เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Films speak for mepuroii
The Alienist: ฆาตกรรมและอเมริกาในศตวรรษที่ 19

  • ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 บุคคลที่มีอาการป่วยทางจิตจะถูกมองว่ามีความวิปลาส

    จากธรรมชาติที่แท้จริงของตน  ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องพวกเขาจึงมีชื่อเรียกว่า 

    “นักจิตวิปลาส”


    The Alienist เป็นซีรีส์จำนวน 10 ตอนใน Netflix เล่าถึงฆาตกรต่อเนื่องในปี 1896 โดยมีนักจิตวิปลาส ดร.ไครซเลอร์ (แดเนียล บรูห์) นักวาดภาพหนังสือพิมพ์ จอห์น มัวร์ (ลุค อีแวนส์) ร่วมกับเลขาสาวในกรมตำรวจ ซาร่า ฮาวเวิร์ด (ดาโกต้า แฟนนิ่ง) โดยอาศัยความช่วยเหลือจากผู้มีฝีมือเพื่อระดมสมองไขปริศนาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่ตัวคนร้าย

    คนที่ชอบแนว Mindhunter, Hannibal หรือ Sherlock อาจจะสนใจซีรีส์เรื่องนี้ นอกจากฆาตกรรมและการสืบสวนแล้ว The Alienist ยังเป็นซีรีส์พีเรียดนำเสนอภาพสังคมอเมริกาในศตวรรษที่ 19 ออกมาได้ถี่ถ้วน อัดแน่นไปด้วยรายละเอียดที่สวยงามและภาพสะท้อนอันน่าหดหู่


    The Alienist: ก่อนมาเป็นจิตแพทย์

    เชื่อกันว่าคำว่า alienist เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1864 ทางการแพทย์ใช้คำนี้เพื่ออธิบายถึงจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือบุคคลที่ดูแลผู้ป่วยทางจิต 

    alienist มาจากภาษาละติน alienus ซึ่งแปลว่า ผู้อื่น/สิ่งอื่น (other) และภาษาฝรั่งเศส aliéné ที่แปลว่า วิกลจริต

    สำหรับภาษาอังกฤษแล้ว alienist คำนี้ฟังดูเหมือนการศึกษา "เอเลี่ยน" ที่เรามักใช้เรียกมนุษย์ต่างดาวในภาพยนตร์ไซไฟ เอเลี่ยนที่ว่านี้เป็นสิ่งมีชีวิตแปลกหน้าหรือมาจากสถานที่อื่น ต่อเนื่องไปถึง alienation ที่อธิบายความแปลกแยกทางสภาวะทางจิตในผู้ป่วยที่ทำให้หลุดพ้นจากการเป็นตัวเองและไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ alienation ยังถูกนำไปใช้ในบริบทอื่น ๆ ด้วย เช่น “ความแปลกแยก” ที่คาร์ล มาร์กซ์นำมาอธิบายสังคมทุนนิยมที่มีการแบ่งชนชั้น หรือ “ความแปลกแยก” ในความหมายของผู้อพยพที่รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนแปลกหน้าในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย (a stranger in a strange land) 

    คำว่า alienist ยังถูกใช้ในภาพยนตร์และซีรีส์ต่าง ๆ เช่น Penny Dreadful และ Sherlock ตอน The Abominable Bride

    Sherlock: The Abominable Bride

    ซีรีส์เรื่อง The Alienist เกิดขึ้นในปี 1896 หลังจากที่ซิกมันด์ ฟรอยด์และโจเซฟ บรูเออร์ได้เขียนหนังสือเรื่อง Studies on Hysteria (1895)” หนังสืออันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของแนวคิดจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) โดยสันนิษฐานว่าดร.ไครซเลอร์ ตัวละครปั้นแต่งของเรื่องนี้คงได้อิทธิพลทางความคิดมาจากฟรอยด์ เจ้าพ่อของวงการนี้ โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องจิตไร้สำนึก (unconscious) และการเก็บกด (repression) ของมนุษย์ 


