เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
whatbeseenhoramiji
Peek: Blade Runner 2049 หนังภาคต่อฉบับวิลล์เนิฟ
  • Villeneuve's

    "BLADE RUNNER"


    __________

    "BLADE RUNNER 2049"


    ส่วนตัวชอบโปสเตอร์นี้ ๆ:


    แปะตัวอย่าง:


    ก่อนจะมาพูดถึงตัวภาคต่ออย่าง Blade Runner 2049 ก็ไปย้อนทบทวนความทรงจำ หรือสำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักมาเลย ก็เรียกว่าไปสำรวจโลกของเบลดรันเนอร์กันคร่าว ๆ ก่อนสักหน่อย :)

    (***ใครเคยดูแล้ว หรือยังไม่เคยดู กะจะไปหาดูเองและกลัวสปอยล์ ข้ามส่วนนี้ไปได้เลย)


    1982

    ___________________

    "BLADE RUNNER"



    Blade Runner (1982) เป็นภาพยนตร์ไซไฟนีโอ-นัวร์ โดยผู้กำกับริดลีย์ สก็อตต์ (Alien, Gladiator, Martian) ซึ่งได้เค้าโครงเรื่องมาจากนวนิยาย Do Androids Dream of Electric Sheep ของ ฟิลลิปส์ เค. ดิกส์


    Blade Runner: หนังที่มาก่อนเวลา

    ต้องบอกก่อนว่านี่เป็นหนังที่เสียงวิจารณ์แตกเป็นสองฝั่งเมื่อตอนเข้าฉาย และไม่ได้ประสบความสำเร็จด้านรายได้นัก จนถูกเรียกว่าเป็นคัลท์ฟิล์ม กระทั่งมีการปล่อยหนังเวอร์ชั่น Director's Cut และกาลเวลาได้ทำให้มันกลายเป็นหนังไซไฟขึ้นหิ้งเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็สมควรจริง ๆ เอาแค่เทคนิคงานสร้างภาพยนตร์ที่ริดลีย์ สก็อตต์ใช้ในยุคนั้นก็น่าทึ่งมากแล้ว 


    ไหนจะงานภาพชวนตื่นตาที่คนยุค 35 ปีให้หลังอย่างเรา ๆ หยิบมาดูทุกวันนี้ก็ไม่รู้สึกเลยว่าเป็นหนังเก่า และมันมีองค์ประกอบมากมายที่ทรงอิทธิพลจนกลายเป็นแรงบันดาลใจ ปรากฏอยู่ในฉากนั้นฉากนี้ของภาพยนตร์ไซไฟยุคหลังเป็นจำนวนมากอีกต่างหาก (จะว่าไปก็คล้ายกับ Mad Max ของปู่จอร์จ มิลเลอร์เหมือนกันนะ ที่ฉากไอคอนนิคต่างๆ ถูกหยิบยืมไอเดียไปใช้ในหนังเรื่องโน้นนี้มากมาย)


    ทางด้านเนื้อหา Blade Runner เล่าเรื่องราวโลกดิสโทเปีย ณ นครลอสแอนเจลิสในปี 2019 ซึ่งมนุษย์เทียม (Replicants) ถูกผลิตขึ้นโดยบริษัทไทเรลล์ คอร์เปอเรชัน เพื่อใช้เป็นแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนอกโลก เจ้ามนุษย์เทียมพวกนี้มีอายุขัยจำกัด และบางส่วนได้หลบหนีกลับมายังโลก ปะปนกับมนุษย์ทั่วไป จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ "เบลดรันเนอร์" ที่ต้องตามล่าและปลดประจำการพวกมัน

    ซึ่ง 'ปลดประจำการ' มนุษย์เทียม เทียบกับการกระทำต่อมนุษย์จริง ก็คือ 'สังหาร'

    ในเวอร์ชั่นต้นฉบับนี้ ริค เดคคาร์ด ผู้รับบทโดยแฮร์ริสัน ฟอร์ด คือหัวกะทิของ 'เบลดรันเนอร์'


    ในขณะที่เรื่องราวดำเนินไป ตัวหนังค่อย ๆ เปิดเผยเรื่องราวว่าเหล่ามนุษย์เทียมที่หลบหนีกลับมายังโลก(ซึ่งเป็นที่ต้องห้ามสำหรับมนุษย์เทียมอันเป็นแรงงานทาส) เพราะพวกมันต้องการหาหนทางแก้ข้อจำกัดอายุขัยให้ยืดออกไป

    พวกมันเพียงแค่ต้องการมีชีวิตอยู่

    นั่นมิใช่สิ่งที่มนุษย์แท้จริงก็ต้องการหรอกหรือ?

    แล้วถ้าพวกมันก็กลัวความตาย ต้องการอยู่รอด นั่นทำให้มนุษย์เทียม 'เป็นมนุษย์' น้อยกว่าเรา ๆ ยังไง? ระหว่างฝ่ายที่ต้องดิ้นรนทุกหนทางเพื่อจะได้มีชีวิตอยู่ต่อไป กับฝ่ายที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เกิดมามีอภิสิทธิ์ความเป็นมนุษย์แท้และใช้ประโยชน์จากมันไปวัน ๆ ใครควรค่าแก่การมีชีวิตกว่ากัน?


