พูดถึงสุสาน ภาพแรกที่หลายคนนึกถึงคงเป็นสถานที่ที่เงียบเหงา วังเวง น่ากลัว สิ่งแรกที่จะทำ คือ เร่งฝีเท้าจ้ำผ่านที่พักพิงสุดท้ายของชีวิตเหล่านั้นไปให้เร็วที่สุด และการเดินช้า ๆ แวะดูป้ายหลุมศพกับรูปสลักหรือข้อความที่ฝากไว้เป็นอนุสรณ์ถึงผู้วายชนม์คงเป็นสิ่งสุดท้ายที่อยากจะทำ แต่สำหรับในต่างประเทศ สุสานไม่ใช่ที่สำหรับคนตาย แต่เป็นพื้นที่ที่คนเป็นก็ร่วมใช้ และเป็นบันทึกหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การเดินเล่นในสุสาน โดยเฉพาะเมื่อมีคนที่รู้เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นเป็นผู้เล่าเรื่องและนำทาง ก็เป็นกิจกรรมที่น่าสนุกมากกว่าน่ากลัวด้วยซ้ำไป
ถ้ายังไม่มั่นใจ ตามมาสิคะ... เราจะพาไปเดินเล่นในสุสานที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับสองของอังกฤษ อย่าง Leeds Beckett Cemetery ด้วยกัน
--------------------------------
Heritage Open Days
แรกที่สุด Leeds Beckett Cemetery ไม่ใช่เป้าหมายแรกที่วางเอาไว้เพราะเดิมที เพื่อนชวนไปที่ Queens Hotel ข้างสถานีรถไฟ โรงแรมเก่าแก่ที่เข้าร่วมโครงการ Heritage Opens Days ซึ่งเป็นเทศกาลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1994 และจัดขึ้นทั่วประเทศในช่วงเดือนกันยายน เพื่อให้คนได้ทำความรู้จักกับสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ตระหนักรู้ถึงความสำคัญและความจำเป็นในการปกป้องรักษาสถานที่และสถาปัตยกรรมเหล่านี้เอาไว้ แต่การเข้าชมควีนส์โฮเทลต้องโทรศัพท์จองล่วงหน้า และรอบการเข้าชมเต็มหมดทุกรอบ ก็เลยต้องหาที่เที่ยวที่เปิดให้เข้าชมในช่วงนั้นกันใหม่
เผอิญความสนใจบางเรื่องไม่ค่อยตรงกัน ก็เลยตกลงว่า วันนี้ต่างคนต่างเที่ยวที่ตัวเองสนใจกันเถอะ และชื่อของ Leeds Beckett Cemetery ก็มาสะดุดตาตัวเองเข้า แถมยังเข้าร่วมกิจกรรมโดยที่ไม่ต้องโทรศัพท์หรือส่งอีเมล์ไปจองวันและเวลา แต่ walk-in หรือ ไปรอที่หน้าประตูสุสานตามเวลานัดก็เข้าร่วมกิจกรรมได้เลย ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
นี่ไม่ใช่การเดินเล่นในสุสานหนแรก และการเข้าไปเดินใน Leeds Beckett Cemetery ก็ไม่ใช่ครั้งแรกของตัวเองอีกเหมือนกัน เพราะหนแรกที่เข้าไปนั้น เป็นการแวะเข้าไปดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น หลังจากเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์การแพทย์ Thackray Medical Museum ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่การเดินไปในสุสาน โดยมีคนเล่าประวัติของสุสานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอังกฤษ ก็น่าสนใจน้อยอยู่เมื่อไหร่ เพราะเข้าไปครั้งแรกแบบไม่รู้อะไรเลย
เป็นอันว่า เพื่อนไปดูมรดกวัฒนธรรมอังกฤษที่เป็นสถาปัตยกรรมในเมืองไป ส่วนตัวแยกย้ายไปดูมรดกวัฒนธรรมอังกฤษ... ที่... ออกจะประหลาดไปนิดก็คงจะได้
