เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
DESERT ISLAND ROMANCEpronua
ตำนานรักสะพานตัวลิ่นที่บูกิตติมา
  • จริงๆเรื่องมันเริ่มขึ้นเมื่อวันก่อนตอนที่เม้งส่งลิงค์ประกวดแบบงานหนึ่งมาให้ฉัน รายละเอียดนั้นว่าด้วยการจัดประกวดแบบ Eco Bridge ที่ตั้งอยู่แถวๆชานเมือง Seoul จริงๆแล้วฉันก็ไม่ถนัดงานประเภทนี้เอาเสียเลยแล้วฉันก็ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ที่เม้งจู่ๆนึกอยากจะสนใจทำประกวดแบบขึ้นมา แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ฉันจะเล่าตอนนี้ ประเด็นของมันน่าสนใจกว่านั้นในตอนที่ฉันย่อยรายละเอียดทั้งหมดของงานประกวดและได้หาข้อมูลต่างๆพอเป็นพื้นฐานความเข้าใจเรียบร้อยแล้วต่างหาก แล้วฉันก็คิดว่ามันน่าสนุกดีที่จะมาเล่าให้คุณฟัง

    ฉันไม่รู้ว่าคนทั่วไปนั้นรู้จัก Eco Bridge ดีแค่ไหน (บางที่ก็เรียกว่า Eco link บ้าง Animal bridge บ้าง) แต่โดยหลักการง่ายๆแล้วมันคือการสร้างสะพานเชื่อมพื้นที่สีเขียวสองฝั่งเข้าด้วยกันซึ่งครั้งหนึ่งได้ถูกตัดขาดออกจากกันด้วยการก่อสร้างถนนหรือทางด่วน การตัดขาดนี้ไม่ได้ตัดขาดแค่การเชื่อมต่อและการลื่นไหลของพืชพันธุ์แต่ยังรวมไปถึงสัตว์ป่าหลายชนิดที่ไม่สามารถมีชีวิตรอดโดยการเดินข้ามทางด่วนความกว้าง 11 เลน (หรือราวๆ 62 เมตร) ได้ตลอดรอดฝั่ง แน่นอนว่าการสร้างสะพานเหล่านี้ก็มีจุดประสงค์ใช้สอยชัดเจนเพื่อเหล่ามหาประชาสัตว์ ไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์แม้แต่น้อย ตัวอย่างก็ดังเช่นต่อไปนี้

    Eco Bridge สำหรับ Christmas Crab บนเกาะ Christmas ที่ออสเตรเลีย สำหรับคุณปูซึ่งจะทำการข้ามถนนในช่วงอพยพประจำปี 

    Eco Bridge สำหรับสัตว์ป่าที่เนเธอร์แลนด์

    เยอรมัน

    สวิตเซอร์แลนด์ และอีกในหลายๆที่

    แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ดูเหมือนความเห็นใจต่อสรรพสัตว์นี้จะยังแพร่หลายอยู่แค่ในยุโรป ฉันเกือบจะออกปากด่าไปแล้วถ้าไม่ติดว่านึกขึ้นได้เสียก่อนว่าในเกาะร้างห่างรักนี้ยังมีหนึ่งตัวอย่างอันยิ่งใหญ่ของการทอดสะพานนี้อยู่ ฉันขอเรียกมันว่า สะพานรักตัวลิ่นที่บูกิตติมา ก็แล้วกัน 

    ในเกาะที่ฉันอาศัยอยู่นี้มีการรักษาพื้นที่สีเขียวไว้มากมาย โดยพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดใจกลางเกาะเราเรียกรวมๆได้ว่าเป็น Central catchment โดยทำหน้าที่เป็นพื้นที่รับน้ำขนาดใหญ่ของเกาะ ก็เรียกได้ว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เกาะทะเลทรายจะมีได้ ใกล้ๆกันเยื้องไปทางตะวันตกนั้นมีพื้นที่ป่าสงวนที่เรียกว่าบูกิตติมาอยู่ ในช่วงปี 197X นั้นเป็นปีที่เกาะได้เกิดริเริ่มตัดทางด่วนขึ้นมาเพื่อขยายเมืองไปสู่ส่วนเหนือของเกาะ ในตอนนั้นเองที่เหล่าประชาอนุรักษ์นิยมก็ได้ออกมาต่อต้านเป็นการหนัก นำโดยนายศุภราช (SUBARAJ RAJATHURAI, ขออภัยที่น่าจะถอดเสียงผิด) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าคนหนึ่งของเกาะแห่งนี้ แม้ในที่สุดทางด่วนนี้จะถูกตัด แต่ก็นับว่ารัฐบาลฟังความเห็นและคำแนะนำจากนายศุภราชไปไม่น้อย และจากการอุบัติของถนนกว้าง 62 เมตรเส้นนี้ ป่าบูกิตติมาก็ได้ถูกตัดขาดจากพื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ที่สุดใจกลางเกาะในที่สุด

