เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
จากศึกบางกุ้งถึงอะแซหวุ่นกี้ By ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์
  • รีวิวเว้ย (422) เวลาเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยตัวร้ายในประวัติศาสตร์มักจะรับบทโดย "พม่า" และด้วยกระบวนการการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย แบบเรียนในวิชา ครูผู้สอน หนัง ละคร ที่มีเนื้อหาอิงแอบไปทางประวัติศาสตร์มันจะผูกบทร้ายให้กับเพื่อนบ้านอย่าง "พม่า" เสมอ ๆ ยิ่งในสมัยที่เราเรียนชั้นประถม-มัธยมปลาย (2540 เป็นต้นมา) บทบาทของพม่าในแบบเรียนไทยและสังคมไทยถูกจัดให้เป็นตัวร้ายที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้เป็นพวก "ร้ายมากแต่โคตรกาก" ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าแบบเรียน ฯลฯ สามารถผูกบทที่โคตรร้ายและโคตรกากให้พม่าไปพร้อม ๆ กันในคราเดียวได้อย่างไร ยิ่งช่วงไหนที่ละครอิงประวัติศาสตร์ หรือหนังใหญ่ที่มีฉากรบกันกับเพื่อนบ้าน ช่วงเวลานั้นเลือดรักชาติในตัวยิ่งประทุรุนแรง แต่พอโตขึ้นมาหน่อยเริ่มเข้าเรียนมหาลัย ได้เรียนแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่ชวนตั้งคำถามกับแบบเรียนสมัยเด็กมากขึ้น และเมื่ออ่านหนังสือ ค้นคว้าข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์มากขึ้น เราเริ่มพบว่าบางครั้งแบบเรียนสังคมศึกษาไทย ควรจะต้องถูกเผาทิ้งแล้วเขียนขึ้นใหม่โดยไม่ให้เหลือเค้าโครงเดิมเอาไว้เลย

    ประวัติศาสตร์ไทยและประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อศึกษาในรายละเอียดให้ดี ๆ จากเอกสารหลากหลายแหล่งมากขึ้น เราจะพบว่า "ประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติไม่เหมือนกัน" ทั้ง ๆ ที่เขียนถึงเรื่องเดียวกัน ในประวัติศาสตร์ไทยเพื่อนบ้านถูกยกบทบาทให้เป็นตัวร้ายที่เที่ยวรุกรานอธิปไตยของไทย (สยาม/อโยธยา) ในช่วงเวลานั้น ในประวัติศาสตร์พม่า ที่บันทึกเอาไว้ในพงศาวดารมหายาสะเวนของพม่า เราก็จะพบว่าบทบาทของสยาม/อโยธยาก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของผู้รุกราน และเป็นเมืองประเทศราชของพม่าในช่วงคองบอง และยิ่งถ้าไปเปิดดูบันทึกของชาติต่าง ๆ รอบ ๆ ประเทศเรา เราก็จะพบว่าบทบาทของประเทศเหล่านั้นจะบันทึกในประเทศเพื่อนบ้าน "เป็นผู้กระทำประเทศตน" หรือไม่ก็บันทึกเอาไว้ว่า "มีสถานะต่ำกว่าประเทศของตน" จนหลายครั้งการบันทึกประวัติศาสตร์ และการเลือกหยิบมาใช้ในบางช่วงบางตอยผ่านบริบทชาตินิยม มันยังผลให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกันกับเพื่อนบ้าน ซึ่งหลายครั้งลามไปสู่ความรุนแรงและกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ

    ด้วยบริบทของการเอาแนวคิดชาตินิยมประวัติศาสตร์นำหน้าในแทบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายครั้งมันกลายเป็นความทรงจำบาดแผลที่รอวันถูกฉีกกระชากให้แผลเปิดออกอีกครั้ง และมันกลายเป็นกลไกสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การร่วมมือกันในภูมิภาคไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างก้าวหน้า รวมถึงการเอาชาตินิยมนำประวัติศาสตร์นั้นหลายครั้งมันทำให้เราตัดขาดและมองข้ามบริบทสำคัญ ๆ บางประการในเรื่องของการศึกษาประวัติศาสตร์ไป อย่างเรื่องของการศึกษาความสัมพันธ์กันระหว่างรัฐต่าง ๆ ครั้งโบราณ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การเคลื่อนย้ายของคนในภูมิภาคครั้งอดีต และอีกมากมายที่ถูกแนวคิดแบบประวัติศาสตร์ชาตินิยมบทบังเอาไว้ให้เราละเลยที่จะทำการศึกษามัน
    หนังสือ : จากศึกบางกุ้งถึงอะแซหวุ่นกี้ เผยโฉมยุทธศาสตร์พม่ารบไทยยุคธนบุรี
    โดย : ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์
    จำนวน : 128 หน้า
    ราคา : 190 บาท

    "จากศึกบางกุ้งถึงอะแซหวุ่นกี้ เผยโฉมยุทธศาสตร์พม่ารบไทยยุคธนบุรี" เป็นหนังสือที่หยิบเอาประวัติศาสตร์ของทั้งไทยและพม่า มาศึกษาร่วมกันในเรื่องของการทำศึกกับพม่าของไทยในช่วง 2310 หลังจากการเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยทำการศึกษาบริบทของการเดินทัพและการปรับใช้ยุทธศาสตร์ทางทหาร ว่าแท้จริงแล้วการศึกการสงครามในสมัยอดีตนั้นมีการวางแผนวางกลศึกมาอย่างดี

    รวมถึงยังศึกษาลึกลงไปอีกว่าศึกแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นมาแต่ครั้งอดีตนั้นล้วนมีความสัมพันธ์และมีความต่อเนื้องกันโดยไม่สามารถแยกอธิบายบริบทของการศึกแต่ละครั้งเพียงแค่เรื่องของ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไรได้ แต่ต้องมองถึงเหตุใดยุทธศาสตร์ทางทหารบางแบบถึงมีการถูกหยิบใช้โดยทั้งพม่าและไทย อย่างยุทธศาสตร์คีมหนีบที่ทำให้กรุงแตกใน 2310 มีปัจจัยใดที่ทำให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวสำเร็จลุล่วง และภายหลังการกู้กรุง พม่าพยายามที่จะตีเอากรุงคืนอีกหลายคราแต่ก็ต้องปรับยุทธศาสตร์ทุกครั้งไปเพราะปัจจัยใด

    "จากศึกบางกุ้งถึงอะแซหวุ่นกี้ เผยโฉมยุทธศาสตร์พม่ารบไทยยุคธนบุรี" ได้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเรื่องของหัวเมืองสำคัญอย่างเชียงใหม่และพิษณุโลก การปราชุมนุมของเจ้าต่าง ๆ โดยพระเจ้าตาก และการเลือกที่จะเดินทัพและวางยุทธศาสตร์ของพม่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความสัมพันธ์กันแทบทั้งสิ้น และศึหทุกศึกที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ 2310 เป็นต้นมา มีคสามสอดคล้องต่อเนื่องกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

    ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้พูดว่าใครคือผู้ร้ายใครคือพระเอก หากแต่มุ่งเน้นในเรื่องของการศึกษาความสัมพันธ์ของยุทธศาสตร์ทางทหาร ที่ผูกโยงอยู่กับตัวแปรต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่ได้ง่ายและสั้นเหมือนอย่างในแบบเรียน (ชาตินิยม)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in