หลุมศพบริเวณใกล้เคียงกับจุดนัดพบก่อนทัวร์สุสาน คุณอลันเล่าว่า เจ้าของหลุมศพเป็นเด็กเลยแกะสลักรูปนี้เอาไว้ ถ้าจำไม่ผิด หัวรูปสลักหักเพราะมีคนมือบอนไปทุบ เข้าใจว่าจะเมา (ตอนที่ไปยังไม่ได้ซ่อม แต่ตอนนี้ซ่อมแล้ว มีหัวแล้ว) มีคนเอาตุ๊กตามาวางไว้ให้ด้วย
Leeds Beckett Street Cemetery: สุสานเก่าแก่ที่เกือบจะกลายเป็นที่จอดรถ
เวลาที่นัดในปีที่ไป คือ ประมาณบ่ายสองโมง ตอนแรกก็นึกว่าคงมีคนมาร่วมกิจกรรมเดินเที่ยวสุสานกันไม่มากเท่าไหร่ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ก็มีสมาชิกทัวร์สุสานร่วม 30 คนเลยทีเดียว คนเอเชียหัวดำ ๆ มีแค่ตัวเองกับคนจีนอีกคน นอกนั้นเป็นฝรั่งทั้งหมด (และได้ข่าวว่า ปีนี้ ยอดเพิ่มมาแตะที่ 50 คนแล้วด้วย) โดยมีคุณ Alun Pugh สมาชิกของ Friends of Beckett Street Cemetery ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันดูแลพื้นที่สุสาน ก็ทำหน้าที่เป็นไกด์เล่าประวัติ และที่มาที่ไปของสุสานอายุร้อยกว่าปีแห่งนี้
ในการทัวร์สุสานนี้ คุณอลันจะพาเดินลัดเลาะไปตามเส้นทางต่าง ๆ ภายในสุสานและหยุดยืนเพื่อบรรยายกับเล่าเรื่องตามจุดต่าง ๆ
คุณอลันเล่าว่า เมื่อประมาณยี่สิบปีที่แล้ว Leeds Beckett Cemetery เกือบจะกลายเป็นที่จอดรถไปแล้ว แต่พอคนรู้ข่าวกัน ก็มีการรณรงค์ให้สงวนพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้เอาไว้ ซึ่งการดำเนินการของกลุ่มที่คัดค้านการนำสุสานไปทำที่จอดรถ ก็ไม่ได้ทำแค่ประท้วงกันเปล่า ๆ แต่มีการทำงานที่เป็นรูปธรรมกว่านั้น คือ มีการนับจำนวนหลุมศพ ศึกษาข้อมูลของคนตายที่มีชื่ออยู่บนป้ายหลุมศพ จัดทำประวัติของสุสานสุสานและหลุมศพสำคัญต่าง ๆ จัดกลุ่มประเภทของเจ้าของหลุมศพ และทำป้ายบอกเส้นทางกันเอาไว้ พร้อมแผนที่และตำแหน่งของหลุมศพด้วย
ป้ายบอกเส้นทางในสุสาน ทำให้ระบุ ค้นหา และตรวจสอบตำแหน่งของหลุมศพง่ายขึ้น
ความพยายามของกลุ่มคนที่ต้องการสงวนสุสานนี้เอาไว้ให้เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ทำให้เราได้รู้ว่า สุสานของเทศบาลเมืองลีดส์ที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับสองของอังกฤษ (รองจากอันดับหนึ่ง คือ สุสาน Brookwood Cemetery ที่ Surrey) สุสานแห่งนี้มีหลุมฝังศพ 27,000 หลุม มีผู้ถูกฝังเอาไว้ในสถานที่แห่งนี้ถึง 180,000 ราย แม้สุสานนี้ใช้เป็นที่พักพิงสุดท้ายของคนยากจน ชนชั้นแรงงานเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พบด้วยว่า เจ้าของหลุมฝังศพบางหลุมก็เป็นบุคคลสำคัญ และหลายหลุมศพก็เป็นของอดีตทหารผ่านศึกที่เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ The Great War ที่อังกฤษให้ความสำคัญเป็นพิเศษด้วย ถ้าสุสานบนถนนเบ็คเก็ตต์แห่งนี้กลายเป็นที่จอดรถ นั่นหมายความว่า ทุกอย่างที่พูดมาจะสูญหายไปทั้งหมด
