เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ญี่ปุ่นผ่านสายตา | Japanese Media Through My EyesMeen Geywalin
ละครญี่ปุ่น : เมื่อคนเมืองไปอยู่ชนบท
  • 1

         นอกจากละครญี่ปุ่น ที่จริงแล้วชีวิตเราก็วนอยู่กับละครไทยมามากค่ะ แต่ช่วงหลังมาดูนับเรื่องได้หรือเลือกดูเฉพาะเรื่องที่มีคนพูดถึงหรือบางทีก็แค่เฉพาะตอนที่เป็นกระแสเท่านั้น

         ล่าสุดเห็นแวบๆ ว่าตอนจบของละครไทยที่แสดงภาพของชีวิตต่างจังหวัดเรื่องหนึ่งเป็นกระแสขึ้นมาหน่อยๆ ทำให้เรามาคิดถึงละครญี่ปุ่นว่าญี่ปุ่นเขาพูดถึงต่างจังหวัดของพวกเขาในแบบไหนกันบ้างนะ?

     

    2

          ละครญี่ปุ่นช่วงไพรม์ไทม์ที่ไม่ใช่ละครเช้า(Asa Dora) ที่พูดถึงชีวิตในท้องถิ่นเป็นหลักและมีพื้นหลัง(Setting) เป็นต่างจังหวัดหรือชนบทมีไม่มากเท่าไหร่นักค่ะ บางทีอาจเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดในโตเกียว แต่ก็ไม่ได้เจาะจงชัดว่าที่ไหนหรือมีภาพชัดของความเป็น "ชนบท"เท่าไหร่นัก

        ในที่นี้เราขอพูดถึงละครญี่ปุ่นที่ตัวละครเอกเป็นคนเมืองหรืออาศัยอยู่ที่อื่นแต่ต้องย้ายเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างจังหวัด, พื้นที่ชนบทห่างไกล หรือพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์พิเศษนะคะ เราขอยกมาเป็นตัวอย่าง 3เรื่องค่ะ

        มาดูกันว่าละครญี่ปุ่นเขาบอกเล่าชีวิตต่างจังหวัดของพวกเขาอย่างไรบ้าง

     

    3

         เริ่มจากเรื่องแรก "Osozaki no Himawari ~Boku no Jinsei, Renewal~" (2012) ค่ะ ชื่อเรื่องแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ทานตะวันบานช้า"


         "โคดาอิระ โจทาโร่"(อิคุตะ โทมะ) พนักงานชั่วคราวหนุ่มทำงานอยู่ในโตเกียวไปเรื่อยๆ ใช้ชีวิตในวัย 30 อย่างไร้จุดหมายไม่ประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน จู่ๆ วันหนึ่งเขาถูกให้ออกจากงาน แฟนบอกเลิกจะกลับบ้านเกิดครอบครัวก็ไม่ต้อนรับ เงินเก็บจะหมด ระหว่างหาทั้งห้องใหม่และงานใหม่เขาก็ไปเจอห้องราคาถูกมากๆ กับงานเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูท้องถิ่นในเมืองชิมันโท จังหวัดโคจิ ภูมิภาคชิโกะคุ เขาจึงตัดสินใจไปที่นั่น ขณะเดียวกัน "นิไคโด คาโฮริ"(มากิ โยโกะ) แพทย์นักวิจัยที่ทำงานอยู่ในศูนย์วิจัยในโตเกียวก็ถูกส่งกลับมาเป็นหมอประจำบ้านเกิดที่เมืองชิมันโทอย่างไม่เต็มใจ

         .

         เรื่องต่อมา "Umi no Ue no Shinryoujo" (2013) ชื่อเรื่องแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "สถานีอนามัยลอยน้ำ"

         "เซซากิ โคตะ"(มัตสึดะ โชตะ) แพทย์หนุ่มขี้หลีประจำโรงพยาบาลในโตเกียว มีเหตุทำให้ต้องหนีชีวิตในเมืองมาสมัครเป็นแพทย์ประจำเรือสถานีอนามัยที่แล่นวนไปรักษาคนตามเกาะในทะเลเซโตะใน(ทะเลที่ขั้นกลางระหว่างเกาะฮนชู, เกาะชิโกกุ, และเกาะคิวชู) บนเรือสถานีอนามัยเขาได้พบกับเพื่อนรวมงานหลากหลายทั้งพยาบาลสาว"โทงามิ มาโกะ"(ทาเคอิ เอมิ), บุรุษพยาบาล "มิซากิ โนโบรุ"(ฟุกุชิ โซตะ), แพทย์หญิง "ฟุจิวาระ โนริกะ"(อุชิมุระ อาโอย), พนักงานในเรือและกัปตันเรือ รวมถึงคนอื่นๆ ขณะเรือสถานีอนามัยแวะเวียนไปตามเกาะต่างๆ หมอหนุ่มได้เรียนรู้ชีวิตวิถีชีวิตและจิตใจของผู้คนเหล่านั้นรวมถึงเรียนรู้ว่าอะไรสำคัญกับชีวิตตัวเองกันแน่

         .

