เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
DESERT ISLAND ROMANCEpronua
ประเทศ วัฒนธรรม และการเกียซู
  • เมื่อสองวันก่อนนี้ฉันกลับมาเก็บข้าวของที่เกาะกลับไทย บังเอิญว่าลูกพี่ลูกน้องที่เคยมาอาศัยอยู่ที่นี่ช่วงระยะหนึ่งได้ฝากของมาให้เพื่อน (เป็นครั้งที่สอง) ดังนั้นแล้วเพื่อนของพี่ชายคนนี้จึงอาสาเลี้ยงข้าวเย็น เราจึงไปจบกันที่ร้านบักกุเต๋แห่งหนึ่งในย่านเกลัง อาหารรสชาติดี อย่างน้อยก็เพราะมันถูกแนะนำมากจากคนในพื้นที่ แต่ที่ดีไปกว่านั้นคือบทสนทนาระหว่างฉันกับเดฟ เดฟเป็นชายวัยกลางคน ฉันไม่รู้ทั้งอายุและอาชีพของเขาแต่น่าจะอยู่ในวัยไล่เลียกับลูกพี่ลูกน้องของฉัน จับใจความเองได้ว่าเขาเป็นนักธุรกิจและน่าจะมีอันจะกินพอสมควร


    ชาวเกาะทะเลทรายชอบถกประเด็นการเมือง แต่เดฟเป็นคนที่น่าทึ่งกว่านั้น หลังจากที่เขาบ่นเรื่องการพยายามทำธุรกิจกับคนไทยแล้วเขาก็หันมาถามฉันว่ามีอะไรที่ฉันไม่ชอบใจในประเทศของเขาตลอดสามปีที่ผ่านมานี้ มันมีบทสนทนาระหว่างนั้นนับพันประการแต่สุดท้ายแล้วเรามาจบที่ประเด็นเรื่องของวัฒนธรรมการ “เกียซู”


    เกียซู หรือ Kiasu เป็นภาษาฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว ในวิกิพีเดียแปลว่า to be afraid of losing แต่ฉันว่ามันไม่ค่อยตรงประเด็นนัก เกียซูหมายถึงพฤติกรรมที่ผลักภาระหรือความผิดให้คนอื่นเพื่อปกป้องตัวเองหรือเพื่อปัดความรับผิดชอบออกจากตัว ชาวเกาะจำนวนมากมีพฤติกรรมเช่นนี้เป็นค่า default ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว มันเป็นพฤติกรรมอันดับต้นๆที่ไม่น่ารัก ตัวอย่างที่ฉันพบง่ายๆก็เช่นว่า สมมติว่าในโครงการที่ทำอยู่นั้นเกิดความผิดพลาดหรือหยุดชะงักขึ้น ทุกคนก็จะพยายามปกป้องตัวเองโดยกล่าวโทษสิ่งต่างๆนาๆรอบตัวเหมือนพยายามโยนเผือกร้อนให้คนอื่น หรือในบางกรณีที่แย่ไม่ต่างกันก็คือการที่งานไม่เดินเนื่องจากในทีมนั้นต่างฝ่ายต่างโทษกันเอง เช่นว่าฝ่ายหนึ่งอ้างว่ารอข้อมูลจากอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายก็กล่าวโทษกันไปเป็นทอดๆ สุดท้ายก็ทำให้งานล่าช้าเช่นนี้เป็นต้น ว่ากันตามหลักเหตุผลจริงๆแล้วมันไม่ได้ผิดอะไรที่คนๆหนึ่งจะปกป้องตัวเอง แต่ภาพรวมนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเช่นกัน


