เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แนวหนังThink-Read-Write
"Tootsies & The Fake (ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค)" กับความหยาบโลน, ตลกร้าย, Non-PC, และ LGBTQ+
  • ***SPOILER ALERT***


       หากใครได้รับชมภาพยนตร์ Tootsies & The Fake (ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค) ที่เพิ่งออกฉายเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็พบเจอกับความตลกร้าย โปกฮา ที่เต็มด้วยมุกตลกขำขันตามประสาเพื่อนสาวเปรียบเสมือนเราได้เข้าไปร่วมวงสนทนาในหมู่เดอะแก๊ง ซึ่งจะเป็นเรื่องราวที่ต่อจากซีรี่ย์ขนาดยาว "ไดอารี่ ตุ๊ดซี่ส์" โดยผลงานกำกับชิ้นโบแดงของ กิตติภัค ทองอ่วม ที่ดัดแปลงโครงเรื่องชีวิตของคุณช่า หรือ กัส  ธีร์ธวิต เศรษไชย แอดมินเพจเรื่องเล่ายอดฮิตบนเฟสบุ๊คในชื่อ "บันทึกของตุ๊ด" แต่ไฮไลท์สำคัญอยู่ตรงที่ภาพยนตร์ได้ซุปเปอร์สตาร์คุณแม่ลูกแฝดแถวหน้าของเมืองไทยอย่าง ชมพู่ อารยา มาร่วมแสดงนำด้วย พลิกบทบาทจากนางเอกเจ้าน้ำตาที่เราคุ้นเคยสู่บทบาทที่ไม่มีใครคาดคิดอย่าง เจ๊น้ำ แม่ค้าปากตลาดที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมได้อย่างล้นหลาม เพียงปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ออกมาเมื่อช่วงปลายปีก่อนก็สามารถขึ้นสู่อันดับหนึ่งยอดนิยมของเทรนด์ดังทวิตเตอร์ได้ในทันทีจึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้สามารถปิดฉากได้อย่างสวยงามด้วยยอดรายได้มากกว่า 141 ล้านบาท นับว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงที่สุดในปี 2019 เลยทีเดียว

     
        การกลับมาของแก๊งเพื่อนสาว คิม แน็ต กอล์ฟ และกัส (+แฟนของกัส +แฟนเก่าของกัส) ครั้งนี้ตัวละครก็ดำเนินชีวิตที่ต้องพบกับความ(เกือบ)หายนะครั้งใหม่ คิมทำอาชีพเป็นสจ๊วจที่ต้องมาพบกับความวินาศของพริตตี้สาวเพื่อนสนิทอย่าง แหนด หรือแนตตี้ (ชื่ิอในวงการ) ที่มีอาการปวดท้องเข้าห้องน้ำอยู่บ่อยครั้งจนเป็นตำนานปลดปล่อยบนรถยนต์มาแล้วแต่ครั้งนี้...บนเครื่องบิน แหนดที่กำลังมีปัญหากับแม่ที่ต้องการให้เธอมีลูกเพื่อที่จะได้สืบมรดก ไม่งั้นมรดกทั้งหมดจะไปตกอยู่กับน้องแมวแสนรักของแม่เธอ กอล์ฟต้องมาพบเจอกับความอกหักรักคุดที่สามีสุดที่รักเพียงคนเดียวกลับซึ้งในรสพระธรรมจนออกบวชตลอดชีวิต และกัสผู้ดูเหมือนจะไม่ต้องพบเคราะห์กรรมสักเท่าไหร่เมื่อเทียบกับเพื่อนๆแล้วแต่ก็ใช่ว่าจะเลี่ยงพ้นเพราะคนรักเก่าของเขา ท็อปได้กลับมาทำให้หัวใจของกัสปั่นป่วน อีกทั้งวินคนรักปัจจุบันได้รับเลี้ยงเด็กหญิงจริงใจ ผู้จะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองนั้นสั่นคลอนไปทั้งเรื่อง และเรื่องราวก็มาถึงจุดพลิกผันเมื่อ กอล์ฟได้พลาดท่าทำ เคธี่ แคทรีโอน่า กรรณิการ์ หวังซุปเปอร์สตาร์ชื่อดังแถวหน้า ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นหามส่งโรงพยาบาล เดือดร้อนทุกคนจนต้องไปจ้างเจ๊น้ำ แม่ค้าร้านข้างทางสุดปากจัดผู้มีใบหน้าที่ทำศัลยกรรมจนเหมือนเคธี่เป๊ะ ๆ มาสวมรอยรับงานโฆษณาแทนเคธี่แต่นิสัยยังเสียและปากไวกว่าวิธีการคนตะหลิวในร้านอาหารข้างทางของเขา มาสวมรอยในงานโฆษณาของเคธี่ และแล้วเรื่องราวก็กลับกลายเป็นหนทางที่ให้เหล่าเดอะแก๊งต้องหาทางแก้ไขสิ่งที่พวกเขาได้ทำพังเอาไว้

