เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
อดีต ปัจจุบัน และอนาคตประชาธิปไตยไทย By ประจักษ์ ก้องกีรติ บรรณาธิการ
  • รีวิวเว้ย (426) กว่า 87 ปีที่ประเทศสยาม-ไทย เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย เป็นเวลากว่าร้อยปีที่กระแสประชาธิปไตยในสยาม-ไทยถูกพูดถึงและเริ่มที่จะมีคนพยายามเอามันเข้ามาใช้ แต่ก็อย่างที่เห็นเป็นเวลากว่า 87 ปีผ่านไป ประเทศไทยดูจะยังเข้าใจ "ประชาธิปไตย" แทบไม่ต่างไปจากเมื่อเวลาก่อนการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ บางบิดเบือนคำว่าประชาธิปไตยไปสู่ความว่า "เผด็จการประชาธิปไตย" บ้างสร้างคำขยายของประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ" บ้างฉวยใช้คำว่า "ประชาธิปไตย" เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับกลถ่มและพรรคพวกของตน ดู ๆ ไปแล้วประชาธิปไตยของไทยเป็นสิ่งที่อาจจะทำความเข้าใจและเรียนรู้ได้ยากพอ ๆ กับคำถามที่ว่า "ตายแล้วไปไหน"

    และในวาระครบรอบ 70 ปีของ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2562) ด้วยหน้าที่หลักในการสอนหนังสือ ถ่ายทอดองค์ความรู้ ของคณะรัฐศาสตร์ มีส่วนสำคัญที่ยึดโยงอยู่กับคำว่า "ประชาธิปไตย" เมื่อประชาธิปไตยในไทยก็ยังเถียงกันไม่จบไม่สิ้น ในวาระครบรอบเช่นนี้ รัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จึงได้ถือโอกาสรวบรวมบทความจสกคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของคณะฯ ให้พวกท่านเหล่านั้นได้มาถ่ายทอดมุมมองและความเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ เรียกกันว่า "ประชาธิปไตย"
    หนังสือ : อดีต ปัจจุบัน และอนาคตประชาธิปไตยไทย
    โดย : ประจักษ์ ก้องกีรติ บรรณาธิการ
    จำนวน : 216 หน้า
    ราคา : 220 บาท

    "อดีต ปัจจุบัน และอนาคตประชาธิปไตยไทย" เนื้อหาในหนังสือถูกแบ่งออกเป็น 9 บท ขนาดไม่ยาวนักในแต่ละบท โดยทั้ง 9 บทนั้น อยู่ภายใต้หน้าที่การรับผิดชอบของนักวิชาการแต่ละท่าน ที่จะทำหน้าที่ในฐานะผู้ถ่ายทอดแนวทางความคิด-ความเห็น เกี่ยวกับประชาธิปไตย จากมุมมองและสายตาที่นักวิชาการแต่ละท่านเชี่ยวชาญ

    อย่างบทของ เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ได้หยิบเอาการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 มาเป็นองค์ประกอบหลักของการอธิบายประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการพูดถึงประชาธิปไตยได้อย่างน่าสนใจ และชวนให้เราคิดต่อได้ทุกครั้ง คล้ายกัลเวลาที่นั่งฟังอาจารย์สอนหนังสือ หรือเป็นผู้นำเสนอในงานสัมมนาวิชาการต่าง ๆ

    หรืออย่างบทความของ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ผู้เป็นต้นฉบับของแนวคิด "การเมืองแบบพ่อขุนอุปถัมป์" ที่ชักชวนให้เรา ๆ ท่าน ๆ ทำความเข้าใจพัฒนาการของประชาธิปไตยผ่านสายตาและบริบทของการใช้ตัวผู้เขียนเป็นแกนหลักของการมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่มีความเกี่ยวโยงกับประชาธิปไตยและพัฒนาการ อีกทั้งงานชิ้นนี้ยังได้พูดถึงบทบาทของคณะรัฐศาสตร์เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ

    อีกบทความที่อยากหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างคือบทความของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่ทุกครั้ง งานเขียนและบทสนทนาของอาจารย์มักสร้างความประหลาดใจ ฉงนงงงวย ในแบบที่เราคาดไม่ถึงและไม่คิดฝันมาก่อนว่า "แม่งเป็นแบบนี้ได้ด้วยหรอวะ" (?) กับบทความในหนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน ที่ถ้าเราอ่านเพียงตัวบท (ไม่ตีความ) หลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องที่เขียนเกี่ยวกับประชาธิปไตยตรงไหนหนอ (?) แต่ถ้าลองคิกให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง จะพบว่าบทความนี้ของธเนศ อาจจะเป็นการฉายให้เห็นภาพรวมของระบบในการสืบทอดอำนาจที่ส่งผ่านสถาบันสำคัญอย่างสถาบันครอบครัว และส่งผลเกี่ยวโยงกับรัฐอย่างมีนัยยะสำคัญ

    นอกจากตัวอย่างของงานที่ยกขึ้นมาในเบื้องต้นแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีบทความจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่เป็นยอดฝีมืออีกหลายท่าน ทั้งท่านที่ยังสอนหนังสืออยู่ และทั้งท่านที่ผันตัวไปทำอย่างอื่น แต่ยังคงมีมุมมองทางด้านวิชาการที่เฉียบคมดังเช่ยกาลก่อน

    นอกจากนี้ "อดีต ปัจจุบัน และอนาคตประชาธิปไตยไทย" ยังแสดงให้เห็นว่า "รัฐศาสตร์ สำนักท่าพระจันทร์" ตลอดเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมานั้น เราสอนให้ผู้เรียนยอมรับความเห็นต่าง อยู่ด้วยกันอย่างอดทนอดกลั้น ถกเถียงประทะกันบนฐานของหลักวิชาความรู้ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย ก็คงคล้ายกับการแสวงหานิยามของ "ประชาธิปไตยของไทย" ที่ในหลายครั้งเราก็ต้องเรียนรู้มันอย่างอดกลั้นและใจเย็น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่ "ประชาธิปไตยจะหยั่งรากได้อย่างตั้งมั่นบนผืนแผ่ยดินไทย" แต่ว่ามันจะเป็นประชาธิปไตยแบบไหนนั้น ลองหาคำตอบได้จาก "อดีต ปัจจุบัน และอนาคตประชาธิปไตยไทย" 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in