    ว่าแต่...
    คุณค่าความเป็นมนุษย์วัดกันที่ตรงไหน?

    'เราเป็นมนุษย์มากเพียงใด หากไร้ซึ่งความทรงจำ...?'

    นางเอกของเรื่องอย่าง "เรเชล" ไม่รู้ตัวว่าเป็นมนุษย์เทียม จนกระทั่งเดคคาร์ดทำการทดสอบเธอด้วยเครื่อง The Voight-Kampff หรือก็เหมือนเครื่องจับเท็จดี ๆ นี่แหละ แต่ใช้จำแนกมนุษย์เทียมออกจากมนุษย์ โดยอ่านจากปฏิกิริยาที่ม่านตาแสดงออก, อัตราการเต้นของหัวใจ ฯลฯ 

    เกร็ดภาพยนตร์: เห็นแสงสะท้อนเล็ก ๆ ในดวงตานั้นไหม? ริดลีย์ สก็อตต์ต้องการให้มีจุดสังเกตเล็ก ๆ ในการแยกความต่างระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เทียม โดยให้นัยน์ตาของมนุษย์เทียมสะท้อนแสงแหละ แต่สมัยนั้นเทคโนโลยีอะไรยังไม่เอื้อ สุดท้ายหาทางได้คือใช้เทคนิคการวางกระจกทำมุมกับเลนส์กล้อง เพื่อจัดให้แสงสะท้อนจากตาของวัตถุที่ถ่าย - ริดลีย์ สก็อตต์เปิดเผยไว้ในคลิปสัมภาษณ์นี้: 

    โดยทั่วไป โดนสัก 20-30 คำถามก็ทำให้จับได้ว่าเป็นมนุษย์เทียม แต่กับเรเชลต้องใช้กว่าร้อยคำถาม เพราะเธอมี "ความทรงจำ" เนื่องจากไทเรลล์ปลูกถ่ายความทรงจำของหลานสาวตัวเองให้กับเธอ เธอจำได้ว่ามีแม่ มีพี่ชาย มีความทรงจำเล็ก ๆ ที่ฝังใจเกี่ยวกับพวกเขา

    เราเป็นมนุษย์เพราะเราถูกหล่อหลอมด้วยความทรงจำหรือเปล่า? 

    เพราะความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนรอบข้าง?
    สิ่งที่เราทำและประทับในความทรงจำผู้อื่น?
    หรือทั้งหมดนั้นประกอบกัน?


    ที่พูดถึงประเด็นนี้ เพราะรู้สึกว่านี่อาจจะเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ดึงให้เดนี วิลเลอเนิฟสนใจมารับหน้าที่กำกับหนังภาคต่อที่ใช้เวลากว่า 35 ปีในการนำกลับมา

    เพราะมันเป็นหนังที่ตั้งคำถามต่อ "ความเป็นมนุษย์"

    เช่นเดียวกันกับหนังเรื่องก่อน ๆ ของวิลล์เนิฟ ไม่ว่า Incendies, Prisoners, Enemy, Sicario หรือ Arrival ซึ่งทั้งหมดนี้ แนะนำให้ดูเพื่อซึมซับสไตล์ที่ชัดเจนของผู้กำกับเดนี วิลล์เนิฟ



    2017

    ____________________

    "BLADE RUNNER 2049"



    Blade Runner 2049: สานต่อตำนานเบลดรันเนอร์

    (รูปนี้แปะเพราะชอบเฉย ๆ มันสวย...)

    Blade Runner 2049 เป็นภาคต่อที่ได้เดนี วิลล์เนิฟ ผู้กำกับเจ้าของผลงานภาพยนตร์ที่มีลายเซ็นคือความนิ่งเรียบเนี้ยบกริบ ทั้งยังลึกซึ้งแยบยลคมคาย ซึ่งค่อย ๆ สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง อาจจะเริ่มตั้งแต่ Prisoners, Enemy, Sicario จนถึงผลงานล่าสุดอย่าง Arrival ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 89 เมื่อต้นปี 2017 นี้ ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พร้อมกับที่ตัววิลล์เนิฟเองเข้าชิงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม

    Blade Runner 2049 ดำเนินเรื่องราวในปี 2049 (ก็ตามชื่อเรื่อง) เท่ากับอยู่ในยุค 30 ปีให้หลังจากภาคแรกนั่นเอง โดยเป็นเรื่องราวของเจ้าหน้าที่เค (Officer K - รับบทโดยไรอัน กอสลิง) เบลดรันเนอร์คนใหม่แห่งกรมตำรวจแอลเอของเราที่ไปค้นพบความลับบางอย่างซึ่งอาจสั่นคลอนและนำไปสู่ความวุ่นวายของสังคมได้ กระทั่งเบาะแสชี้ทางให้ไปพบริค เดคคาร์ด (แฮร์ริสัน ฟอร์ด) เบลดรันเนอร์ที่หายตัวไปกว่า 30 ปี


