เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
อีสานหลังการพัฒนา: ทันสมัย ไคแหน่ แต่บ่คัก By กนกวรรณ มะโนรมย์
  • รีวิวเว้ย (599) ย้อนเวลากลับไปในสมัยที่เราเป็นเด็ก (2540) เราเติบโตมาในค่ายทหารที่สัตหีบ มีพ่อเป็นครูฝึกทหาร มีอาทหารเป็นพี่เลี้ยงและเพื่อนเล่นมาโดยตลอด และแน่นอนว่าอาทหารหลาย ๆ คนก็มาจากภาคอีสาน และช่วงเวลานั้นเราก็มักจะได้ฟังเรื่องเล่าของอาทหารเกี่ยวกับเรื่องของบ้านเกิดและความยากลำบากในการใช้ชีวิตของพวกอา ๆ ตั้งแต่ช่วงที่อาเป็นเด็ก อาทหารบางคนในช่วงปี 2540 ที่มาอยู่ในค่ายทหารที่สัตหีบ ไม่รู้จักตู้เย็นและน้ำประปาด้วยซ้ำไป ทั้ง ๆ ที่ช่วงปี 2540 อะไรหลายอย่างก็พัฒนาไปอย่างมากแล้วในบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ในสังคมอีสานบางพื้นที่ความทันสมัย ความเจริญ และการเปลี่ยนแปลงยังคงเข้าไปไม่ถึง 20 กว่าปีผ่านมาภาพจำของความเป็น "อีสาน" ของหลายคนในสังคมไทยก็ยังหยุดภาพของอีสานเอาไว้ที่ดินแดนห่างไกลที่ขาดการพัฒนา ความเจริญเข้าถึงช้า ปัญหาของความยากแค้นยังคงปรากฎ หรือแม้กระทั่งการรับรู้ในเรื่องของคนอีสานยัง "กินข้าวกับน้ำปลา/ปลาร้า" ที่ปรากฎออกมาในฐานะข้อถกเถียงในเรื่องของการ "กินหลากหลาย" ระหว่างคนใต้กับคนอีสานเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงสภาวะของการรับรู้ในเรื่องของ "ภาคอีสาน" ของใครหลาย ๆ คนในสังคม ทั้งที่จริง ๆ แล้วภาพของอีสานในปัจจุบัน อาจจะจัดอยู่ในภาพของภาคแห่งการพัฒนาที่ไปไกลกว่าหลาย ๆ พื้นที่ในประเทศไทยด้วยซ้ำไป แต่การพัฒนาของอีสานก็ยังคงถูกตั้งคำถามในฐานะของภาคที่ถูกพัฒนาด้วยกระบวนการกำหนดนโยบายจากรัฐบาลกลาง ที่ยังผลให้การพัฒนาไปได้แต่ไม่สุด เหมือนที่หนังสือเล่มนี้บอกเอาไว้ว่า "ทันสมัย ไคแหน่แต่บ่คัก"
    หนังสือ : อีสานหลังการพัฒนา: ทันสมัย ไคแหน่ แต่บ่คัก
    โดย : กนกวรรณ มะโนรมย์
    จำนวน : 210 หน้า
    ราคา : 350 บาท

    "อีสานหลังการพัฒนา: ทันสมัย ไคแหน่ แต่บ่คัก" บอกเล่าเรื่องราวของสังคมอีสานผ่านแนวคิดในเรื่องของวาทกรรม "การพัฒนา" และ "หลังการพัฒนา" ที่เกิดขึ้นในสังคมภาคอีสาน โดยนำเอาแนวคิดทั้ง 2 แนว มาวางทาบทับลงในภาพการพัฒนาของอีสานในสองช่วงเวลาทั้งช่องของการพัฒนาและหลังการพัฒนา โดยตั้งคำถามที่สำคัญว่า ในท้ายที่สุดแล้วการพัฒนาอีสานไปสู่ความทันสมัยทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลดีหรือเป็นผลเสียต่อการพัฒนาพื้นที่อีสานกันแน่ ด้วยการถ่ายทอดตัวอย่างของการพัฒนาและผลหลังการพัฒนาในพื้นที่ภาคอีสานให้ได้อ่านและได้ลองทำความเข้าใจ

    อาจจะเรียกได้ว่า "อีสานหลังการพัฒนา: ทันสมัย ไคแหน่ แต่บ่คัก" ชวนให้เราลองตั้งคำถามถึงมิยามของการพัฒนาภาคอีสาน และผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการในการพัฒนาดังกล่าว โดยที่ตัวแบบของการตั้งคำถามในลักษณะนี้เรายังสามารถเปลี่ยนบริบทของพื้นที่ แต่ใช้วิถีการมองภาพและวิเคราะห์ผ่านกรอบแนวคิดเดียวกันกับ "อีสานหลังการพัฒนา: ทันสมัย ไคแหน่ แต่บ่คัก" ได้อีกด้วย เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วการพัฒนาและสร้างความทันสมัยในภูมิภาคของประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นในลักษณะของ "รัฐเป็นผู้นำ" (state-led) เป็นหลักทำให้ไม่ว่าเราลองเอากรอบคิดไปวิเคราะห์ภาคส่วนไหน เราก็อาจจะได้เห็นข้อคำถามในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งแน่นอนว่าในบริบทของรายละเอียดปลีกย่อยนั้นย่อมแตกต่างออกไปตามแต่ละลักษณะของพื้นที่อยู่ดี

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in