เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือbooky70
รีวิวหนังสือ สูญสิ้นความเป็นคน : ดะไซ โอซามุ

  •  

    人間失格

     สูญสิ้นความเป็นคน

    ผู้เขียน : ดะไซ โอซามุ (太宰 治Dazai Osamu)

    จำนวนหน้า (เฉพาะเนื้อหา): 184 หน้า

    เหมาะกับใคร? : คนที่ต้องการอะไรดาร์คๆดำดิ่งไปจนถึงก้นบึ้งของจิตใจ

    ระดับความยาก (ยิ่งมากยิ่งต้องใช้พลังในการอ่านเยอะ) :3/10

    ระดับความสนุก : 10/10

    ระยะเวลาในการอ่าน :อ่านรวดเดียวจบคิดว่าประมาณ 2 ชั่วโมง / อ่านแบบค่อยๆซึมซับประมาณ 1 วัน

    จุดสังเกตในหนังสือ : รูปถ่าย 3 ใบ ที่ผู้เล่ากล่าวถึง , ถ้อยคำประชดประชันชีวิตของโยโซแทบทุกคำล้วนมีความหมายหมด

    ความเห็น : 

    หนังสือเปิดเรื่องด้วยรูปถ่าย 3 ใบของคนๆหนึ่งในวัยที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้เล่าบอกว่าใบแรกที่เป็นรูปตอนเด็กนั้นดูพิลึกผิดวิสัย ชวนให้ผู้พบเห็นรู้สึกสะอิดสะเอียน 'ตั้งแต่เกิดมาข้าพเจ้าไม่เคยพบเห็นเด็กคนไหนทำหน้าทำตาผิดประหลาดได้เท่านี้เลย'ใบที่สอง เด็กชายคนนั้นได้เปลี่ยนโฉมกลายเป็นหนุ่มรูปงามอย่างน่าตกตะลึง ไม่ได้แสยะยิ้มหน้าย่นเป็นลิงแบบครั้งก่อน แต่ก็ยังมีบางอย่างต่างจากรอยยิ้มของมนุษย์ ไม่รู้ว่าควรเรียกว่าความหนักแน่นของเลือดเนื้อหรือความความสุขุมนุ่มลึกแห่งชีวิต 'ตั้งแต่เกิดมาข้าพเจ้าไม่เคยพบเห็นชายหนุ่มรูปงามคนใดมีรูปโฉมงดงามอย่างน่าประหลาดพิศวงเช่นนี้เลย' ใบที่สาม ไม่อาจคาดเดาได้ว่าเจ้าตัวอยู่ในช่วงอายุใด บนศีรษะมีผมขาวขึ้นแซม นั่งอยู่ตรงมุมห้องโสโครก 'ตั้งแต่เกิดมาข้าพเจ้าไม่เคยพบเห็นชายใดมีใบหน้าประหลาดพิศวงเช่นนี้เลย'

    เรื่องนี้ไม่มีอะไรมากมายนอกจากการค่อยๆดำดิ่งสู่ความเศร้า ความทุกข์ทนทรมานของการเป็นมนุษย์ของ 'โอบะ โยโซ'ที่เป็นตัวละครหลัก อ่านแล้วรู้สึกทั้งจุกทั้งเสียดแทง เพราะสิ่งที่เขาเฝ้าหวาดกลัวมาตลอดชีวิตนั้นเป็นความจริงทั้งหมด

    ไม่ว่าจะเริ่มจากความกลัวเล็กๆว่าตนไม่อาจเข้าใจสิ่งที่คนในครอบครัวคิดอยู่เลยแม้แต่น้อย เดาใจไม่ถูกว่าจะทำให้พ่อพอใจตนได้อย่างไร ไม่รู้ว่าพ่อของตนคิดอะไร แค่คำถามง่ายๆที่พ่อถามว่าอยากได้ของฝากอะไรไหมก็ตอบไม่ได้ ใช่เพราะไม่อยากได้ แต่เฝ้าเป็นกังวลมากกว่าว่าคำตอบของตนจะถูกใจอีกฝ่ายไหม ถ้าตอบว่าอยากได้หนังสือทั้งที่พ่อพูดว่า'ไม่อยากได้หัวสิงโตเรอะ'ก็ยากยิ่งที่จะปฏิเสธใจพ่อแล้ว ซึ่งเราคิดว่าเรื่องแบบนี้พบเจอได้บ่อยครั้งในชีวิตประจำวันของเราๆท่านๆ มีหลายคนที่ไม่กล้าพูดความต้องการในใจจริงๆออกมาเพราะกลัวว่าจะถูกเกลียด จึงได้แต่เออออกับใครต่อใครไปทั่ว กลายเป็นมนุษย์ YES ที่ตอบตกลงกับทุกๆอย่างจนสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้แก่ตน