         เรื่องสุดท้าย "Nijiiro Karute" (2021) ชื่อเรื่องแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า"คลินิกหมู่บ้านสีรุ้ง"

         "คุเรโนะ มะโซระ"(ทาคาฮาตะ มิซึกิ) แพทย์หญิงทำงานอยู่ในแผนกฉุกเฉินโรงพยาบาลใหญ่ในโตเกียว แต่จู่ๆ เธอก็ได้รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อและผิวหนังอักเสบที่จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงกระทันหัน เธอจึงถูกให้ออกจากงานที่นั่น แต่เธอตัดสินใจทำงานต่อโดยสมัครไปเป็นแพทย์ภายในที่คลินิกในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ"นิจิ โนะ มุระ" หรือ "หมู่บ้านสายรุ้ง"เธอได้พบกับหมออีกคนที่ประจำอยู่ก่อน "อาซางิ ซากุ"(อิอุระ อาราตะ)และบุรุษพยาบาล "อาโอยามะ ไทโย"(คิตามุระ ทาคุมิ) รวมถึงผู้คนในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนั้น เธอช่วยดูแลรักษาอาการป่วยของพวกเขา ขณะเดียวกันพวกเขาก็ช่วยให้เธอเข้มแข็งพอที่จะใช้ชีวิตอยู่กับความเจ็บป่วยนั้นได้

     

    4

        สิ่งที่ตัวละครแต่ละเรื่องต้องพบเจอเมื่อย้ายไปอยู่ในชนบทไม่ใช่แค่เพียงเมืองใหม่บ้านใหม่ งานใหม่ หรือสภาพแวดล้อมใหม่เท่านั้น แต่มีเรื่องอื่นๆที่คนเมืองหรือคนต่างถิ่นไม่คุ้นเคยด้วย

         อย่างโจทาโร่ในเรื่อง Osozaki no Himawari การเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือฟื้นฟูท้องถิ่นทำให้เขาต้องทำงานกับคนชราที่อยู่บ้านตามชานเมืองไร่นาไม่ยอมอยู่ในตัวเมือง  ความสนิทชิดเชื้อจนดูเหมือนไร้เส้นแบ่งเรื่องความเป็นส่วนตัวที่ทำให้เขารู้สึกอึดอัดในช่วงแรก  การรับมือกับพายุรุนแรง  ถนนตัดขาดเพราะน้ำหลาก และอื่นๆ  ส่วนฝั่งของคาโฮริก็แสดงให้เห็นภาพความไม่พร้อมของจำนวนแพทย์ในต่างจังหวัดที่ทำให้เธอต้องทำหน้าที่เกินขอบเขตที่เธอคิดไว้  ทั้งยังต้องลุยป่าฝ่าฝนไปดูแลคนไข้สูงอายุที่ป่วยกระทันหัน

         คาโฮริคือภาพแทนของคนในท้องถิ่นที่อยากทำในสิ่งที่เธอทำที่นี่ไม่ได้ ขณะที่ "ฟุจิอิ จุนอิจิ"(คิริทานิ เคนตะ) เป็นภาพแทนของคนในท้องถิ่นที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เมืองนี้มีสีสันก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการปิดตัวลงของผู้ค้าในย่านตลาด  ปัญหาสังคมคนสูงอายุและคนหนุ่มสาวเข้าไปทำงานในเมืองมากกว่าอยู่ที่บ้านเกิดและช่วยพัฒนาให้เศรษฐกิจภายในท้องถิ่นดีขึ้น

         มองมาทางโคตะใน Umi no Ue no Shinryoujoก็จะเห็นว่าเขาไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นใดๆ บางครั้งถึงกับไม่เข้าใจภาษาที่คนในแต่ละเกาะพูดด้วยซ้ำ  เมื่อเรือสถานีอนามัยแวะไปตามเกาะต่างๆ นอกจากภาพสะท้อนของวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น บรรยายถึงการขึ้นเรือไปเรียน, ไปโรงพยาบาล, ไปแต่งงาน แล้วยังมีความลำบากในการเดินทางภายในเกาะที่ถ้าไม่มีรถก็ต้องเดินเท้าหรือจักรยาน  วัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สวยงามแต่ไร้คนสืบทอด  ผู้ใหญ่บางคนที่มองว่าอนาคตของคนหนุ่มสาวไม่ควรหยุดอยู่แต่เพียงในเกาะ สังคมเล็กๆ ที่การเข้าใจผิดเพียงนิดเดียวส่งผลต่อชีวิตทั้งหมดของคนหนึ่งคน

