เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SEENPoonPun
‘ซงคังโฮ’ กับ 3 บทบาท ‘อิกนอแรนซ์’ ตอน 1 : คนขับแท็กซี่

  • เข่ียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2021
    **เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์**


    • A Taxi Driver (택시운전사) ออกฉายในเกาหลีใต้เมื่อ 2 สิงหาคม 2017 กำกับโดย จางฮุน

    แม้หนังสัญชาติเกาหลีใต้ทั้ง 3 เรื่องจะสร้างและออกฉายต่างปี แต่เนื้อหาของหนังเหล่านี้มุ่งสำรวจหมุดหมายเดียวกันในประวัติศาสตร์ คือช่วงทศวรรษ 1980 ของประเทศเกาหลีใต้ และไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ หนังทั้งสามได้เล่าขานให้ผู้ชมรับรู้ว่า ก่อนได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันผลิบานเช่นในปัจจุบัน ชาวเกาหลีใต้ล้วนต้องดิ้นรนต่อกรกับอำนาจเผด็จการทมิฬ จนถึงขั้นดับดิ้นสิ้นชีวิตกันมาแล้ว

    จุดร่วมอีกประการที่น่าสังเกตคือ ตัวละครเอกของหนังทั้งสามต่างรับบทโดยคนเดียวกัน คือ ซงคังโฮ (송강호) นักแสดงจากจังหวัดคยองซังใต้ ตัวละครจากหนังทั้งสามของเขาถ่ายทอดให้เห็นบรรยากาศทางการเมืองอันเร่าระอุในเกาหลีใต้ช่วงปี 1980 ผ่าน 3 ชีวิต 3 อาชีพ 3 ชนชั้น ของประชาชน ที่อาจนิยามพวกเขาด้วยศัพท์ปัจจุบันได้ว่า ‘อิกนอแรนซ์’ (Ignorance) หรือ “ผู้วางเฉยทางการเมือง”

    ข้อเขียน 3 เรื่องต่อไปนี้จะสำรวจว่า จาก 3 เส้นทางชีวิตตัวละครของซงคังโฮ จะสามารถให้บทเรียนอะไรกับประชาชนผู้อยู่ท่ามกลางบทพิพาทระหว่างอำนาจเผด็จการและประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงในเกาหลีใต้ แต่รวมถึงไทย หรือกระทั่งทุกแห่งหนทั่วโลก

    และหนังลำดับแรกได้แก่ A Taxi Driver


    คนขับแท็กซี่ : ประชาธิปไตยระดับชนชั้นแรงงาน

    พฤษภาทมิฬ ณ กวังจู

    เหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “การลุกขึ้นสู้ที่กวังจู” (Gwangju Uprising) คือส่วนหนึ่งของ ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ แห่งเกาหลีใต้ ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง ช่วงระยะเวลา 10 วันของการต่อสู้ระหว่างกองกำลังพลเรือน ซึ่งประกอบไปด้วยนักเรียน นักศึกษา คนงาน และประชาชนทั่วไป ปะทะกับกองกำลังทหารรวม 20,379 นาย พร้อมรถถังและอาวุธครบมือ นำมาสู่การสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน 


    A Taxi Driver พาย้อนไปสำรวจโศกนาฏกรรมนั้นผ่านมุมมองของคนขับแท็กซี่จากกรุงโซล ผู้ไม่ล่วงรู้หรือแยแสต่อสภาวะทางการเมืองของประเทศ 

    ซงคังโฮ รับบทเป็น คิมมันซอบ คนขับแท็กซี่ปากร้ายใจดี ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทำให้เขาบูชาเงินตราเหนือสิ่งใด ถึงกระนั้นในความตระหนี่ถี่เหนียว ผู้ชมยังเห็นความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์อยู่ภายใน และด้วยค่าของเงินนี่เองที่ล่อใจเขาให้เข้ามาพัวพันกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์เกาหลีใต้  


    ปี 1979 หลังการลอบสังหารประธานาธิบดี พัคจองฮี นำมาสู่จุดจบของอำนาจเผด็จการที่ครองเกาหลีใต้มากว่า 18 ปี ประชาชนต่างอิ่มเอิบด้วยความหวังว่าประเทศจะหวนคืนสู่ประชาธิปไตย ทว่าพลเอก ชอนดูฮวาน ผู้กุมอำนาจกองทัพคนสำคัญ อาศัยห้วงสุญญากาศทางการเมืองเข้ายึดอำนาจ และตั้งตนเป็นประธานาธิบดี ส่งผลให้ประชาชนจากทั่วประเทศหลั่งไหลสู่ท้องถนน และเริ่มชุมนุมด้วยสันติวิธี เรียกร้องให้ชอนดูฮวานลาออก เพียงในกวังจูที่เดียวก็มีประชาชนร่วมชุมนุมถึง 50,000 คน