    ในกรณีของเดฟยกตัวอย่างไปได้ลึกล้ำยิ่งกว่านั้นมาก ฉันพูดถึงประเด็นปัญหาในสังคมต่างๆพร้อมให้ความเห็นว่าประเทศเกาะทะเลทรายนี้เป็นประเทศที่รัฐบาลมีประสิทธิภาพมาก การแก้ปัญหาและพัฒนาชาติทั้งหมดจึงเป็นไปในรูปแบบของ top down สุดกู่ จะด้วยความใหม่ของประเทศหรือด้วยความที่ต้องเริ่มต้นจากการไม่มีอะไรและถูกขับไล่ไสส่งมาจากมาลายูก็เป็นได้ ในขณะที่ประเทศของเรานั้นรัฐบาลไม่สามารถฝากผีฝากไข้อะไรได้จนทำให้รากหญ้าต้องมาแก้ไขปัญหากันเอาเอง


    แล้วการเกียซูมันมาเกี่ยวอะไรกับการเมืองประเภท top down กันเล่า

    เดฟให้ความเห็นว่าชาวเกาะนั้นเกียซูแม้กระทั่งกับรัฐบาลของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่นหากนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จหรือประสบปัญหาอะไรใดๆก็ตาม สิ่งแรกที่คนเหล่านั้นจะโทษก่อนตัวเองก็คือรัฐบาล ในขณะที่ตามปกติแล้วคนส่วนมากในโลกนี้มักจะมองกลับมาที่ตนเองก่อน สำรวจ และวิเคราะห์ถึงจุดที่ผิดพลาดและทำการแก้ไขแต่ชาวเกาะไม่เป็นเช่นนั้น การเกียซูแล้วนั่งรอความช่วยเหลือจากรัฐโดยไม่สามารถแก้ไขปัญหากันเองได้เป็นอะไรที่เดฟค่อนข้างจะไม่เห็นด้วย ฉันเห็นด้วยกับเดฟ แต่ถึงอย่างนั้น top down ก็สำคัญ ดังนั้นแล้วใจความของมันก็คงเป็นเราต้องทำมันควบคู่กันไปทั้งคู่ ส่วนจะด้วยสัดส่วนเท่าไหร่นั้นคงขึ้นกับอุปนิสัยใจคอของผู้คนและวัฒนธรรม ไม่ต่างจากปัญหานานับประการของไทยที่ก็ล้วนเกิดการนิสัยใจคอของผู้คน เราทั้งคู่ต่างลงความเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ยากจะแก้ไข


    เจ้านายของฉันเองก็ชอบเกียซู มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพัฒนาตัวหากเราไม่สามารถยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง


    นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีประเด็นย่อยๆที่น่าสนใจอีกหลายอย่างดังนี้


    1. สาเหตุหนึ่งที่ประเทศเกาะพัฒนาเร็วก็เพราะไม่มีอะไรหยุดแผนการพัฒนาและโครงการต่างๆได้ โครงการของรัฐบาลรุ่นก่อนจะไม่หยุดชะงักโดยรัฐบาลใหม่ด้วยเหตุผลของการเมืองหรือผลประโยชน์ ฉันบอกเดฟว่าประเทศเกาะกำลังมุ่งไปข้างหน้าไม่เหมือนประเทศของฉันเอง เดฟหัวเราะกึ่งๆแปลกใจพร้อมบอกว่า because we plan to move forward

    2. เดฟแสดงความเป็นห่วงถึงเรื่องจำนวนประชากรที่เกาะต้องการเพิ่มจาก 5.5 ล้านเป็น 6.9 ล้านภายในระยะเวลาสิบปี ประเทศเกาะไม่ใช่ประเทศ self sustain เหมือนอย่างญี่ปุ่น สายป่านของประเทศนั้นไม่ยาวและอาจล่มจมได้โดยเร็วหากเศรษฐกิจหยุดชะงักแม้แค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ

    3. Housing is politics. สิ่งสำคัญที่ทำให้ housing ของชาวเกาะ (หรือที่รู้จักในนามของ HDB) ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่ตัวอาคาร แต่เป็นระบบ ระบบที่จัดการให้คนสามารถซื้อบ้านได้จากการพิจารณา CPF ตลอดจนขนาดครอบครัว อายุ (การคละผู้อยู่อาศัยใน community หนึ่งๆนั้นเคร่งครัดมาก เหตุผลที่นำมาพิจารณาเลือกผู้อาศัยมีทั้งเชื้อชาติ ศาสนา อายุ อาชีพ และอื่นๆ)

