สุดท้ายมันอยู่ที่เรา ศาสตราจารย์ชาวต่างชาติจากสถาบันระดับโลกชื่อดังทีี่มาเป็นวิทยากรสะท้อนให้เราเห็นว่า การมีความเชื่อต่อสิ่งที่ทำนั้นสำคัญแค่ไหน เหนือกว่าความฝันคือความเชื่อ หากเรามีความฝันแต่เราไม่เชื่อว่าเราทำตามฝันได้ มันก็อาจจะแค่นั้น แต่ทั้งนี้ เงื่อนไขมากมายทั้งเลือกได้และเลือกไม่ได้ของชีวิต อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความฝันไม่สามารถเป็นจริงได้แม้เราจะมีความเชื่อแล้วก็ตาม การทำเท่าที่ทำได้อาจช่วยให้เราไม่รู้สึกขมขื่นกับชีวิตมากเกินไป มันอาจไม่เป็นตามที่ฝันทุกประการ แต่การได้ทำอย่างที่ฝันบ้าง ก็คงเติมพลังให้ชีวิตได้

    ศาสตราจารย์ท่านนี้พยายามนำสิ่งที่ท่านชอบท่านรักมาทำให้มันสำคัญและมีคุณค่ามากขึ้น ความรู้ที่ท่านสั่งสม ท่านมีความตั่งใจจะใช้มันช่วยให้สังคมสามารถพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นได้ สิ่งที่น่าสนใจในแนวคิดท่านก็คือ การเชื่อว่าโลกเรามาถึงจุดที่มนุษย์สามารถศึกษาอดีตและปัจจุบันเพื่อทำนายอนาคต วาดภาพของอนาคต และหาหนทางเพื่อไปสู่อนาคตนั้นได้ โดยไม่ได้อาศัยแค่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ หรือเรียกว่าวิทยาการที่เป็นเชิงประจักษ์เท่านั้น ท่านกล่าวว่า ความรู้ทางสังคมศาสตร์ (ที่ฟังดูนามธรรมและอุดมคติเสียเยอะ) สามารถและควรที่จะเข้าไปมีบทบาทต่อการพัฒนาสังคมให้ไปในทางที่ดีที่เหมาะสม 

    เพราะฉะนั้น ความรู้ที่เล่าเรียนมาก็คงไม่ได้เปล่าประโยชน์เสียทีเดียว อีกทั้งการศึกษาสังคมประเภทนี้ยังมีหลายแนวทางให้ได้เลือกตามที่เหมาะสม ถือว่าน่าประทับใจไม่น้อยเลยว่าไหมที่มีคนที่มองโลกในแง่ดีมากขนาดนี้ ในขณะที่เจเนอเรชั่นแห่งความสิ้นหวังกำลังตัดพ้อว่าความรู้บางอย่างก็ใช้หากินไม่ได้ แต่อีกแง่หนึ่งก็มีคนที่พยายามจะทำให้เห็นว่า ความรู้คือสิ่งมีคุณค่า เมื่อเราทำมันให้มีคุณค่า 

    ถึงอย่างนั้นก็เถอะ สิ่งที่เขียนไปข้างบนก็อาจจะฟังดูโลกสวยอยู่ดี เพราะยังไม่ได้พูดถึงเรื่องค่าตอบแทน (ซึ่งจำเป็นมากในโลกที่ทุกอย่างเป็น commodities) แต่ก็อย่างที่บอก ชีวิตเราดำรงอยู่ได้ด้วยความเชื่อ คุณอาจไม่เชื่อศาสนา ไม่เชื่อไสยศาสตร์ ไม่เชื่อแนวคิดบางอย่าง ไม่เชื่อว่าโคลนช่วยรักษาโรค แต่เชื่อเถอะว่า คุณมีความเชื่อบางอย่างที่หล่อเลี้ยงชีวิตคุณให้อยู่ได้จนถึงทุกวันนี้แน่นอน บางคนอาจแค่เชื่อว่าไก่ทอดคืออาหารที่อร่อยที่สุด ฉันต้องตามกินไก่ทอดให้ครบก่อนตาย แค่ความเชื่อนี้คุณก็สามารถรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายได้แล้ว ถูกไหม?

    สุดท้ายนี้ เราก็คงต้องย้อนกลับมาพูดถึงชีวิตการศึกษาที่กำลังจะหมดลงในกลางปีนี้ จริงที่ว่าเวลามันเหลือน้อยจนน่าใจหายในหลายครั้งที่นึกถึง และเมื่อนึกถึงอนาคต มันก็ทำให้รู้สึกโหวงเหวงในใจอีกด้วย ภาพความฝันที่ยังไม่ชัด เส้นทางชีวิตที่ยังไม่มี สั่นคลอนใจเราอยู่มากโข แต่เพราะตลอด 4 ปีที่เรียนมา เราถูกสอนให้ตั้งคำถามเสมอ ก่อนจะจบการศึกษาอย่างเป็นทางการมันคงสำคัญที่เราจะต้องตั้งคำถามพื้นฐานก่อนว่า เรากำลังทำอะไร เราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และเราได้อะไรจากมัน จากนั้นเราจึงค่อย ๆ วาดภาพอนาคตที่ต้องการ และหาแนวทางว่าเราจะไปสู่อนาคตนั้นอย่างไร (ถือว่าเป็นการประยุกต์ใช้แนวคิดของศาสตราจารย์ได้ดีเลยทีเดียว)

    และหากจะถามถึงความเชื่อที่หล่อเลี้ยงเราในทุกวันนี้ เราคงตอบว่ามันเป็นประโยคหนึ่งที่อ่านเจอและอิมแพคเรามากจากบทความสัมภาษณ์หนึ่งในทีมนักเขียนบทละครเลือดข้นคนจาง 

    'ทุกปัญหามีทางลงของมัน'

    อ่านมาถึงตรงนี้
    แล้วความเชื่อของคุณล่ะ นึกขึ้นได้หรือยัง?


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in