    จากนั้นก็ต้องมาพบกับเหตุการณ์ที่โยโซคิดว่าเป็นการกระทำที่ต่ำช้าที่สุดของหมู่มวลมนุษย์เรา นั่นคือการหน้าไหว้หลังหลอก เหตุเกิดเมื่อตอนที่พ่อของโยโซพูดปราศัยในการหาเสียง ระหว่างทางกลับบ้านพวกคนรับใช้ของตระกูลหรือญาติพี่น้องก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคำปราศัยนั้นช่างไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย ทว่าพอพบเจอกับท่านเจ้าบ้านหรือก็คือคุณพ่อของโยโซ ทุกคนกลับบอกว่าท่านกล่าวคำปราศัยนั้นได้ดีมากๆ โกหกหน้าตาเฉย เหมือนไม่รู้สึกผิดอะไร ทำเหมือนเมื่อก่อนหน้าเมื่อไม่กี่นาทีที่แล้วไม่ได้พูดอะไรออกไป เหตุการณ์นี้กระทบกับจิตใจของโยโซวัยไม่กี่ขวบปีเป็นอย่างมาก

    พอโตขึ้นเป็นหนุ่มก็เริ่มเรียนรู้ว่าจะเลือกรับมือกับความเลวทรามต่ำช้าของมนุษย์ได้อย่างไร โยโซเลือกที่จะเป็น 'ตัวตลก' ปั้นหน้ายิ้ม ทำให้ใครต่อใครหัวเราะไว้ก่อน ถ้ามนุษย์หัวเราะนั่นเท่ากับว่ามนุษย์พอใจ ถ้ามนุษย์พอใจก็คงจะไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน ทว่าเขากลับต้องอยู่กับความกลัวว่าจะมีใครจับได้ว่าตนกำลังเสแสร้งแกล้งทำ นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งเหมือนกันที่เราคิดว่าใครๆก็ต้องเคยประสบมาก่อน หลายครั้งที่ชีวิตมักมีเงื่อนไขกับเราเสมอ หากอยากได้อะไรต้องปั้นหน้ายิ้มแย้มประจบประแจงเอาไว้ก่อนเพื่อให้คนรักคนชอบ เพราะกลัวการถูกเกลียดเหลือเกิน เกรงกลัวปฏิกิริยาตอบโต้เป็นลบจากมนุษย์ด้วยกัน ในกรณีของโยโซนั้นเขาคิดว่าหากเป็นเช่นนั้นเขาคงไม่อาจทนรับมือกับความเกลียดชังได้ไหว

    'สังคม' ที่ว่าหมายถึงสิ่งใดกัน หมายถึงมนุษย์หมู่มากงั้นหรือ
    สังคมมีตัวตนแท้จริงหรือไม่ จะสัมผัสจับต้องได้ที่ใดบ้าง
    ตลอดชีวิตที่ผ่านมาผมรู้สึกเพียงว่าสังคมเป็นสิ่งทรงอำนาจ
    เข้มงวด และน่าสะพรึงกลัว

    แต่กระนั้นบทบาทตัวตลกก็ใช่ว่าจะใช้ได้ตลอดไป พอเข้าโตเกียวก็เริ่มเจอเส้นทางใหม่ โยโซได้เรียนรู้ว่าสุรา บุหรี่และโสเภณีทำให้เขาลืมความหวาดกลัวที่มีต่อมนุษย์ได้แม้จะเป็นเพียงชั่วขณะก็ตาม โยโซเริ่มจะไปถึงว่าจะยอมขายทุกอย่างที่มีเพื่อหาเงินมาซื้อเหล้าและเที่ยวผู้หญิง เหตุเพราะนางโลมนั้นมีค่าต่ำยิ่งกว่าโคลนเสียอีกถ้าคิดจะจัดลำดับพวกหล่อนในสังคม แต่สิ่งนั้นแหละที่ทำให้โยโซรู้สึกว่าตนกับนางโลมเป็นพวกเดียวกัน นั่นคือเหล่านางโลมหรือหญิงสาวที่จะมาประกอบอาชีพนี้ได้ไม่สนใจอยู่แล้วว่าใครจะคิดติฉินนินทาหรือดูถูกตนเช่นไร พวกหล่อนล้วนผ่านความรู้สึกเจ็บปวดจากการถูกมนุษย์ด้วยกันดูถูกเหยียดหยามมาหมดจนชินชาแล้ว และนั่นคือสิ่งที่โยโซต้องการ ปรารถนามาตลอด ปรารถนาที่จะเป็นอิสระต่อความรู้สึกหวาดกลัวมนุษย์ด้วยกัน เขาเริ่มถลำ ลึกเข้า.. ลึกเข้า.. ปล่อยให้ความหวาดกลัวที่จะใช้ชีวิตกัดกร่อนความเป็นคนของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ และรู้สึกเจ็บมากกว่าเดิมทุกครั้งเมื่อถูกใครเปิดโปงหน้ากาก มองผ่านเข้าไปในใจจริงอย่างทะลุปรุโปร่ง