ผลลัพธ์จากความพยายาม Leeds Beckett Cemetery ที่ต่อสู้จนรักษาพื้นที่แห่งนี้เอาไว้สำเร็จ ทำให้สถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของลีดส์ รวมถึงมรดกของชาติมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีกลุ่ม Friends of Beckett Street Cemetery ที่ริเริ่มการรณรงค์ในครั้งนั้นทำหน้าที่ในการดูแลและจัดกิจกรรมต่าง ๆ มาเรื่อย ๆ
แค่เริ่มต้นการเดินเที่ยว ก็แอบคิดในใจแล้วละว่า การตัดสินใจไปเที่ยวในที่ที่ชาวบ้านเขาไม่ค่อยจะไปกัน ก็ไม่เลวแฮะ และยิ่งเดินเที่ยว ยิ่งได้ฟังเรื่องราวจากปากคนนำทาง ก็บอกตัวเองว่า การตัดสินใจหนนี้ ไม่ผิดเลย เพราะเป็นประวัติศาสตร์อีกมุมหนึ่ง ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาสามัญ ที่เป็นความรู้ใหม่ของตัวเองมากจริง ๆ
นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเรื่องราวจากสุสาน Leeds Beckett Cemetery ที่คุณอลันเล่าให้ฟังค่ะ
ถ้าได้ยืนอ่านดีๆ ชื่อกับอายุของคนที่สลักบนป้ายหลุมศพก็น่าสงสารอยู่เหมือนกัน เช่นหลุมนี้ เด็ก ๆ แต่ละคนตายตั้งแต่อายุยังน้อยมาก ซึ่งในช่วงปลาย ศ. 19 อัตราการตายในเด็กทารกก็ยังสูงอยู่ แต่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงต้น ศ. 19
Sir John Barran, 1 st Baronet
อย่างที่บอกไว้ข้างต้น แม้คนในหลุมศพใต้ผืนดินของ Leeds Beckett Cemetery จะเป็นคนในชนชั้นแรงงาน แต่อีกหลายคนก็เป็นบุคคลสำคัญ เป็นคนมีชื่อเสียง และเซอร์จอห์น บาร์รันก็เป็นหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น เขาเป็นทั้งนักการเมืองและนักธุรกิจ และในฐานะของนักธุรกิจ สิ่งที่เขาริเริ่มลงมือทำที่ลีดส์ก็เป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เฟื่องฟูมาจนถึงทุกวันนี้
เล่าอย่างย่อที่สุด เซอร์จอห์นเป็นนักธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้าชาวลอนดอนที่มาตั้งโรงงานที่ลีดส์ เขาสังเกตว่า คนมีเงินสามารถจ้างช่างตัดเสื้อดี ๆ และเหมาะสมกับรูปร่างของได้ แต่ชนชั้นแรงงานส่วนใหญ่มักจะตัดเสื้อใช้กันเองแบบตามมีตามเกิด บางครั้งแบบก็ไม่ดี รูปทรงขาด ๆ เกิน ๆ บางครั้งก็เลือกผ้าไม่เหมาะสำหรับการใช้งาน เซอร์จอห์นเลยคิดทำเสื้อผ้าราคาถูกขึ้นมา โดยใช้วิธีแบ่งแบบเสื้อเป็นส่วน ๆ แล้วค่อยนำมาประกอบกันเป็นเสื้อผ้าทั้งชุดทีหลัง เช่นเดียวกับการตัดแผ่นไม้เป็นชิ้น ๆ แล้วนำมาประกอบกันเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ในภายหลัง
ความคิดของเซอร์จอห์นถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการอุตสาหกรรมก็ว่าได้ เพราะทำให้ผลิตเสื้อผ้าได้เร็ว จำนวนมาก เป็นมาตรฐานเดียวกัน และราคาถูกทำให้คนที่มีเงินไม่มากพอซื้อได้ โดยตั้งโรงงานตัดเสื้อขึ้นที่ลีดส์ เริ่มต้นจากโรงงานเล็ก ๆ ที่มีจักรเย็บผ้าสามสิบตัวในปีช่วงปี 1850s กลายเป็นอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีจักรเย็บผ้าสองพันตัวและคนงานร่วมสามพันคนในช่วงต้นปี 1900s หนึ่งในลูกน้องคนสำคัญของเซอร์จอห์น ก็คือ มร. มาร์กส์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Marks&Spencer ที่มีชื่อในทุกวันนี้นี่เอง
ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เซอร์จอห์นล้มป่วยจึงกลับไปลอนดอนและเสียชีวิตที่ลอนดอน แต่ก็ได้นำศพกลับมาฝังที่ลีดส์ เพราะประโยชน์ที่ได้ทำเอาไว้ให้กับชาวเมืองลีดส์ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างงานให้กับคนจำนวนมาก ในพิธีฝังศพของเซอร์จอห์นที่ Leeds Beckett Cemetery ในปี 1904 จึงมีคนเข้าร่วมจำนวนมากจนล้นออกไปนอกถนนเบ็คเก็ตต์เลยทีเดียว
ป้ายชื่อถนนในสุสาน ตั้งตามชื่อของ Sir John Barran
ไม่เฉพาะแต่หลุมศพของคนสำคัญที่มีเรื่องเล่าน่าสนใจ หลุมศพของชาวบ้านธรรมดาก็มีเหมือนกัน แล้วในบางกรณีก็เพิ่งจะรู้ว่า แบบนี้ก็มีด้วย
The Graves with No Bones
คุณอลันเล่าว่า บางหลุมไม่มีศพฝังอยู่จริง ๆ หรอกนะ มีแค่ชื่อของคนตายสลักเอาไว้เท่านั้นเอง ซึ่งเหตุผลที่เป็นแบบนี้ มีด้วยกันหลายสาเหตุ เช่น ไปรบในต่างประเทศ ตายในต่างประเทศ ฝังในต่างประเทศ แต่มีครอบครัวอยู่ในอังกฤษ เมื่อเอาศพกลับมาไม่ได้หรือไม่สะดวก ก็ใช้วิธีสลักชื่อเอาไว้บนป้ายหลุมศพแทน ซึ่งหลุมศพของทหารที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็เป็นอย่างนี้
สำหรับหลุมศพของคนที่เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือ The Great War มีจุดสังเกตเล็กน้อย คือ ทาง Friends of Beckett Street Cemetery จะเอาสติกเกอร์สีแดงแปะติดเอาไว้ด้วย ซึ่งสีแดงที่ว่า ก็เป็นสัญลักษณ์สีของดอกป็อปปี้ที่เป็นเครื่องหมายของ Remembrance Day หรือวันที่ระลึกทหารผ่านศึกนั่นเอง
สติกเกอร์สีแดงที่ติดอยู่เป็นสัญลักษณ์บอกว่า คนที่มีชื่อบนป้ายมีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และบริเวณฐานของป้ายหลุมศพก็จะมีตัวเลขกำกับบอกเอาไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการนับและค้นหา
แต่บางที เหตุผลที่ในหลุมไม่มีศพก็พิสดารกว่านั้น เช่น กรณีของผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนงานเหมือง เขาประสบอุบัติเหตุระหว่างระเบิดทางเข้าไปเพื่อทำทางขุดแร่ออกมา แรงระเบิดทำให้ตายคาที่ ในสภาพแทบจะไม่เหลือศพอยู่ (เข้าใจว่าเหลือมานิดเดียว) ภรรยาเลยสลักบนหลุมศพว่า เป็น 'relic' (อัฐิ หรือ ชิ้นส่วนของร่างกาย) ของสามี แทนที่จะเป็นชื่อของสามีของตัวเองเฉย ๆ
A Man who Died from Exhaustion
หลุมศพหนึ่งที่ทำให้คนแอบหัวเราะคิกคักกันตอนฟังประวัติ คือ หลุมศพของ มร. เฮิร์สต์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง แต่สิ่งที่โฟกัสกันสำหรับเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องธุรกิจของคุณเฮิร์สต์กันหรอก แต่เป็นจำนวนลูก ๆ ที่คุณเฮิร์สต์ผลิตเอาไว้ต่างหาก