    __________

    • การสร้างโลก Blade Runner 2049 •


    "นี่เป็นภาคต่อที่มีความเป็นตัวเองสูง"

    - ไรอัน กอสลิง 

    (พูดในงานแถลงข่าวหนังที่เบอร์ลิน: Blade Runner 2049 Press Conference Berlin)

    "โลก[ในหนังเรื่องนี้]จะทำให้แฟน ๆ
    นึกถึงสไตล์เบลดรันเนอร์ต้นฉบับ
    แต่นี่เป็นหนังของวิลล์เนิฟ"

    - แอนดรูว์ โคโซวี, โปรดิวเซอร์

    นักวิจารณ์หนังในต่างประเทศที่ได้ชมภาพยนตร์รอบทดลองฉายไปแล้วหลายคนต่างก็พูดเช่นกันว่านี่เป็นภาคต่อที่มีความเป็นหนัง standalone สูงมาก ซึ่งก็ดูจะเป็นความตั้งใจของวิลเลอเนิฟด้วยแต่แรก เพราะไล่มาตั้งแต่งานสร้างก็ล้วนมีคอนเซปต์ที่ยังคงยึดมั่นในความเป็นโลกแห่งเบลดรันเนอร์ใบเดิม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตัวของตัวเองด้วย

    เดนนิส แกสส์เนอร์ โปรดักชั่นดีไซเนอร์พาดูภาพคอนเซปต์งานสร้าง)

    (คอนเซปต์)

    (ภาพจริง)

    "ผมเชื่อว่านักแสดงต้องการพร็อพจริง โต๊ะจริง เก้าอี้จริง ห้องจริง หน้าต่างจริง เพื่อจะเชื่อในโลกนั้น"


    ฟังบทสัมภาษณ์และวิดีโอเบื้องหลังงานสร้างเต็มๆ: 

    เดนี วิลล์เนิฟต้องการสร้างสภาพแวดล้อมเหมือนจริงที่สุดให้นักแสดง เขาเชื่อว่ามันสำคัญสำหรับนักแสดงในการเข้าถึงตัวละครนั้นๆ โดยแท้จริง และทีมงานสร้างฉากก็เคารพและสนับสนุนความคิดเขาในเรื่องนี้ ฉากลานขยะ ตึกทั้งตึกก็เซ็ตกันขึ้นมา


    ต้องใช้ไฟกว่าร้อยๆ ดวง เพื่อให้ได้เอฟเฟกต์ในภาพตามที่ผู้กำกับภาพโรเจอร์ ดีคินส์ต้องใช้:

    ทางด้านบลาสเตอร์ที่เป็นอาวุธคลาสสิกของเบลดรันเนอร์นั้น...

    (ฮานยิงก่อน!!! #ผิดเรื่อง)


    ทีมงานสร้างได้ไปติดต่อขอดูตัวต้นแบบจากผู้ที่ประมูลบลาสเตอร์ซึ่งใช้ในหนังต้นฉบับ 1982 ไป แน่นอนว่าแพงลิบลิ่ว (แต่เขาไม่บอกว่าเท่าไร) เขาเอาของเดิมมาศึกษาแล้วสร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้ใน Blade Runner 2049 นี้


    "สภาพภูมิอากาศเลวร้ายลงมาก และนั่นถูกสะท้อนออกมาผ่านทางสถาปัตยกรรม..."

    - โบรเดอริก จอห์นสัน, โปรดิวเซอร์

    ดูเหมือนว่าสภาพของโลกในยุคเบลดรันเนอร์ 2049 จะแย่กว่าเดิมมาก อย่างที่ไรอัน กอสลิงกล่าวไว้ว่า 'มันเหมือนมนุษยชาติกำลังมาถึงจุดจบ' 

    นอกจากตึกรามบ้านช่องจะต้องปรับไปตามสภาพอากาศอันโหดร้ายและเป็นมลพิษแล้ว อาหารการกินของมนุษย์ก็ถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนไปเป็นอาหารทางเลือก มีฟาร์มหนอน (...) เพาะเลี้ยงหนอนเป็นแหล่งโปรตีนหลัก 

    (นึกถึงโปรตีนจากแมลงสาบใน Snowpiercer)

    (น้ำอะไรไม่รู้ แต่ไม่น่าอร่อย...)

    __________

    • ตัวละครใหม่ Blade Runner 2049 •


    "OFFICER K" - ไรอัน กอสลิง

    เบลดรันเนอร์คนใหม่ของเรา (ของเราาาาา)

    เมื่อถามถึงการสวมบทบาทและขอให้เล่าเรื่องราวของตัวละครนี้ให้ฟังสักหน่อยได้ไหม ไรอันก็ตอบว่า:


    โอเค จบบทความกันแค่นี้ ลาก่อน
    (จะให้ทำไงอะ ก็เจ้าตัวไม่ยอมเล่า ถถถ)

    แต่เรารู้อย่างหนึ่งว่าแฮร์ริสัน ฟอร์ดชื่นชมการแสดงของไรอันในบทนี้มากๆ โดยเขาบอกว่า 

    "คุณจะมองไม่เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงใดๆ เขาสวมตัวเองเข้าไปในตัวละครนั้น มากกว่าที่จะดิ้นรนสร้างมันขึ้นมา..."