    หลายครั้งที่เรามักเกรงกลัวสายตาของผู้คนรอบข้าง กลัวว่าตัวเองจะถูกสังคมมองว่าอย่างไร ถูกตัดสินว่าอย่างไร จะคิดจะทำอะไรจึงกดดันไปเสียหมด เพราะมัวแต่กังวลความคิดของคนอื่นทว่าไม่เคยหยุดมองสำรวจตัวตนและจิตใจของตัวเองบ้างเลย

    คนเราเปลี่ยนเสมอ...เช่นเดียวกับกาลเวลาที่เปลี่ยนผัน และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ส่วนใหญ่ตัวเราไม่ได้เลือกจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อตัวเองบ่อยครั้งนัก แต่กลับเปลี่ยนเพื่อให้คนอื่นพึงพอใจในตัวเรา เธออ้วนไปรึเปล่า? ไปทำอะไรมาถึงได้ดำขนาดนี้? ทำไมถึงขี้เกียจอย่างนี้? ทำไมถึงไม่รู้จักรับผิดชอบเสียที? 'ถ้าเอาแต่เที่ยวเตร็ดเตร่แบบนี้สังคมไม่ปล่อยไว้แน่ๆ'  โยโซเป็นคนหนึ่งที่ไม่อาจทำใจแบกรับความคาดหวังของสังคมได้ เมื่อทำตัวให้มีประโยชน์เพื่อรับใช้ความคาดหวังนั้นไม่ได้ จึงคิดทำลายตนเองเสีย 

    ทว่าหนังสือเล่มนี้แปลกตรงที่แม้เนื้อหาจะดำมืดแต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกเศร้าสร้อยหรืออเน็จอนาถกับการมีชีวิต ตรงกันข้ามกับเป็นหนังสือที่มีพลัง มีชีวิตชีวา เสียจนไม่อยากเชื่อว่านี่เป็นหนังสือที่ถูกเขียนโดยนักเขียนที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เหมือนดะไซได้สังเกตทุกโมงยามของชีวิต จิกกัด ประชดประชันได้เจ็บแสบแถมยังตลกอีกด้วย และก็เป็นดั่งเช่นที่คุณอุทิศ เหมะมูลกล่าวในคำตามว่า'หนังสือเล่มนี้มิใช่หนังสือแห่งความตาย ที่เมื่อใครได้อ่านแล้วเหมือนได้ดื่มยาพิษที่พร้อมจะตายตกตามกันไป แต่คือยาขมที่ปลุกให้เราตื่นตระหนักต่างหาก.' 


    เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย :

    • ดะไซ โอซามุ มีชีวิตอยู่เพียง 38 ปี นับตั้งแต่วัยรุ่นได้ประสบปัญหาสภาวะไม่มั่นคงทางจิตเรื่อยมา กล่าวกันว่าเขาปรารถนาจะฆ่าตัวตายอยู่เป็นระยะ ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ 4 ครั้ง จนมาประสบผลสำเร็จในครั้งที่ 5 ร่วมกับหญิงคนรัก
    • ดังนั้นหากจะกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ถูกเขียนด้วยนักเขียนที่ตกอยู่ในภาวะโรคซึมเศร้าก็คงไม่ผิดนัก ดะไซเลือกใช้'การเขียน' เพื่อยึดเหนี่ยว เยียวยาและสร้างสมดุลให้กับชีวิต การจดจ่อกับการเขียนทำให้เขาดำรงอยู่ได้
    • หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นขณะไปพักฟื้นจิตใจที่เรียวกังแห่งหนึ่งในเมืองอะตามิ
    • กล่าวกันว่านิยายเล่มนี้เป็นเหมือนพินัยกรรมสะท้อนชีวิตเขา
    • ท้ายเล่มมีคำตามที่เขียนโดยคุณอุทิศ เหมะมูล (นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2552) ให้อ่านด้วย  ยิ่งทำให้เข้าใจอะไรๆได้ถ่องแท้ขึ้นมากเลยทีเดียว
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in