เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ญี่ปุ่นผ่านสายตา | Japanese Media Through My EyesMeen Geywalin
MIU404 : แว่นสีขุ่นในโลกสีเทา
  • 1
         "กลัวอะไรกันนักก็ไม่รู้ ฉันแค่อยู่ตรงนี้ ทำงานของตัวเองก็เท่านั้น"   
         หัวหน้าคิเคียว แห่ง MIU เปรยเบาๆ

    2
         หน่วย MIU ในซีรี่ส์ญี่ปุ่น MIU404 ย่อมาจาก Mobile Investigation Unit เป็นหน่วยลาดตระเวน ไปถึงสถานที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดและทำงานสืบสวนเบื้องต้น โดยมีเวลาเข้ากะต่อกะ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยที่ถูกหน่วยอื่นๆ ในกองสืบสวนเรียกไปช่วยงานด้วย

         ต้ัวละครหลักอยู่ที่คู่หูคนละขั้ว ชิมะ คาสุมิ (โฮชิโนะ เก็น) นายตำรวจที่ยึดหลักเหตุผลในการสืบสวน และ อิบุกิ ไอ (อายาโนะ โก) ที่อาศัยความรู้สึกและสัญชาติญาณในการขับเคลื่อน อีกหนึ่งคู่หูคือ จิมบะ โชเฮย์ (ฮาชิโมโตะ จุน) นายตำรวจรุ่นใหญ่ท่าทางเหมือนตาลุง และ โคโคโนเอะ โยฮิโตะ (โอคาดะ เคนชิ) ตำรวจหนุ่มสุดเนี๊ยบ โดยมี คิเคียว ยูสึรุ (อะโซ คุมิโกะ) เป็นหัวหน้าหน่วย

         โดยผิวเผิน MIU404 อาจดูเหมือนเป็นแค่ซีรี่ส์ตำรวจคู่หูอีกเรื่อง ซึ่งคดีไม่ซับซ้อน ไม่ต้องเดาคนร้ายให้ปวดหัว แต่ประเด็นที่ถูกเชื่อมโยงกับคดีต่างๆ ในเรื่องล้วนน่าสนใจและถูกเล่าออกมาได้อย่างชาญฉลาด 
         ความเชื่อใจที่พ่อแม่มอบให้ลูก, บาดแผลในความสัมพันธ์, การมอบทางเลือกให้เยาวชน, การปิดบังความรุนแรงไว้ภายใต้ความอ่อนโยนของถ้อยคำ, การต่อสู้ของคนที่อยากมีชีวิตใหม่, การยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง, ความหมายของการมีชีวิต
         รายละเอียดเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ในสังคมถูกกล่าวถึงอย่างตรงไปตรงมาในทุกตอน

         และตอนที่ 5 ของ MIU404 ชื่อตอน "夢の島" หรือ "เกาะแห่งความฝัน" เป็นตอนที่หยิบปัญหาชาวต่างชาติในญี่ปุ่นและความเหลื่อมล้ำขึ้นมาพูด ผ่านคดีการบุกปล้นร้านสะดวกซื้อโดยชาวต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่น
         จากประสบการณ์การดูละครญี่ปุ่น ไม่เคยเห็นเรื่องไหนหยิบประเด็น "แรงงานต่างชาติ" ขึ้นมาพูดถึงเลยสักครั้ง อาจมีบางตัวละครที่เป็นชาวต่างชาติ แต่มักอยู่ในรูปแบบของตัวละครที่เป็นตัวร้ายหรือไม่ก็ตัวละครที่สร้างขึ้นมาเพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม 
         เพราะอย่างที่ตัวละครที่ทำรายการโทรทัศน์พูด "ปัญหาเรื่องชาวต่างชาติมันเรียกเรตติ้งไม่ได้หรอก"

         แม้ญี่ปุ่นจะมีการพูดถึงแรงงานต่างชาติมากขึ้นในระยะหลัง เนื่องจากความต้องการด้านแรงงานเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่สนับสนุนการนำเข้าแรงงานต่างชาติ แต่การพูดถึงนั้นมักจำกัดอยู่ในรายการข่าว รายการสารคดี ที่เรตติ้งไม่สูงนักและเข้าถึงกลุ่มคนได้เพียงจำกัด
         น่าชื่นชมทีมงานและ โนกิ อากิโกะ ผู้เขียนบทที่เลือกนำเสนอประเด็นนี้ในละคร ช่องทางที่เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ขึ้น (ผลงานอื่นๆ ของนักเขียนบทคนนี้คือ Nigeru wa Haji da ga Yaku ni Tatsu,  Unnatural และอื่นๆ) ซึ่งแม้อาจจะไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมระดับใหญ่ได้ แต่อย่างน้อยได้สร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนจำนวนมากขึ้น
         เผื่อมีคนคิดอย่าง กามะโกริ (โคฮินาตะ ฟุมิโยะ) ว่า "เราต้องให้ความสำคัญกับคนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานสิ" เพิ่มขึ้นบ้างแม้เพียงสักนิด

