เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Gender & Sexualitypreenbanana
เมื่อเอเลี่ยนเป็นเพศหญิงและเพศหญิงเป็นเอเลี่ยน
  • [ดัดแปลงมาจากบทความในวิชา SE418 GENDER AND SEXUALITY  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของผู้เขียน]


    "In space, no one can hear you scream."

    “ในห้วงอวกาศ ไม่มีใครได้ยินเสียงกรีดร้องของคุณ”


    คำโปรยข้างต้นมาจากภาพยนตร์สยองขวัญแนววิทยาศาสตร์สุดคลาสสิคอย่างเอเลี่ยน (Alien) หนึ่งในผลงานอันเลื่องชื่อของผู้กำกับมากฝีมือริดลี่ย์สก๊อต (Ridley Scott) ที่เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1979 เนื้อหาในภาพยนตร์โดยย่อเล่าถึงเหตุการณ์ในอนาคตปี 2122 บนเรือสินค้าทางอวกาศชื่อนอสโตรโม (Nostromo) ลูกเรือทั้งเจ็ดคนถูกปลุกให้ตื่นขึ้นเมื่อได้รับสัญญาณลึกลับจากดาวชื่อว่า LV-426 พวกเขาต้องนำยานลงจอดและสำรวจหาที่มาของสัญญาณ จนกระทั่งไปเจอซากยานปริศนาที่ตกอยู่ ภายในยานมีซากศพของสิ่งมีชีวิตต่างดาวพร้อมกับไข่ตั้งวางเรียงราย ลูกเรือคนหนึ่งถูกสิ่งมีชีวิตที่ออกมาจากไข่เกาะใบหน้าของเขาจนสลบไป และเมื่อลูกเรือคนนั้นฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหลังจากสัตว์ประหลาดปล่อยพันธนาการออกจากใบหน้า จุดเริ่มต้นของฝันร้ายเริ่มขึ้น...สิ่งมีชีวิตนอกโลกได้ถือกำเนิดขึ้นมาในยานนอสโตรโมที่กำลังจะกลับไปยังโลกและเปิดฉากไล่ล่าตามสัญชาติญาณ ลูกเรือที่เหลือจะต้องพยายามรักษาชีวิตของตัวเองเอาไว้พร้อมกับหาทางกำจัดเจ้าสัตว์ประหลาดแห่งห้วงอวกาศนี้ให้ได้ก่อนที่ยานจะถึงที่หมาย เพราะถ้าพวกเขาทำไม่สำเร็จ นี่อาจเป็นจุดจบของมนุษยชาติ

    เอเลี่ยนถือเป็นหนึ่งในบรรดาภาพยนตร์สยองขวัญที่ฉันชื่นชอบตลอดกาล นอกจากจะเป็นภาพยนตร์ที่แจ้งเกิดให้กับซีกอร์นีย์ วีเวอร์ (Sigourney Weaver) ในบทบาทของเอลเลน ริปลี่ย์ (Ellen Ripley) ตัวละครเอกหญิงสุดแกร่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบทบาทในจอเงินของผู้หญิง  ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นไปได้ยากที่ภาพยนตร์กระแสหลักเรื่องหนึ่งจะมีตัวละครเอกเป็นเพศหญิงที่ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้ช่วยของผู้ชายหรือคู่รัก (Love Interest) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ ดังนั้นตัวละครนี้จึงเป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิง (Feminist Icon) ริปลีย์ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 8 จาก 50 ตัวละครฝ่ายดีในภาพยนตร์ที่เป็นที่จดจำมากที่สุดและเป็นตัวละครหญิงที่อยู่ในอันดับสูงที่สุดในการจัดอันดับ AFI's 100 Years...100 Heroes & Villains จัดทำโดยสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน (American Film Institute หรือ AFI) เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของสถาบันแห่งนี้ในเดือน มิถุนายน ปี 2003 ซึ่งสัตว์ประหลาดแห่งห้วงอวกาศอย่างเอเลี่ยนเองก็ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 14 จากฝั่งตัวละครผู้ร้ายเช่นกัน

    หากตัดความน่ากลัวและความป่าเถื่อนตามแบบฉบับหนังสยองขวัญออกไป ภาพยนตร์เรื่องเอเลี่ยนแฝงประเด็นเรื่องเพศไว้มากมาย ซึ่งต่างเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องผู้หญิงแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น 

    1. ภาพยนตร์เรื่องเอเลี่ยนกับการนำเสนอความเป็นหญิงที่แสนชั่วร้าย (Monstrous-Feminine) 

    2. เอลเลน ริปลี่ย์ หญิงสาวผู้ต่อสู้กับทั้งอสุรกายกระหายเลือดและปิตาธิปไตย (Patriarchy) 

    3. ความเป็นแม่กับการต่อสู้ของบรรดาแม่ในภาพยนตร์เรื่องเอเลี่ยน (Motherhood) 

    โดยจะอธิบายในแต่ละหัวข้อตามลำดับ


    1. ภาพยนตร์เรื่องเอเลี่ยนกับการนำเสนอความเป็นหญิงที่แสนชั่วร้าย (Monstrous-Feminine)


    คำว่า ความเป็นหญิงที่แสนชั่วร้าย (Monstrous-Feminine) เป็นทฤษฏีที่คิดขึ้นโดยบาร์บาร่า ครีด (Barbara Creed) ศาสตราจารย์สาขาวิชาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เพื่อใช้อธิบายถึงความคิดของเพศชาย โดยเฉพาะความกลัวต่อเพศหญิงที่สื่อออกมาผ่านภาพยนตร์สยองขวัญ (หนังสือ The Monstrous-Feminine: Film, Feminism, Psychoanalysis) ซึ่งมองว่าผู้หญิง คือ ความเป็นอื่น (The Other) ในรูปของสัตว์ประหลาดจากต่างดาว แม่มด ผีดูดเลือด ตัวกลางของโลกวิญญาณหรือพาหะที่รอให้ปีศาจร้ายมายึดครองและสิงสู่ร่างกายตนเอง โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงถูกมองเป็นความชั่วร้ายเพราะเพศหญิงเป็นเพศที่อิงกับธรรมชาติสูงกว่าผู้ชาย เช่น การมีประจำเดือนตามวงรอบของธรรมชาติ การตั้งครรภ์อันเป็นหน้าที่ตามธรรมชาติของผู้หญิง ดังนั้นสิ่งที่ยึดโยงอยู่กับธรรมชาติตามความเชื่อของมนุษย์ตั้งแต่สมัยโบราณ ได้แก่ ภูตผีปีศาจ ทำให้เพศหญิงกลายเป็นสิ่งลี้ลับที่ผู้ชายไม่สามารถเข้าถึงได้ เมื่อผู้หญิงถูกเหมารวมไปอยู่กับสิ่งเหนือธรรมชาติและมาเจอกับการประกอบสร้างทางสังคม สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเพศหญิงจึงเป็นสิ่งน่ากลัวไปโดยปริยาย ดังความเชื่อที่ว่าไม่ควรลอดใต้ผ้าถุงของผู้หญิงที่มีประจำเดือนเพราะเป็นของต่ำ ความเชื่อเรื่องเลือดประจำเดือนของผู้หญิงเป็นสิ่งต้องห้ามที่เกี่ยวข้องกับเวทมนตร์หรือความชั่วร้าย เป็นต้น ด้วยความลึกลับของเพศหญิงนี่เองทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอความกลัวของผู้ชายออกมาผ่านฉากการเกิด (Primal Scene) และการออกแบบเอเลี่ยน


