เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ติ่งให้ไกล ไปเรียนให้ถึงอังกฤษAki_Kaze
มาเป็น CSI กันเถิด ตอนที่ 1: FCSI คืออะไร และการเก็บลายนิ้วมือ
  • มาเป็น CSI กันเถิด ตอนที่ 1: FCSI คืออะไร และการเก็บลายนิ้วมือ

    อ่านตอนนี้ควรเปิดเพลงจาก CSI ประกอบ (ฮ่าๆ)

    เนื่องจากมหาลัยมีเปิดคอร์สซัมเมอร์ให้นักเรียนหรือคนนอก สามารถมาเรียนวิชาต่างๆ ในมหาลัยได้ค่ะ ข้อดีสำหรับนร.ปัจจุบันคือเรียนฟรีค่า และสามารถลงได้ถึง 40 เครดิตด้วยกัน
    ก่อนลงเรียนลังเลมากเพราะช่วงนี้ต้องปั่นโปรเจ็กต์จบป.โทแล้ว แต่อยากเรียนวิชานี้มานานตั้งแต่สมัยดู CSI นั่นแหละค่ะ สุดท้ายเลยตัดสินใจลง

    ซัมเมอร์จะเรียนแค่สี่สัปดาห์เท่านั้น โดยวิชานี้สัปดาห์หนึ่งเรียนสองวัน วันละสามชั่วโมง สิ่งที่ได้คือพื้นฐานคร่าวๆ เกี่ยวกับ FCSI ในสามชั่วโมงนั้นจะแบ่งเป็นเลคเชอร์ช่วงหนึ่งและเข้าห้องแล็บเพื่อลงมือทำอีกช่วงหนึ่ง โดยเมื่อจบคอร์สและสอบผ่านจะได้ใบประกาศค่ะ

    ต้องบอกเลยว่าการเรียนซัมเมอร์เป็นอะไรที่ดีมากๆ มันช่วยตัดสินใจได้ว่าเราจะเรียนวิชานี้ สาขานี้ไหวไหม ในระดับปริญญาไหวไหม ลองเรียนแล้วเราชอบไหม ในการเรียนซัมเมอร์เราจะได้เรียนเนื้อหาคร่าวๆ เกี่ยวกับสาขานั้นๆ
    สาขา Forensic and Crime Scene Investigation ในช่วงซัมเมอร์นั้น ครอบคลุมเนื้อหาดังนี้

    1. การเก็บลายนิ้วมือ (Fingerprinting)
    2. การบรรจุหลักฐาน (Packaging)
    3. การถ่ายภาพในที่เกิดเหตุ (Photography)
    4. นิติมานุษยวิทยาและโบราณคดี (Forensic Anthropology & Archaeology)
    5. ลายรองเท้า (Footwear Marks)
    6. ของเหลวในร่างการ (Body Fluids)
    7. Intelligence และ Digital Forensic
    8. Digital Recovery

    คาบแรก Introduction - Trace Evidence - Fingerprinting

    ก่อนอื่นก็เริ่มจากคำจำกัดความและหน้าที่ของ CSI ค่ะ ซึ่ง CSI คือคนตรวจสอบที่เกิดเหตุ เก็บหลักฐานทุกอย่างที่มี บันทึกหลักฐานทั้งหมด โดยที่ทุกอย่างที่เก็บและจดบันทึกต้องสามารถใช้เป็นหลักฐานในศาลได้
    ทุกอย่างมีขั้นตอนและเราต้องทำตามขั้นตอนเพื่อให้หลักฐานดังกล่าวใช้การในศาลได้

    อาจารย์เปิดคลิปสั้นๆ ให้ดูแล้วให้เราบอกว่ามีหลักฐานอะไรที่เราจะเก็บได้ (เป็นคลิปที่อาจารย์ถ่ายทำเองนี่แหละค่ะ) คนสองคนบุกเข้าไปในบ้านเพื่อฆ่าคนตาย (คนตายเป็นหุ่นค่ะ อาจารย์บอกไม่มีใครยอมเล่นบทนี้ ฮ่าๆ)
    สิ่งที่เห็นในคลิปคือคนร้ายถีบประตูเข้าไปซึ่งที่รอยรองเท้าไว้อย่างชัดเจน (footwear mark ไม่ใช่ footprint จะมีพูดถึงอีกทีตอนเรียนเรื่องนี้ค่ะ) มีไม้ที่คนร้ายใช้เป็นอาวุธซึ่งมีรอยเลือดติดอยู่ และผ้าพันคอที่ใช้ปกปิดใบหน้าที่คนร้ายถอดทิ้งไว้
    ของที่ระบุมาเราสามารถเก็บเป็นหลักฐานเพื่อตามหาตัวบุคคลได้
    ตามหลักการของ Locard ได้ระบุไว้ว่า (Every contact leaves a trace) ทุกการสัมผัสจะทิ้งร่องรอยเอาไว้
    ยกตัวอย่างจาก a ไป b
    ร่องรอยบางอย่างจาก a จะย้ายไปให้ b ในทางกลับกันร่องรอยบางอย่างจาก b จะถ่ายทอดไปหา a
    นอกจากนี้ยังมี contact ที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงแต่มีบางอย่างเป็นสื่อกลางเช่น คนร้ายสองคนที่ไม่มีอะไรเชื่อมโยงกัน แต่ทั้งคู่ได้อยู่ในรถคันเดียวกัน มันจึงมีการถ่ายทอดระหว่างรถคันนั้นไปสู่ a และ b รวมทั้งจากตัว a และ b สู่รถคันนั้น

