เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
THE EXPLORER STORYTHEEXPLORER
วันศุกร์สุดหรรษา
  • “T.G.I.F” หรือ“Thank God It’s Friday” ถูกนำใช้เป็นสำนวนแสดงอารมณ์และความรู้สึกโล่งใจต่อการทำงานอันเป็นที่รัก ดีใจเพราะวันนี้เป็นวันศุกร์ที่เรารู้สึกว่าเหมือนได้ผ่านพ้นอุปสรรคและขวากหนามมาอย่างนานนม และอีกไม่ช้าไม่นานก็จะถึงเวลาหยุดพักในสุดสัปดาห์ที่รอคอย ในห้วงเวลาไม่ถึงกี่ชั่วโมงนับต่อจากนี้จะเป็นเวลาที่แสนวิเศษสำหรับเรา

    แม้จะผ่านช่วงเวลาแบบนี้มาแบบซ้ำๆเดิมๆตั้งไม่รู้กี่ปี แต่เราก็ยังคงรู้สึกว่าทุกๆวันศุกร์นั้นช่างสุขีและเปรมปรีกว่าวันไหนๆ งานการที่สะสมจะถูกหมักหมมเอาไว้มากสักเท่าไร พอได้เคลื่อนตัวมาถึงวันศุกร์ทีไร ก็อยากจะทิ้งงานการที่คั่งค้างเก็บลงไปไว้ในถังขยะ แล้วปล่อยตัวปล่อยใจให้หัวสมองโล่งๆเข้าไว้อย่างฉับพลั

    กฎหมายแรงงานของฝรั่งเศส ปี 2543 ระบุเอาไว้ว่า เวลาทำงานต่อสัปดาห์ของพนักงานรวมกันต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง แถมล่าสุดยังมีประกาศ กฎหมายว่าด้วยสิทธิ Right to disconnect โดยกฎหมายระบุเอาไว้ว่า พนักงานมีสิทธิที่จะไม่ตอบหรือไม่อ่านอีเมลจากบริษัทหากอยู่นอกเวลาทำงาน ในขณะที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 30,100 ดอลลาร์สหรัฐ 

    ความแตกต่างทางเศรษฐกิจ สังคม และการปกครองดูเหมือนจะทำให้การทำงานในฝรั่งเศสช่างดูน่าดึงดูดใจพนักงานอย่างเรายิ่งนัก แต่ถึงอย่างไรก็ดี การทำงานตามเป้าหมายในกรอบเวลาที่จำกัดให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้รับมอบหมายในการทำงาน ก็ควรจะสลักสำคัญไปกว่าช่วงเวลาที่ถูกใช้ไปในแต่ละวัน

    เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลญี่ปุ่นออกนโยบาย Premium Friday โดยให้พนักงานเลิกงานกลับบ้านช่วงเวลาบ่าย 3โมง ดูคล้ายว่านโยบาย “วันศุกร์สุขสันต์” นี้น่าจะทำให้พนักงานมีความสุขมากยิ่งขึ้น และรัฐบาลก็คาดหวังว่าน่าจะส่งผลทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของพนักงานลดลง

    ทว่านโยบายนี้กลับสร้างความสุขให้แก่พนักงานได้แค่หยิบมือเดียว ด้วยระบบการจ้างงานที่บริษัทญี่ปุ่นนิยมจ้างพนักงานแบบชั่วคราวและพาร์ทไทม์ ซึ่งพนักงานจะได้รับค่าตอบแทนตามชั่วโมงโดยไม่มีสวัสดิการใดๆ ปัญหาหลักของบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมาก คือการมีพนักงานไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้แต่ละคนต้องรับผิดชอบงานจำนวนมากในกรอบเวลาที่จำกัดลงอีกตามนโยบายของรัฐบาล

    มองภาพวิถีการทำงานผ่านฝั่งยุโรปวกกลับมาถึงฝั่งเอเชียกรอบเวลาอันจำกัดนั้นมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิถีการใช้ชีวิตของเราอย่างยิ่งยวด ไม่ว่าจะทำงานมากกว่าหรือน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน บริษัทที่เราอาศัยอยู่นั้น ต่างคาดหวังว่าเราจะส่งมอบผลงานอันโดดเด่นให้ได้ก่อนการอ่านผลประกอบนั้นในไตรมาสนั้นจะออกมา 

    แท้จริงแล้วเราทำงานเพื่อความต้องการพื้นฐานหลักสองประเภท 1) ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และความเป็นอยู่ และ 2) การเป็นคนสำคัญและมีความหมายต่อสังคม นอกเหนือจากสองสิ่งนี้ จะเป็นเพียงแค่แรงจูงใจย่อยๆที่ทำให้เราคล้อยตามในบางกาลและเหตุผล จากก้นบึ้งของหัวใจของคนทำงานอันแท้จริง เราไม่ได้หวังจะเอาชนะทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตหรอก ล้มบ้าง แพ้บ้าง แล้วค่อยๆลุกขึ้นมาประสบความสำเร็จ เพื่อพิสูจน์ให้คนรอบข้างได้เห็นทักษะและฝีมือที่เราต่างมีอยู่ในตัวเอง

    แม้จะผ่านวนรอบวันจันทร์ถึงวันศุกร์มากี่ครั้งเราก็ยังรู้สึกแบบเดิม วันศุกร์สุดหรรษาอาจจะไม่ได้มีจริงอย่างที่เราพยายามตั้งชื่อมันเอาไว้เพื่อหลอกตัวเองในวันที่อ่อนล้า พอผ่านวันศุกร์เดี๋ยวก็ถึงวันจันทร์ที่เราพยายามหาเหตุผลเพื่อรองรับความขี้เกียจไปต่างๆนานา หากจะวัดค่าดัชนีความสุขอันแท้จริงแล้ว อย่ามัวแต่มาตั้งกรอบวันศุกร์เพื่อกีดกันความสามารถของเราเลย 

    ถึงเวลาเคลื่อนตัวออกจากวันหยุดที่แสนวิเศษ พร้อมกับการโอบรับการทำงานเพื่อพัฒนาตัวเองในวันพรุ่งนี้ ต่อยอดความสำเร็จในรูปแบบของตัวเองโดยไม่มีขอบเขตและกรอบเวลามาปิดกั้นความสำเร็จของตัวเอง

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in