คุณอลันเล่าว่า คุณเฮิร์สต์มีลูกทั้งหมด 22 คน จำนวนลูกของคุณแกทำเอาคนตามทัวร์เงียบกริบ ในอารมณ์แบบ 22 เนี่ยนะ ทำไมเยอะได้ขนาดนี้ ในระหว่างที่หลายคนกำลังประมวลผลว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีท่าไหนกันเนี่ย ก็มีสาวใจกล้าคนหนึ่งยกมือถามคุณอลันว่าว่า 22 คนนั้นมาจากแม่คนเดียวกันหมดหรือเปล่า คำตอบของคุณอลัน คือ ใช่ ทั้ง 22 คน มีพ่อแม่คนเดียวกันหมด
หลังคำตอบนี้จบก็เริ่มมีเสียง โอ้ จากคนฟัง ตัวคุณสามีอย่างคุณเฮิร์สต์คงไม่เท่าไหร่ แต่ตัวคุณภรรยาของแกนั่นละ ที่มีลูกให้แกได้ตั้ง 22 คนนี่สุดยอดกว่า แต่ทุกคนมาหัวเราะกันจริงจังเมื่อคุณอลันเล่าว่า เจ้าของหลุมศพนี้ Died from exhaustion ... เขาตายเพราะเหนื่อยเกินไปน่ะนะ
เชื่อได้เลยว่า ที่ต่างคนต่างหัวเราะกันคิกคัก เพราะทุกคนพร้อมใจกันเอา exhaustion ไปรวมกับเรื่องการที่แกทำให้ภรรยามีลูก 22 คนไปเรียบร้อยแล้ว แต่จริง ๆ สาเหตุการตายของคุณเฮิร์สต์ไม่เกี่ยวกับเรื่องอย่างว่าเลยสักนิด ความจริงแล้ว เขาตายเพราะทำงานหนักไปต่างหากล่ะ คุณอลันเฉลยเรื่องนี้พร้อมทำหน้าแบบ... รู้นะ คิดอะไรกันอยู่ (ฮา)
The Graves with Not-Very-Common Names
นอกจากประวัติที่น่าสนใจของเจ้าของชื่อบนหลุมศพแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจที่คุณอลันเล่า คือ เรื่องการตั้งชื่อของคนอังกฤษสมัย ศ. 19 โดยเฉพาะคนสมัยวิคตอเรียน (รัชสมัยของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย, ค.ศ. 1932-1901) ซึ่งมักจะตั้งชื่อลูกกันแปลก ๆ และชื่อแปลก ๆ เหล่านี้ ก็ไปปรากฏอยู่บนแผ่นป้ายหลุมศพหลายชื่อด้วยกัน
ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่ง ชื่อ เซอร์โรเบิร์ตพีล (สาบานได้ว่านี่คือชื่อจริง ๆ) คุณอลันบอกว่า เข้าใจว่า พ่อของเด็กจะสนับสนุนเซอร์โรเบิร์ต พีล อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ก่อตั้ง Metropolitan Police (ที่เรารู้จักกันดีในนามสก็อตแลนยาร์ดในเวลาต่อมา)
อีกชื่อที่แปลกจริง ๆ คือ เด็กชาย Vieuxtemps (วิเยอร์ตองป์ - แปลตรง ๆ ตัวว่า Old Times) เรื่องของเรื่อง คือ คุณจอร์จ แฮดด็อค คุณพ่อของเด็กคนนี้เป็นนักไวโอลิน มีอาจารย์เป็นชาวฝรั่งเศสนามสกุลว่า วิเยอร์ตองป์ พอกลับมาอังกฤษ แต่งงานมีลูก ก็เลยเอานามสกุลของอาจารย์มาเป็นชื่อลูกเพื่อแสดงความระลึกถึง เจตนาดีอยู่ แต่ออกจะเป็นชื่อประหลาดไปสักหน่อย และหนูน้อยก็อายุไม่ยืนเหมือนชื่อที่ตั้ง ซึ่งคุณอลันออกปากว่า อาจจะโชคดีแล้วก็ได้ ที่เด็กคนนี้ตายตั้งแต่อายุ 18 เดือน ถ้าเข้าโรงเรียนแล้ว คงโดนเพื่อนล้อเรื่องชื่อแหง ๆ ก็คิดว่าโชคดีพอ ๆ กับเจ้าหนูเซอร์โรเบิร์ตพีลที่หนีไปสวรรค์ก่อนโดนเพื่อนล้อเหมือนกันนั่นละค่ะ
ส่วนตัวคิดในใจตอนนั้นว่า คนอังกฤษสมัยวิคตอเรียนตั้งชื่อลูกได้ไม่คำนึงถึงตอนไปโรงเรียน หรือตอนลูกแก่เหมือนคนไทยบางคนสมัยนี้เลยแฮะ....