    ขณะที่สื่อมวลชนในประเทศทุกแขนงถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาล โชเฟอร์คิม ชนชั้นแรงงานผู้เป็นดุจกระผีกเสี้ยวของสังคม ได้พลิกบทบาทขึ้นเป็น ‘ผู้ส่งสาร’ ซึ่งพานักข่าวชาวเยอรมันฝ่าอันตรายเข้าไปสู่พื้นที่กวางจู จนนำภาพความป่าเถื่อนของกองทัพออกมาถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลกได้สำเร็จ

    ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของทุกคน

    แม้จะมีการแต่งเติมองค์ประกอบต่างๆ เข้าไปเพื่อสร้างอรรถรส แต่หนังเรื่องนี้ไม่ลังเลที่จะบอกเล่าข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ตั้งแต่ฉากที่โชเฟอร์คิมและนักข่าวชาวเยอรมันเดินทางถึงกวังจูในวันที่ 19 พฤษภาคม 1980 ทั้งสองได้เป็นประจักษ์พยานของความโหดร้ายที่หน้าศาลาว่าการและแยกถนนคังนึม ควันแก๊สน้ำตาคละคลุ้ง พร้อมกำลังทหารรุกคืบเข้ามาจัดการผู้ชุมนุมไม่เลือกหน้า ทั้งผู้สูงอายุ นักศึกษาชายหญิง นักเรียนมัธยม ต่างเป็นเป้าหมายของกระบองไม้เบิร์ชที่หวดใส่อย่างไร้ปราณี โรงพยาบาลควังจูล้นไปด้วยผู้บาดเจ็บ นี่คือผลพวงของกฎอัยการศึก

    ในวันเดียวกัน ก่อนหน้าเหตุชุลมุนไม่นาน โชเฟอร์คิมได้รับข้าวปั้นที่ชาวกวังจูทำมาแบ่งกันกินหลังเมืองถูกปิดล้อม อาหารธรรมดานั้นคือสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย รสชาติของมันตรึงตราอยู่ในความทรงจำของเขา

    ด้วยเหตุนี้ โชเฟอร์คิม ชนชั้นแรงงานผู้อ่อนเดียงสาทางการเมือง เคยมองการประท้วงของเยาวชนเป็นความวุ่นวาย และใส่ใจแต่การหาเงินยังชีพ ทว่าเมื่อความรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์ปรากฏขึ้นต่อหน้า เหตุผลใดก็อาจไม่สำคัญเท่าความรู้สึก ทำให้เขาตัดสินใจหักโค้งไปเผชิญกับอันตรายอีกครั้ง 

    ฉากนี้สะท้อนว่าความไม่วางเฉยต่อทุกข์ร้อนของเพื่อนมนุษย์ต่างหาก คือหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมจากอำนาจที่กดทับไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเข้าใจยาก สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าชนชั้นหรือสถานภาพใด จะเป็นคนขับแท็กซี่ นักข่าว นักศึกษา หรือใครก็ตาม หากเขามีหัวใจของความเป็นมนุษย์ เมื่อนั้นเขาจะตระหนักถึงความจำเป็นของประชาธิปไตย


    เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2017 มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ พร้อมระบุหลังรับชมว่า “ความจริงเกี่ยวกับการต่อสู้ (ที่กวังจู) ยังไม่ถูกเปิดเผยออกมาอย่างสมบูรณ์ เป็นหน้าที่ของพวกเราในการชำระสะสาง และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ช่วยเราทำหน้าที่นั้น”

    ด้วยว่าความจริงในประวัติศาสตร์การเมืองมักถูกเล่าผ่านสายตาของผู้มีอำนาจ ไม่ก็ปัญญาชนแห่งยุคสมัย แต่น้อยครั้งจะมาจากมุมมองของ 'ชนชั้นแรงงาน' ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความจริงแห่งยุคสมัย และมีบทบาทสลักสำคัญยิ่งในทุกสังคม

    A Taxi Driver จึงเป็นหนังที่ถูกยอมรับว่ามีคุณค่าในเนื้อหา เพราะมีส่วนผสมของมนุษยธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ มิตรภาพเหนือพรมแดนภาษา และประชาธิปไตยที่ทุกชนชั้นล้วนมีส่วนร่วมกันจรรโลงขึ้นมา

    .

    อ้างอิง 

    มูลนิธิรำลึก 18 พฤษภาคม. 18 พฤษภาคม การลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตย The May 18 Democratic Uprising.  กรุงเทพฯ : คอมม่อนบุ๊คส, 2564

    Kim R. (Aug 14, 2017). Presidents' choice of films shows political messages. The Korea Times.

    Lee M. (Aug 16, 2017). Film Review: 'A Taxi Driver'. Variety.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in