เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ท้องถิ่นรังสิต By จันทิมา อังคพณิชกิจ, พิพัฒน์ กระแจะจันทร์
  • รีวิวเว้ย (952) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    เวลาพูดคำว่า "รังสิต" เราจะคิดถึงอะไรกันบ้าง (?) บางคนคงคิดถึงก๋วยเตี๋ยวเรือ บางคนคงคิดถึงคลองรังสิต บางคนคงคิดถึงเพลงเพลงหนึ่งของนักร้องเพลงลูกทุ่งอย่างไวพจน์ บางคนคงคิดถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ บางคนก็อาจจะคิดถึงมหาวิทยาลัย ดังนั้นเมื่อพูดถึงรังสิตในความคิดและความทรงจำของแต่ละคนคงในภาพที่แตกต่างกันออกไป และถ้าเราลองชวนให้มองภาพของคำว่ารังสิตให้หดแคบลงมาให้อยู่ในขอบเขตของเรื่องของ เมืองรังสิต" หรือ "ท้องถิ่นรังสิต" หลายคนจะคิดถึงอะไร ตัวเราเองเมื่อพูดถึงรังสิตในมิติที่หดแคบลงมาเรากลับนึกถึง "เทศบาลนครรังสิต" หากแต่ไม่ใช่ตัวเทศบาลที่เรานึงถึง แต่เป็น "ตราเทศบาล" 
    ที่ชวนให้เรานึกถึงเพราะหากใครลองค้นดูภาพตราของเทศบาลนครรังสิตเราจะพบว่า ในตราของเทศบาล นอกจากรูปภาพของตึกเทศบาล คนพายเรือขาบก๋วยเตี๋ยวในคลองรังสิตแล้ว ความน่าสนใจสำหรับเราอยู่ที่สัตว์ 4 ตัวอย่าง ช้าง เสือ สมัน และควายป่า ที่ปรากฎอยู่ในตราของเทศบาลนครรังสิตด้วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าก่อนหน้านี้พื้นที่แถบนี้เป็นถิ่นอาศัยสำคัญของสัตว์ทั้ง 4 ชนิด ที่เคยอาศัยอยู่ในเขตทุ่งหลวงรังสิต ซึ่งแน่นอนว่าในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่รังสิตและพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กระทั่งสมันได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการมองหา ช้าง เสือ สมัน และควายป่าในเขตรังสิตจึงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป (เว้นแต่ที่มีข่าวเรื่องของการจะสร้างสวนสัตว์ในเขตรังสิตคลอง 6) และหากเราลองไปศึกษาตราขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลาย ๆ แห่งให้ดี ๆ เราอาจจะพบว่าท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่นั้นมีเรื่องราว เรื่องเล่า และประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่ที่น่าสนใจไม่แพ้ "เทศบาลนครรังสิต" หากแต่งานศึกษา และการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (เมือง) กลับหาได้ไม่ง่ายนักในปัจจุบัน ทั้งที่เมืองแต่ละแห่ง ท้องถิ่นแต่ละที่ล้วนมีรากฐานความเป็นมาและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน หากเป็นไปได้ก็อยากให้มีหนังสือและงานวิจัยเกี่ยวกับเมืองและท้องถิ่นตีพิมพ์ออกมาเยอะ ๆ เพื่อที่คนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่จะได้เข้าใจในบ้านเมืองของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ว่าก่อนหน้านี้พลวัตรของการเปลี่ยนแปลงเป็นเช่นไร และในวันข้างหน้าหากการเปลี่ยนแปลงมาถึงสิ่งใดควรที่จะต้องถูกเก็บรักษาไว้ในฐานะของประวัติศาสตร์ของเมืองเมืองนั้น
    หนังสือ : ท้องถิ่นรังสิต ในประวัติศาสตร์และความทรงจำจากเรือสู่รถกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนกรณีศึกษาชุมชนประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และชุมชนตลาดปากคลองหนึ่ง
    โดย : จันทิมา อังคพณิชกิจ, พิพัฒน์ กระแจะจันทร์
    จำนวน : 221 หน้า