หลุมศพของหนูน้อย Vieuxtemps หนึ่งในเจ้าของชื่อไม่ธรรมดาที่พบในสุสานนี้
่่่่
์No Equality Even in the Cemetery
มีคำพูดว่า 'The only place where you can find equality is in the cemetery' หรือ สถานที่แห่งเดียวที่ทุกคนได้รับความเสมอภาค คือ สุสาน สำหรับความตายนั้นเป็นความเสมอภาคอย่างแท้จริง แต่สำหรับการได้ฝังในหลุมศพเหมือน ๆ กันอย่างเสมอภาคทุกชนชั้นและฐานะ เห็นทีจะไม่ใช่อย่างนั้น และเรื่องนี้เป็นความรู้ใหม่ ที่จะเอามาเล่าให้ฟังปิดท้ายการเดินเล่นในสุสานคราวนี้
ถ้าใครเคยเห็นสุสานฝรั่งที่มีป้ายหลุมศพมากมายหลายรูปแบบ บางทีก็สลักเป็นรูปต่าง ๆ หรือบางครั้งก็เป็นป้ายหลุมศพแบบเรียบ ๆ บางป้ายมีชื่อเดียว บางป้ายมีหลายชื่อ ความแตกต่างเหล่านี้ บางทีก็ไม่ใช่แค่เรื่องของรสนิยม แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนฐานะทางเศรษฐกิจกับสถานะทางสังคมด้วย
แม้จะเป็นสุสานที่เทศบาลเมืองเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของพื้นที่ และได้ชื่อว่าเป็นสุสานของชนชั้นแรงงานเป็นหลัก แต่การจะมีป้ายหลุมศพหรือหลุมฝังของตัวเองและครอบครัวก็ต้องมีเงินจ่าย ป้ายหลุมศพอย่างดี มีการสลักเป็นรูปต่าง ๆ หมายความว่า คนที่ซื้อพื้นที่นั้นได้ต้องจ่ายเงินให้ council แต่สำหรับคนที่ยากจนมาก ๆ ไม่มีเงินให้กับทางท้องถิ่น ก็จะเอาศพไปฝังใน common grave คือ หลุมฝังรวม ไม่มีป้ายหลุมศพ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในหลุมนั้นมีใครบ้าง จากการสำรวจเคยพบว่า หลุมที่ฝังศพไว้เยอะที่สุดใน Beckett Street Cemetery ทำสถิติไว้ 38 คนต่อหลุมเลยทีเดียว
การฝังศพใน common grave นั้น เป็นการฝังแบบไม่มีโลง เอาผ้าห่อ แล้วฝังลงไปในดิน เพราะต้องการประหยัดพื้นที่ แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม ในเวลาต่อมา ทาง Council ก็คิดวิธีใหม่ขึ้น คือ subscription grave ซึ่งมีราคาที่คนรายได้น้อยสามารถจ่ายไหวและมีชื่อบนป้ายหลุมศพด้วย
คนที่ต้องการหลุมศพของตัวเองพร้อมป้ายชื่อ (ถึงจะสลักชื่อรวม ๆ ไปกับคนอื่น คือ สลักต่อท้ายชื่อคนอื่นที่ฝังมาก่อน แต่ก็ยังดีที่มีชื่อเป็นสิ่งแสดงตัวตน) ก็จะต้องไปลงทะเบียนจองที่ไว้ก่อนล่วงหน้า การฝังแบบนี้จะดีกว่า common grave ตรงที่ถึงจะเป็นหลุมฝังรวม แต่ก็มีชื่อเสียงเรียงนามปรากฏอยู่บนแผ่นป้ายเหนือหลุมศพ การฝังศพของหลุมศพแบบลงทะเบียนจะเป็นแบบ back-to-back คือ สองฝั่งป้ายเป็นหลุมฝัง พอเอามาฝังเพิ่ม ก็สลักชื่อเพิ่มลงไป ด้วยความที่เป็นหลุมรวม ป้ายก็จะมีขนาดใหญ่มาก ทำให้ต้องมีการตรวจสอบความแข็งแรงของป้ายทุกปี เพื่อไม่ให้หล่นทับเด็กหรือคนที่ไปสุสานบาดเจ็บหรือเสียชีวิต (ซึ่งแน่นอนว่า เคยเกิดเหตุการณ์นั้นมาแล้ว) เพราะตัวป้ายก็ไม่ได้ปักลึกลงไปในดิน เพื่อให้สะดวกต่อการขุดและสลักชื่อเพิ่ม เพียงแต่เอาหินขนาดใหญ่ประกบสองข้างให้ทรงตัวอยู่ได้เท่านั้นเอง