    1.1 ฉากการเกิด (Primal Scene) ในภาพยนตร์จะมีทั้งหมด 3 ครั้งซึ่งในแต่ละครั้งได้แสดงถึงการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้ การเกิดครั้งแรก คือ ฉากแรกของภาพยนตร์ที่ลูกเรือตื่นขึ้นมาจากแคปซูลจำศีล (Hypersleep Pod) ที่ทำให้พวกเขาหลับใหลมาอย่างยาวนานโดยการปลุกของคอมพิวเตอร์ที่มีเสียงเป็นผู้หญิงประจำยาน ชื่อว่า MU-TH-UR6000 ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า Mother ที่แปลว่า แม่ ประหนึ่งเป็นการจำลองการเกิดของมนุษย์ในอนาคต เมื่อการให้กำเนิดมนุษย์รุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องใช้เพศหญิงอีกต่อไป เทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ชายสามารถจัดการและควบคุมการเกิดได้เอง ซึ่งเป็นการเกิดที่สะอาด ปลอดภัย ปราศจากคาวเลือด ผิดจากการให้กำเนิดของเพศหญิงโดยปกติ ยิ่งไปกว่านั้นมนุษย์ที่เกิดใหม่จะเติบโตมาอย่างเต็มที่ เป็นผู้ใหญ่พร้อมจะทำหน้าที่ของตัวเองได้เลยไม่มีวัยเด็กที่พ่อแม่ต้องคอยบ่มเพาะและอบรมเลี้ยงดูให้วุ่นวายอีกต่อไป

    ฉากจำลองการเกิดต่อมา คือ ฉากที่ลูกเรือลงสำรวจซากยานปริศนาบนดาวดวงหนึ่งจะสังเกตได้ว่ายานลำนั้นมีลักษณะมืด ชื้นแฉะและภายในยานเต็มไปด้วยไข่ของเอเลี่ยนมากมาย แสดงให้เห็นว่าลูกเรือไม่ได้เพียงแต่สำรวจยานอวกาศธรรมดาๆ หากแต่เป็นการเข้าไปสำรวจยังมดลูกที่เป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิตนอกโลกและได้ให้กำเนิดชีวิตหนึ่งขึ้น เมื่อกิลเบิร์ท เคน (Gilbert Kane) ถูกสิ่งมีชีวิตที่หลุดออกมาจากไข่เกาะเข้าที่ใบหน้าก่อนที่เขาเองจะสลบไป แน่นอนว่าตัวอ่อนเอเลี่ยนได้เข้าไปเติบโตในร่างกายของลูกเรือชะตาขาดคนนี้แล้ว

    และฉากการให้กำเนิดฉากสุดท้ายอันเป็นฉากโหดในตำนานอันเลื่องชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ทำเอาหลายคนต้องปิดตา  ฉากการตายของเคน เมื่อสัตว์ประหลาดตัวนั้นปลดปล่อยพันธนาการออกจากใบหน้าของเขาแล้ว เคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง แค่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนความสยองขวัญบนโต๊ะอาหารจะเกิดขึ้น เมื่อเคนก็แสดงอาการหายใจติดขัด จนกระทั่งอสุรกายตัวน้อยแหวกอกของเขาออกมาโลดแล่นอยู่บนโลกภายนอก  เลือดที่สาดกระจายออกมาและเสียงกรีดร้องจากความเจ็บปวดสื่อให้เห็นถึงความกลัวของผู้ชายที่จำลองฉากการเกิดของมนุษย์โดยทั่วไป ความสยดสยองจากการให้กำเนิดบุตร ทั้งเลือดแดงฉาน เสียงโหยหวนของคนเป็นแม่และความวุ่นวายในห้องทำคลอดอาจจะเป็นเหตุผลที่ผู้ชายจินตนาการถึงการเกิดที่เรียบง่ายสงบและปลอดภัยเหมือนเช่นการเกิดในฉากแรก


    1.2 การออกแบบเอเลี่ยน ในหัวข้อนี้จะแบ่งเป็นการออกแบบเอเลี่ยนและเอเลี่ยนในวัยต่างๆได้แก่ เฟซฮักเกอร์ (Facehugger) และเชสเบิร์สเตอร์ (Chestburster) โดยผู้ออกแบบสัตว์ประหลาดแห่งฝันร้ายทั้งหมดนี้ คือ ฮานส์ รูดอล์ฟ กีเกอร์ (Hans Ruedi Giger) หรือที่รู้จักกันในนาม เฮช อาร์ กีเกอร์ (H.R.Giger) ศิลปินชาวสวิสเซอร์แลนด์ผู้ล่วงลับซึ่งเป็นการผสมผสานความน่าเกรงขามตามแบบฉบับของสัตว์ประหลาดจักรกลชีวะ (Biomechanics) สีดำทะมึนแห่งห้วงจักรวาลกับเรื่องของเพศได้อย่างแยบยล

    การออกแบบเอเลี่ยนหรือชื่อที่เฉพาะเจาะจงลงไปของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้คือ ซีโนมอร์ฟ (Xenomorph) มีต้นแบบมาจากทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยลักษณะของหัวที่เป็นท่อนเรียวยาวคล้ายกับอวัยวะเพศชายแต่มีรูปร่างที่ส่วนเว้าโค้งเรียวระหงเหมือนกับผู้หญิง ซึ่งนางพญา (Queen) ก็มีลักษณะเหมือนกับตัวอื่นๆทุกประการ เพียงแต่จะมีขนาดตัวใหญ่กว่าและสามารถวางไข่ได้ จะเห็นได้ว่าเอเลี่ยนในภาพยนตร์ถือว่ามีเพศสรีระเป็นเพศหญิงที่สามารถให้กำเนิดลูกแต่กลับมีอวัยวะของเพศชายอยู่ในร่างกาย (Penis Women) ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับเมดูซา (Medusa) หญิงสาวที่มีผมเป็นงูในเทพปกรณัมกรีก งูที่มีลักษณะเป็นแท่งยาวเปรียบได้กับการมีสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชายอยู่ในตัวเช่นกัน โดยเป็นการนำเสนอภาพการทำหมัน (Castration) หรือภาวะไร้สมรรถภาพของเพศชาย เพราะการที่ผู้หญิงจะสามารถตั้งครรภ์เพื่อให้กำเนิดบุตรได้จะต้องเกาะติดอยู่กับอวัยวะเพศของผู้ชายเป็นอย่างมากหรือไม่ก็มีอวัยวะเพศชายเสียเอง (หนังสือ TheMonstrous-Feminine: Film, Feminism, Psychoanalysis โดย Barbara Creed) โดยสามารถมองว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นผู้หญิงที่ไม่ดี จากการประกอบสร้างทางสังคมในศาสนาคริสต์หรือแม้แต่ศาสนาพุทธผู้หญิงที่ดีจะต้องสำรวมและไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศโดยเปิดเผย แต่ทั้ง         เอเลี่ยนนางพญาและเมดูซ่าต่างไม่ใช่คนปกติ พวกเธอเป็นสัตว์ประหลาดที่กระหายและเต็มไปด้วยความต้องการทางเพศจึงต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก ดังที่เอเลี่ยนถูกจัดการโดยริปลี่ย์และเมดูซาที่ถูกบุตรชายของเทพซุสอย่างเพอร์ซิอัส (Perseus) สังหารตามตำนานเทพปกรณัมกรีก

