เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
OUT IN AFRICASALMONBOOKS
03: บ้านของผม

  • ก่อนมา ผมตั้งใจไว้ว่าอยากได้บ้านพักแบบที่ตัวเองชอบ และอยากให้มันเป็นที่พักสำหรับเพื่อนฝูงและแขกเหรื่อที่จะแวะผ่านมาเยี่ยมเยียนที่ไนโรบีได้ด้วย พอถึงเวลาที่จะต้องหาบ้านพัก ผมเลย ‘เยอะ’ เป็นพิเศษ (แต่ก็มีเวลาจำกัด จึงทำให้เลือกเยอะมากไม่ได้)

    อธิบายก่อนว่า บ้านของพวกเรานั้น ทางราชการจะออกเงินให้ตามแต่ตำแหน่งหน้าที่ ผู้ที่มีตำแหน่งอาวุโสจะได้รับวงเงินสำหรับเช่าบ้านพักมากกว่า

    ข้าราชการที่เด็กกว่า โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าเช่าบ้านพักสำหรับข้าราชการในประเทศต่างๆ ตามค่าครองชีพที่ต่างกันไป ซึ่งสำหรับประเทศเคนยาแล้วอยู่ในอัตราไม่เกิน 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน (ประมาณเจ็ดหมื่นห้าพันบาท)

    บ้านพักที่ไนโรบีส่วนใหญ่มักเป็นบ้านพักขนาด 2-3 ห้องนอน 2-3 ห้องน้ำ ขนาดประมาณ 40-60 ตารางเมตร พร้อมเฟอร์นิเจอร์ครบ หรือไม่ก็เป็นขนาด 1-2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำที่มีบริการทำความสะอาด (เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์) แต่ประเภทหลังนี้มักมาพร้อมเฟอร์นิเจอร์ที่ทั้งเชยและดูเทอะทะ (ผมชอบบ้านที่มีเฟอร์นิเจอร์เรียบๆ และมีเท่าที่จำเป็น) ทำให้ไม่ถูกจริตของผมเท่าไหร่ แล้วค่าเช่าก็แพงเกือบเท่าหรือไม่ก็เกินจากงบประมาณของทางราชการ แถมอาคารแทบทุกหลังยังตั้งอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ไม่มีต้นไม้ใหญ่หรือสวนให้พักสายตาแม้แต่น้อย
  • ในช่วงสัปดาห์แรกที่ไปถึง ต้องขอบคุณพี่กุ๊ก—ภาณุพันธ์ โชติรังสียากุล รุ่นพี่ที่สถานทูตที่อาสาพาผมแวะเวียนไปขอดูบ้านพักที่ตั้งอยู่ในละแวกเดียวกับสถานทูต เพราะเวลาจะเข้าไปดูบ้านเช่าแต่ละครั้ง ต้องเจรจาและพยายามสื่อภาษากับรปภ. ที่คุมประตูหรือคนดูแลอาคารที่กว่าจะเปิดให้เราเข้าไปได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

    เราตระเวนดูบ้านกันเป็นสิบแห่งแต่ก็ไม่มีที่ไหนถูกใจผมสักที

    สัปดาห์ต่อมา เราพากันตามล่าหาบ้านพักอย่างเดิมอีก แต่คราวนี้เราเปลี่ยนเส้นทางใหม่ ซึ่งบังเอิญว่าเราขับรถผ่านหมู่บ้านริเวอร์ไซด์พาร์ก (หมู่บ้านขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนเพื่อเป็นที่พักของชาวต่างชาติโดยเฉพาะ) ที่เพื่อนของพี่กุ๊กเช่าอยู่พอดี พี่กุ๊กเลยหักพวงมาลัยเลี้ยวเข้าไปเยี่ยมเพื่อนทันที

    หมู่บ้านริเวอร์ไซด์พาร์กเป็นหมู่บ้านที่มีอายุกว่า 25 ปี เรียกว่าเป็นหมู่บ้านสำหรับชาวต่างชาติที่เก่าแก่ที่สุดก็ว่าได้ 

    เมื่อแรกสร้างเสร็จใหม่ๆ คนไนโรบีเล่ากันว่า ใครๆ ก็พูดถึงหมู่บ้านแห่งนี้ เพราะทั้งสวย ทั้งใหญ่ ทั้งโอ่อ่า อีกทั้งยังเป็นสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะที่ไนโรบีกำลังอยู่ในยุคทอง (ช่วงปี 1970-80) ซึ่งต่อให้อาคารและการตกแต่งจะมีสภาพเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา หมู่บ้านริเวอร์ไซด์พาร์กก็ยังคงความสวยงามแบบไม่ตกยุค ว่ากันว่าตัวอาคารและสภาพภูมิทัศน์ของหมู่บ้านนี้ได้รับการออกแบบอย่างดีจากบริษัทสถาปนิกต่างประเทศ

    เพื่อนชาวอินเดียน-มอริเชียส (Indian-Mauritius) พอรู้จุดประสงค์ของเราก็พาเดินดูห้องที่เขาอยู่ ขนาดห้องใหญ่โตกว้างขวาง แถมหากมองออกไปนอกหน้าต่างก็เห็นยอดไม้สีเขียวครึ้มอยู่ใกล้ๆ เขาให้ข้อมูลคล้ายแนะนำว่าผมไม่ต้องไปดูบ้านที่ไหนอีกแล้ว เพราะทั่วทั้งไนโรบี ที่นี่คือที่ที่ดีสุด
  • สองสามวันต่อมา ผมกลับไปที่หมู่บ้านนี้อีกครั้ง แต่คราวนี้ไปกับคนขับรถของสถานทูต

