เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ศิลปะชวา By เชษฐ์ ติงสัญชลี
  • รีวิวเว้ย (512) ลองพิมพ์คำว่า "ชวา" ลงใน Google และกดเข้าไปที่ Link อันดับแรกที่ปรากฎซึ่งก็คือ "วิกิพีเดีย" (ภาษาไทย) จะพบว่า "ชวา" ที่ปรากฎขึ้นในวิกิ มีดังต่อไปนี้
    (1) ประเทศอินโดนีเซีย - ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน
    (2) ภาษาอินโดนีเซีย - ภาษาที่ใช้เป็นภาษาราชการของประเทศอินโดนีเซีย (บะฮะซาอินโดนีเซีย)
    (3) เกาะชวา - เกาะหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย อันเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของประเทศ
    (4) อาณาจักรชวา - อาณาจักรสมัยโบราณในบริเวณประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน
    (5) ภาษาชวา - ภาษาที่ใช้ในเกาะชวา (Javanese) คนละภาษากับภาษาอินโดนีเซีย
    (6) ชาวชวา - กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย
    (7) รัฐสุลต่านเดมัก อดิตรัฐอิสระ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย
    (8) รัฐสุลต่านมะตะรัม ราชวงศ์อิสลามในเกาะชวาของประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน
    (9) ทะเลชวา
    (10) เสียงชวา (Schwa; ə) - เสียงสระแบบหนึ่ง
    เมื่อลองมานั่งคิด ๆ ดูให้ดีเราจะพบว่าความเข้าใจในเรื่องของ "ชวา" ที่ยังขาดหายไปจากสังคมไทย คือ หลายครั้งเราไม่รู้เลยว่า "ชวา" ในแต่ละบริบทมันหมายถึงอะไรได้บ้าง และความรับรู้แรก ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อได้ยินคำว่า "ชวา" หลายคนไม่ได้เริ่มต้นขึ้นประเทศอินโดนิเซียเสมอไป เพราะบางคนก็เริ่มต้นการรับรู้แรก ๆ ที่ "นกเขาชวา" บ้างก็อาจจะนึกถึง "เกาะชวา" แล้วจะมีสักกี่คนกันที่นึกถึง "ศิลปะแบบชวา" ที่ในช่วงเวลาหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ ศิลปะชวามีบทบาทอย่างสำคัญในสกุลศิลปะของภาคใต้ ในช่วงเวลาของอาณาจักศรีวิชัย และยังคงปรากฎชัดอยู่ในปัจจุบัน ทั้งหลักฐานที่สะท้อนผ่านศิลปะ สถาปัตยกรรม อาหารการกิน และรวมไปถึงชุมชนอย่าง "ชุมชนมักกะสัน" ที่แต่เดิมนั้นเป็นชุมชนของชาวอินโดนิเซียที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในสยามประเทศกระทั่งปัจจุบัน
    หนังสือ : ศิลปะชวา
    โดย : เชษฐ์ ติงสัญชลี
    จำนวน : 224 หน้า
    ราคา : 175 บาท

    "ศิลปะชวา" ชื่อหนังสือก็บอกอยู่แล้วว่ามันต้องพูดถึงเรื่องราวของศิลปะชวาอย่างแน่แท้ ทั้งเรื่องของรูปแบบของศิลปะชวาที่ผูกโยงอยู่กับเรื่องของประวัติศาสตร์ ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี ภูมิรัฐศาสตร์ ความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์และพืชพรรณต่าง ๆ และรวมไปถึงเรื่องของธรรมชาติแลเทพเจ้าท้องถิ่นที่ถูกผวกรวมเข้าไว้ในฐานะของฐานคิดของคติทางด้านศิลปะของชวา

    ที่นอกเหนือไปจากการรับเข้ามาของทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู และศาสนาอิสลาม ที่ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการวางรากฐานของขนบทางศิลปะของชวา เราจะพบได้ว่าศิลปะแบบชวานั้นมีความเกี่ยวโยงอยู่กับฐานคติในเรื่องของศาสนา ทั้งศาสนาแบบมีพระเจ้า ไม่มีพระเจ้า และศาสนาผีบรรพบุรุษ ล้วนถูกถ่ายทอดและต่อยอดลงในศิลปะแบบของชวา

    เราจะเห็นได้จากสถาปัตยกรรมทางศาสนาที่สำคัญ ๆ หลายแหล่งในชวา ทั้งบุโรพุทโธของศาสนาพุทธ จันทิ (ปราสาท) บรมานันของศาสนาฮินดู หรือแม้กระทั่งวัดแบบบาหลีที่ตั้งอยู่ในเกาะบาหลีเอง สถาปัตยกรรมที่สะท้อนอยู่ในสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรม รวมไปถึงศิลปะของศาสนสถานเหล่านี้ล้วนมีคติความเชื่อแฝงเอาไว้อย่างสำคัญ นอกจากนี้ยังรวมถึงมีการสะท้อนภาพของการปรับตัวและคสามเปลี่ยนแปลงของศิลปะในแต่ละรูปแบบเอาไว้ด้วย

    "ศิลปะชวา" ยังช่วยฉายให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ของการเกิดขึ้นของการถ่ายทอดรูปแบบของศิลปะจากสกุลของศิลปะชวาออกสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแถบนี้ ผ่านกลไกสำคัญอย่างการค้าขายที่มีมาแต่ครั้งโบราณ และยังบอกเล่าถึงเรื่องราวของความสำคัญของคติฐานคิดของศิลปะแต่ละรูปแบบเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ และเชื่อโยงเอารูปแบบของศิลปะและขนบความเชื้อเบื้องหลังของหลาย ๆ รูปแบบของศิลปะภูมิภาคนี้เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว "ศิลปะชวา" ช่วยย้ำเตือนให้เราได้รู้ว่าในหลายครั้งหลายหน วัฒนธรรมบางอย่างมันก็เป็นวัฒนธรรมรวมที่ยากที่จะแยกและย้อนกลับไปหาจุดกำเนิดที่แท้จริงของมันได้ เพราะรัฐทุกรัฐ ดินแดนทุกดินแดน ล้วนเคยมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน มาก่อนการเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า "รัฐชาติ" แบบสมัยใหม่เสียอีกตั้งหลายพันปี

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in