เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ปฤษตันไอยยิแลน : The occidental stories from an oriental point of viewKSCincat
ของหวานต่างด้าวของคาวต่างแดน: ตามรอยอาหารไทยในเมืองนอก
  • Credit ภาพ Cover : https://www.careysmanor.com/zen_garden.html


    ผมเป็นคนที่ชอบอาหารไทยมากคนหนึ่ง แต่รู้สึกทะแม่งๆบ่อยครั้ง เมื่อใดก็ตามที่อาหารหลายประเภทถูกลงท้ายด้วยคำว่า 'โบราณ' เช่น กาแฟโบราณ ผัดไทโบราณ หรือ ขนมไทยโบราณ เพราะรู้สึกว่า คำว่าโบราณในภาษาไทยมีนัยยะที่เราตัดขาด ทิ้งระยะห่างไปจากอดีต ในขณะเดียวกับที่เราก็กลับโหยหาอดีตไปพร้อมกัน หรือเรียกอย่างฝรั่งว่า 'Nostalgia' ผลก็คือนอกจากทำให้สิ่งๆนั้นเป็นอดีต จบไปแล้ว ไม่เคลื่อนไหวเป็นภาพนิ่ง ยังทำให้บางครั้งเราหลงผิดกันได้ง่ายๆว่า ของโบราณเป็นแบบนั้น ซึ่งเราอาจลืมไปว่าคนยุคหนึ่งก็มีรสนิยมอย่างหนึ่ง แฟชันเปลี่ยนแปลงตามสมัยนิยมฉันใด รสชาติ หน้าตาของอาหารก็แปรผันไปตามความนิยม สภาพสังคมฉันนั้น การใส่คำว่าโบราณพร่ำเพรื่อเกินไปจึงรู้สึกแห้งแล้งอยู่ไม่น้อย

    ปฤษตันไอยยิแลนด์ตอนนี้ ขอนำเสนอเรื่องราวของอาหารไทยในต่างแดน ที่โดยทั่วไป เราจะได้ยินคำว่า "สู้ที่ไทยไม่ได้" หรือ "ทำรสฝรั่ง ไม่ถึงใจอย่างบ้านเรา" แต่วันนี้ผมจะนำเสนอเรื่องราวของอาหารไทยในต่างแดน ที่ต่างไปจากบ้านเกิดเมืองนอนเราจริงๆนั่นแหละ แต่ทว่า ไอ้ความต่าง การดัดแปลง นี่แหละครับ ทำให้อาหารไทยยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางครัวโลก เวลาพูดถึงเมืองไทย 3 อย่างที่ขาดไม่ได้ คืออาหาร (โดยเฉพาะสตรีทฟู้ด)  ชีวิตกลางคืน และเลดี้บอย... 555

    ผมห่างหายไปนานเพราะวุ่นกับการเรียนปริญญาโท แต่เกิดนึกอยากเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาจริงๆ จึงหันมาเรียบเรียงข้อเขียนชิ้นนี้ขึ้น จริงๆเรื่องผับที่เขียนไว้นานแล้วก็ยังไม่สมบูรณ์นัก ควรจะมีตอนต่อไป แต่เป็นว่าต่อไป ผมจะไม่สัญญิงสัญญาแล้วว่าจะเขียนตอนต่อไป การเขียนนี่เป็นเรื่องของอารมณ์ ถ้าไม่มีอารมณ์ ถึงความรู้เต็มหัวก็เขียนไม่ออก ขืนฝืนเขียนมันออกมา ก็แห้งแล้ง ไม่กลมกล่อมไปเปล่าๆ

    เอาล่ะครับ เมื่อครู่ ผมพูดถึงคำว่าโบราณ ไม่ใช่จะปรามาสของเก่าของคนยุคก่อนหรอกครับ เพียงแต่ผมกลับเห็นว่า คำว่าโบราณของบ้านเราถูกใช้กันพร่ำเพรื่อเหลือเกิน จนไม่รู้แน่ชัดว่า ตกลงของที่กินที่ใช้มันโบราณสมคำร่ำลือจริงไหม แถมเรายังติดภาพกันไปอีกว่าของโบราณต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ 