    "NIANDER WALLACE" - จาเร็ด เลโต


    น่าจะเรียกได้ว่าเป็นตัวร้ายอยู่ สำหรับนีแอนเดอร์ วอลเลซ (เทียบกับไทเรลล์ ผู้สร้างมนุษย์เทียมในเบลดรันเนอร์ต้นฉบับซึ่งไม่ได้เป็นตัวร้ายอะไร วอลเลซดูมีอะไรๆ มากกว่านั้นเยอะ มี dark elements แผ่ออกมา #หัวเราะขรึม)

    นีแอนเดอร์ วอลเลซ เป็นเจ้าของบริษัทวอลเลซ ผู้สร้างมนุษย์เทียมสายพันธุ์ใหม่ ภายหลังจากที่มนุษย์เทียมของไทเรลล์ คอร์ปสร้างความหายนะ ก่อให้เกิด Black Out และทำให้มนุษย์เทียมถูกสั่งห้ามการผลิต

    *เดี๋ยวจะพูดถึงวอลเลซอีกในส่วนต่อไป คือ Recap หนังสั้นสามเรื่องซึ่งเป็นเหตุการณ์เชื่อมไทม์ไลน์ที่ห่างกัน 30 ปีของต้นฉบับกับภาคต่อ


    "JOI" - อนา เดอ อาร์มัส

    จอย เป็นมนุษย์เทียมที่ดูจะมีซัมติงโรมานซ์กับเจ้าหน้าที่เคของเรา แต่ดูลึกลับน่าจับตามองทีเดียว


    "MARIETTE" - แมคเคนซี เดวิส


    เป็นอีกตัวละครที่น่าสนใจมาก เพราะสีผมอันโดดเด่น และแทบไม่มีอะไรชัดเจนเลยว่าเป็นใครมาทำอะไร(...) บวกกับดูตัวอย่างครั้งแรกก็ทำให้นึกถึงตัวละครในเบลดรันเนอร์ (1982) อย่าง PRIS:


    __________


    • Blade Runner: Before 2049 •


    เนื่องจากเป็นภาคต่อที่เกิดขึ้นภายหลังต้นฉบับถึง 30 ปี ระยะห่างของไทม์ไลน์มหาศาลจึงมีช่องว่างมากมาย ทำให้ผู้กำกับเดนี วิลล์เนิฟตัดสินใจว่าควรมีหนังสั้น 3 เรื่องเพื่อช่วยอธิบายเหตุการณ์ก่อนหน้าโลกในยุค 2049

    ซึ่งดูแล้วบอกเลยว่าดีมากๆ เรียกน้ำย่อยได้ดีเลย โดยเฉพาะ 2022: Black Out ที่เป็นอนิเมะ คิดว่าแฟนๆ เบลดรันเนอร์น่าจะชอบมากๆ ความยาวแค่ 15 นาที แต่มีกลิ่นอายปรัชญาที่เป็นแก่นของเบลดรันเนอร์ต้นฉบับอบอวลผ่านบทสนทนาของตัวละคร มันดีงามจริงๆ

    ส่วนอีกสองเรื่องที่เป็นหนังคนแสดง เรื่องหนึ่งคือ 2036: Nexus Dawn เล่ากระชับแต่เผยให้เห็นความน่าเกรงขามและลึกลับซับซ้อนของนีแอนดา วอลเลซ (จาเร็ด เลโต) ได้ดีทีเดียว การแสดงของจาเร็ดในหนังสั้นแค่ไม่กี่นาทีนี้ก็น็อกเราได้อยู่หมัด กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นในตัวละครวอลเลซมากขึ้นไปอีกจนอยากจะวาร์ปไปวันที่ 5 ต.ค. ไวๆ แล้ว

    และอีกเรื่อง 2048: Nowhere to Run เป็นตอนของแซปเปอร์ มอร์ตัน (เดฟ เบาทิสตา) มนุษย์เทียมรุ่นเน็กซัส 8

    ใครขี้เกียจดูเอง จะ Recap ให้นะ:

    (เรียงตามไทม์ไลน์)

    "Black Out 2022"


    ลอสแอนเจลิส
    พฤษภาคม, 2022

    เมื่อมนุษย์เทียมรุ่นเน็กซัส 6 หมดอายุ บริษัทไทเรลล์ได้นำสินค้าเน็กซัส ซีรีส์ 8 ออกสู่ตลาดท้องที่ และเขตนิคมนอกโลก โดยเน็กซัส 8 เป็นรุ่นที่ถูกผลิตขึ้นโดยกำหนดให้มีอายุขัยตามธรรมชาติ ไม่สั้นและจำกัดเหมือนรุ่นก่อนหน้า 