    4. Infrastructure ของประเทศเกาะสร้างโดยชาวดัตช์ (เข้าใจผิดว่าเป็นอังกฤษมาโดยตลอด) เขาแนะนำให้ฉันไปเรียนต่อที่เนเธอแลนด์

    5. ฉันบอกเดฟว่าล่าสุดที่ไป URA (Urban Redevelopment Authority: City Gallery) ฉันตื่นเต้นกับ Underground City แผนพัฒนาและระบบวิศวกรรมต่างๆมาก เดฟดูจะภูมิใจ เขาทำหน้าประมาณว่า แน่นอน เป็นเรื่องธรรมดา

    6. จริงๆบล็อคนี้ฉันตั้งใจจะเขียนเพื่อที่จะโต้เถียงเรื่องความแห้งแล้งของเกาะทะเลทราย ว่าที่จริงแล้วมันไม่ได้แห้งขนาดที่คนทั่วไปคิดหรอก ภายในความแห้งและ rigid ของมันนั้นก็มีความหวังดีและความซื่อตรงแอบแฝงอยู่ เพียงแต่ฉันไม่รู้ว่าจะอธิบายความรู้สึกนี้ให้เดฟฟังได้อย่างไรดี ฉันบอกว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา มันกำลังจะตามมา

    7. และเมื่อวัฒนธรรมและความซับซ้อนทางสังคมตามมาในอนาคตอันใกล้นี้ ระบบและรัฐบาล top down อันทรงพลังจะยังทรงพลังได้เหมือนเดิมอยู่หรือไม่ก็ต้องดูกันต่อไป

    8. ฉันคุยกับเราถึงหนังสือชื่อ The Spirit Level และพูดถึงความสุขประชากรที่สวนทางกับ GDP ประเทศ แน่นอนว่าหนึ่งในประเทศที่ลักลั่นย้อนแย้งเช่นนั้นมากที่สุดคือประเทศเกาะทั้งสอง เกาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นี่และเกาะอาทิตย์อุทัย เราเห็นตรงกันว่าเงินนั้นซื้อความสุขได้แค่ถึงจุดหนึ่ง (แน่นอนว่าฉันเป็นประเภทที่ยังไปไม่ถึงจุดนั้น) เขาเล่าว่าในหมู่เพื่อนเขาเคยเสนอกับเพื่อนว่า หากเรามีทรัพย์สมบัติมากพอที่จะเลี้ยงดูลูกหลานไปได้อีกสามรุ่น เราควรจะสละธุรกิจให้กับคนที่มีศักยภาพคนอื่นดูแลต่อ เพื่อนของเดฟไม่มีใครเห็นด้วย



    สุดท้ายหลังมื้ออาหาร อันประกอบไปด้วยบักกุเต๋น้ำดำ (สาย herb) บักกุเต๋แบบแห้ง (อันนี้อร่อย) ถั่วต้มและผักดอง น้ำข้าวบาร์เล่ย์แบบที่ฉันจะต้องคิดถึงไปอีกนานจบลง เราก็เดินวงรอบๆย่านเกลังกันรอบหนึ่งก่อนขึ้นรถกลับบ้านในเวลาประมาณสองทุ่ม มีเวลาให้ครุ่นคิดและอิ่มอกอิ่มใจกับบทสนทนาอยู่นิดหน่อยก่อนจะนอนหลับ



    อันนี้คือแบบซุปน้ำดำ เห็นว่าเน้นพวกสมุนไพร ถ้าเป็นแบบซงฟาที่เราชอบกินกันอันนั้นจะเป็นแบบพริกไทยเยอะ ส่วนตัวคิดว่านี่จืดไปหน่อยอะ


    ส่วนอันนี้คือบักกุเต๋แห้ง ดีงามมาก ไม่แน่ใจว่าเป็นกลิ่นลูกผักชีหรือลูกกระวาน


    ปล.ขี้เกียจหาอ้างอิง ไว้เดี๋ยวกลับถึงบ้านแล้วจะมาอีดิททีหลังนะคะ




Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in