เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
Livable Japan By ปริพนธ์ นำพบสันติ
  • รีวิวเว้ย (770) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ญี่ปุ่น ก่อนการระบาดของ COVID-19 ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2019 เราจะพบว่าคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก มากเสียจนเพื่อนหลาย ๆ คนถึงกับแซวกันขำ ๆ ว่าเดินอยู่ญี่ปุ่นในช่วงหลายปีมานี้ให้อารมณ์เหมือนเดินอยู่ในประเทศไทย แต่เป็นประเทศไทยในยุคสมัยที่พัฒนาเรื่องของถนนหนทาง ระบบการขนส่งสาธารณะ ปฏิรูประบบการจัดการเมือง ระบบการจัดการขยะ การซ่อมแซมทางเท้า และอื่น ๆ ไปอย่างก้าวหน้ามาก ๆ แล้ว ข้อความดังกล่าวถ้าเราฟังผ่าน ๆ ก็อาจจะไม่ได้คิดอะไรมากมายออกจะไปในทางของฟังให้ขำขันด้วยซ้ำไป

    แต่ถ้าเราลองตั้งใจฟังอย่างจริงจัง เราก็จะเกิดเครื่องหมายคำถามตัวโต ๆ ว่า นอกจากการที่เราเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่น ได้กินอาหาร ซื้อสินค้า และเก็บเกี่ยวบรรยากาศของเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ แล้ว พอหลังจากจบการท่องเที่ยวเราจำเป็นหรือที่จะต้องทิ้งบรรยากาศของเมืองที่ถูกออกแบบและพัฒนามาอย่างดีในแบบของญี่ปุ่นทิ้งไว้เบื่องหลัง หลังจากที่ประตูเครื่องบินปิดลง และเครื่องบินพุ่งทะยานกลับสู่เมืองไทย และถ้าเราไม่ทิ้งสิ่งเหล่านั้นไว้ข้างหลัง แต่ลองหยิบเอาพวกมันมาถอดบทเรียนในเรื่องของการออกแบบ การจัดการและการบริหารเมือง เพื่อเอามาเป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองในประเทศไทยดูบ้างจะเป็นเช่นไร และจะเป็นไปได้ไหม
    หนังสือ : Livable Japan
    โดย : ปริพนธ์ นำพบสันติ
    จำนวน : 320 หน้า
    ราคา : 360 บาท

    "Livable Japan" ในชื่อไทยว่า "ใส่ใจไว้ในเมือง" นับเป็นหนังสือที่เราอาจจะเรียกว่าเป็นคู่มือถอดบทเรียนเมืองของประเทศญี่ปุ่นแบบ 101 เพราะเนื้อหาใน "Livable Japan" คือการที่ผู้เขียนพาพวกเราไปทำความเข้าใจเมืองในญี่ปุ่น ผ่านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของถนนที่ถูกออกแบบมาให้ระบายน้ำได้ ทางเท้าที่ถูกออกแบบมาให้มีการใช้งานร่วมกันได้ของคนทุกกลุ่ม ระบบขนส่งที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นมาจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และรวมไปถึงเรื่องของการจัดการขยะของประเทศญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอภาพสะท้อนในประเด็นต่าง ๆ และมีการขมวดปมคำถามในตอนท้ายของแต่ละบทตอนว่า "มันดีที่สุดหรือยัง มันมีปัญหาอะไรบ้าง และมันยังไปได้ไกลกว่านี้ไหม (?)" โดยที่ในตอนท้ายของหลายบทผู้เขียนก็เปิดประโยคคำถามเหล่านี้ทิ้งเอาไว้ให้คนอ่านได้ขบคิดและลองหาคำตอบจากมุมมองของตัวเอง

    "Livable Japan" จะช่วยให้เรามองเห็นภาพบางอย่างของประเทศญี่ปุ่นและเมืองในญี่ปุ่น โดยที่หากเราลองอ่านเนื้อหาไปที่ละส่วน เราจะพบว่าเนื้อหาแต่ละตอนนั้นมันสามารถสร้างภาพความต่อเนื่องกันของเนื้อหาได้ในลักษณะของการต่อจุด ซึ่งมันสอดรับกับการจัดการปัญหาในทุก ๆ ปัญหา ที่ไม่มีปัญหาใดสามารถแก้ไขได้โดยทุ่มกำลังการแก้ไขลงไปที่จุดเดียว โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องของเมืองและการจัดการเมือง

    อาจจะเรียกได้ว่า "Livable Japan" เป็นหนังสือพื้นฐานสำหรับคนที่อยากรู้เรื่องเมืองควรอ่าน และคนที่อยากไปเที่ยวญี่ปุ่น หรือคิดถึงญี่ปุ่นในช่วงเวลานี้ควรอ่านเช่นกัน เพราะเมื่อการระบาดของ COVID-19 จบลง การเดินทางท่องเที่ยวกลับมาได้อีกครั้ง รับรองว่าสายตาในการมองญี่ปุ่นของคุณจะต้องเปลี่ยนไปเพราะการเที่ยวครั้งต่อ ๆ ไปคุณอาจจะได้ "ใส่ใจไว้ในเมือง" พร้อมกับการเที่ยวไปในเมืองของญี่ปุ่นไปพร้อม ๆ กัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in