    "ท้องถิ่นรังสิต ในประวัติศาสตร์และความทรงจำจากเรือสู่รถกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนกรณีศึกษาชุมชนประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และชุมชนตลาดปากคลองหนึ่ง" เป็นหนังสือที่ปรับมาจากงานวิจัยของอาจารย์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทำงานร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่นในการศึกษาและเก็บรวมรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่อย่างพื้นที่รังสิตเอาไว้ โดยที่งานชิ้นนี้มุ่งศึกษาในเรื่องของประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ นับตั้งแต่ความเป็นมาของพื้นที่ในครั้งอดีต กระทั่งถึงช่วงของการเข้ามาของการสัญจรรูปแบบใหม่ทั้งทางรถไฟและถนนหนทาง ที่ส่งผลให้เมืองรังสิตเกิดพลวัตรความเปลี่ยนแปลงจากครั้งอดีตกระทั่งกลายมาเป็นเมืองรังสิตแบบที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน (2565) [เหตุที่ต้องใส่ปี พ.ศ. กำกับไว้เพราะในปัจจุบันพื้นที่รังสิตมีรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้าถึงและกำลังมีโคตรการพัฒนาอื่น ๆ อีกมาก อาจจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทั่งบริบทบาทประการในหนังสือเล่มนี้อาจจะไม่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง]

    โดยที่เนื้อหาของ "ท้องถิ่นรังสิต ในประวัติศาสตร์และความทรงจำจากเรือสู่รถกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนกรณีศึกษาชุมชนประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และชุมชนตลาดปากคลองหนึ่ง" แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    บทที่ 1 บทนำ

    บทที่ 2 ประวัติศาสตร์และผู้คนในพื้นที่รังสิตก่อนขุดคลองรังสิต ว่าด้วยเรื่องของภูมิศาสตร์สภาพแวดล้อม และขอบเขตของพื้นที่ที่เรียกว่ารังสิตชุมชนก่อนขุดคลองรังสิตในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์

    บทที่ 3 รังสิตในสมัยกำเนิดคลองรังสิต บอกเล่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่จากทุ่งหลวงไปสู่นาข้าวเพื่อการพาณิชย์ และวิถีชีวิตของผู้คนในเขตพื้นที่

    บทที่ 4 ประวัติศาสตร์บอกเล่าของชาวรังสิต ว่าด้วยเรื่องเล่าของพื้นที่ จากเรือสู่รถกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม ความเป็นมาของชุมชนรังสิตจากประวัติศาสตร์บอกเล่ายุคสมัยแห่งการสัญจรทางเรือ ประวัติศาสตร์ในความทรงจำ และเรื่องราวของคลองและเรือกับรางรถไฟสถานีรถไฟรังสิต และพื้นที่ในยุคที่ถนนเข้ามามีบทบาท

    บทที่ 5 สรุปและข้อเสนอแนะ จะคลองสู่ถนนการเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคมกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม

    เมื่ออ่าน "ท้องถิ่นรังสิต ในประวัติศาสตร์และความทรงจำจากเรือสู่รถกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนกรณีศึกษาชุมชนประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และชุมชนตลาดปากคลองหนึ่ง" จบลง มันยิ่งตอกย้ำคำเดิมที่เขียนไว้ในเบื้องแรกว่า หากเมืองและท้องถิ่น หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่ต่าง ๆ จับมือร่วมกันและทำงานวิจัย หนังสือ หรือบันทึกเรื่องราว เรื่องเล่า และความเป็นมาของแต่ละท้องถิ่นเอาไว้ คงดีมิใช่น้อยเพราะคนในยุคต่อ ๆ ไปจะได้กลับมาอ่านดูว่าพื้นที่ที่เป็นบ้านของพวกเขาในปัจจุบันก่อนหน้านั้นมันเคยเป็นอะไรมาก่อน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in