    ภาพวาดต้นแบบในปี 1976 ของกีเกอร์ที่เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบอสุรร้ายในภาพยนตร์เรื่องเอเลี่ยน (ซ้ายสุด)

    อีกทั้งสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชายยังกลายมาเป็นอาวุธสังหารชิ้นสำคัญของอสุรกายตัวนี้นั่นคือ ลิ้นเจาะ (Inner Pharyngeal Jaw) ลักษณะเป็นท่อนยาวที่สามารถยืดหรือหดตัวได้ส่วนปลายของลิ้นมีลักษณะเป็นเขี้ยวเล็กๆซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง โดยปกติมีไว้เจาะหรือแทงเพื่อดูดกินเลือดเนื้อและมันสมองของเหยื่อ

    ต่อมาเป็นการออกแบบเอเลี่ยนในวัยต่างๆ ได้แก่ เฟซฮักเกอร์ (Facehugger) และเชสเบิร์สเตอร์ (Chestburster) เอเลี่ยนตัวอ่อนเหล่านี้ก็มีนัยยะแฝงเรื่องเพศอยู่ไม่ต่างจากตัวเต็มวัยเท่าไหร่นัก 


    เริ่มจากเฟซฮักเกอร์ (Facehugger) ที่ถือเป็นการเจริญเติบโตขั้นที่ 2 หลังจากการออกมาจากไข่ ซึ่งเป็นตัวเดียวกันกับที่โจมตีเคนนั่นเอง โดยชื่อของมันก็ได้บอกถึงการทำหน้าที่แพร่ขยายพันธุ์ไว้อย่างชัดเจนมันจะทำการกระโดดเกาะหน้าของเหยื่อ หางของมันก็จะทำการบีบรัดหลอดลมจนขาดอากาศหายใจและสลบไปหลังจากนั้นจึงเริ่มการสอดท่อปล่อยน้ำเชื้อลงไปในปากเพื่อให้ตัวอ่อนเคลื่อนตัวลงไปฝังในทรวงอกของผู้เคราะห์ร้าย เมื่อตัวอ่อนได้รับการฝังตัวเรียบร้อยเฟซฮักเกอร์จะหลุดออกจากใบหน้าและตายในที่สุด เป็นเวลาเดียวกับที่เหยื่อจะฟื้นขึ้นมามีชีวิตได้อีกครั้ง จนกระทั่งตัวอ่อนเติบโตขึ้นจนพัฒนาเป็นขั้นต่อไป

    จากการสังเกตลักษณะของเฟซฮักเกอร์จะพบว่าจำลองมาจากอวัยวะเพศหญิงและการสอดท่อลงไปในปากเพื่อปล่อยน้ำเชื้อคือการมีเพศสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีการปล่อยน้ำเชื้ออสุจิเข้าไปในร่างของเพศหญิงเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์เหตุการณ์นี้อาจมองได้ว่าไม่ต่างจากการข่มขืน แต่เป็นการข่มขืนที่เกิดขึ้นกับเพศชาย ดังที่รีเบคคก้า เบล-มีเทอร์ริว (Rebecca Bell-Metereau) ได้บรรยายเอาไว้ว่า “ฉากนี้ไม่สามารถเป็นอะไรไปได้เลยนอกจากภาพของความกลัวในหนังสือของซิกมันด์ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่ได้พูดถึง อวัยวะเพศหญิงที่มีฟันขบเคี้ยว (Toothed Vagina) และได้ทำการบุกรุกเครื่องเพศชายอย่างเอร็ดอร่อยทำให้ผู้ชายกลายเป็นคนไร้สมรรถภาพ [1](หนังสือ Woman: The Other Alien in Alien)

    และเมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตมาในขั้นที่ 3 ลักษณะจะเปลี่ยนแปลงเป็นเชสเบิร์สเตอร์ (Chestburster) อสุรกายที่ได้รับสารอาหารจากร่างของเหยื่อมาหล่อเลี้ยงประหนึ่งการตั้งครรภ์ทั่วไปที่ทารกจะได้รับอาหารจากแม่ผ่านสายรก เมื่อถึงเวลาอันสมควร มันก็จะใช้หัวน้อยๆที่มีลักษณะเหมือนอวัยวะเพศชายอันแข็งแกร่งแทงแหวกทะลวงอกของเหยื่อออกมาอย่างไม่มีพิธีรีตอง เมื่อมันสามารถออกมาสู่โลกภายนอกได้แล้วสัตว์ประหลาดตัวนี้ก็จะค่อยๆลอกคราบทีละชั้นและเติบโตเป็นเอเลี่ยนตัวเต็มวัยที่เราเห็นในภาพยนตร์


    ทั้งลิ้นเจาะของเอเลี่ยน ท่อสอดน้ำเชื้อของเฟซฮักเกอร์และหัวรูปทรงคล้ายอวัยวะเพศชายของเชสเบิร์สเตอร์ต่างมีจุดร่วมเดียวกัน คือ เป็นอาวุธที่มีรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศชาย (Phallic Weapon) ที่พร้อมจะเจาะหรือทิ่มแทงให้ทะลุร่างของเหยื่อเพื่อสังหาร ถือเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าฝ่ายใดก็ตามที่มีอวัยวะเพศชายหรือสัญลักษณ์ของความเป็นชายเป็นของตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจะเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่า ในที่นี้ก็คือเหล่าเอเลี่ยนที่เป็นผู้คุมชะตากรรมของลูกเรือทั้งหมดเอาไว้ (หนังสือ Men, Women, and Chain Saws: Gender in the Modern Horror Film โดย Carol J. Clover)


    2. เอลเลน ริปลี่ย์ผู้ต่อสู้กับทั้งอสุรกายกระหายเลือด (Alien) และปิตาธิปไตย (Patriarchy)


    เมื่อภาพยนตร์เริ่มฉายริปลี่ย์ก็เป็นเพียงแค่ลูกเรือหญิงธรรมดาในบรรดาลูกเรือที่แทบจะเป็นเพศชายทั้งหมด แต่ในท้ายที่สุดเธอกลับเป็นถึงผู้รอดชีวิตจากเงื้อมมือพญามัจจุราชเพียงแค่หนึ่งเดียว สิ่งที่เธอต้องเผชิญไม่ได้มีแค่การต่อสู้กับเอเลี่ยน แต่เป็นการอยู่ภายใต้อำนาจที่เพศชายเป็นใหญ่ในสังคมบนยานนอสโตรโมด้วยเช่นกัน โดยในส่วนนี้จะทำการวิเคราะห์เจาะลึกตัวละครเอกของเรื่องใน 2 หัวข้อ ได้แก่ เอลเลน ริปลี่ย์ฐานะหญิงสาวผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย (Final Girl) และการที่ริปลี่ย์ต้องอยู่กับอำนาจปิตาธิปไตย (Patriarchy)