    ท่ามกลางการต่อสู้มาอย่างยาวนานหลายศตวรรษนับจากวันนั้น ในปี 2014 สองพื้นที่สีเขียวก็ได้เชื่อมต่อเข้ากันอีกครั้งด้วยสะพานๆหนึ่งอันมีมูลค่าสิบหกล้านดอลล่าร์ที่แบกรับความหวังและการคาดเดาว่าจะสามารถลดจำนวนตัวลิ่น (pangolin) ที่ต้องตายลงบนถนนเฉลี่ยปีละสองตัวลงได้ นายศุภราชที่ตอนนี้อยู่ในวัยใกล้ฝั่งกล่าวว่า "หากย้อนกลับไปในปี 80 หรือ 90 ถ้ามีใครสักคนพูดถึงการสร้างสะพานเพื่อสัตว์ป่าละก็เขาคนนั้นคงต้องโดนหัวเราะเยาะใส่หน้าเป็นแน่แท้" วันนี้นายศุภราชคงยิ้มได้สักทีหลังถูกหัวเราะเยาะใส่หน้ามาเป็นเวลาสามสิบปี แม้ว่าความจริงแล้วมันอาจจะมาช้าไปสักหน่อย

    ฉันเคยเห็นสะพานตัวลิ่นที่บูกิตติมาผ่านตามาหลายหนหลายคราแล้วโดยเฉพาะตอนที่มันสร้างเสร็จใหม่ๆเมื่อปี 2014 หน้าตาของมันไม่ได้ชวนกระตุ้นต่อมความงามในตัวฉันแต่อย่างใด มันดูไม่ต่างจาก Eco bridge อื่นๆที่ฉันเห็น แต่ความงามของมันไม่ได้ถูกมองเห็นด้วยตาหรอก (อย่างที่เจ้าชายน้อยเคยว่าไว้นั่นแหละ) มันอยู่ที่ความรักของคนในเกาะนี้ต่างหาก แต่ถ้าจะพูดให้เป็นจริงเป็นจังกว่านี้หน่อยก็คือ ความสามารถในการตระหนักรู้ถึงปัญหาที่คนทั่วไปไม่อาจเห็น ตัวลิ่นสองตัวของประเทศประเทศหนึ่งที่อยู่เหนือมาเลเซียเป็นต้นอาจไม่มีความหมายอะไรนัก แต่ถ้าคุณรู้ว่าบนเกาะแห่งนี้เหลือตัวลิ่นอยู่เพียงราวห้าสิบชีวิตคุณก็อาจจะคิดใหม่ก็ได้ (ไม่นับรวมสัตว์ชนิดอื่นซึ่งเกาะมีอยู่อย่างจำกัดเต็มที ฉันไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเราจะสามารถหลงป่าตายอยู่ในเกาะนี้ได้หรือเปล่า เพราะมันช่างเบาบางเหลือเกิน)

    หน้าตาของสะพานตัวลิ่นนี้ไม่ได้ดูแตกต่างจากสะพานอื่นๆอย่างที่กล่าวไว้ แต่ความเป็นจริงแล้วมันถูกคิดมาอย่างหนักหน่วงเพื่อที่จะปรับเข้ากับสภาพภูมิประเทศและชนิดของพืชพรรณตลอดจนสัตว์ป่าในพื้นที่ ตำแหน่งที่ตั้งของสะพานถูกสำรวจและเก็บสถิติมาอย่างดีว่าเป็นจุดที่หนาแน่นไปด้วยสรรพสัตว์ ความกว้างสะพานถูกวิจัยมาจากการศึกษาชนิดของสัตว์ป่าในละแวกนั้นว่า ห้าสิบเมตร คือระยะที่ดีพอสำหรับสัตว์ที่จะรู้สึกสบายและปลอดภัยที่จะใช้งาน หลังจากโครงสร้างพื้นฐานเหนือถนนแล้วก็จะเป็นชั้นดินที่ถูกเตรียมไว้ลึกถึงสองเมตรซึ่งเป็นความลึกที่มีนัยยะสำคัญ (สำหรับงานภูมิสถาปัตย์โดยทั่วไปแล้วการปลูกไม้ยืนต้นอาจต้องการความลึกของดินราวๆหนึ่งเมตร) เนื่องจากสภาพอากาศของเกาะเป็นสภาพร้อนชื้น (Rain forest) จึงต้องพยายามให้ดินหน่วงน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด ดินที่ใช้นั้นเป็นดินจากพื้นที่สีเขียวของทั้งสองฝั่งเองทีี่ถูกขุดเก็บเอาไว้ในช่วงก่อสร้างเพื่อที่จะลดความแปลกปลอมซึ่งอาจทำให้สัตว์ไม่กล้ามาใช้งาน ถัดจากชั้นดินก็จะเป็นระบบระบายน้ำและตามด้วยการปลูกพืชอีกที แน่นอนว่าการเลือกชนิดของพันธุ์ไม้จะต้องสัมพันธ์กับชนิดพันธุ์ไม้เดิม ไม้ผลถูกเลือกปลูกเพื่อล่อสัตว์ป่าให้มาใช้ มีการวางแผนว่าในระยะกี่ปีต้นไม้จะเติบโตพอที่จะให้ร่มเงาและบดบังหนาทึบพอที่จะให้ความอบอุ่นใจของเหล่าสรรพสัตว์ และแน่นอนว่าสะพานนี้ได้ห้ามมนุษย์ใช้สอยโดยเด็ดขาด 