    ต่อมาเป็นเรื่องของรอยนิ้วมือซึ่งจะได้เข้าแล็บไปเก็บรอยนิ้วมือด้วยตัวเอง
    ด้วยความที่มือของเรามีเหงื่อ เวลาไปจับต้องอะไรมันก็จะทิ้งรอยนิ้วมือไว้
    รอยนิ้วมือจะมีสองอย่าง อย่างแรกคือปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนซึ่งเราจะถ่ายรูปเก็บเป็นหลักฐาน
    อย่างที่สองคือ Latent marks เราเห็นได้ลางๆ จางๆ อาจจะเห็นเวลาส่องไฟฉายแต่ไม่ชัดเจน จึงต้องใช้ powders หรือสารเคมีที่จะทำให้รอยดังกล่าวเด่นชัดขึ้น
    มีสามแบบด้วยกัน
    1. Flake Powders ใช้แปรงสังเคราะห์ เช่น Zephyr
    2. Granular Powders ใช้แปรงขนสัตว์ เช่น Squirrel
    3. Magnetic Powders ใช้ Magnetic Wand

    ที่ได้ลองใช้ในการเก็บรอยนิ้วมือก็คือ Aluminium Flake powder (หลอดซ้ายมือของภาพ) ตัวผงจะเก็บอยู่ในกระปุกค่ะ แต่ที่แปรงจะมีผงที่ว่าอยู่แล้ว นี่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้


    เป็นการเก็บลายนิ้วมือบนกระเบื้องสีขาว ถ้าเราฉายไฟฉายให้กระทบโดนเนี่ยอาจจะเห็นรอยจางๆ แต่มันไม่ชัดจึงต้องใช้แปรงที่เรียกว่า zephyr ปัดไปบนกระเบื้องโดยห้ามปัดอยู่กับที่นะคะ ให้ปัดแบบเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ จนเราสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงบนกระเบื้อง รอยจะเริ่มจัดขึ้น สิ่งสำคัญคืออย่าปัดผงเยอะเกิน หรือบางเกิน วิธีจับแปรงคือจะด้ามแปรงจะอยู่ในอุ้งมือแล้วใช้นิ้วโป้ง ชี้ กลาง ในการหมุนแปรงไปเรื่อยๆ

    จริงๆ ถ่ายรูปตอนปัดผงเรียบร้อยแล้วแต่เนื่องจากเห็นรอยนิ้วมืชัดมากเลยขอไม่ลงภาพนะคะ
    เมื่อเราได้รอยนิ้วมือที่ชัดขึ้นแล้ว (อาจถ่ายรูปเก็บไว้เพื่อนำไปวิเคราะห์ได้เช่นกัน แต่ในคาบไม่ได้ทำ) สิ่งต่อไปที่ต้องทำคือเก็บรอยนิ้วมือขึ้นมา อุปกรณ์ที่ใช้ก็จะเป็นแผ่นสติ๊กเกอร์ที่ใช้เก็บลายนิ้วมือ (Cobex) แล้วนำมาแปะบนแผ่นใส (Acetate) ข้อควรระวังคืออากาศเข้านี่แหละค่ะ ต้องค่อยๆ รีดแผ่นไปกับกระเบื้องให้ไม่มีลมเข้าแล้วดึงปื้ดขึ้นมาเลยทีเดียว จากนั้นก็นำมาแปะลงบนแผ่น Acetate ตามภาพ พื้นดำเป็นแผ่นรองค่ะ (ตรงรูปช็อกโกแลตนั่นคือตำแหน่งลายนิ้วมือที่เก็บขึ้นมา)



    จะเห็นได้ว่าข้างๆ มีรอยกรีดอยู่ เราต้องตัดข้างๆ ซ้ายขวาออก เนื่องจากเป็นบริเวณที่เราจับ มันจะมีรอยนิ้วมือของเราติดอยู่ค่ะ จำต้องกรีดทิ้ง แล้วลงชื่อกำกับไว้ให้ชื่อคาดระหว่างแผ่นใสกับสติ๊กเกอร์ จากนั้นเราก็เขียนด้านบน (ตรงช่องขาว) ระบุชื่อผู้เก็บหลักฐาน วันที่ อักษรย่อชื่อของเราพร้อมเลขลำดับหลักฐานที่เก็บ เช่น OT1 (ชื่อย่อและหลักฐานชิ้นแรก) สถานที่ตั้ง และบรรยายว่าเป็นรอยนิ้วมือที่เก็บมาจากที่ไหน ตามภาพ มีลูกศรเขียนค่า g เพื่อบอกตำแหน่ง เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้น
    (ไม่ได้ถ่ายภาพตอนเซ็นกำกับซ้ายขวามา แต่จำเป็นต้องมีเพื่อบ่งบอกว่าเราเป็นคนเก็บหลักฐานชิ้นนี้ด้วยตัวเอง) ตรงช่องขาวๆ ว่างๆ นั่นเราสามารถวาดรูปคร่าวๆ ว่ารอยนิ้วมือนี้เก็บมาจากอะไรตรงไหน
    ตอนเก็บรอยนิ้วมือจากขวดแก้ว ออยล์วาดรูปขวดและกากบาทตำแหน่งรอยนิ้วมือไว้



    แค่คาบแรกก็สนุกแล้วเพราะได้ลองทำจริงๆ คราวหน้าจะมาต่อเรื่องการบรรจุหลักฐานนะคะ
    ป.ล. ตอนแรกว่าจะเขียนเรื่อง Forming Fiction ก่อน ข้ามมาเขียนเรื่องนี้ก่อนซะงั้น ฮ่าๆ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
a week before valentine (@wirunyupha.chia)
โห แค่อ่านก็รู้สึกอยากลงเรียนบ้างเลยค่ะ ;; น่าสนุกมากเลยยยย
ธนิชา บัว (@buathanicha)
เป็นวิชาที่น่าสนใจมากๆเลยค่ะ