    หลังจากเข้าไปติดต่อสำนักงานหมู่บ้าน ผู้จัดการสาวใหญ่ก็พาผมเดินรอบหมู่บ้าน แสงแดดส่องผ่านต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้ตามแนวถนน ลมพัดทำให้อากาศเย็นสบาย แล้วเธอก็ไขกุญแจบ้านเช่าที่ว่างอยู่หนึ่งหลัง

    ก่อนเข้าไป ผมสังเกตเห็นเลข 1 ที่ติดอยู่หน้าบ้าน ที่ริมถนนมีป้ายบอกให้เข้าใจว่า กลุ่มอาคารแถวนี้มีชื่อเรียกว่าอาคารไนวาชา (Naivasha—ตั้งชื่อตามทะเลสาบน้ำจืดที่อยู่ห่างจากไนโรบีไม่ถึงร้อยกิโลเมตร)

    เหมือนรักแรกพบ ผมชอบบ้านพักไนวาชา เลขที่ 1 หลังนี้มาก

  • บ้านนี้มีสองชั้น มีห้องรับแขกและห้องครัวที่กว้างขวาง มีบันไดวางกลางตัวบ้านลงไปยังห้องนอนขนาดต่างกันจำนวนสี่ห้องนอน (ห้องมาสเตอร์เบดรูมจะมีห้องน้ำในตัว) มีตู้ไม้บิลด์อินทุกห้อง นอกนั้นไม่มีเฟอร์นิเจอร์อื่นเลยสักชิ้น เว้นไว้แต่ตู้เสื้อผ้าที่ติดมากับบ้าน ผู้เช่าจะต้องนำของใช้และเฟอร์นิเจอร์มาด้วยตนเอง

    ประตูทางเข้าออกหน้าหมู่บ้านเป็นเหล็กโปร่งสามารถมองทะลุได้ มีสวนสวย มีต้นไม้ที่ทั้งสูงและใหญ่ ด้านหลังมีคูน้ำเล็กๆ อีกทั้งยังตั้งอยู่ในตัวเมือง แม้จะไกลกว่าบ้านเพื่อนข้าราชการคนอื่นๆ ที่อยู่ในรัศมีไม่เกินหนึ่งกิโลเมตรจากสถานทูต แต่ก็ถือว่าหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสถานทูตและสำนักงานสหประชาชาติกรุงไนโรบีที่ผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมอยู่เป็นระยะๆ

    ผู้จัดการหมู่บ้านบอกผมอย่างตรงไปตรงมาว่า บ้านหลังนี้ยังไม่มีใครเช่า เพราะชั้นล่างค่อนข้างมืดทึบอับแสง ถ้าผมสนใจ เขาจะติดต่อไปยังเจ้าของหมู่บ้านให้ลดค่าเช่าของปีแรกให้ และไม่กี่วันต่อมา ผู้จัดการหมู่บ้านก็ติดต่อกลับมาว่าเจ้าของไม่ขัดข้องที่จะลดราคาค่าเช่า ซึ่งเป็นผลดีทั้งแก่ผม ที่จะได้
    บ้านพักที่ถูกใจ และเป็นผลดีแก่หลวงที่จะได้จ่ายค่าเช่าราคาต่ำกว่าเกณฑ์

    ทันทีที่กระทรวงการต่างประเทศอนุมัติให้ผมเช่าบ้านพักไนวาชา เลขที่ 1 ตลอดช่วงเวลาที่ผมประจำการอยู่ที่ไนโรบี (โดยราคาค่าเช่าต่อเดือนในปีแรกประมาณสองพันดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณหกหมื่นสามพันบาท) และได้ปรับขึ้นมาตามอัตราเงินเฟ้อที่ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณเจ็ดหมื่นสี่พันบาท) ในปีสุดท้ายก่อนผมกลับ) แล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 ผมก็ย้ายออกจากโรงแรมข้างสถานทูต ซึ่งเป็นที่พักชั่วคราวของผมตลอดเกือบหนึ่งเดือน มาพักที่บ้านหลังนี้โดยไม่รอช้า

    ตลอดเวลาสามปีที่ไนโรบี ผมมีเพื่อนฝูงและแขกเหรื่อมาพักที่บ้านประมาณ 10-12 กลุ่ม สั้นบ้างยาวบ้างตามกำหนดของแต่ละคน บ้างก็เป็นเพื่อนฝูงที่มาเที่ยวเคนยาหรือประเทศใกล้เคียง บ้างก็เป็นเพื่อนของเพื่อนที่มาทำธุระที่ไนโรบี บ้างก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่กระทรวงการต่างประเทศ บ้างก็เป็นแขกที่สถานทูตเชิญมาทำงานให้ บ้างก็เป็นนักศึกษาชาวอเมริกันที่ต้องมาเก็บข้อมูลภาคสนามที่เคนยา บ้างก็คนไทยจากต่างเมืองที่มีธุระต้องเข้ามาติดต่อสถานทูต ซึ่งผมล้วนชักชวนให้ทุกคนมาพักที่บ้านเสมอ เพราะจริงๆ แล้ว บ้านหลังนี้ไม่ใช่บ้านของผมแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นบ้านที่ราชการเช่าให้ผมพักอยู่ คนที่สนิทคุ้นเคยกันมักแซวว่า บ้านของผมนั้นไม่น่าจะเรียกว่าเป็นบ้านพัก แต่ควรจะเรียกว่าโรงแรมหรือไม่ก็โฮสเทลมากกว่า

    ซึ่งผมก็ยินดีที่บ้านของผมเป็น ‘บ้าน’ ของคนอื่นได้ด้วย
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in