เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 By นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
  • รีวิวเว้ย (813) "ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร..." ประโยคหนึ่งของ "ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1" ที่ถูกประกาศเอาไว้เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งนับว่าวันนั้นเป็นวันที่เปลี่ยนบทบาทของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของสยาม-ไทย ไปตลอดกาล การเปลี่ยนแปลงเมื่อย่ำรุ่งของวันนั้นได้นำพาประเทศสยาม-ไทย แล่นใบเข้าสู่หนทางประชาธิปไตยตามสายลมของการเปลี่ยนแปลง กระทั่งปัจจุบันเป็นเวลากว่า 89 ปี ที่เมล็ดของต้นประชาธิปไตยถูกหย่อนลงบนพื้นแผ่นดินสยาม-ไทย หากเป็นต้นไม้กาลเวลาผ่านพัดที่เนิ่นนานเพียงนี้ ต้นไม้ต้นดังกล่าวน่าจะกลายเป็นไม้ใหญ่ที่ให้ใบร่มเงาแกสิ่งมีชีวิตใหญ่น้อยที่อาศัยใบบังของไม้ต้นนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกว่า 89 ปีที่ต้นไม้ต้นนี้ถูกตัด ทึ้ง ดึง ตอน และในหลายหนมีหลายคนพยายามที่จะโค่นลำต้นของมันทิ้งเสีย น่าแปลกใจที่ต้น "ประชาธิปไตย" ในสังคมแห่งนี้กลับถูกทำให้กลายเป็น "ไม้ดัด" ในนามของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมี..." และถูกดัดงอเสียจนเกิดเป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่หลายหนเราได้ยิ่นคนที่ให้ความหมายของมัน แล้วได้แต่พูดในใจบ้าง บางครั้งก็ออกเสียงบ้างว่า "เหี้ยไรวะนั่น"
    หนังสือ : การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
    โดย : นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
    จำนวน : 518 หน้า
    ราคา : 400 บาท

    "การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475" หนังสือเล่มหนาของอาจารย์ที่ปรึกษาสมัยเรียนปริญญาตรี ที่ถูกกำหนดให้ต้องอ่านในวิชา "การเมืองการปกครองไทย" ที่สอนโดยผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ หลายปีมานี้เวลาที่พูดชื่อของ "นครินทร์ เมฆไตรรัตน์" ใครหลาย ๆ คนอาจจะหยี แหวะ หรือบางคนก็อาจจะตัดขาดสถานะของความเป็นอาจารย์และศิตย์ หลังจากที่นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ก้าวเข้าไปรับตำแหน่งของ "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" แต่สำหรับเรานครินทร์ เมฆไตรรัตน์ มีอยู้ด้วยกัน 2 คน (1) คนแรกคืออาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ครูผู้สอนและอาจารย์ที่ปรึกษาที่ส่งมอบความรู้ ความคิดและมุมมองในเรื่องของประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคการเมืองการเลือกตั้ง และสถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญ (วิชาที่ลงเรียนกับอาจารย์) เพื่อเป็นอาวุธให้เราได้เอามา "ด่ารัฐบาล" รวมถึง "ด่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" อย่างในทุกวันนี้ (2) คนที่ 2 คือตุลาการนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน (2564) สถานะของคนที่ 2 นี้คงไม่ต้องพูดถึงเยอะ

    "การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475" เป็นหนังสือที่สำหรับเราแล้วอาจจะเรียกได้ว่า "เปิดโลก" ให้เราได้ทำความรู้จักกัลการปฏิวัติสยาม 2475 อย่างเป็นระบบ และเนื้อหาล้ำลึกที่สุดนับตั้งแต่เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติสยามเล่มอื่น ๆ ก่อนหน้าเล่มนี้มาบ้าง และสำหรับเราแล้ว "การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475" จัดอยู่ในกลุ่มของหนังสือที่อ่านยาก เพราะต้องใช้ทั้งกำลังกายและกำลังใจอย่างสูงยิ่งในการอ่าน เนื่องด้วยรายละเอียดเหตุการณ์ รายละเอียดตัวแสดงต่าง ๆ ที่ปรากฎใน "การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475" มีจำนวนเยอะมาก ๆ

    แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่บอกว่าตัวเองศึกษาเรื่องของ "2475" โดยที่ไม่อ่านงาน "การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475" ของนครินทร์ คือคนที่ไม่ได้ศึกษา 2475 อย่างแท้จริง เพราะสำหรับเราแล้ว "การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475" คือหนังสือที่สร้างมุมมองต่อเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม 2475 ได้อย่างน่าสนใจและมีรายละเอียดในประเด็นเหล่านั้น โดยที่คำนำของสำนักพิมพ์ได้เขียนเอาไว้ท่อนหนึ่งว่า "...งานชิ้นนี้ถือเป็นการสรุปรวบยอดทางความคิดเกี่ยวกับ “การปฏิวัติสยาม” ของนครินทร์ก็ว่าได้ ไม่เพียงแต่ก้าวข้ามความคิด “ชิงสุกก่อนห่าม” เท่านั้น งานชิ้นนี้ยังอธิบายให้เห็นถึง “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์” ที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุปัจจัยแวดล้อมในมิติต่างๆ..." (บางส่วนจากคำนำสำนักพิมพ์)

    โดยเนื้อหาของ "การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475" แบกออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคที่ 1 การเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาของกลุ่มสังคมต่าง ๆ ของสยามในทศวรรษ 2470 และ ภาคที่ 2 การปรับตัวของสถาบันการเมือง กระบวนการปฏิวัติ และผลสืบเนื่อง เนื้อหาที่ปรากฎในภาคต่าง ๆ ของหนังสือจะเป็นการสะท้อนมุมมอง แนวความคิด และรายละเอียดต่อเหคุการณ์การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 จากการค้นคว้าเอกสารทางประวัติศาสตร์ และจากการสัมภาษณ์ผู้ร่วมเหตุการณ์หรือทายาใกล้ชิดในเรื่องของเหตุการณ์การปฏิวัติ พ.ศ. 2475

    "การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475" หากพูดให้ถึงที่สุดมันเป็นหนังสือที่ช่วยให้เราเข้าใจทัศนะของการปฏิวัติ 2475 จากมุมมองที่หลากหลายยิ่งขึ้น และมันยังช่วยให้เรามองเห็นภาพของเหตุการณ์ดังกล่าวในมุมมองที่มีความท้าทายต่อกรอบบางอย่างของระบบการศึกษาหรือกรอบบางอย่างที่สังคมเคยใช้ "บอกเล่า" ถึงเรื่องราวของการปฏิวัติ 2475 หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบนครินทร์ในฐานะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เราอยากให้คุณลองอ่านงาน "การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475" ของนครินทร์ในฐานะของอดีตอาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมันอาจจะช่วยสร้างมุมมองและการรับรู้ต่อ "การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475" ในมุมที่เราอาจจะไม่เคยคิดถึงมาก่อน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in