เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
REVIEWกีอัลลาร์
【short story】ปฏิบัติการสังหารแมรี่ ซู | otsuichi, nakata eiichi, yamashiro asako, echizen mataro
  • ปฏิบัติการสังหารแมรี่ ซู
    author: otsuichi, nakata eiichi, yamashiro asako, echizen mataro
    translator: พรพิรุณ กิจสมเจตน์


    รวมเรื่องสั้น 7 เรื่องของอาดาจิ ฮิโรทากะใน 4 นามปากกา สำหรับงานที่เขียนด้วยนามปากกา otsuichi และ nakata eiichi มีแปลไทยบ้างแล้ว แต่งานในชื่อ yamashiro asako กับ echizen mataro คิดว่ายังไม่มีแปล ส่วนตัวเคยอ่านงานเล่มอื่นของ yamashiro asako แล้วรู้สึกว่าสไตล์การเขียนน่าสนใจอยู่

    ขอแยกรีวิวตามนามปากกา


    otsuichi

    โอตสึอิจิเป็นนักเขียนขวัญใจเราสมัยมัธยม เราชอบงานที่ให้ฟีลประมาณ GOTH กับ ZOO คือมีความหลอนๆ สไตล์โกธิก ผสมกับความเศร้าแบบลึกๆ สำหรับเรื่องสั้นที่คัดสรรมาในเล่มนี้คือ บันทึกวานร กับ เพื่อนเรากลุ่มดาวแพะทะเล นั้นให้ฟีลที่ต่างไปจากงานยุคแรกๆ ของโอตสึอิจิค่อนข้างมาก (ซึ่งถ้าตามงานโอตสึอิจิมาตลอดก็จะพบว่าสไตล์การเขียนเขาเปลี่ยนไปนานแล้ว) คือพล็อทเรื่องไม่ได้หวือหวาเท่าเดิม แต่งานเขาจะมีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น คิดอะไรลุ่มลึกขึ้น

    บันทึกวานรเป็นเรื่องสั้นยาวแค่สิบกว่าหน้า เป็นเรื่องของนักศึกษาเหลวแหลกที่ชีวิตเจอจุดเปลี่ยนจากการเอาขวดหมึกของพ่อมาเปิดเขียน พัฒนาการของตัวเอกเลยถูกเอาไปเปรียบกับพัฒนาการจากมนุษย์วานรมาเป็นคน อ่านแล้วให้ฟีล 2001: a space odyssey เต็มๆ และวิธีการเขียนแบบย่อหน้าเดียวยิงยาวจนจบเรื่องก็ชวนให้คิดถึงเรื่องสั้นของปราบดา หยุ่นที่ขึ้นต้นด้วยประโยค "ผมทำปากกาตก" (จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว 5555)

    ส่วนเรื่องเพื่อนเรากลุ่มดาวแพะทะเลเป็นเรื่องปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน และวันหนึ่งเด็กที่เป็นหัวโจกแกล้งคนอื่นก็ถูกฆ่า เรื่องออกแนวหักมุมเล็กๆ ผสมความแฟนตาซีหน่อยๆ ว่าสุดท้ายแล้วคนที่ฆ่าเป็นใคร แต่จะบอกว่าเป็นแนวสืบสวนก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะเราคิดว่าประเด็นหลักของเรื่องไม่ใช่ใครฆ่า แต่เป็นเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวที่นำไปสู่การตัดสินใจทำอะไรบางอย่างในเรื่อง ซึ่งต้องซึมซับผ่านการอ่านด้วยตัวเอง

    เราชอบสไตล์การเขียนของของโอตสึอิจิตรงที่เขาเล่าเรื่องเครียดๆ แบบเล่าไปเรื่อยๆ ไม่เวิ่นเว้อไม่ฟูมฟาย ไม่ได้บรรยายความรู้สึกตัวละครเยอะ แต่ตอนจบเหมือนโดนหมัดฮุคที่มองไม่เห็นอัดจนจุก สมแล้วที่ได้ฉายาว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความเศร้า


    nakata eiichi

    เรื่องสั้นโดยนาคาตะ เออิจิมี 2 เรื่องเช่นกันคือ มุนาคาตะคุงกับคดีปากกาหมึกซึม กับ ปฏิบัติการสังหารแมรี่ ซู เราไม่เคยอ่านงานของอาดาจิในนามปากกานี้มาก่อน (ซื้อมานะแต่ยังไม่ได้อ่าน...) แต่สัมผัสได้ว่างานของนาคาตะจะมีความอบอุ่น เป็นเรื่องที่อ่านได้แบบสบายๆ มีความ nostalgic เล็กๆ

    เรื่องมุนาคาตะคุงกับคดีปากกาหมึกซึมว่าด้วยการล้างมลทินให้ยามาโมโตะ เด็กผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าขโมยปากกาหมึกซึมราคาแพงของเพื่อนร่วมชั้น คนไขคดีคือมุนาคาตะคุงซึ่งไม่ใช่นักเรียนตัวอย่างหรือเป็นที่รักของเพื่อนๆ กลับเป็นเด็กที่ถูกคนอื่นรังเกียจด้วยซ้ำ แต่ที่เขาพยายามไขคดีจนสำเร็จเป็นเพราะความเอื้ออาทรเพียงเล็กน้อยที่ยามาโมโตะเคยมอบให้