    คลื่นลูกแรกของการเคลื่อนไหวสิทธิสตรี (First wave feminism)

    Beauvoir (1949) เชื่อว่า One is not born a woman, but becomes one.” แปลว่า “คนเรานั้นไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง หากแต่กลายมาเป็นในภายหลัง” เธอเชื่อว่าความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นผลที่เกิดจากการประกอบสร้างทางวัฒนธรรม ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ดังนั้นความเสมอภาคทางเพศจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างของสังคมอย่างจริงจังทั้งระบบ

    ซาร่า ฮาวเวิร์ด (The Alienist)

    การเคลื่อนไหวสิทธิสตรีในช่วงแรกเกิดขึ้นตอนปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 จากสิ่งแวดล้อมของสังคมอุตสาหกรรมและการเมืองแบบสังคมนิยม เชื่อกันว่าการเคลื่อนไหวนี้อาจเกิดจากอิทธิพลของสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อผู้ชายต้องออกไปรบเพื่อประเทศชาติ ผู้หญิงจึงเริ่มออกมาทำงานนอกบ้านหาเลี้ยงตนเอง (แม้จะถูกจำกัดอาชีพอยู่ก็ตาม) 

    จุดประสงค์ของการเคลื่อนไหวนี้ก็เพื่อต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทางเพศและนำมาซึ่งสิทธิเสรีภาพทางสังคม เช่น การรณรงค์ให้สตรีมีสิทธิในการเลือกตั้ง ได้รับโอกาสทางการศึกษา และสามารถประกอบอาชีพในสถานที่ราชการต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการสูบบุหรี่ที่ต่อมากลายเป็น "Torches of Freedom" สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม

    กลุ่มผู้หญิงที่ออกมาเดินรณรงค์สิทธิเลือกตั้งในสตรี (The Alienist ตอน 4)

    The Alienist นำเสนอเรื่องสิทธิสตรีผ่านตัวละคร "ซาร่า ฮาวเวิร์ด" ผู้หญิงคนแรกที่ได้ทำงานในกรมตำรวจ แม้หลายคนจะไม่เห็นความสำคัญของเธอและยังเห็นเป็นวัตถุทางเพศจากการพูดโลมเลียในกรมตำรวจบ่อยครั้ง แต่เธอก็พยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำงานจนได้รับความเชื่อใจจากคนรอบข้าง ซาร่ากล้าพูดและทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความคาดหวังทางสังคม เช่น การยิงปืน การพูดคำว่า "เซ็กส์" ออกมาโต้ง ๆ หรือแม้แต่การสูบบุหรี่

    เราจะเห็นซาร่าสูบบุหรี่หลายครั้งในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวสิทธิสตรีในยุคนั้น ฉากนี้ผู้หญิงที่นั่งข้าง ๆ มองซาร่าด้วยสายตาไม่พึงพอใจนัก เพราะยุคนั้นเชื่อกันว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่ผู้หญิงตกอับหรือโสเภณีใช้กันและไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม (The Alienist ตอน 8)

    บทบาทเรื่องเชื้อชาติ

    ผู้อพยพจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามายังสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 19 ไม่ว่าจะเป็นจากยุโรป แอฟริกา แคนาดา หรือจีน ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของผู้อพยพ โดยเฉพาะจากเยอรมันและไอร์แลนด์

    คอนเนอร์ แสดงโดย 

    ชาวไอริชเป็นกลุ่มผู้อพยพจำนวนมากในยุคนั้น พวกเขาย้ายมาหลังทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ (potato famine) โดยคนไอริชส่วนใหญ่นับถือคริสตศาสนานิกายคาทอลิก ทางอเมริกามีความคิดว่าคนเหล่านี้รับใช้วาติกันและสันตะปาปา เมื่อถึงคราวต้องต่อสู้ ชาวไอริชคงจะตอบรับต่อคำสั่งของสันตะปาปาอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงเชื่อว่าชาวไอริชอาจเป็นภัยต่อประชาธิปไตยและโปรเตสแตนต์ได้ ใน The Alienist "คอนเนอร์" เป็นตำรวจนิวยอร์กซึ่งเป็นชาวไอริช เขาทำตามคำสั่งของผู้บัญชาการและพยายามอย่างมากเพื่อเอาใจผู้มีอิทธิพล จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าเขาทำเช่นนี้เพื่อดิ้นรนในสังคม เมื่อเขาถูกไล่ออกจากกรมตำรวจ คอนเนอร์ก็ยังพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งความเชื่อใจอีกครั้ง