    "การสร้างภาพแทน" ของ ความตลกร้าย, ความหยาบโลน, ความรุนแรง, Body-Shaming, Rape Culture และบทเรียนสั่งสอน

       


              จะสังเกตเห็นได้ตลอดทั้งเรื่ิองว่าทุกๆตัวละครจะมีประโยคเด็ด ฮิตฮอต สุดปัง ติดปากเพื่อใช้พูดคุยกันในกลุ่มเพื่อนสาว อย่าง "อิกะเทย...[และเป็นไฟลต์บังคับให้ตอบกลับ]..มึงสิอิกะเทย" หรือการใช้คำเรียกแทนเพื่อนด้วยรูปร่างหน้าตาอย่าง การเรียก "อิช้าง" ใช้เรียกแทนกอล์ฟผู้ซึ่งมีรูปร่างตัวใหญ่ แม้กระทั้งตัวละครอย่าง เจ๊น้ำ ผู้ซึ่งรับบทโดย ชมพู่ อรยา ที่สร้างความฮือฮาให้ชาวเน็ตถึงการรับบทบาทที่แหวกแนวของดาราแถวหน้า ซึ่งเปิดตัวออกมาด้วยประโยคแสนจะเผ็ดเจ็บแสบที่แสดงอารมณ์ถึงฉุนเฉียว เร่าร้อน ดั่งกระทะที่เธอกำลังใช้ผัดอาหาร ด้วยด่ากราดลูกค้า "คิดเมนูช้าแล้วยังมาเxือกอยากแดกเร็ว...มึงรีบขนานนี้มึงไม่มาสั่งตั้งแต่เมื่อวานล่ะไอเxี้ย" หรือ เมื่อเธอพบกับลูกค้าผู้มีใบหน้าหล่อเหลาเธอก็ได้พูดจาอ่อยไปว่า "หน้าตาดีแบบนี้แม่ค้ากะหรี่อยากได้เป็นผัวนะ" อีกทั้งฉากที่เดอะแก๊งทั้งสี่คนนำเจ๊น้ำมาฝึกบุคลิกเพื่อให้เนียนต่อการสวมรอยเคธี่ โดยคิมและเพื่อนก็ได้จัดให้เจ๊น้ำมาเข้าคลาสการแสดง ซึ่งในฉากนี้การแสดงจะเป็นฉากจำลองที่ทำดูให้เหมือนว่าเป็นละครที่พระเอกกำลังข่มขืนนางเอก และแม้ว่าเจ๊น้ำและเคธี่จะมีหน้าตาที่เหมือนกันจนแยกไม่ออก แต่คิมกลับแสดงความคิดเห็นต่อนิสัยและท่าทางเจ๊น้ำที่มีความแตกต่างไปจากเคธี่ไปอย่างสิ้นเชิง ว่า "เหมือนฝึกปลาตีน ให้เป็นหงส์" นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าในภาพยนตร์ยังใช้ภาพของความรุนแรงที่ซ้อนรูปมาในลักษณะของความตลกอีกด้วย ในฉากที่กอล์ฟปลอมตัวเป็นรปภ.แล้วเข้าใจผิดว่าเคธี่เป็นเจ๊น้ำที่หนีหายไปและเขากำลังตามตัวอยู่ โดยกอล์ฟได้ชกเคธี่จนสลบและแบกเคธี่ออกไป และสุดท้ายเรื่องราวสุดอลเวงกลับจบด้วยคำสอนของเคธี่ที่ทุกตัวละครต้องนำมาคิดและตระหนักว่าการทำตัวไม่ดี และปากดีนั้นควรได้รับการแก้ไขและปรับปรุง 

         เมื่อหากพิจารณาน้ำเสียงการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ในการนำเสนอภาพของความตลกร้าย, ความหยาบโลน, ความรุนแรง, Body-Shaming, Rape Culture และบทเรียนสั่งสอนเหล่านี้แล้วจะพบว่าเป็นรูปแบบของภาพยนตร์ที่นำเสนอออกมาถึงความเป็นคอมเมดี้ (comedy) ที่อัด ๆ ความตลกขำขันลงมาจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มี PC หลงเหลืออยู่เลย และภาพยนตร์เรื่องนี้กลับมีปัญหาในตัวของมันในแง่ที่ว่านำเสียงที่เป็นการนำเสนอเรื่องต่าง ๆ ในช่วงกลางเรื่องและการสั่งสอนในตอนท้ายของเรื่องกลับกลายเป็นฐานของภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่บนความลักลั่นและความย้อนแย้ง (irony) ของภาพยนตร์ในแง่ที่ว่าเป็นภาพยนตร์ที่สร้างความตลกผ่านความหยาบคาย และ non-pc ที่สร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้ชมได้ แต่กลับจะต้องการสอนว่าพฤติกรรมของการที่ผู้ชมยังหัวเราะต่อภาพที่ไม่ดีเหล่านี้ได้ก็ควรที่จะฉุดคิดได้แล้วว่าการที่ตัวละครจงใจแก้ไขปัญหาโดยการหลอกผู้อื่นจะนำมาซึ่งผลกระทบในวงกว้าง

    ในฐานะผู้ชม เราควรจริงจังกับ "Tootsies & The Fake (ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค)" มากขนาดไหน?