    เอาเข้าจริงก่อนที่ของเหล่านั้นจะมีหน้าตาอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ มันผ่านการเรียนรู้ รับเข้า ประยุกต์ ดัดแปลง โดยบรรพชนคนรุ่นก่อน แล้วตกทอดมาถึงเรา ไม่ได้แข็งทื่อเหมือนหินล้านปี หรือสุสานหอยดึกดำบรรพ์ปานนั้น 


    (ตัวอย่างป้ายกาแฟโบราณ ที่ผมสงสัยมาตลอด ว่ามันโบราณอย่างไร)
    ที่มาภาพ: http://www.gafairthai.com/

    และเมื่อพูดถึงความโบราณของอาหารไทย ก็ย่อมคาบเกี่ยวกับเรื่องความแท้ของอาหารอย่างเสียไม่ได้ เพราะความเป็นไทยแท้ กับไทยโบราณเป็นเรื่องที่ติดปากกันตามท้องตลาด สองสิ่งนี้ต่างกันอยู่เหมือนกัน กล่าวคือ เมื่อเราพูดถึงความโบราณ เรากำลังพูดโดยใช้มิติทางเวลามอง ส่วนความแท้ คือ เราใช้มิติความเป็นของสิ่งนั้นมอง ปัญหาที่เกิดก็คือ เมื่อเรามองว่า อาหารไทยต้องแท้ ต้องโบราณ การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอาจทำให้ถูกมองว่า ไม่เข้ารูปเข้ารอย ผิดแผกไปจากเดิม ไม่ใช่ มันต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้  เอาเข้าจริงความโบราณ ความแท้นั้นมันตายตัวขนาดเชียวหรือ?

    ในที่นี้ผมขออ้างถึง Foodstylist ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทยท่านหนึ่ง คือ คุณดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์ สักหน่อย แกได้กล่าวถึงอาหารไทย ว่า อาหารไทยแท้นั้่นมีจริงหรือ อาหารโบราณอร่อยเสมอไปหรือไม่ แล้วแกก็ได้ทดลองทำอาหารตำรับโบราณ ลองอยู่หลายอย่าง อร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง โดยแกมองว่ารสนิยมของคนแต่ก่อน กับคนสมัยนี้ย่อมต่างกันเป็นธรรมดา 

    ขอคัดลอกบางส่วนจากสเตตัสแกสักเล็กน้อยนะครับ

    "กับข้าวฝีมือแม่ หรือฝีมือยาย ไม่ได้อร่อยทุกจาน แม่และยายก็คือผู้หญิงทั่วไปคนหนึ่ง อยู่ที่ฝีมือและความชำนาญเฉพาะตัว เอาเป็นบรรทัดฐานส่วนรวมไม่ได้ อาจอร่อยฟินเฉพาะเราคนเดียว"

    "อาหารชาววัง นั้นไม่ได้อร่อยทุกอย่าง อย่างไหนที่อร่อยจะยังอยู่ อย่างไหนที่อร่อยน้อย เครื่องปรุงหายากเค้าจะหายไปเองตามธรรมชาติ"
    (ที่มา: Facebook  Duang-rithi Claewplodtook สเตตัส วันที่ 7 พฤษภาคม 2560 เวลา 19.25 น.)

    (ใครสนใจเบื้องต้นเชิญชมที่ Tedtalk ซึ่งคุณดวงฤทธิ์แกได้เล่าประวัติศาสตร์ ที่มาของอาหารต่างๆที่เราคิดว่านี่คือ อาหารไทย แต่เอาเข้าจริงแล้วมันมีที่มาจากชาติต่างๆ รายละเอียดลึกๆ ผมขอไม่พูดถึงท่านไปดูกันเอาเอง แนบลิงก์ไว้ให้ตามนี้ครับ)