         ส่วนใน Nijiiro Karute นั้นเราจะเห็นว่าการเดินทางกว่าจะถึงตัวหมู่บ้านที่ห่างไกลจำเป็นต้องต่อรถไฟรถบัสที่มีเพียงไม่กี่รอบในหนึ่งวัน  จำนวนคนป่วยกับหมอที่ประจำอยู่ในพื้นที่ไม่สอดคล้องกัน  ร้านค้าที่มีเพียงร้านเดียวในหมู่บ้าน  เจ้าหน้าที่รับส่งของคนเดียวที่ทำหน้าที่ดิลิเวอรี่ของเข้า-ออกจากหมู่บ้าน  ชีวิตติดป่าเขาที่มีรั้วไฟฟ้าคอยป้องกันสัตว์ป่าและอาจเกิดอุบัติเหตุได้  ไฟดับอย่างง่ายดายในค่ำคืนที่ฝนตกหนัก ประเพณีท้องถิ่นที่เลือนหาย(*กรณีของเรื่องนี้จะน้อยนิดนึงค่ะเพราะหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่สมมติขึ้นและในเรื่องพูดถึงความสัมพันธ์ของผู้คนและการต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองมากกว่า)

    5

        แน่นอนว่าละครญี่ปุ่นแนวนี้ถ่ายให้เห็นทิวทัศน์สวยงามจังหวะชีวิตที่ไม่เร่งรีบจนเกินไป  ซึ่งแง่งามของชนบทย่อมเป็นการดึงดูดความสนใจและช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวทางอ้อม(ซึ่งบางทีก็ทางตรงนี่ล่ะค่ะ ขายสถานที่ท่องเที่ยวกันตรงๆ ไปเลย)  ยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้เกิดแรงบันดาลใจสำหรับทั้งคนท้องถิ่นและคนเมือง  หากขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าแม้สาธารนูปโภคพื้นฐานจะดีแค่ไหนแต่ในหลายพื้นที่ยังคงมีความยากลำบากและปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น  ชนบทมันถูกบอกเล่าค่อนข้างชัดและพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา ลึกบ้างตื้นบ้างแล้วแต่เรื่อง  แต่ภาพของชนบทญี่ปุ่นที่สะท้อนออกมาในละครญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีแต่ความสวยงามให้เห็นเพียงอย่างเดียว


        ละครญี่ปุ่นที่ตัวละครเอกย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดจึงไม่ใช่ละครที่พยายามวาดภาพให้ชีวิตในชนบทดีเกินจริง  บอกหรือสอนว่าควรรักบ้านเกิดขนาดยอมทิ้งทุกอย่างที่ตัวเองตั้งใจทำแล้วกลับมาอยู่ในที่ที่ไร้อนาคตในสายงานของตัวเองเพื่ออุทิศตัวให้บ้านเกิดดีขึ้น


        การไม่นำเสนอแง่ดีเพียงอย่างเดียวและสะท้อนปัญหาอาจเกิดขึ้นหรือกำลังเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่นั้นก็ทำให้คนที่อยากไปใช้ชีวิตอยู่แบบตัวละครเอกชั่งใจสักนิดว่าอาจต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้ด้วยเช่นกัน


    6

         เพราะปัญหาคือปัญหาต่อให้มองข้ามบอกว่าไม่มีหรือวาดภาพสวยๆ ไปวางทับพื้นถนนเป็นหลุมบ่อก็ไม่ได้หมายความว่าหลุมบ่อเหล่านั้นจะหายไป  คนที่มองเผินว่ามันแข็งแรงอาจเดินเข้ามาเหยียบแล้วตกลงไปในหลุมนั้นได้อยู่ดี

         การพูดถึงมันตรงๆ ย่อมดีกว่าปกปิดมันไว้หรือใส่แว่นมองปัญหาเหล่านั้นผ่านสายตาของคนเมืองมากจนเกินควร


         ท้ายที่สุดละครแนวนี้ของญี่ปุ่นแทบทุกเรื่องไม่ได้บอกว่าอะไรดีกว่าเลยสักครั้ง  แค่แสดงให้เราเห็นว่าหากทางเลือกของคุณคือชนบทหรือพื้นที่ห่างไกล ก็จงอยู่ แต่หากไม่ใช่ก็จงกลับเข้าเมืองไปทำในสิ่งที่ตั้งใจ

    มีน เกวลิน


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in