    3
         "เพื่อให้มีข้าวกล่องเรียงรายพร้อมขายตอนตี 5 เพื่อหนังสือพิมพ์ที่จะส่งถึงทุกบ้านในทุกเช้า เพื่อการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายในราคาสบายกระเป๋า" 
         อย่างที่มิซึโมริ (วาตานาเบะ ไทจิ) เจ้าหน้าที่ในโรงเรียนสอนภาษาบอก ดังนั้นหลายประเทศไม่เพียงแค่ญี่ปุ่นที่มีคนจากประเทศโลกที่สามออกไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าบ้านเกิดโดยถือวีซ่านักเรียนแล้วทำงานเป็นหลัก
         เช่นเดียวกับเหล่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่หลั่งไหลเข้ามาในบ้านเรา ถูกกฎหมายบ้าง เล็ดลอดเข้ามาบ้าง
         ผู้จ้างงานได้แรงงานต่างชาติมาทำงานโดยจ่ายค่าตอบแทนถูกกว่าการจ้างประชากรในประเทศตัวเอง และอีกมากถูกบีบให้อยู่ในที่ที่มองไม่เห็น
         เพื่อรายได้ที่มากกว่าการทำงานในประเทศตัวเอง ด้วยความใฝ่ฝันว่าชีวิตของตัวเองและครอบครัวจะดีขึ้น

         พวกเขาไม่ได้สบาย
         การถูกเหยียดหยาม แปะป้ายความต้อยต่ำ นายจ้างใช้อำนาจเกิดขอบเขต ถูกกลั่นแกล้ง และกำแพงด้านการสื่อสาร 
         เหล่านี้คือความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรมที่พวกเขาต้องพบเจอ
         ผู้ก่อเหตุจึงใช้คำว่า "ความอยุติธรรมต้องทวงคืนด้วยความอยุติธรรม"

    4
         "ความผิดบาปของประเทศเป็นความผิดบาปของพวกเราด้วยรึเปล่านะ?" อิบุกิถามคู่หูของเขาอย่างอ่อนแรงหลังจากรับรู้ปัญหาจาก ไม (Phuongchi) แรงงานสาวชาวเวียดนาม
         "ต่อให้ฉันขอโทษเท่าไหร่ เธอก็บอกว่ามันช่วยคนนับแสนที่ถูกใช้แรงงานอย่างหุ่นยนต์ไม่ได้หรอก ทำไมทุกคนถึงไม่ทุกข์ร้อนกับเรื่องนี้นะ?"

         นั่นสิ...ทำไม?     

         ไม่ใช่แค่เรื่องปัญหาแรงงานต่างชาติ หากรวมไปถึงการกดทับผู้หญิงทำงานอย่างหัวหน้าคิเคียวในสังคมชายเป็นใหญ่ด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ความอยุติธรรมเหลื่อมล้ำอีกหลายประการถูกซ่อนซุกปิดบัง และเลวร้ายที่สุดคือการบิดผิดให้กลายเป็นถูก

         หลายคนทำเป็นลืม อีกมากที่ไม่อยากมอง เหมือนที่ชิมะว่า 
         "พวกเขาไม่เห็นไม่ใช่เหรอ? มันง่ายกว่าที่จะไม่มอง ถ้าเผลอมองไปแล้วล่ะก็ โลกคงผิดแปลกไปไม่น้อย เมื่อรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำนั่นแล้ว จะหนีไปหรือจะปิดตาอีกครั้งก็เท่านั้นล่ะ"

    5
         เบือนหน้าหนีจากสิ่งที่เห็นที่เป็นอยู่ บดบังทัศนวิสัยด้วยแว่นสีขุ่นสักอัน หรือไม่ก็แว่นสีอื่นๆ เพื่อให้โลกที่มองเห็นสดใส เพื่อทำให้ความเหลื่อมล้ำนั้นเลือนไปจากสายตา

         ทว่า ในยุคที่ความเหลื่อมล้ำเบือนบิดของสังคมพร้อมปะทุขึ้นมาให้คนเห็นและตระหนักผ่านสื่อต่างๆ ในโลกออนไลน์
         แว่นตาสีขุ่นอันนั้น เราจะทนใส่มันไปได้อีกนานเท่าไหร่กันเชียว


    มีน เกวลิน.




เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in