    เอาเข้าจริงแล้ว ความอร่อยนั้นมันไม่ได้มีแบบเดียว ไม่มีใครผูกขาดความอร่อย คำว่าโบราณไม่ได้เท่ากับความอร่อยเสมอไป ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบทำกับข้าว ยิ่งมาอยู่ต่างประเทศต้องทำกินเองบ่อยครั้ง (ถ้าไม่ทำก็สู้ราคาร้านอาหารข้างนอกบ่อยๆไม่ไหว) ก็พบว่าเราจะทำอาหารให้อร่อยไม่ใช่ลอกตามสูตรมันทื่อๆอย่างเดียว ต้องรู้จักดัดแปลง ชิมจากหลายๆที่ แล้วประยุกต์รสชาติของเราเอง กอปรกับเอาใจเขามาใส่ใจเราว่าคนที่จะทาน เขาชอบแบบไหน เราชอบแบบไหน

    เช่น บรรดาขนมที่เรารู้โดยทั่วไปว่ามาจากโปรตุเกสเช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ทานที่ไทยกับทานที่โปรตุเกส รสชาติต่างกันแน่ๆครับ ชาวสยามสมัยต่อๆมาเขาก็ปรับเป็นรสของเขา ตกทอดมาถึงทุกวันนี้ได้รสที่เราชอบใจกัน เช่น เม็ดขนุน ซึ่งคล้ายกับขนมโปรตุเกสที่เรียกว่า Broas de Espécie แต่พิจารณาในแง่วัตถุดิบนับว่าต่างกันมาก กล่าวคือ เม็ดขนุนเรา ใช้ถั่วเขียวเลาะเปลือก กะทิ น้ำลอยดอกไม้ ส่วน Broas de Espécie ใช้ Sweet Potato การปรุงกลิ่นเน้นความหอมของไข่มากกว่า ใช้กลิ่นไข่ประกอบกับดอกไม้ และกะทิอย่างบ้านเรา ในที่นี้จะไปบอกว่าของโปรตุเกสเขาไม่พิถีพิถันไม่ได้หรอกครับ เพียงแต่รสนิยมการกินต่างกัน ฝรั่งเขาเน้นรสชาติที่ขับจากวัตถุดิบพื้นฐานอย่างไข่ ไม่ได้ปรุงกลิ่นเพิ่ม ในขณะที่บ้านเราเน้นการเสริมแต่งด้วยกลิ่นดอกไม้ มะพร้าวซึ่งเป็นผลไม้พื้นถิ่นเข้ามา ไม่ใช่เขาไม่พิถีพิถัน เพียงแต่มุมมองการปรุงอาหารที่ต่างกัน อุปมาเหมือนสาวสวยทั้งคู่ คนหนึ่งแต่งหน้าอ่อนๆ อีกคนหนึ่งอาจจะแต่งหน้าจัดขึ้นมาอีกหน่อย งามคนละแบบ ชอบแบบไหนก็นานาจิตตัง

    ถ้าเราบอกว่า ขนมตระกูลทองเหล่านี้มีต้นแบบแท้มาจากเมืองพุทธเกศ (โปรตุเกส) การใช้ถั่วเขียว กะทิ ย่อมผิดรูปผิดรอย ไม่แท้จากของเดิมแน่นอน อาจจะจริงครับที่ขนมพวกนี้ เรารับเข้ามาช้านานแล้ว แต่ถ้าจะบอกว่าของโบราณต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ คงไม่มีคนริเริ่มใช้ถั่วเขียว หรือคงไม่คิดจะกล้าแหกคอกมาใช้เผือก (เคยเห็นกันไหมเม็ดขนุนเผือก อร่อยไปอีกแบบ 555) ไม่มีคนริเริ่มใช้กะทิ หรืออาจถึงขนาดไม่ริเริ่มเรียกมันว่าเม็ดขนุนด้วยซ้ำไป สิ่งเหล่านี้คงไม่ได้เกิดจากการที่มารี กีมาร์แกนั่งทำวันเดียวแล้วได้เม็ดขนุนผุดขึ้นมา แต่เกิดจากการลองอะไรใหม่ๆ นานวันเข้าก็ได้รสสัมผัส รสชาติ กลิ่น ที่ถูกปากเราจนทุกวันนี้ เป็นรสปัจจุบัน ไม่ได้ 'โบราณ' หยุดอยู่ที่ห้วงเวลาหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง แต่หลั่งไหลเสมือนกระแสธารไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน 