    ชาวเยอรมันและชาวยิวเป็นอีกกลุ่มที่อพยพเข้ามาในอเมริกาเป็นจำนวนมากเพื่อโอกาสในการประกอบอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในยุโรป โดยส่วนใหญ่ชาวยิวที่อพยพมาจะมาเป็นครอบครัวและมักตั้งชุมชนเล็ก ๆ อยู่รวมกัน เราจึงเห็นครอบครัวของมาร์คัสและลูเซียสอยู่กันพร้อมหน้า

    ศตวรรษที่ 19 จึงกลายเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ แม้ทุกอย่างจะไม่ได้ราบรื่นแต่สังคมก็เริ่มเปิดโอกาสให้ผู้อพยพได้ทำงานในระดับที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการเมือง The Alienist ใส่ตัวละครเหล่านี้เข้ามาและให้บทบาทในการดำเนินเรื่องแก่พวกเขาเพื่อที่คนดูจะได้ตระหนักถึงประเด็นของเชื้อชาติที่มีรากฐานมาตั้งแต่อดีตกาล 

    พี่น้องไอแซคสัน มาร์คัส (ขวา) แสดงโดย Douglas Smith และลูเซียส (ซ้าย) แสดงโดย Matthew Shear 


    บุคคลในประวัติศาสตร์ธีโอดอร์ โรสเซเวลท์

    ธีโอดอร์ โรสเซเวลท์ แสดงโดย Brian Geraghty

    ธีโอดอร์ โรสเซเวลท์เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่จริง เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งในปี 1901-1909 ผู้คนเรียกเขาว่า “เท็ดดี้” และเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์

    โรสเซเวลท์ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรนิวยอร์กตอนอายุ 23 ปี แต่หลังจากที่ภรรยาและมารดาของเขาเสียชีวิตลงพร้อมกัน โรสเซเวลท์จึงย้ายไปดาโกต้าและใช้ชีวิตแบบคาวบอยตะวันตกเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นเขาแต่งงานใหม่และย้ายกลับมายังนิวยอร์ก

    ธีโอดอร์ โรสเซเวลท์

    ใน The Alienist เนื้อเรื่องเกิดในปี 1896 ขณะนั้นวิลเลี่ยม ลาฟาเยตต์ สตรองเป็นนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กและมอบตำแหน่งอธิบดีตำรวจให้กับโรสเซเวลท์ เขาโด่งดังเรื่องการต่อต้านคอรัปชั่น สมัยนั้นบาร์และสถานบริการค้าประเวณีกลายเป็นแหล่งรายได้ให้กับตำรวจเหล่านี้  โรสเซเวลท์พยายามที่จะปิดสถานบริการเหล่านี้ในวันอาทิตย์แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาใหญ่ เพราะชาวนิวยอร์กในขณะนั้นทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ วันอาทิตย์จึงเป็นวันหยุดเดียวที่พวกเขาจะได้ออกมาสังสรรค์และพบปะเพื่อนฝูง เรื่องนี้สำคัญอย่างมากต่อผู้อพยพชาวเยอรมัน เหตุการณ์นี้จึงทำให้เกิดการประท้วงใหญ่โตและส่งผลต่อชื่อเสียงของเขาไปไม่น้อย นอกจากนี้โรสเซเวลท์ยังชอบออกไปสอดส่องการทำงานของตำรวจแมนฮัตตันในเวลากลางคืน เขาได้เห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ตำรวจที่นอนหลับระหว่างงานหรือร่วมสังสรรค์กับคนอื่นขณะที่อยู่ในภาระงาน สร้างความหวาดระแวงให้ตำรวจขณะนั้นไปพักหนึ่ง