          การที่สุดท้ายแล้วเราก็มองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้กลับเป็นเพียงการเล่าเรื่องที่ตั้งอยู่บนความลักลั่นและย้อนแย้ง แถมผู้ชมบางกลุ่มกลับมองว่าความพยายามที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ตลกนั้นกลับไม่ฟังก์ชั่นเท่าที่ควรเมื่อเทียบเพราะภาพยนต์เรื่องนี้เป็นการอัดโมเมนต์ของการตบมุกและเล่นตลกมากเกินจนกลับทำให้ตัวละครกลายเป็นตัวตลก หากแต่เมื่อมองในมุมกลับจะพบว่านัยยะการเล่าเรื่ิองของภาพยนตร์ที่พยายามจะให้ความเป็นภาพยนตร์คอมเมดี้ที่มีการใช้ลักษณะของ ความตลกร้าย ความรุนแรง Body-Shaming และ Rape Culture ที่มีน้ำเสียงที่อ่อนลง ซึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็นการล้อเลียนประเด็นข้างต้นก็ว่าได้ แต่นั้นอาจไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญมากนักในการนำมาพิจารณาว่ามันตลกหรือไม่ตลก หรือขอบเขตความตลกควรอยู่ในระดับไหนซึ่งก็ควรนำไปพิจารณาต่อไปในฐานะผู้ชม 
        หากแต่คุณค่าบางอย่างในภาพยนตร์ที่สำคัญที่ผู้ชมโดยมากไม่ได้พูดถึงคือการล้อบทเรียนของ "การเป็นคนดี" ที่สั่งสอน ซึ่งในสังคมที่เราอยู่นั้นความเป็น LGBTQ+ หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นกลับกลายเป็นเรื่องที่มายึดติดกับความคาดหวังบางอย่างจากทั้งครอบครัวและสังคมให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนดี ด้วยประโยคที่มักจะได้ยินติดหูอยู่เสมอ ๆ ไม่ว่าจะเป็นละครหรือชีวิตจริง ว่า "ไม่ว่าลูกจะเป็นอะไร ขอให้เป็นคนดีก็พอ" นัยยะของประโยคตรงนี้เมื่อมองให้ลึกลงไปแล้วกลับเป็นเพียงคำพูดปลอบใจที่แฝงไปด้วยอคติที่จะทำให้กลุ่มคนที่เป็น LGBTQ+ นั้นแบกรับภาระทางความคาดหวังไว้มากกว่าคนอื่น ๆ เพียงเพราะสังคมและครองครัวไม่สามารถยอมรับได้อย่างจริงใจร้อยเปอร์เซ็นจนต้องหาคุณค่าอย่างการเป็นคนดีหรือการประสบความสำเร็จมาครอบให้กลุ่มคนเหล่านี้แต่กลับหลงลืมคุณค่าที่แท้จริงภายในที่มีอยู่เหมือน ๆ กับคนทั่วไป 
        เมื่อมองกลับไปที่การเล่าเรื่องใน "Tootsies & The Fake (ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค)" แล้วนั้นจะพบว่า พวกเขาไม่ได้เป็นคนดีแบบร้อยเปอร์เซ็น พวกเขาสามารถแสดงได้ในฐานะมนุษย์กลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่มีผิดพลาดได้  พวกเขาไม่ได้เป็นไปอย่างสังคมคาดหวังว่าต้องดีอย่างโน้นอย่างนี้ แต่พวกเขาเป็นกลุ่มคนตัวอย่างที่ได้ก้าวข้ามอคติทางเพศและภาระทางความคาดหวังได้แล้วเป็นกลุ่มคนที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือน ๆ กับคนทั่วไปในสังคม และพวกเขาเป็นกลุ่มมีจะสามารถเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสังคมจากความเป็น LGBTQ+ จริงๆ ไม่ใช่กรอบหรือแนวคิดบางอย่างจากภายนอกที่จะมาครอบเพียงอย่างเดียว นี้คงเป็นเพียงรางวัลปลอบใจหนึ่งเดียวให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ยังมีคุณค่าที่หลงเหลืออยู่ภายใต้ภาพของความตลกร้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่รูปแบบการเล่าเรื่องพยายามฉีกออกจากมายาคติเดิม ๆ ไปแล้ว



        
           


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in