    2.1 เอลเลน ริปลี่ย์ในฐานะหญิงสาวผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย (Final Girl) ในฐานะที่ผู้เขียนชื่นชอบบรรดาภาพยนตร์สยองขวัญ สิ่งที่มักจะสังเกตเห็นได้ตลอดในการชมภาพยนตร์แขนงย่อยของภาพยนตร์สยองขวัญ ได้แก่ ภาพยนตร์แนวไล่เชือด (Slasher Film) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการไล่ฆ่าจากฆาตกรโรคจิต คือ ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ประพฤติตัวเป็นผู้หญิงดีอยู่ในบรรทัดฐานของสังคมซึ่งต้องดำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ (Virginity) ของตัวเอง นั่นจะทำให้พวกเธอจะไม่โดนลงโทษด้วยการถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม เมื่อได้หาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้ก็พบว่ามีทฤษฎีของผู้หญิงในภาพยนตร์แนวไล่เชือดอยู่จริงโดยใช้ศัพท์เฉพาะว่า Final Girl หรือหญิงสาวผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย คิดค้นโดย แครอล เจโคลเวอร์ (Carol J. Clover) ผู้เขียนหนังสือในตำนานของภาพยนตร์แนวไล่เชือดอย่าง Men, Women, and Chainsaws: Gender in the Modern Horror Film ในปี 1992 ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เป็นนิยมอย่างมากในบรรดาผู้หญิงสายสตรีนิยม


    โดยเธอได้กำหนดปัจจัยหลักๆของการที่จะเกิดหญิงสาวผู้รอดชีวิตเป็นคนสุดท้ายในภาพยนตร์ไล่เชือดว่าจะต้องประกอบไปด้วย 

    1. ฆาตกรที่โอบอุ้มความเป็นชายเอาไว้ (Masculine Killer) 

    2. สถานที่เกิดเหตุ (Terrible Place) มักเป็นสถานที่ปิดตายที่มีพื้นที่จำกัด 

    3. อาวุธที่มีรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศชาย (Phallic Weapon) 

    4. หญิงสาวผู้รอดชีวิต (Final Girl) ที่ดำรงตนอยู่ในกฎระเบียบอันดีงามของสังคม มีความระแวดระวังตัวจนเกือบถึงขึ้นหวาดระแวง (Paranoia) แต่นั่นทำให้เธอสามารถเอาตัวรอดได้เมื่อมีอันตรายและมีนิสัยเหมือนเด็กผู้ชาย (Boyish) หรือการโอบอุ้มความเป็นชายเข้ามา ไม่ติดอยู่กับลักษณะนิสัยทั่วไปของผู้หญิงเช่น อ่อนแอหรือร้องไห้ได้ง่าย 

    (หนังสือ The Final Girl versus Wes Craven’s A Nightmare on Elm Street:Proposing a Stronger Model of Feminism in Slasher Horror Cinema โดย Kyle Christensen)


    จากทฤษฎีหญิงสาวผู้รอดชีวิตเบื้องต้นที่ได้กล่าวมานั้น เราสามารถนำมาเชื่อมโยงกับภาพยนตร์เอเลี่ยนได้ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ต่างอะไรไปจากภาพยนตร์สยองขวัญและภาพยนตร์แนวไล่เชือด เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่ออกไปอยู่นอกโลก ภายในยานอวกาศที่เป็นสถานที่ปิดตาย เปลี่ยนจากฆาตรกรโรคจิตที่เป็นคนธรรมดากลายเป็นเอเลี่ยนสุดอันตรายที่โอบอุ้มทั้งความแข็งแกร่งเหมือนเพศชายและสัญลักษณ์ของเพศชาย ดังที่ได้เห็นในหัวข้อการออกแบบเอเลี่ยน ส่วนในเรื่องของพรหมจรรย์ของเธอนั้น ไม่ได้มีกล่าวถึงภายในเรื่อง แต่ริปลี่ย์ก็ไม่ได้แสดงความต้องการทางเพศออกมาเลยตลอดเวลาทั้ง 117 นาทีของภาพยนตร์เรื่องนี้และตัวเธอมีลักษณะตรงตามทฤษฎีแทบทุกประการ ได้แก่ ความเข้มงวดในกฎ-ข้อบังคับของยานนอสโตรโมที่ว่าเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นต่อลูกเรือนอกยานจะไม่สามารถพาลูกเรือขึ้นมาบนยาน จนกว่าจะถูกกักบริเวณตรวจสอบอาการให้แน่ใจก่อน ในกรณีนี้ คือ เคนที่ถูกเฟซฮักเกอร์เกาะอยู่บนใบหน้า แต่ไม่มีใครเชื่อฟังเธอโดยมองว่าเป็นการหวาดระแวงเกินเหตุ แต่เมื่อเคนได้เสียชีวิตลง ทุกคนก็เพิ่งจะตระหนักได้ว่าคำพูดของริปลี่ย์ถูกต้องแต่ก็สายไปเสียแล้ว


    ความสยองขวัญเริ่มขึ้นเมื่อลูกเรือทุกคนรู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตที่ไม่พึงประสงค์อยู่ร่วมยานเดียวกับพวกเขาและพร้อมจะสังหารทุกคนได้ตลอดเวลา ในตอนนี้จะเห็นว่าแต่ละคนมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อปัญหานี้แตกต่างกันไป โดยเฉพาะลูกเรือผู้หญิงเพียงแค่สองคนของยานนอสโตรโม ได้แก่ เอลเลน ริปลี่ย์ (Ellen Ripley) และโจแอน แลมเบิร์ต (Joan Lambert)

    แลมเบิร์ตได้แสดงให้เห็นถึงภาพเหมารวมของผู้หญิงทั่วไปในเวลาที่ต้องเผชิญกับความกลัวในหนังสยองขวัญ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความอ่อนแอด้วยการร้องไห้ การกรีดร้องจนแทบเสียสติและท่าทางที่ดูหวาดกลัวตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ตรงกันข้ามกับริปลี่ย์ที่สามารถควบคุมสติและจัดการกับความกลัวของตัวเองได้มากกว่า ทำให้ริปลี่ย์สามารถลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองและพยายามช่วยลูกเรือคนอื่นๆได้อย่างเต็มที่ ริปลี่ย์โอบอุ้มความเป็นชายเข้ามาในตัวเอง ละทิ้งลักษณะนิสัยทั่วไปของผู้หญิงที่ต้องรอให้ผู้ชายปกป้องตลอดเวลาเพื่อทำให้ตนเองแข็งแกร่งพร้อมกับการต่อสู้กับเอเลี่ยนตัวฉกาจ จากในภาพยนตร์จะเห็นอาวุธที่บรรดาลูกเรือรวมไปถึงริปลี่ย์เองใช้อยู่ชิ้นหนึ่งคือ ปืนไฟ (Harpoon Gun) แม้จะไม่สามารถฆ่าเอเลี่ยนได้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยต่อลมหายใจและขัดขวางไม่ให้เอเลี่ยนเข้าฉีกเราเป็นชิ้นๆ ปืนไฟเป็นชิ้นส่วนสุดท้ายในการทำให้เกิดการรอดชีวิตของผู้หญิงคนสุดท้ายในเรื่อง เพราะสิ่งนี้คือ อาวุธที่มีรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศชาย โดยอาวุธต่างๆที่มีลักษณะเรียวยาว ทั้งปืน ปืนใหญ่ดาบหรือมีดที่พร้อมจะทิ่มแทงลงไปในตัวคน ต่างก็เป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชายทั้งสิ้น โดยในตอนจบของภาพยนตร์แนวไล่เชือด หญิงสาวผู้รอดชีวิตเป็นคนสุดท้ายจะต้องใช้อาวุธในการปกป้องตัวเองหรือฆ่าฆาตกรโรคจิต ดังนั้นการที่ริปลี่ย์ถือสัญลักษณ์ของเพศชายไว้ในมือเพื่อสร้างความเหนือกว่าหรือเท่ากับให้เกิดขึ้นระหว่างตัวเธอที่เป็นผู้หญิงกับเอเลี่ยน