    ความเข้าใจบ้านเราเวลาพูดถึงขนมตระกูลทอง หม้อแกง ทำนองนี้เรามักจะเข้าใจว่า อ้อ! เรารับมาจากโปรตุเกสราวสมัยพระนารายณ์ แล้วจบเอาห้วนๆว่ามัน'โบราณ' แค่นั้น ไม่ได้มองภาพเคลื่อนไหวว่า มันถูกรับมา ถูกดัดแปลง เติมแต่งวิญญาณ จนมีตัวตนของตัวเองอย่างไร จริงๆก็คงไม่ได้ผิดที่คำว่าโบราณ แต่ผิดที่เราไม่ค่อยไปไกลกว่านั้น ว่ามันโบราณจริงไหม แล้วถ้าโบราณจริงๆ มันจะดีจริงไหม แล้วถ้ามันโบราณแล้ว มันควรจะอยู่ต่อ หรือ พ้นสมัยไปกันแน่ ถ้าจะอยู่ต่อมันปรับปรุงอย่างไร การใช้คำว่า 'โบราณ' ดูจะเป็นอุปสรรคไม่น้อยต่อการตั้งคำถามข้างต้น


    ขนมโปรตุเกส ที่ร้าน Confeitaria Nacional ในกรุงลิสบอน 
    ที่มาภาพ : Facebook Gun Suppanut


    ขนม Broas de Espécie ทานคู่กับ Espresso  
    ที่มาภาพ : Facebook Gun Suppanut

    กล่าวถึงความแท้ ความโบราณมาเสียยืดยาว วันนี้่ผมจะมานำเสนอ อาหารไทยเมื่อมาดำรงอยู่ในอีกเทศะหนึ่ง (เล่นใหญ่..) กล่าวง่ายๆ คือ เมื่อมันมาอยู่ในต่างแดนแล้วตัดคำว่าโบราณ ความแท้ออกไป มันจะเป็นอย่างไร?

     (ภาพแกงเผ็ดใส่ Strawberry พริกหวาน จากร้าน Nok's Kitchen ในกรุงเอดินเบอระ ประเทศสก็อตแลนด์ ร้านอาหารไทยบางแห่งใช้ลูกพีชใส่กับพะแนงก็มี)
    ที่มาภาพ: คุณ Navamon Buranakiattisak (พี่ลัมน์ที่เคารพ)

    ภาพแกงเผ็ดเป็ดย่างที่ท่านเห็น ถ้ามองผ่านวัตถุดิบก็มีผลไม้ของฝรั่ง ใส่พริกหวาน กะทิก็ไม่แตกมันเอาเสียเลย เป็ดย่างรึก็จีนซะขนาดนั้น ไม่รวมแครอทแต่งข้างบน แล้วใครสอนให้ใช้ผักชีโรยหน้าแกงเป็ด !!??

    มองจากสายตาคนที่มุ่งหา 'ความไทยเที่ยงแท้' แกงเผ็ดชามนี้ก็น่าหงุดหงิดใจไม่น้อยนะครับ ต้องบอกก่อนว่าแรกกำเนิดแกงเผ็ดเป็ดย่างนั้น จะว่าแท้ก็ไม่ปาน จะว่าโบราณก็ไม่เต็มปาก ผมเองก็ไม่ทราบเจาะจงลงไปว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่สันนิษฐานว่ามันคืออาหารไทยผสมจีน และน่าจะเกิดขึ้นไม่นานมากนัก ครั้งหนึ่ง ผมได้ดูรายการของคุณหมึกแดง ซึ่งได้ไปสัมภาษณ์ คุณชายแจ๊ค หม่อมราชวงศ์โสรัจจ์ วิสุทธิ (เจ้าของร้านอาหารท่านหญิง ถนนประมวล สีลม) ทายาทหม่อมเจ้าสุลัภวัลเลง วิสุทธิ (ท่านหญิงตุ๊) ผู้ปรุงอาหารขึ้นโต๊ะเสวยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี คุณชายให้ความรู้เบื้องต้นว่า แกงเผ็ดเป็ดย่างน่าจะเกิดขึ้นช่วงสงครามโลก เมื่อคนจีนฮ่องกงหรือกวางตุ้งอพยพเข้ามา แล้วคนไทยเราจึงหันมาแกงกับพริกแกงแดง เกิดเป็นแกงเผ็ดเป็ดย่างขึ้นมา เรื่องประวัติแกงมาจากไหนมีคนพูดกันมาก ผมคงไม่ลงรายละเอียด แต่เป็นว่าก็ไม่ได้ไทยโบราณ ไม่ได้ไทยแท้นี่ครับ เรียกอีกอย่างว่าฟิวชันรุ่นปู่แล้วกัน แต่ทว่ามันอร่อยพิลึกเทียวล่ะ