    หลังจากใจตุ้มๆต่อมๆมาหลายเดือนหลังการก่อสร้าง กล้องวงจรปิดแปดตัวที่ถูกติดตั้งไว้ก็ดักจับภาพตัวลิ่นตัวแรกที่วิ่งข้ามสะพานได้ในเดือนตุลาคม 2014! (ใช่ สิบหกด้านดอลล่าร์นั่นแหละ) และเอาจริงๆก็ไม่ใช่เพียงแค่ตัวลิ่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่นๆอีกมากมายเช่นชะมด (common palm civet) ลิง (banded leaf monkey) หรือแม้แต่นก (emeral dove) และค้างคาวบางประเภท (glossy horseshoe bat) ก็ถูกจับภาพได้เช่นกัน แม้จะมีหลักฐานยืนยันถึงความสำเร็จดังกล่าวแล้วก็ตาม คำถามที่ยังคงถูกถามเรื่อยๆอย่างฮอตฮิตที่สุดคงจะหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า สัตว์รู้จักสะพานนี้ได้อย่างไรกัน? ในความกว้างใหญ่กว่าสองพันเฮคเตอร์ของ Central catchment ตัวลิ่นหนึ่งตัวสามารถตามหาสะพานกว้างห้าสิบเมตรเจอได้อย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีสัตว์ตัวใดสามารถบอกเล่ากับมนุษย์ได้ แต่นักวิจัยเชื่อว่าในหมู่ของสัตว์เองนั้นรู้วิธีการที่จะปรับตัวและพบเจอหนทางในที่สุด 

    สะพานรักตัวลิ่นที่บูกิตติมา

    ฉันรู้ว่าสะพานนี้มันไม่ได้สวยงามหรอก และเกาะนี้ก็ยังคงแห้งผากเป็นทะเลทรายเหมือนเดิม แต่คุณว่ามันไม่โรแมนติกหรอกหรือ มันคือความรักบนความชาญฉลาดที่ถูกคิดมาอย่างระแวดระวัง แน่นอนล่ะว่ามันยังคงมีปัญหาหลายประการที่ต้องถูกปรับปรุงแต่มันก็เป็นก้าวแรกที่มาได้ถูกทางแล้ว (เช่น สะพานนี้ยังไม่เอื้อประโยชน์ต่อสัตว์หลายชนิดเช่นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเนื่องจากพื้นที่นั้นแห้งเกินไปและอาจต้องการบ่อน้ำอยู่บนนั้นบ้าง) ชาวเกาะยังมีแผนที่จะทอดสะพานแบบเดียวกันนี้อยู่อีกหลายที่ เช่นเดียวกับที่ Seoul ได้เตรียมตัวจะสร้างบ้างแล้วบนงบราวๆสิบเอ็ดพันล้านวอน 

    แล้วคุณคิดว่าประเทศบนแผ่นดินใหญ่อันมีธรรมชาติอันเหลือเฟือนี้ล่ะ จะเริ่มเมื่อไหร่?



    Reference 

    ตัวอย่าง Eco bridge 
    http://vernaculaire.com/ecoducs-ponts-animaux/
    http://twistedsifter.com/2012/07/animal-bridges-around-the-world/

    ข้อมูลสะพานตัวลิ่นที่บูกิตติมา
    http://graphics.straitstimes.com/STI/STIMEDIA/Interactives/2015/11/feature-ecolink-BKE-national-parks/index.html
    https://www.nparks.gov.sg/gardens-parks-and-nature/parks-and-nature-reserves/bukit-timah-nature-reserve/ecolink-bke

    โปรเจคสะพานที่โซล ค่าตอบแทนไม่น้อย สนใจไปตามล่ารางวัลกันได้
    https://project.seoul.go.kr/view/viewDetailCptt.do





Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in