    ไม่นานนัก การเคลื่อนไหวของพวกมนุษย์แท้หัวสุดโต่งก็เริ่มก่อตัวขึ้น กลุ่มชนที่เกรี้ยวกราดไล่ล่าตัวมนุษย์เทียมรุ่นเน็กซัส 8 โดยอาศัยฐานข้อมูลทะเบียนรายชื่อมนุษย์เพื่อระบุตัวและฆ่ามนุษย์เทียมเหล่านี้

    (จะเห็น 'แซปเปอร์ มอร์ตัน' ตัวละครของเดฟ เบาทิสตา ในรายชื่อด้วย)

    (รุมซ้อม)
    (จับแขวนคอ)

    ตัดมาที่มนุษย์เทียมเพศหญิง ทริกซี่ กำลังถูกมนุษย์รุมรังแก แต่ก็ได้ อิกกี้ มนุษย์เทียมอีกคนมาช่วยไว้ ก่อนจะพาไปร่วมปฏิบัติการ "Black Out" ที่จะใช้ระเบิด EMP ล่มระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของมนุษย์ 

    ก่อนหน้านั้น 2 สัปดาห์

    ทริกซี่ถามเร็นว่าปลาในตู้น่ะของจริงรึเปล่า? แน่นอนว่าไม่ แล้วทริกซี่พูดว่า 'เหมือนฉันเลย' (คือแบบ หนูลูก) เพราะเธอคือมนุษย์เทียม 

    แต่เร็นซึ่งเป็นมนุษย์ก็พูดถึงว่า มนุษย์น่ะเห็นแก่ตัว โง่เขลา ขี้โกหก "...มนุษย์เทียมบริสุทธิ์กว่า สมบูรณ์แบบกว่า และไม่มีวันทรยศ... เป็นมนุษย์มากกว่ามนุษย์จริงๆ เสียอีก"


    "More human than human." - Ren

    (นึกถึงต้นฉบับชะมัดเลย ก็ตัวหนัง Blade Runner (1982) น่ะทิ้งคำถามเรื่องความเป็นมนุษย์ไว้ในใจคนดูได้อย่างแยบคาย พอฟังคำนี้แล้วเหมือนโดนกระตุกต่อมให้คิดต่อว่า ถ้ามนุษย์แท้อย่างเรา ๆ ทำตัวไม่สมเป็นมนุษย์ แล้วเราเอาสิทธิ์อะไรไปกดขี่ตัดสินมนุษย์เทียมกันนะ?)


    กลับมาปัจจุบัน อิกกี้กำลังขับรถพาทริกซี่ไปปฏิบัติการ Blackout ซึ่งจะดับระบบของมนุษย์ ให้มนุษย์ได้พบความมืดมิดที่ไม่เคยได้สัมผัส (โดยอาศัยความช่วยเหลือจากเร็น ผู้ทำงานอยู่ในศูนย์ควบคุมของพวกมนุษย์)

    ส่วนอิกกี้กับทริกซี่มีหน้าที่ไปทำลายฐานข้อมูลสำรอง เพื่อให้ไม่หลงเหลือหลักฐานทางทะเบียนที่จะบ่งชี้แบ่งแยกความแตกต่างระหว่างมนุษย์แท้กับมนุษย์เทียมอีกต่อไป 

    "Then we're almost human." - Trixie

    ร่องรอยเดียวที่จะหลงเหลืออยู่เป็นจุดแยกความแตกต่างระหว่างมนุษย์แท้กับมนุษย์เทียมก็คือ หมายเลขทะเบียนมนุษย์เทียมที่ระบุอยู่ใต้ลูกตาขวา ซึ่งอิกกี้ได้ย้อนระลึกถึงอดีตของตนตอนค้นพบความจริงสำคัญ เมื่อตอนตนเป็นทหารสู้รบอยู่กลางทะเลทรายที่โคแลนตา


    หลังจากจัดการทหารฝั่งตรงข้ามได้แล้ว อิกกี้ค้นพบความจริงว่าอีกฝ่ายก็เป็นมนุษย์เทียมเช่นเดียวกับตน ได้เข้าใจว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นแค่ทหารของเล่นในหลุมทราย

    "...toy soldiers in a sandbox." - Iggy

    อิกกี้บอกว่า ถึงพวกเรา (เน็กซัส 8) จะมีอายุยืนยาวกว่ามนุษย์เทียมรุ่นเน็กซัส 6 แต่การมีชีวิตไม่ได้แปลว่าได้ใช้ชีวิต เขาต้องการใช้ชีวิต นั่นคือสิ่งที่พวกเขากำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มา

    "But life doesn't mean living." - Iggy


    ทริกซี่ถามว่า "ถ้าเราตาย เราจะได้ไปสวรรค์ไหม?"