    ทีนี้พอมันมาในรูปสตรอตั้งยอดตามภาพ รสชาติออก creamy อย่างฝรั่ง เป็นธรรมดาที่อาจไม่ถูกปากเรานัก แต่สมมติมาวางแจกกลางถนน โดยไม่บอกคืออะไร ผมเชื่อว่าเราคนไทยก็ยังคงนึกในใจอยู่ดีแหละว่า "ก็คล้ายๆแกงเผ็ดเป็ดย่างนะ"  ที่สำคัญอาหารพวกนี้แหละครับที่ทำให้ ฝรั่งหลายคนออกปากว่า "I Love Thai food." อย่างเต็มภาคภูมิ อาจไม่ได้ดีถูกปากเราร้อยเปอเซน แต่มันคือการปรับตัวของอาหารไทยให้เข้ากับลิ้นต่างชาติ ผ่านกรรมวิธีการปรุงและวัตถุดิบ ในแง่นี้ผมชอบตรงที่อาหารไทยไม่ได้ถูกนำเสนอไปออกไปทื่อๆ นิ่งๆ แต่ปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ของมัน ส่วนตัวผมชอบพะแนงใส่ลูกพีชล่ะ เข้ากันอร่อยมากๆ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์อดีตนายกรัฐมนตรี ท่านก็มีชื่อเสียงมากเรื่อง การทำพะแนงใส่บรั่นดี กลมกล่อมเข้าไปอีกกก!!!

    (ช่อม่วงและจีบรูปนก)
    ขอบคุณ ร้าน Nok's Kitchen  
    ที่มาภาพ: คุณ Navamon Buranakiattisak (พี่ลัมน์ที่เคารพ)

    นอกจากนี้อาหารประเภทที่เรียกว่า ซึ่งเรียนกได้ว่ามันโบราณในแง่ที่หาทานยากจริงๆ พอมาอยู่ในต่างแดนบางประเภทแม้ไม่ได้เปลี่ยนรูปลักษณ์ แต่ก็นำเสนอผ่านนามใหม่ เช่น ขนมจีบรูปนกกับช่อม่วง ถูกจำแลงใหม่ในนาม "นกชมสวน (ฺBird in the Garden)" เพราะนกอยู่ท่ามกลางช่อดอกไม้ แถมมีสุ่มเล็กวางครอบไว้อีก สำหรับเราคนไทยอาจมองว่านี่คือ ขนมจีบ ช่อม่วงใส่สุ่ม สำหรับชาวต่างชาติมันมี Story ของมัน เราอาจหาทานช่อม่วงโบราณในไทยในกล่องโฟมราคาถูกกว่า แต่ Story และมูลค่าของมันก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นนัก คนปัจจุบันก็ไม่ค่อยรู้จักแล้วเพราะทำยากส่วนหนึ่ง แล้วยิ่งถ้าขายได้ราคามากกว่าสาคูไส้หมูไม่มาก คนขายคงทำสาคูไส้หมูดีกว่า ทั้งที่สองอย่างนี้ต่างกันมากนัก คำว่าโบราณก็ไม่ได้เพียงพอที่จะยืดอายุของเหล่านี้ให้มีชีวิตชีวาในสังคมต่อไป การจำแลงมาอยู่ในรูปนกชมสวนข้างต้นจึงกลับสร้างมูลค่าของมันให้โดดเด่นกว่าของว่างอื่นๆในร้านทีเดียว ในแง่ราคาค่าเงินสามชิ้นนี้ก็เกือบ 7 ปอนด์เข้าให้แล้ว 555

