เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
THE EXPLORER STORYTHEEXPLORER
ระหว่างจุดเดือดไปสู่จุดเยือกแข็ง
  • วิทยาศาสตร์ตอนมัธยมปลายเคยมอบปริศนาเอาไว้ว่า "วิธีการต้มน้ำที่อุณหภูมิห้องให้เดือดเร็วที่สุด คือเราจะต้องปีนป่ายขึ้นไปต้มน้ำบนภูเขาอันสูงชัน" อันเนื่องมาจากความกดดันอากาศนั้นต่ำกว่าระดับพื้นดิน ความร้อนจึงส่งผ่านเข้าไปในโมเลกุลของน้ำให้เคลื่อนที่ด้วยพลังงานจลน์ จนเกิดการเปลี่ยนสถานะกลายเป็นไอน้ำได้ไวที่สุด

    ในทางกลับกันวิทยาศาสตร์ยังบอกกับเราเอาไว้อีกว่า "หากเราถือน้ำแข็งหนึ่งกระติกขึ้นไปตั้งแคมป์ค้างแรมกันบนเทือกเขาหิมาลัย" บริเวณความดันอากาศต่ำนั้น จะทำให้น้ำแข็งจะหลอมละลายเมื่อพบกับสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสเท่านั้น สมมติฐานของเราจึงคาดเดาเอาไว้ว่า การตั้งแคมป์ค้างแรมบนเทือกเขาหิมาลัยในคืนนั้น คงจะมีน้ำแข็งหนึ่งกระติกที่เอาไว้กินกันได้นาน และไม่แน่ว่า แก้วที่ใส่ก้อนน้ำแข็งอยู่นั้นจะละลายหมดทันช่วงไก่โห่หรือยัง

    มองเผินๆตามสภาพแวดล้อม ก็คงต้องเป็นไปตามผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในข้อนั้นๆ บนภูเขาอากาศก็น่าจะเบาบางจึงทำให้การต้มน้ำควรเดือดง่าย และการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยก็คงจะยากน่าดู เพราะแค่แหงนมองก็เห็นภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะตั้งตระหง่านอยู่มานานโขแล้ว 

    เราอ้างอิงจากการใช้ความรู้สึกขั้นพื้นฐานเพื่อเข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้โดยง่าย แค่รู้สึกว่าน้ำแข็งมันไม่ควรจะละลายก็ตอบปัญหายากๆมาได้นับครั้งไม่ถ้วน ค้นดูรอบกายก็พบเห็นทฤษฎีตั้งมากมายกระจัดกระจายอยู่ตามท้องถนน แรงโน้มถ่วง แรงเฉื่อย แรงต้านทาน แรงไฟฟ้า แรงกล ล้วนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมาให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากมัน

    "ความรู้สึก" มักจะถูกใช้มาประกอบกับเรื่องราวในชีวิตเกือบจะทุกๆเรื่อง 

    อารมณ์ร้อนบ้าดีเดือดนั้นจะปะทุมากขึ้นเมื่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความกดดันสูง เปรียบกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ก็เหมือนกับการดำดิ่งลงไปในถ้ำใต้ดินเพื่อไปต้มน้ำสักหนึ่งกาให้เดือด ยิ่งกดดันมากน้ำก็ยิ่งเดือดพล่านและรุนแรงมากกว่าน้ำเดือดที่ระดับพื้นดิน อย่าแปลกใจเลยถ้ามนุษย์อย่างเราท่านจะรู้สึดหงุดหงิดในช่วงเวลาที่ถูกกดดัน

    แม้ความกดดันจะผ่านพ้นไปแล้ว ก็ยังไม่แคล้วที่อุณหภูมิของน้ำร้อนจะยังคงอยู่ การผ่อนปรนจากจุดเดือดกลับไปสู่อุณหภูมิห้องย่อมต้องใช้เวลาที่มากเพียงพอ หากลองแอบมองและสังเกตความรู้สึกในจิตใจจะพบว่ามันไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้อย่างทันท่วงที จนกว่าจะพึงระลึกและตั้งสติให้คงมั่น เพื่อตัดขาดความกดดันที่เพิ่งผ่านพ้นไปให้หมดจรด และคงเหลือไว้เพียงแค่ภาพปัจจุบันที่อยู่ตรงหน้าตัวเอง

    ถ้าไม่มีความกดดันเลย มนุษย์เราก็เหมือนจะจู้จี้จุกจิกเอาได้ง่าย คล้ายกับเจ้านายที่ว่างงาน แล้วมัวแต่เอาเวลามาจับผิดลูกน้อง ความผิดเป็นของคนอื่นและได้แต่พยายามยกยอความดีขึ้นสู่ตัว คนจำพวกนี้มักจะหงุดหงิดใส่ในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องได้ง่าย และคงคล้ายกับการถือกาไปต้มน้ำเดือดไปยอดเขา แม้จะไม่มีความกดดัน แต่ก็ยังสามารถหาเรื่องให้เดือดพล่านได้เช่นกัน

    ระยะห่างระหว่างจุดเดือดไปยังจุดเยือกแข็งช่างห่างไกลเกินกว่าการคาดคะเนด้วยความรู้สึก ด้วยเหตุนี้คนเรามักจมจ่ออยู่กับความเดือดดาลที่เกิดจากโทสะ อันเป็นกิเลสที่เราต่างยังละไม่ได้ ชีวิตประจำวันที่ต้องผ่านไปพบเจอเรื่องราวอันแสนหงุดหงิดที่ไม่คาดคิด ความขัดเคืองและความไม่พอใจที่เราต่างสั่งสมอารมณ์หมายด้วยพลังงานจากจิต มันจึงทำให้การเข้าถึงความสงบเงียบ ณ จุดเยือกแข็งนั้นช่างดูเบาบางและจางๆเกินกว่าจะเข้าถึง

    เราจึงต้องคอยประคับประคองโมเลกุลของน้ำให้อยู่ในจุดสมดุล ไม่เดือดมากไปและไม่แข็งกร้าวจนเกินไปจนเกิดเป็นความรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจเอง แม้ต้องแบกรับความกดดันขั้นสุดหรือเบาบาง การปรับตัวให้เป็นดั่งน้ำที่เจือจางจะทำให้ชีวิตของเราปราศจากโทสะที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในความรู้สึกประจำวัน

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in