คุณอลันตั้งข้อสังเกตว่า สำหรับ subscription grave โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 19 จะมีชื่อคนตายเรียงกันถี่มาก เพราะอายุขัยเฉลี่ยของคน โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน ในลีดส์ ช่วงก่อนปี 1850's จะตกอยู่ที่ 30 ปี ก่อนที่จะมีอายุเฉลี่ยยาวนานขึ้นในเวลาต่อมา มีหลุมหนึ่งที่คุณอลันเล่าว่า เป็นหลุมศพของครอบครัวที่เสียลูกไปหกคนในช่วงเวลาแค่สี่วัน ในช่วงที scarlet fever ระบาด ซึ่งคุณอลันทิ้งคำถามเอาไว้ว่า คนในสมัยนั้นทำใจรับกับความสูญเสียติด ๆ กันขนาดนี้ได้อย่างไร ก็น่าคิดอยู่นะคะ และยิ่งเคยเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์การแพทย์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามมาแล้ว ตัวเองก็อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า เราโชคดีแค่ไหนที่เกิดมาในยุคนี้
ป้ายหลุมศพของ subscription grave
Final Thought
การเดินชมสุสานพร้อมฟังประวัติของสุสาน และเรื่องราวของผู้คนสมัยก่อนใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่ฟังเพลินจนลืมเวลาไปเลยจริง ๆ และมีคนมาฟังเยอะพอสมควรเลย คือ ประมาณ 30 คนได้ (ดิฉันเป็นเอเชียหัวดำอยู่ในเดียวในหมู่ฝรั่งอีกตามเคย)
สิ่งที่ชอบเกี่ยวกับ Heritage Open Days คือ เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนได้เรียนรู้และสัมผัสกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตามที่ตัวเองสนใจ ทำให้ได้รู้เรื่องราวและชีวิตของคนธรรมดา ๆ ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยก่อน ผ่านปากของคนที่มีความสนใจหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ๆ ซึ่งก็เป็นคนในท้องถิ่นนี่เอง ถือเป็นการเปิดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมทั้งในฐานะผู้ให้ความรู้และผู้รับความรู้ และได้ศึกษาสิ่งที่สนใจไปด้วยกัน
ถ้ามีเวลา หรือมีโอกาส การได้ออกไปเที่ยวแบบมีคนนำและบรรยายเรื่องต่าง ๆ ให้ฟังก็เป็นประสบการณ์ที่ดีและได้ความรู้ที่หาที่ไหนไม่ได้ โดยเฉพาะการลองไปในสถานที่ใหม่ ๆ ที่ไม่มีทัวร์บริษัทไหนกล้าแนะนำแบบนี้บ้าง ก็เป็นเรื่องแปลกใหม่ในชีวิตดีค่ะ
Last but not least
อย่างที่เล่าไว้ข้างบนว่า แอบแวบไปเดินเล่นในสุสานมาหนหนึ่งก่อนที่จะมาร่วมกิจกรรมเดินเที่ยวในสุสาน วันที่มาสำรวจก่อน สุสานเงียบมาก เดินแบบไม่รู้อะไรไปเรื่อย ๆ และลองมองดูว่า มีคนอื่นมาเดินแถวนี้ด้วยไหม เพราะตัวสุสานก็มีต้นไม้เยอะ มีม้านั่งให้นั่งพักกันได้ ระหว่างที่เดิน ๆ ไปก็เผอิญไปเจอคุณผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่หน้ากลุ่มป้าย เลยบอกตัวเองว่า งั้นลองไปดูทางนั้นด้วยละกัน แต่ปรากฏว่า พอเดินไปถึงแถวที่คุณผู้หญิงชุดสีเข้มคนนั้นยืนอยู่ ก็หาเธอไม่เจอแล้ว
ทางนี้ก็ อ้าว นึกว่ามีคน ไม่เป็นไร ข้างหน้ามีทางเดิน ก็เลยเดินตรงไปตามถนนในทิศที่เห็นผู้หญิงอีกคนเดินอยู่ แต่ก็ไม่เจอ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดอะไร คิดว่าไม่มีอะไรหรอก พอเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็บอกว่า แกคงโดนเข้าแล้วละ ถามว่าเข็ดไหม ไม่ค่ะ เพราะไม่อย่างนั้น คงไม่มีเรื่องนี้มาเล่าหรอก จริงไหมคะ ฮา
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in