    อิกกี้ตอบว่า "ไม่มีสวรรค์สำหรับพวกเรา ที่เรามีคือโลกใบนี้เท่านั้น"

    (ขนลุกเลย ในขณะที่มนุษย์หลายคนเฝ้าทำดีเพื่อใฝ่ฝันจะขึ้นสวรรค์ โลกภพนี้กลับเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์เทียมฝันถึง จะมีได้ และต้องยอมแลกทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา ได้มีที่ยืนบนโลกใบนี้ ใช้ชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่ทาสหรือของเล่นของใครอีกต่อไป)


    ปฏิบัติการ Black Out สำเร็จ ระบบทุกอย่างของมนุษย์ล่ม ยานต่างๆ ดับกลางคันและพุ่งเข้าชนตึกราม แต่ทริกซี่ก็ตายในการต่อสู้


    เหตุการณ์ Black Out นำไปสู่การสั่งห้ามผลิตมนุษย์เทียมของบริษัทไทเรลล์ 

    ใช้เวลากว่าทศวรรษให้หลังในการที่บริษัทวอลเลซจะได้รับอนุญาตเพื่อผลิตมนุษย์เทียมสายพันธุ์ใหม่.

    _________

    "2036: Nexus Dawn"


    ลอสแอนเจลิส, 2036

    คณะกรรมการพิจารณาอะไรสักอย่างกำลังรอใครบางคนจนเลยเวลานัด จะยกเลิกแล้ว 


    แต่เสียงเคาะประตูก็ดังขึ้น คนที่พวกเขากำลังรอถูกส่งตัวเข้ามา นั่นคือ นีแอนเดอร์ วอลเลซ พร้อมกับผู้ติดตาม 1 คน


    วอลเลซมาเพื่อเจรจาเรื่องยกเลิกกฎหมายห้ามการผลิตมนุษย์เทียมนั่นเอง เขาโน้มน้าวด้วยเหตุผลว่ามนุษยชาติกำลังค่อยๆ ตายลง คณะกรรมการต่างก็ค้าน บอกว่าไม่ใช่เรื่องที่จะมาต่อรองหรือแม้แต่ถกเถียงกันได้ วอลเลซว่า แต่เราก็กำลังถกเถียงกันอยู่นี่

    "And yet we're debating." - Wallace


    คณะกรรมการแสดงความกังวลเรื่องความอันตรายของมนุษย์เทียม มีการพูดถึงความเสียหายจากเหตุการณ์ Black Out เมื่อปี 2022 

    วอลเลซกล่าวว่า "มนุษยชาติรอดมาถึงทุกวันนี้ได้เพราะสูบทรัพยากรในโลกไปใช้สนองความต้องการ ทางรอดของมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่คุณไม่อนุญาตให้ผมสร้างขึ้น" (มนุษย์เทียมนั่นเอง)

    อีกฝั่งเถียงว่า นิคมนอกโลกกำลังเจริญเติบโต แต่วอลเลซก็เถียงว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ และกฎหมายห้ามการผลิตก็ยิ่งทำให้ความก้าวหน้าเรื่องนี้ถดถอยลง ฝั่งกรรมการก็ยืนยันว่ากฎหมายช่วยลดการนองเลือดจากการฆ่ามนุษย์เทียม ซึ่งตายไปเป็นจำนวนมาก และพวกเขาไม่ต้องการเพิ่มจำนวนการตายนั้น (ด้วยการอนุญาตให้ผลิตเพิ่ม)

    วอลเลซจึงต้องงัดไม้ตายออกมา

    "มนุษย์เทียมของผมจะมีอายุยาวหรือสั้นเท่าที่ลูกค้าจ่าย มนุษย์เทียมของผมจะไม่มีวันแข็งข้อ พวกมันไม่มีวันหนี พวกมันจะเชื่อฟังอย่างแท้จริง"


    วอลเลซสั่งผู้ติดตามก้าวมาข้างหน้า
    ได้เวลาเฉลยว่าเจ้านั้น...

    แท้จริงก็คือ...

    มนุษย์เทียม... ตึง!!!

    เห็นหมายเลขระบุว่าเป็นมนุษย์เทียม คณะกรรมการตื่นตระหนกตกใจหนักมาก กล่าวว่าวอลเลซกำลังก่ออาชญากรรม!

    แต่วอลเลซหาได้แคร์ไม่ สั่งมนุษย์เทียมกรีดหน้าตัวเอง พิสูจน์ความเชื่อง(?)


    คณะกรรมการตกใจเว่อร์ พึมพำนี่มันผิดนะ!
    วอลเลซก็ยังหาได้แคร์ สั่งอีกว่า...

    "เลือกระหว่างชีวิตฉัน กับชีวิตนาย..."

    มนุษย์เทียมนิ่งไป 
    วอลเลซย้ำ "เข้าใจรึเปล่า?"
    มนุษย์เทียมตอบว่า เข้าใจ

    และแทงคอตัวเองตายห่าไปตามระเบียบ
    (โธ่ ลูกกกกกกกก)


    "การกระทำของมนุษย์ จะลือเลื่องไปถึงสรวงสวรรค์ สะท้อนด้วยเสียงระฆังก้องกังวานอยู่เบื้องบน สิ่งที่เราตัดสินใจกันวันนี้ จะขัดเกลาหรือกระเทาะทำลายสุราลัย มันควรจะเป็นอย่างไหนกันล่ะ?"

    (จบด้วยหน้าเข้มๆ ตึง!!!)