    เขาออกจากตำแหน่งหลังจากทำงานอยู่ปีกว่าและย้ายไปวอร์ชิงตันเพื่อสานต่ออาชีพทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงกรมตำรวจภายใต้การนำของโรสเซเวลท์นั้นน่าเสียดายที่ไม่ยั่งยืนนัก เมื่อเขาจากไป สภาพสังคมนิวยอร์กก็กลับมาเป็นดังเดิม


    ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์: Vitascope

    โทมัส เอดิสันและเครื่อง vitascope (The Alienist)

    หลายคนคงคุ้นเคยชื่อ "โทมัส เอดิสัน" จากการคิดค้นหลอดไฟ แต่เอดิสันไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เขายังก้าวเข้ามาในวงการภาพยนตร์และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงการอีกด้วย

    เมื่อปี 1891 วิลเลียม เคนเนดี้ ลอรีย์ ดิกสันร่วมกับโทมัส เอดิสันสร้างเครื่อง kinetoscope ขึ้นมา มันเป็นเครื่องฉายภาพเคลื่อนไหวผ่านช่องส่อง (peephole) ซึ่งในขณะนั้นสามารถรับชมได้เพียงครั้งละคนเท่านั้น

    kinetoscope

    ต่อมาในปี 1895 สองพี่น้องเมลิเยร์ที่ฝรั่งเศสก็สร้าง cinématographe เพื่อใช้ในการฉายภาพบนจอ พวกเขาปิดคาเฟ่แห่งหนึ่งและทำเสมือนเป็นโรงภาพยนตร์ เครื่อง cinématographe นี้ทำให้ผู้ชมสามารถรับชมภาพยนตร์ได้พร้อมกันหลาย ๆ คน 

    ต่อมาฟรานซิส เจนกินส์และโทมัน อาร์แมตสร้าง phantoscope ขึ้นมาแต่หลังจากพวกเขาแยกทางกัน เจ้าของบริษัท kinetoscope เห็นหนทางในการทำธุรกิจจึงติดต่ออาร์แมตเพื่อซื้อ phantoscope มาสร้างเอง โดยทางบริษัท kinetoscope หันมาหาเอดิสันเพื่อขอการสนับสนุน บริษัทของเอดิสันตกลงภายใต้เงื่อนไขที่ว่ามันจะต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ภายใต้การคิดค้นของเอดิสันและตั้งชื่อว่า vitascope

    vitascope เริ่มฉายครั้งแรกในปี 1896 ซึ่งส่งผลสั่นคลอนต่อพี่น้องเมลิเยร์ในการตีตลาดอเมริกามากแม้ว่าพวกเขาจะเป็นที่นิยมในอังกฤษตั้งแต่ 1895 แล้วก็ตาม


    ภาพยนตร์ในช่วงแรกนั้นเป็นเพียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั่วไปในชีวิตประจำวันสั้น ๆ เช่น คนเดินไปมา ภาพคลื่นทะเล รถไฟวิ่งเข้าหา ในขณะนั้นยังบันทึกได้แค่ภาพ ไม่มีเสียง ดังนั้นจึงมีวงดนตรีเล่นให้ฟังสด ๆ ขณะฉายภาพเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชม 

    ผู้ชมล้วนตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นภาพเคลื่อนไหวบนจอใหญ่ตระการตา ภาพเหล่านั้นสร้างความตื่นตกใจให้ผู้ชม จนบางคนก็กลัวว่ารถไฟจะพุ่งเข้าชนตัวเองจริง ๆ 

    ภาพคลื่นกระทบฝั่งจากเครื่องฉาย vitascope (The Alienist)

    ________________________________________________________


    ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ใน facebook หรือ ทวิตเตอร์ได้นะคะ

    Facebook: เพจนี้มีสปอยล์

    Twitter: @spoilerpage


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in