    ส่วนเรื่องปฏิบัติการสังหารแมรี่ ซู เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่พยายามขจัดแมรี่ ซูออกจากงานเขียน จนนำไปสู่เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ เราคิดว่าเรื่องนี้มีความใกล้เคียงกับเรื่องบันทึกวานร แต่เป็นเวอร์ชั่นที่อบอุ่นกว่า เข้าใจง่ายกว่า


    yamashiro asako

    จุดเด่นในงานของยามาชิโระ อาซาโกะคือความแฟนตาซีที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง จะว่าเป็น magical realism ก็อาจจะยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่หลายๆ เรื่องก็มีความใกล้เคียงงานของมุราคามิ ฮารุกิ และอีกอย่างที่ไม่รู้ว่ารู้สึกไปเองมั้ยคือกลิ่นอายในงานของยามาชิโระจะชวนให้คิดว่าเรื่องเกิดขึ้นในชนบทที่ไหนสักที่ในยุคโชวะทุกที 5555

    เรื่องสั้นที่คัดสรรมาได้แก่ วิทยุสื่อสาร กับ ปลายทางของสิ่งพิมพ์บางสิ่ง

    เรื่องแรกได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ 3.11 ที่โทโฮคุ เป็นเรื่องของชายผู้สูญเสียครอบครัวไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่เขาเชื่อว่าตัวเองยังสื่อสารกับลูกชายผ่านวิทยุสื่อสารเด็กเล่นที่เก็บกลับมาได้จากในบ้านที่ถูกพัดปลิวไป

    โดยส่วนตัวชอบเมสเสจที่แฝงอยู่ในเรื่องนี้มาก เรารู้สึกว่า 3.11 เป็นเหตุการณ์ที่เศร้ามากๆ สำหรับคนที่รอดชีวิตแต่ต้องเสียครอบครัวไป ตัวเอกในเรื่องนี้ก็ใช้ชีวิตต่อจากวันนั้นด้วยความเจ็บปวด แต่ life goes on วันหนึ่งเราก็ต้องเดินต่อไปข้างหน้า และการเดินไปข้างหน้าก็ไม่ใช่การลืมอดีต เพราะอดีตไม่ว่าจะเจ็บปวดแค่ไหนมันก็จะอยู่กับเรา เป็นส่วนหนึ่งของตัวเราตลอดไป

    ส่วนเรื่องที่สองเป็นแนว bioethics ว่าด้วยการสร้างมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี 3D printing ที่จริงถ้าพูดถึงเรื่องนี้ก็สามารถดิสคัสกันได้ไม่รู้จบด้วยหลักการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวอ่อนมีจิตใจหรือไม่? ใครควรมีสิทธิ์ตัดสินใจสร้างมนุษย์? ฯลฯ แต่เรื่องนี้ละประเด็นพวกนั้นทิ้งแล้วพูดถึงคุณค่าของชีวิตในความรู้สึกของตัวเอกซึ่งคนธรรมดาล้วนๆ ซึ่งอ่านไปก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่สะเทือนใจพอสมควร แต่ก็อด question ในบางประเด็นไม่ได้ (ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติสำหรับ controversial issue แบบนี้)


    echizen mataro

    ท้ายเล่มบอกว่าเอจิเซ็น มาทาโร่เป็นนักเขียนสมมุติในหนัง ออกหนังสือมาเพื่อ PR หนัง ฟังดูเล่นใหญ่ดี 5555

    เรื่องสั้นที่เลือกมาลงเล่มนี้ชื่อ เอวา มารี ครอส เป็นเรื่องที่เราชอบที่สุดในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ เพราะให้บรรยากาศลึกลับหลอนๆ เหมือนงานของโอตสึอิจิในยุคที่เราชอบอย่างที่ได้พูดถึงไป เรื่องดำเนินผ่านมุมมองของนักเขียนบทความที่เข้าไปพัวพันกับปริศนาในอดีตของมหาเศรษฐีผู้ล่วงลับจนได้ค้นพบความจริงอันน่าสยดสยอง

    ขอไม่สปอยว่าตัวเอกเรื่องนี้ไปเจออะไร แต่มันเป็นความหลอนที่ทั้งสวยงาม โหดร้าย และเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ภาพที่บรรยายผ่านตัวหนังสือชวนให้คิดถึงภาพศพในซีรี่ส์ฮันนิบาลที่ทำออกมาได้วิจิตรพิสดารมากๆ


    สรุป

    เรื่องสั้นทั้ง 7 เรื่องมาคนละแนวเลย มีตั้งแต่อบอุ่นหัวใจมากๆ ไปจนถึงหลอนมากๆ จนไม่แน่ใจว่าควรจะติดแท็กเตือนยังไงดี ถ้าเป็นนักอ่านที่คุ้นเคยกับงานของโอตสึอิจิอยู่แล้วคงไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับคนที่ตามมาจากนามปากกานาคาตะ เออิจิอาจจะเหวอได้ในบางเรื่อง

    โดยส่วนตัวแล้วคือชอบมาก เพราะเป็นแฟนหนังสือโอตสึอิจิอยู่แล้ว 5555 และต้องขอชมสำนวนแปลของคุณพรพิรุณผู้แปลงานของโอตสึอิจิมาเป็นจำนวนมาก สำนวนอ่านง่ายลื่นไหลไม่มีจุดติดขัดเลยจริงๆ รูปเล่มก็ทำออกมาสวยมากๆ ด้วย (ถึงปกจะบอบบางไปนิดก็ตาม...)
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in