    ที่มาภาพ: K. Suvarnabejra
    (ไอศกรีมใบเตย จากร้านครัวคุณแม่ในกรุงเอดินเบอระ)

    นอกจากของคาวแล้ว ของหวานก็มีความเคลื่อนไหวไม่แพ้กัน ครั้งหนึ่งผมเคยทานกล้วยข้าวเม่าใส่ไอศกรีมวานิลลา ถ้ามันเป็นกล้วยชุบแป้งราด syrup ก็คงเป็น Banana Fritter ธรรมดาล่ะครับ ฝรั่งเขาก็มี ส่วนกล้วยข้าวเม่าบางร้านปากซอย 20 บาทก็ซื้อ แต่ โอ้...พอมันมาทานคู่กับไอศกรีม นี่ผมถึงทึ่ง ไอศกรีมแต่งหวานกล้วยข้าวเม่าให้หวานกล่อมได้ดีจริงๆ เอาเข้าจริงในไทย ก็มีของทำนองนี้อยู่ อาทิ ร้าน Farm to table แถวปากคลองตลาด เขาเอาขนมข้าวตอกมาเสิร์ฟคู่ไอศกรีม หรือ ร้านท่านหญิงที่นำฟักทองเชื่อมมาเสิร์ฟคู่ไอศกรีม ร้านบ้านข้าวหนม ที่อยุธยา ที่เสิร์ฟไอศกรีมคู่กับฝอยทองและทองม้วน แล้วว่ากันพื้นๆเลย เค้กฝอยทองนี่แหละครับ ก็ฟิวชันมาหลายปีดีดักแล้ว

    ที่ผมชอบมากแล้วอยากให้เมืองไทยมี คือ ไอศกรีมใบเตย (ถ้ามีก็ช่วยแนะนำผมด้วยแล้วกัน) ตามภาพเลยครับ ไอศกรีมรสนมใบเตย ง่ายๆพื้นๆ บอกไม่ได้เต็มปากว่าไทย แต่ได้กลิ่นใบเตยแล้วคิดถึงบ้าน คิดถึงเมืองไทย อย่างปราศจากความโบราณความแท้ในหัว 

    แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง อาหารตำรับเก่าแก่ (ขอไม่ใช้คำว่า โบราณ) หลายอย่างนับวันก็จะสูญหายไปเหมือนกัน อาทิ กระยาสารท แม้ยังพอมี แต่ถูกปากผมจริงๆก็หาไม่มี ข้าวทิพย์ที่กวนก่อนวันวิสาขบูชา ก็หาอร่อยยาก ม้าฮ่อ อาหารว่างเก่าแก่ก็แทบไม่มีคนรู้จัก ไม่รวมข้าวแช่ที่หลังๆมั่วมีไชโป้วผัดไข่ ใกล้ตัวมาหน่อยคือขนมเบื้องต้นทุนต่ำที่ใช้ครีมเทียมโรยน้ำตาลสี หรือกะเพราใส่ถั่วฝักยาว ข้าวโพด เหล่านี้ สร้างความสลดสังเวชแก่คนที่เกิด 'เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี' ไม่น้อย ผมอายุไม่ถึง 30 ก็จริง แต่ก็ยังพอทันได้ทานของพวกนี้ แล้วมั่นใจว่ารสชาติ วัตถุดิบดีกว่า โดยไม่อุปาทานไปเอง