    จุดนี้เองที่ทำให้ริปลี่ย์เป็นหนึ่งในตัวละครหญิงที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชม ดังที่ซีกอร์นีย์ วีเวอร์ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับตัวละครริปลี่ย์ที่เธอได้เล่นในนิตยสารไทม์ว่า "โดยปกติแล้วผู้หญิงในภาพยนตร์จะต้องแบกรับภาระในเรื่องของความน่าสงสาร มีชีวิตอยู่ได้เมื่อมีผู้ชายเข้ามาทุกคนไม่รู้เหรอว่าผู้หญิงอย่างเราๆเข้มแข็งได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะ [2]” (บทสัมภาษณ์ Cinema: The Years of Living Splendidly Sigourney Weaver hits it in movies and marriage โดย Richard Corliss Monday วันที่ 28 กรกฎาคม 1986)


    2.2 เอลเลน ริปลี่ย์กับปิตาธิปไตย (Patriarchy) เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับตัวละครเอกของเรื่องอย่างแน่นอนที่จะต้องใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในสังคมบนยานนอสโตรโมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ ทั้งจากปัญหารายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง บทบาทของริปลี่ย์ในการเป็นผู้นำ ประเด็นการข่มขืนกับการกำจัดเสียงของผู้หญิงและมุมมองของเพศชายกับริปลี่ย์ในฉากจบ แต่นั่นก็ไม่สามารถหยุดริปลี่ย์ให้ยอมจำนนและใช้ชีวิตผู้หญิงในแบบที่สังคมกำหนดให้เป็นเนื่องด้วยสถานการณ์ร้ายแรงจากเอเลี่ยนที่กำลังคุกคามลูกเรือทุกคน เธอจึงต้องพยายามค้นหาพื้นที่ของตัวเองและรักษาพื้นที่นั้นไว้ให้มากพอกับการรักษาชีวิตของเธอ

    2.2.1 ภาพยนตร์เอเลี่ยนกับปัญหารายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันของชายหญิง เป็นฉากบนโต๊ะอาหารในช่วงแรกเมื่อลูกเรือที่นั่งรับประทานอาหารกันพร้อมหน้าถกกันเรื่องการแบ่งส่วนของรายได้จากการเดินทางในครั้งนี้โดยหนึ่งในลูกเรือหญิงอย่างแลมเบิร์ตก็ได้พูดขึ้นมาในทำนองว่า “ทุกคนได้เงินมากกว่าพวกเราที่เป็นผู้หญิง” ซึ่งสะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ระหว่างชายและหญิงที่ทำงานร่วมกันถึงแม้ว่าจะมีตำแหน่งหน้าที่เดียวกัน แต่ผู้หญิงกลับไม่ได้รับความเท่าเทียมและเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอด


    จากปีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 38 ปีมาแล้ว แต่ทว่าปัญหาเรื่องรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันก็ยังพบเห็นอยู่ตลอดในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด สายอาชีพที่หลายๆคนมองว่าสวยงามราวกับอยู่ในความฝัน แท้จริงแล้วปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงกลับส่งผลกระทบต่อบรรดานักแสดงหญิงชื่อดังด้วย ดังเช่นกรณีของบริษัทสร้างภาพยนตร์ค่ายโซนี่พิกเจอร์ส (Sony Picture)  หลังจากการถูกจารกรรมข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทเมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2014 หนึ่งในข้อมูลที่หลุดรั่วออกมา ได้แก่ รายงานสรุปรายได้ของนักแสดงจากหนังเรื่องอเมริกันฮัสเซิ่ล (American Hustle) หรือชื่อไทยว่าโกงกระฉ่อนโลก (2013) รายได้ของนักแสดงนำชายจากหนังเรื่องนี้ทั้งคริสเตียน เบล (Christian Bale) แบรดลีย์ คูเปอร์ (Bradley Cooper) และเจเรมี เรนเนอร์ (Jeremy Renner) ล้วนแล้วแต่ได้รับค่าเหนื่อยในปริมาณที่มากกว่านักแสดงนำฝ่ายหญิงอย่าง          เจนนิฟอร์ ลอว์เรนซ์ (Jennifer Lawrence) ซึ่งถือเป็นนักแสดงหญิงมากฝีมือคนหนึ่งของวงการ ที่ไม่เพียงแต่โด่งดังมาจากภาพยนตร์ไตรภาคดัดแปลงจากหนังสือวรรณกรรมวัยรุ่นอย่างเกมล่าเกม (Hunger Games) ในปี 2012 แต่เธอเคยได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาแล้วในปีเดียวกันจากภาพยนตร์เรื่อง ลุกขึ้นใหม่ หัวใจมีเธอ (Silver Linings Playbook) และถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเมื่อปี 2010 จากเรื่อง เธอผู้ไม่แพ้ (Winter's Bone) ซึ่งการันตีความสามารถของเธอได้เป็นอย่างดี หากมองในแง่ของความสามารถที่พ่วงดีกรีผู้ชนะรางวัลออสการ์มาแล้วเธอสมควรที่จะได้รายได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเท่าเทียมมากกว่าที่เป็นอยู่ 

    การที่เธอได้รายได้น้อยกว่านักแสดงนำชายคนอื่นอาจมีสาเหตุมาจากการที่เธอเป็นผู้หญิง หลังจากข่าวการรั่วไหลของข้อมูล เจนนิฟอร์ ลอว์เรนซ์ได้เขียนข้อความแสดงความคิดเห็นของเธอต่อเรื่องนี้ลงในเว็บไซต์จดหมายข่าวสายสตรีนิยมชื่อเลนนี่เล็ทเทอร์ (Lenny Letter) โดยมีใจความหลักของจดหมายว่า 


    “เมื่อเกิดการจารกรรมข้อมูลของโซนี่ฉันได้ทราบว่ารายได้ที่ฉันได้รับนั้นน้อยกว่าผู้คนโชคดีที่เกิดมาพร้อมอวัยวะเพศชายฉันไม่ได้โกรธโซนี่หรอกนะ แต่ฉันโกรธตัวเอง [3]” 