    ปล. ชอบคำพูดทิ้งทายของวอลเลซมาก ตรงที่เอ่ยถึงสวรรค์ แล้วดนตรีประกอบช่วงนี้ก็เป็นเสียงเปียโนดังกังวานดุจเคาะแก้วหรือระฆังบนสวรรค์ แล้วก็เพราะประกอบกับตอนต้นนางเรียกมนุษย์เทียมของนางว่า Angel ด้วยละนะ Y Y


    **edited 10.04.17 เพิ่มเติมเรื่อง Angel
    __________

    ANGEL: A THEME

    ถ้าใครเป็นแฟนหนังริดลีย์ สก็อตต์คงคุ้นเคยกับการแทรกสัญลักษณ์เรื่องสรวงสวรรค์ พระเจ้า ทูตสวรรค์ต่างไ กันดีอยู่แล้วจากแฟรนไชส์ Alien อย่างล่าสุด Alien: Covenant ก็มีการอ้างอิงแอบซ่อนนัยยะต่างๆ ในทางความเชื่อเรื่องเทพเจ้าหรือศาสนาเอาไว้ เช่นความสัมพันธ์ระหว่างเวย์แลนด์กับเดวิด แอนดรอยด์ที่เขาสร้างขึ้น ซึ่งล้อกันกับความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ หรือการใช้เพลง Entry of the Gods into Valhalla ของริชาร์ด แวกเนอร์ (ซึ่งวัลฮัลลานั้นก็คือสรวงสวรรค์หลังความตายของนักรบผู้ถูกสังหาร ที่ซึ่งพวกเขาจะได้พบกับเทพโอดิน ตามตำนานเทพนอร์ส)


    ทีนี้ ในอีกจักรวาลหนังของริดลีย์ สก็อตต์อย่าง Blade Runner ก็มีการสอดแทรกนัยยะเรื่องพระเจ้ากับทูตสวรรค์อะไรต่างๆ เอาไว้เช่นเดียวกัน 

    Blade Runner (1982)

    ไทเรลล์ ผู้สร้างเหล่ามนุษย์เทียมในเรื่อง มีสถานภาพความเป็นอยู่ที่แฝงนัยยะถึงความเป็น "พระเจ้า" ของเขา ตั้งแต่ที่พำนักซึ่งเป็นทรงพีระมิดตระหง่านคลอเคลียม่านเมฆ


    หนังย้ำสถานะตรงนี้อีกครั้งด้วยฉากที่ไทเรลล์สั่งให้สลัวแสงอาทิตย์ลง เปรียบประดุจเทพเจ้าผู้ดลบันดาลควบคุมได้แม้กระทั่งธรรมชาติ


    แต่ที่ชัดเจนที่สุดก็คือความเป็นพระผู้สร้างของไทเรลล์ เขาเป็นคนสร้างมนุษย์เทียมซึ่งมีสมรรถนะดีกว่ามนุษย์แท้ขึ้นมา ในแง่นี้ไทเรลล์จึงเปรียบเสมือนพระเจ้าผู้ให้ชีวิต และเหล่ามนุษย์เทียมผู้ร่วงหล่นลงมาจากสรวงสวรรค์(: นิคมนอกโลก) จึงเปรียบได้กับเทวดาตกสวรรค์ (Fallen Angel)

    (ซ้าย: มนุษย์เทียมรอย แบตตี้ | ขวา: ไทเรลล์)

    รอย แบตตี้ มนุษย์เทียมตัวร้ายหลักใน Blade Runner ภาคแรกนี้มีบริบทที่ตรงกับการเป็นเทวดาตกสวรรค์อย่างลูซิเฟอร์สูงมาก ในหนังฉบับ Workprint และ Final Cut รอยเรียกไทเรลล์ว่าพ่อ (father) ด้วย เป็นสัญญะคลาสสิกที่สื่อถึงความสัมพันธ์ดั่งบิดาและบุตรของพระเจ้ากับทูตสวรรค์เลย | แต่หนังฉบับ Theatrical, Director's Cut คำว่า father กลับเป็นคำว่า fucker นะ (ฮาาาา)

    รอยต้องการให้ไทเรลล์แก้ข้อจำกัดอายุขัยของตนเพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่เมื่อไทเรลล์ไม่อาจให้สิ่งที่เขาต้องการได้ รอยจึงกำจัดผู้สร้างของตนแทนเสียเลย (จูบลาด้วย--) ตรงนี้เทียบได้กับลูซิเฟอร์ที่แสวงหาอำนาจเหนือพระเจ้าผู้สร้างตน เมื่อไม่ได้ก็คิดทำลายพระองค์เสียด้วยการก่อกบฎ จนโดนลงโทษทัณฑ์ให้ตกสวรรค์นั่นละ


    นอกจากนี้ รอยยังเคยพูดถึงทูตสวรรค์ไว้ตรงๆ ด้วย ในตอนที่เขาไปตามหาผู้ซึ่งจะสามารถจะพาเขาไปหาไทเรลล์ได้ รอยอ้างประโยคที่ประพันธ์โดยวิลเลียม เบลค จากหนังสือบทกวีคำพยากรณ์ "America, A Prophecy" แต่รอยจงใจกล่าวผิดแผกจากของจริง โดยในหนังสือว่า 'Fiery the angels rose...' แต่รอยเปลี่ยนเป็น 'Fiery the angels fell...'