    แต่นั่นแหละครับ ธรรมดาทุกสิ่งมันไม่เที่ยงนี่นะ มันมีการเปลี่ยนแปลงของมัน เราอาจจะไม่ชินกับการเปลี่ยนแปลง หลายสิ่งหลายอย่างถ้าจะอยู่ต่อ ไม่ตายไปตามกาลเวลา มันก็ต้องปรับตัวเอง เหมือนอาหารไทยในเมืองนอก ฉันใดก็ฉันนั้น ของเดิมจะอยู่ได้ ก็อาจด้วยการสร้างมูลค่าในตัวมัน สร้างเรื่องราวให้มัน ดัดแปลงบ้าง ถ้าดัดแปลงไปจนเลวเสียเลย ถ้ามันไม่ถูกปากคนก็ไม่ซื้อ ไม่กินมันเอง ไม่ต้องไปเจ้ากี้เจ้าการ ให้ผู้บริโภคคนทานเขาตัดสินกันเองเถิดครับ เช่นกันอาหารไทยในเมืองนอก มันก็ไม่ได้เป็นของคนไทยจริงๆ อาหารไม่มีได้สัญชาติหรอก เราไปสร้าง ไปนิยามเองทั้งนั้น อาหารเป็นของสิ่งมีชีวิตทุกผู้ ทุกคน ลางเนื้อชอบลางยา ลิ้นใครลิ้นมัน ตั้งตัวเองเป็นมาตรฐานไม่ได้ คำว่าโบราณ คำว่าแท้ไม่ควรมาตรฐานตายตัว ให้อาหารไทยหยุดพัฒนา แช่แข็งไปกับห้วงเวลาใดห้วงเวลาหนึ่ง

    ไม่เฉพาะอาหารหรอกครับ เรื่องอื่นๆ อาทิ วัฒนธรรม ประเพณี แม้แต่ความเป็นไทยเอง ก็ไม่ได้แท้ ไม่ได้โบราณ ค้างเป็นล้านปีแบบฟอสซิลหรอก มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอด บ่อยครั้งเรามักเคยได้ยิน ดราม่าโขนเอย การแต่งกายเอย การหมอบคลานเอย ที่ถูกวิจารณ์ว่าผิดประเพณี นอกลู่นอกรอย เช่นเดียวกัน ถ้าเราหันมามองอดีตอย่างมีความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว ไม่สร้างอุดมคตินิ่งๆของอดีตขึ้นมาเฉยๆ เราอาจจะเห็นอะไรมากขึ้น เข้าใจมันลึกขึ้นกว่าเดิม แล้วมีคำตอบมากกว่าถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ เหรียญย่อมมีสองด้าน ไม่ต่างกับเรื่ิองต่างๆ ที่มองได้หลายมุม บางครั้งมากกว่าสองด้านอย่างเหรียญด้วยซ้ำไป

    ขอปิดท้ายว่า บ่อยครั้งความเปลี่ยนแปลงเป็นของไม่พึงประสงค์ครับ เช่น ในอดีตเมื่อการพิมพ์เกิดขึ้นมา ศาสนจักรก็กริ่งเกรงถึงสิ่งที่จะตามมาคือ ความรู้ของมนุษย์ผ่านการอ่านซึ่งจะบั่นทอนศรัทธาของมนุษย์ให้สูญสิ้นไป เมื่อกล้องเกิดขึ้นมา ไม่ใช่ทุกคนจะยอมรับมันได้ในทันที อย่างในหลวงรัชกาลที่ 3 ไม่โปรดที่จะฉายพระบรมฉายาลักษณ์เลย เมื่อโทรศัพท์เกิดขึ้นมา ไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่พร้อมเปิดใจยอมรับใช้โทรศัพท์ทันที เราอาจกลัวมัน ไม่ชินกับมัน และโหยหาวันวานเป็นครั้งคราว แต่ต้องไม่ลืมการเรียนรู้ที่จะปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาเหมือนกัน หากปรับได้แล้ว เราอาจชินและเห็นคุณค่าบางอย่างของมันเข้าก็ได้ ว่าแล้วผมก็ฟินกับกล้วยข้าวเม่าไอศกรีม และ ไอศกรีมใบเตยในต่างแดนต่อไป


    K. Suvarnabejra
    นครเอดินเบอระ
    พุทธศักราช ๒๕๖๐


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in