    (บทความเรื่อง Why Do I Make Less Than My Male CoStars? โดย Jennifer Lawrence วันที่ 13 ตุลาคม 2015 จาก


    นั่นแสดงให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมในรายได้เกิดขึ้นเพียงเพราะว่าเกิดมาเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะมีความสามารถทัดเทียมกับเพศชายมากเพียงใดในสาขาอาชีพไหนก็ตาม ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ยังคงถูกอำนาจปิตาธิปไตยจากสังคมที่ให้ความสำคัญกับเพศชายเป็นใหญ่เหนือเพศอื่นเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอด ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน

    2.2.2 ผู้หญิงกับการเป็นผู้นำ ริปลี่ย์มีตำแหน่งเป็นพันจ่าตรีและรองหัวหน้าของยานนอสโตรโมโดยมีกัปตันอาร์เธอร์ ดัลลัส (Arthur Dallas) เป็นหัวหน้าทีมควบคุมยานนอสโตรโม ริปลี่ย์พยายามจะทำหน้าที่ของรองหัวหน้าที่ดีในการรักษาความปลอดภัยของลูกเรือทุกคนเห็นได้จากฉากที่ดัลลัสและลูกเรืออีกคนได้พาร่างไม่ได้สติของเคนที่โจมตีโดยเฟซฮักเกอร์พยายามจะกลับเข้ามาในยาน แต่ริปลี่ย์ที่มีอำนาจสั่งการสูงสุดขณะที่ดัลลัสไม่ได้ประจำการอยู่ในยานไม่ยอมทำตามเพราะเป็นกฎระเบียบด้านการรักษาความปลอดภัย ทว่าไม่มีลูกเรือคนใดในยานเชื่อฟังคำสั่งของเธอเลย เพียงแค่เธอมีลักษณะทางชีวภาพเป็นผู้หญิง จนกระทั่งแอช (Ash) นักวิทยาศาสตร์เป็นคนเปิดประตูยานให้กับลูกเรือทั้งสามคนที่อยู่ข้างนอกเข้ามาในยานและตามมาด้วยโศกนาฏกรรมรวมไปถึงการไล่ล่าครั้งใหญ่ จะเห็นได้ว่าเสียงของผู้หญิงถึงแม้จะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่มีอำนาจ แต่ถ้าตัวเธออยู่ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ผู้ชายส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการที่จะอยู่ใต้บังคับบัญชา โดยติดกับภาพเหมารวมในสังคมที่ผู้หญิงจะต้องมีหน้าที่คอยสนับสนุนผู้ชายหรือรอให้ผู้ชายปกป้อง จนกระทั่งกัปตันดัลลัสถูกเอเลี่ยนสังหารในท่ออากาศภายในยานตอนนั้นเองที่เสียงของผู้หญิงอย่างริปลี่ย์ถึงจะสามารถมีความหมายขึ้นมาได้


    2.2.3 การข่มขืนกับการกำจัดเสียงของผู้หญิง ในตอนที่ริปลี่ย์รู้ถึงภารกิจลับ 937 ซึ่งเป็นภารกิจที่แท้จริงในการเดินทางครั้งนี้ คือ การจับเป็นเอเลี่ยนเพื่อนำกลับมาทดลองให้ได้ แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยชีวิตของลูกเรือกี่คนก็ตาม โดยมีนักวิทยาศาสตร์ประจำยานอย่างแอชเป็นตัวการหลักบนยานนอสโตรโม เมื่อริปลี่ย์ทราบดังนั้นจึงไปหาแอชทันที แต่เธอก็ถูกแอชทำร้ายด้วยการพยายามยัดหนังสือโป๊ลงไปในปากของเธอ จากฉากที่แอชนำหนังสือโป๊ที่ถูกม้วนจนมีลักษณะเป็นแท่งยาวคล้ายกับอวัยวะเพศชายเพื่อปิดปากไม่ให้ริปลี่ย์สามารถพูดอะไรได้ เสมือนการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral Sex) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ในการข่มขืน เมื่อผู้ชายใช้ความรุนแรงทางเพศที่มากไปด้วยแรงปรารถนาของตัวเองกับผู้หญิงเพื่อให้ผู้หญิงเงียบ

    และจากฉากนี้สามารถมองได้ว่าแอชพยายามจะสร้างการปกครองแบบปิตาธิปไตยขึ้นมาบนยานอีกครั้งแต่อย่างไรก็ตามฃลูกเรือผิวสีคนเดียวบนยาน เดนนิส ปาร์คเกอร์ (Dennis Parker) สามารถมาช่วยริปลี่ย์ได้ทันเวลาก่อนจะจัดการกับแอชด้วยการตัดคอทิ้งจึงเป็นการเปิดเผยว่าที่จริงแล้วแอชไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นหุ่นแอนดรอย์ชื่อ Hyperdyne Systems 120-A/2 ที่ถูกสร้างขึ้นมา


    2.2.4 มุมมองของเพศชาย (Male Gaze) กับฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ ในตอนจบของเรื่องต่างเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย เมื่อริปลี่ย์ที่เป็นหญิงแกร่งมาตลอดทั้งเรื่อง กลับเปลื้องผ้าออกจนเหลือเพียงแค่ชุดเสื้อกล้ามและกางเกงชั้นในสีขาว ก่อนจะกลับเข้าไปนอนในแคปซูลจำศีลเหมือนตอนต้น ฉากนั้นกินเวลานานพอที่จะทำให้คนดูอึดอัดและตั้งข้อสงสัยกับภาพยนตร์ได้ว่าสุดท้ายแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการแสดงแนวคิดของสตรีนิยมจริงหรือ โดยเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้หญิงที่อ่อนแอของ   ริปลี่ย์ เพราะเธอไม่อยู่ในสถานะที่พร้อมต่อสู้หรือป้องกันตัวเองได้ รวมไปถึงยังมีท่าทางหวาดกลัวให้เห็นอยู่บนใบหน้า แต่การแสดงฉากแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติในภาพยนตร์สยองขวัญที่ต้องมีฉากบังคับอยู่คู่กันมาของหนังประเภทนี้ ได้แก่ ฉากที่เปิดเผยเรือนร่างของตัวละครหญิงอย่างน้อยหนึ่งคนในหนังสยองขวัญ เพื่อเปลี่ยนผู้หญิงให้เป็นวัตถุทางเพศ (Sex Object) ตอบสนองคนดูภาพยนตร์แนวนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย

    โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่าฉากนี้ไม่ได้ลดทอนคุณค่าของความเป็นผู้หญิงของริปลี่ย์ เพราะทำให้รู้สึกว่าเธอก็คือผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งเหมือนกันกับเรา และดูเป็นคนจริงๆที่ไม่ได้ถูกสร้างให้กลายยอดมนุษย์ผู้ไร้เทียมทานที่จะพร้อมต่อสู้ได้ทุกสถานการณ์หรือมีความแข็งแกร่งตลอดเวลา จากการที่เธอต้องผ่านการสูญเสียมาหลายต่อหลายครั้งในเนื้อเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะทำใจได้ เธอสามารถที่จะกลัวหรือเสียใจได้เหมือนที่เรารู้สึก แต่เธอก็สามารถเลือกที่จะเข้มแข็งได้เช่นกัน โดยกรณีฉากตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้อาจหมายความได้ถึงร่างกายที่แท้จริงของแม่ที่ดีฉากนี้จะสื่อถึงลักษณะของแม่อันเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่แม่ในแบบอื่นโดยเฉพาะแม่แบบอสุรกายเอเลี่ยน ดังที่จะอธิบายในหัวข้อถัดไป