    *Note: Fiery the angels rose เป็นโควตที่เอ่ยถึงชะตากรรมของผู้ก่อกบฎในหนังสือเล่มนั้น ซึ่งมีใจความเกี่ยวกับเรื่องการกดขี่ทาส การล่าอาณานิคม และการทำลายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นโครงสร้างหลักของโลกในเบลดรันเนอร์เช่นกัน

    และการที่รอยตั้งใจโควตว่า fell จึงสื่อถึงชะตากรรมของผู้ก่อกบฎในเรื่องที่ไม่โชคดีเท่า ถ้าใครสนใจอยากอ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้แนะนำ America, A Prophecy: When Blake meets Blade Runner (บทความนี้ไม่อธิบายต่อแล้ว ยาวเกินนนนน) 

    Blade Runner 2049

    ในภาคต่อนี้ ดูเหมือนจะมีการคงธีม Angel เอาไว้ เป็นคำเรียกเล่นๆ ที่แอบจริงจังของเหล่ามนุษย์เทียม โดยในหนังสั้นเชื่อมเรื่องราวอย่าง Black Out 2022 และ 2036: Nexus Dawn ที่ Recap มาข้างต้นต่างก็อ้างถึงเรื่องละ 1 ครั้ง

    • An angel in "Black Out 2022"

    ในหนังสั้นอนิเมะที่เล่าเหตุการณ์ก่อน 2049 ในช่วงที่เกิดจลาจลไล่ล่าเข่นฆ่ามนุษย์เทียมจนนำไปสู่การลุกขึ้นสู้ของมนุษย์เทียมผู้ถูกกดขี่อย่างปฏิบัติการ Black Out นี้ มีฉากที่ทริกซี่ มนุษย์เทียมหนึ่งในตัวละครหลักกำลังถูกอันธพาลรุมรังแก 

    พวกมันคนหนึ่งเรียกเธอว่า "Angel"


    (ชอบที่มันรับกับคำกล่าวของเร็นที่ว่ามนุษย์เทียมนั้นบริสุทธิ์กว่ามนุษย์แท้ มันสื่อให้เห็นถึงความเป็นเทวดา/นางฟ้า เป็นสิ่งมีชีวิตในอุดมคติที่สูงกว่ามนุษย์ขึ้นไปดี)

    • Angel in "2036: Nexus Dawn"

    นีแอนเดอร์ วอลเลซ ผู้สร้างมนุษย์เทียมสายพันธุ์ใหม่ในโลกปี 2049 ก็เรียกมนุษย์เทียมผู้ติดตามของตนว่า "Angel"


    "This is an angel... and I made him" - Wallace

    ซึ่งรับกับธีมย่อยเกี่ยวกับสวรรค์และเทวดาต่อจากภาคแรกได้ดีเสียยิ่งกว่าดี! เพราะมันย้ำชัดเจนว่าวอลเลซ คือพระเจ้าองค์ใหม่(ต่อจากไทเรลล์) เป็นพระบิดาผู้รังสรรค์ปั้นชีวิต "ทูตสวรรค์" ของตนขึ้นมา เปรียบย้อนไปได้ถึงความสัมพันธ์ของไทเรลล์กับรอยที่เป็นเหมือนพระเจ้ากับเทวดาตกสวรรค์เช่นกัน

    ถึงได้บอกว่าชอบคำพูดทิ้งท้ายเรื่องระฆังสวรรค์กับเสียงดนตรีประกอบเหมือนอยู่บนสวรรค์ในช่วงท้ายของ 2036: Nexus Dawn อย่างไรเล่า!

    __________

    "2048: Nowhere to Run"


    อันนี้ไม่ค่อยมีอะไร เหมือนแนะนำตัวละครมนุษย์เทียมรุ่นเน็กซัส 8 ชื่อ "แซปเปอร์ มอร์ตัน" ของเดฟ เบาทิสตา นิดหน่อย พร้อมบอกใบ้ว่ามีคนกำลังตามหาตัวเขาอยู่ ได้เห็นว่ามีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งและแม่ของเธอ และก็ใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาทำมาหาเลี้ยงชีพทั่วไปคนหนึ่ง (เหมือนจะเป็นช่างฝีมือทำสัตว์เลียนแบบ)


    แม่ของเด็กผู้หญิงโดนอันธพาลรุมรังแก พี่ก็เลยจัดการซัดโหดกระโดดตบเตะจนตายหมดเลย แล้วตอนรีบชิ่งไปก่อนตำรวจมา ก็ทำเอกสารซื้อขายหล่นไว้ ทำให้มีคนไปเก็บละโทรแจ้งว่าเจอตัวพี่แก และมีที่อยู่ด้วย...


    ถ้าอยากรู้ว่าจะเป็นยังไงต่อ คงต้องไปดูในหนัง Blade Runner 2049 แล้วแหละ

    5 ตุลาคมนี้นะ ;)
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in