    3. ความเป็นแม่กับการต่อสู้ของบรรดาแม่ในภาพยนตร์เรื่องเอเลี่ยน (Motherhood)


    ในส่วนนี้จะมีความเป็นแม่ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ทั้งภาคแรก รวมไปถึงในภาคต่อในชื่อ เอเลี่ยน 2 ฝูงมฤตยูนอกโลก (Aliens) ที่ออกฉายวันที่ 18 กรกฎาคม 1986 กำกับโดยเดวิด คาเมรอน (David Cameron) เพื่อให้สามารถเห็นบทบาทของความเป็นแม่ของตัวละครได้ชัดเจนมากขึ้นโดยบรรดาแม่ที่จะกล่าวถึง ได้แก่ ตัวริปลี่ย์เองที่เป็นมนุษย์ นางพญาของเหล่าเอเลี่ยนและคอมพิวเตอร์บนยานนอสโตรโมชื่อว่า MU-TH-UR 6000 นอกจากจะเป็นการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตของตัวเองให้รอดแล้วยังถือเป็นการปกป้องไม่ให้เกิดการสิ้นสุดของมนุษยชาติ โดยเฉพาะผู้รอดชีวิตคนเดียวของเรื่องอย่างริปลี่ย์ที่ต้องรับบทหนักในการต่อสู้ระหว่างแม่แต่ละคน ตัว และเครื่องในครั้งนี้


    3.1 ความเป็นแม่ของเอลเลน ริปลี่ย์ ระหว่างที่เธอหลับจำศีลอยู่ในระหว่างทางกลับโลกในตอนจบของภาคแรกนั้น อะแมนด้า ริปลี่ย์ (Amanda Ripley) หรือเอมี่ (Amy) ลูกสาวแท้ๆของเธอก็ได้จากไปในวัย 66 ปี ซึ่งทำให้ริปลี่ย์ที่ตื่นขึ้นมาอีกครั้งในอีก 60 ปีต่อมา เสียใจมากกับการสูญเสียลูกสาว จนกลายเป็นฝันร้ายของคนเป็นแม่ กระทั่งเริ่มต้นเรื่องราวใหม่ในภาคที่สองซึ่งเธอต้องกลับไปที่ดาว LV-426 อีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือผู้รอดชีวิตในดาวดวงนั้น ท่ามกลางซากปรักหักพังของชุมชนอาณานิคมที่เต็มไปด้วยฝูงเอเลี่ยนริปลี่ย์ได้เจอกับเด็กน้อยชื่อ นิวท์ (Newt) และเกิดเป็นความรักแบบเดียวกับที่เธอมีให้ลูกของตัวเองซึ่งเด็กหญิงได้เรียกเธอว่าแม่ พร้อมกับวิ่งเข้ามากอดในฉากที่ปรากฏในหนังตอนท้าย โดยเป็นมากกว่าการปกป้องให้นิวท์ได้รอดชีวิตเพราะถือเป็นการมอบโอกาสให้เธอได้ทำหน้าที่แม่อีกครั้ง

    ความเป็นแม่เป็นอีกด้านของตัวละครเอกของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่หาชมได้ยาก ผู้ชมมักจะเห็นริปลี่ย์ในบทบาทของผู้หญิงแกร่งที่สามารถเอาชนะตัวประหลาดจากต่างดาวได้สำเร็จในภาคแรก ในที่สุดเธอก็แสดงด้านที่อ่อนโยนของความเป็นแม่ออกมาตามสัญชาติญาณของผู้หญิง แต่ก็สามารถรักษาสมดุลระหว่างความเป็นแม่และการโอบอุ้มเอาความเป็นชายเข้ามาเพื่อปกป้องคนที่ตัวเองรัก ดังเช่น ฉากที่เธอช่วยนิวท์ให้รอดพ้นจากเฟซฮักเกอร์ ซึ่งถือเป็นการช่วยเด็กหญิงให้รอดพ้นจากการทารุณกรรมทางเพศหรือการข่มขืนในเด็ก และภาพใบปิดภาพยนตร์ที่ริปลี่ย์อุ้มนิวท์ข้างกายขณะที่มืออีกข้างถือปืนไฟ ไว้คอยจัดการกับเอเลี่ยนเพื่อรักษาชีวิตนิวท์พร้อมตะโกนกร้าวใส่เอเลี่ยนนางพญาอย่างไม่เกรงกลัวว่า


                    “ออกไปจากเธอซะ นัง***” (“Get away from her, you b*tch!”)


    3.2 ความเป็นแม่ของเอเลี่ยนนางพญา ในภาพยนตร์ภาคที่สองเปรียบเสมือนการต่อสู้กันระหว่างแม่จากฝั่งมนุษย์และแม่ของอมนุษย์ ขึ้นชื่อว่าเป็นแม่ ไม่มีแม่คนไหนยอมให้ใครมาทำร้ายลูกๆของตนเองอย่างแน่นอน เอเลี่ยนนางพญาก็เช่นกัน เพราะการให้กำเนิดเอเลี่ยนรุ่นต่อๆไปจำเป็นต้องอาศัยมนุษย์เป็นตัวกลางในการแพร่พันธุ์ ดังนั้นเธอก็ทำตามสัญชาติญาณของความเป็นแม่ โดยการเสาะหาสถานที่ที่เต็มไปด้วยมนุษย์อันเหมาะสมแก่การวางไข่ เพื่อรอให้บรรดาเฟซฮักเกอร์ได้ออกหาร่างของเหยื่อผู้โชคร้ายตามหน้าที่ พร้อมทั้งสังหารบุคคลใดก็ตามที่พยายามจะกำจัดเผ่าพันธุ์ของตัวเอง ซึ่งก็คือลูกยานกู้ภัยที่มาพร้อมอาวุธครบมือเพื่อมาตามหาผู้รอดชีวิตบนดาว LV-426 นั่นเอง แต่ถึงกระนั้นเอเลี่ยนนางพญาก็ถูกมองว่ามีความเป็นแม่ที่ตรงกันข้ามกับความเป็นแม่ของริปลี่ย์ เพราะเธอคือความเป็นแม่ที่มาพร้อมกับการเข่นฆ่าชีวิตผู้อื่นและการทำลายจึงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นแม่ที่ไม่ดีและต้องถูกกำจัดโดยแม่อีกคนที่ดีกว่าและแข็งแกร่งกว่า


    3.3 ความเป็นแม่ของ MU-TH-UR6000 มาเธอร์เป็นคอมพิวเตอร์บนยานนอสโตรโมที่ปรากฏในภาพยนตร์ภาคแรก ซึ่งเธอมีหน้าที่รักษาและดูแลผลประโยชน์ของลูกๆของเธอ ไม่ต่างจากแม่ทั้งสองแบบที่กล่าวไปในข้างต้น นอกจากจะคอยดูแลระบบต่างๆบนยานเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกเรือที่เปรียบได้กับลูกของตนประหนึ่งทาส (Voluntary Slavery) เธอยังต้องทำงานให้กับลูกของเธออีกคน ซึ่งเป็นลูกที่สำคัญที่สุดกว่าลูกคนไหนๆ นั่นก็คือ บริษัทเวย์แลนด์-ยูทานิ (Weyland-Yutani Corporation) บริษัทที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด ดังนั้นแล้วการได้รับสัญญาณปริศนาในตอนแรกนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการจัดฉากของบริษัทเพื่อให้ยานลงจอดในดาวที่เชื่อว่ามีเอเลี่ยนอยู่ เพื่อนำตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตนอกโลกชนิดนี้กลับมายังโลกและนำมาทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งมาเธอร์ได้ทำการรักษาผลประโยชน์ของบริษัทเอาไว้โดยการยอมระเบิดยานรวมไปถึงทำลายตัวเองในตอนสุดท้าย เพื่อไม่ให้มีผู้รอดชีวิตกลับไปเปิดโปงเรื่องราวที่บริษัทพยายามปกปิดการทดลองลับครั้งนี้ต่อผู้อื่นได้


    ทั้งหมดนี้คือการตีความและวิเคราะห์ในสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องเอเลี่ยนต้องการจะสื่อให้กับผู้ชมด้วยการนำความสยองขวัญมาสอดแทรกเรื่องของเพศไว้ได้อย่างแนบเนียน เมื่อนับมาผสมรวมกับสิ่งที่ได้เรียนรู้มาในห้องเรียนก็ได้เกิดเป็นรสชาติใหม่ในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ทั้งเปรี้ยวเข็ดฟันและเผ็ดจัดจ้านมากกว่าเดิมด้วยมุมมองที่กว้างขึ้น ถือได้ว่าเอเลี่ยนเป็นภาพยนตร์ที่ท้าทายความคิดของผู้ชม โดยเฉพาะกับเพศชาย ที่ไม่สามารถหาได้ในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องอื่น นอกจากนี้การต่อสู้เพื่อหาพื้นที่ให้กับตัวเองของริปลี่ย์ ทำให้เธอเป็นที่จดจำของผู้ชมในฐานะหญิงแกร่งแห่งห้วงจักรวาลที่ลบล้างภาพลักษณ์ผู้หญิงทั่วไปที่สังคมกำหนดมาอย่างสิ้นเชิง แน่นอนว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกอนาคตที่จะต้องลุกขึ้นมาฟาดฟันกับเหล่าเอเลี่ยนเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ริปลี่ย์ได้สอนให้เรารู้ถึงพลังที่ซ่อนอยู่ภายในตัวผู้หญิงทุกคน ซึ่งในบางครั้งเราก็หลงลืมที่จะรับรู้ถึงความแข็งแกร่งของตัวเอง

     



    ขอบคุณริปลี่ย์สำหรับพลังที่ฉันได้รับหลังจากการชมภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้ง


    ขอบคุณที่ติดตามกันมาจนถึงตรงนี้ ผู้เขียนตัดสินใจนำไฟนอล เปเปอร์ที่เคยส่งอาจารย์ในวิชาเจนเดอร์ชิ้นนี้มาลง เพราะต้องการอุ่นเครื่องเพื่อต้อนรับการกลับมาของอสุรกายดำทะมึนจอมโฉดแห่งห้วงอวกาศตัวนี้ที่จะมาโลดแล่นอีกครั้งหนึ่งใน Alien: Covenant แน่นอนว่าจะต้องไปเอาใจช่วยตัวละครหญิงคนใหม่ของแฟรนไชส์นี้ ต้องแกร่งเท่าคุณแม่ริปลี่ย์ให้ได้!! อีกไม่กี่สัปดาห์จะได้รู้กันแล้ว (ประเด็นคือแอบอยากไปกรี๊ดคุณเดวิด คุณวอลเตอร์ จะชื่ออะไร รุ่นไหนก็ตามแต่ จะขอตามไปหวีดหุ่นแอนดรอยด์พี่หลามฟาสซี่ค่า) 
    สวัสดีค่ะ


    __________________________________________________________________________________________________


    [1]  จากข้อความต้นฉบับ "This scene couldn't be a more direct symbolic pictoralization of Freud's textbook phobia: the vagina with teeth clutches and eats alive the intrusive phallus, rendering it impotent,castrated."

    [2] จากข้อความต้นฉบับ “Usually women in films have had to carry the burden of sympathy, only coming to life when a man enters. Doesn’t everyone know that women are incredibly strong?”

    [3] จากข้อความต้นฉบับ "When the Sony hack happened and I found out how much less I was being paid than the lucky people with dicks, I didn't get mad at Sony. I got mad at myself."


    เอกสารอ้างอิง

    หนังสือ

    Men, Women, and Chainsaws: Gender in the Modern Horror Film โดย Carol J. Clover

    The Dread of Difference : Gender and the Horror Film โดยBarry Keith Grant

    The Final Girl versus Wes Craven’s A Nightmare on ElmStreet:Proposing a Stronger Model of Feminism in Slasher Horror Cinema โดย Kyle Christensen

    The Monstrous-Feminine: Film, Feminism, Psychoanalysis โดย Barbara Creed

    Woman: The Other Alien in Alienโดย Rebecca Bell-Metereau

    เว็บไซต์

    http://www.avp.siligon.com/a_giger.htm สืบค้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2015

    http://avp.wikia.com/wiki/Alien_(film) สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2015

    http://acadblogs.wheatoncollege.edu/eng-290-sp14/2014/05/07/strong-females-and-heroines-in-films-by-ridley-scott/ สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2015

    http://thelearnedfangirl.com/2012/06/how-i-learned-to-stop-worrying-and-love-ripley-a-feminist-nerd-finally-watches-alien/ สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2015

    http://uniteyouthdublin.com/2014/05/20/alien สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2015

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
pamut (@pamut)
เป็นการวิเคราะห์ที่ประทับใจมาก หลายประเด็นไม่เคยสังเกตมากก่อนเลย

ขอบคุณค่ะ
preenbanana (@preenbanana)
ขอบคุณมากค่ะ อ่านแล้วใจชื้นขึ้นมาเลย ตอนแรกนึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวจนเกินไป ด้วยความที่หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่แนว เพราะเราเองตอนทำเปเปอร์พยายามไซโคใส่เพื่อนรอบข้าง แต่เพื่อนๆก็ไม่เคยอินสักที @pamut แฮ่ ขอโทษที่มาตอบช้าไปนะคะ ไม่รู้ว่าให้ตอบคอมเม้นต์ได้ด้วย
Kphantom Khai (@viriya333)
ในระหว่างเรื่องเป็นปืนไฟ - flamethrower
ส่วนฉมวก - harpoon ฉากจบ(ภาคไหน?)ใช้ยิงเอเลี่ยน(ที่ต้ามขึ้นยานมา) ห้อยอยู่ท้ายยานแล้วจุดจรวดเป่า