เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
CinemaniaRED 8
รื้อหนังเก่า : ฝัน บ้า คาราโอเกะ : โลกนี้มันมีแต่คนบ้า
  • หนังเรื่องนี้มีแต่เรื่องราวบ้าๆ ของคนบ้าๆ โลกในหนังช่างดู idiot มีความ WTF สูง แต่นี่มันหนังไทย เรื่องที่พูดก็คือเรื่องในสังคมไทยนั่นแหละ อ้าว! ตกลงหนังหรือสังคมไทยกันแน่ที่ idiot 

    ฝัน บ้า คาราโอเกะ คือผลงานชิ้นแรกของผู้กำกับที่มีความบ้าอย่าง เป็นเอก รัตนเรือง ปี 2540 เป็นปีที่ทำให้เป็นเอกเริ่มเป็นที่จับตามองในวงการหนังไทยมากขึ้น ไม่ใช่เพราะหนังประสบความสำเร็จ แต่เป็นเพราะการเล่าเรื่องที่มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ เรียกว่าเป็น 'หนังติสท์' ของไทยเรื่องแรกๆในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ เพราะคนไทยชินกับการเล่าเรื่องแบบ บอกหมด ชัดเจนและจบบริบูรณ์ การที่ผู้กำกับยัดอะไรที่แปลก แหวกแนวหรือศิลปะฉบับตามใจตนลงไปในการเล่าเรื่อง ได้สร้างความฉงนให้กับคนดู จนทำให้หนังหลายๆเรื่องของเป็นเอกเองกลายเป็น 'หนังดูยาก' ไม่แปลกเลยที่จะมีทั้งคนที่ชื่นชอบและส่ายหน้าหนีแบบครึ่งต่อครึ่ง แต่ต้องยอมรับว่านี่คือมิติใหม่ของหนังไทย ที่เปลี่ยนรสนิยมการเสพหนังของหลายๆคน รวมถึงตัวผมเองให้ขวนขวายหาหนังที่ต้องดูไปคิดไป และให้อารมณ์หม่นแบบนี้มาดูอีกเรื่อยๆ ซึ่งในช่วงปีไล่เลี่ยกันนั้นก็ทำให้ได้รู้จักกับงานของผู้กำกับชาวฮ่องกงอย่าง หว่องกาไว แต่ขานั้นก็จะเน้นหนักไปเรื่องอารมณ์อาลัยอาวรณ์ที่เล่นกับความรักและความตายซะมากกว่า

    เข้าเรื่องหนังดีกว่า...

    ก่อนอื่นขอพูดถึงชื่ออังกฤษที่เรื่องนี้ใช้สักนิดนึง Fun Bar Karaoke เป็นชื่อที่มีความหมายแตกต่างจากชื่อไทย ฝัน บ้า คาราโอเกะ ก็จริง แต่กลับตรงกับเนื้อหาของหนังอย่างน่าขบขัน เพราะไอ้บาร์คาราโอเกะที่แสนจะระเริงนี่แหละที่เป็นจุดเริ่มของเรื่องราวและนำพาตัวละครทั้งหมดมาเชื่อมโยงกันไว้ได้อย่างพอดิบพอดี นอกจากนี้เป็นเอกแสดงให้เห็นถึงรสนิยมความชอบและความบ้าบอตัวเอง ด้วยการใส่ element ที่มันดู idiot เข้าไปในหนังของเค้า ทั้งการล้อเลียน เสียดสี สะท้อนสังคมไทยในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะความเชื่อ วงการมาเฟีย โสเภณี พระเครื่อง หรือแม้กระท้่งปัญหาจราจร มีการจิกกัดที่เป็นตลกร้ายอยู่แทบตลอดทั้งเรื่อง หลายซีนดูแล้วจะรู้สึกได้ว่าเป็นเอกต้องการสื่อว่าสังคมไทยนั่นแหละที่ idiot ยังไม่พอในเรื่องยังมีการแขวะหนังตัวเองด้วยการบอกว่า "พล็อตแบบนี้ใส่เพลงอินดี้ซัก 4-5 เพลงเดี๋ยวก็ดัง" แหน่ะ!!

    หนังผสมผสานทั้งความรัก ความสัมพันธ์ อาชญกรรม และความฝันได้อย่างสนุกสนาน

    หากพูดถึงคำว่า 'ฝัน' ในเรื่องเราสามารถแบ่งมันออกมาเป็น 2 แบบ คือ 'ฝันตอนหลับ' กับ 'ฝันตอนตื่น' ฝันอย่างแรกเป็นภาพที่เกิดจากจิตใต้สำนึกของเรา มันอาจเป็นเรื่องราวบ้าบอที่หาเหตุผลไม่ได้ อาจเป็นทั้งฝันดีและฝันร้าย ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย อย่างที่สองเป็นความฝันที่เกิดจากใจของเรา ฝันที่จะเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตโดยการตั้งเป้าหมายอะไรซักอย่าง ฝันแบบนี้เราควบคุมได้แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้อย่างที่วาดฝัน

    "คนหนึ่ง ขอแค่อย่าให้ฝันนั้นเป็นจริง"

    หนังเปิดเรื่องด้วยซีนเต้นลีลาศสุดคลาสสิค เป็นความฝันตอนหลับของ ปู นำแสดงโดย เฟย์ อัศเวศน์ (เพื่อนของเป็นเอก ที่น่าตกใจคือเล่นเรื่องนี้เรื่องแรกเรื่องเดียวและได้รางวัลสุพรรณหงส์ปีนั้นไปเลย) ปูเป็นเด็กสาววัยเริ่มทำงาน เธอเป็นตัวแทนของเด็กสมัยใหม่ที่ยังไม่หลุดพ้นจากความเชื่อแบบเก่า 'ไม่เชื่ออย่าลบหลู่' เป็นคำที่ใช้หลายครั้งในเรื่องนี้ เป็นเหมือนชุดความคิดที่ฝังหัวคนไทยมาตั้งแต่โบราณ แสดงให้เห็นถึงความกลัวและไม่กล้าที่จะขยับตัว หรือทำไว้ก่อนไม่เสียหาย แม้บางครั้งเรื่องที่ทำจะดูแล้วไร้สาระก็ตามที แต่ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ ปูไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าตนทำตามความเชื่อโบราณเพราะถือเป็นการเสียภาพลักษณ์อย่างแรง ปั๋ม เพื่อนของปู เป็นตัวแทนของเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่แยแสกับความเชื่อคร่ำครึ ไม่ว่าจะเรื่องดวง เรื่องฝัน หรือเรื่องพิธีกรรม ต่างไม่มีผลอะไรกับเธอ แม้ว่าพ่อของปั๋มจะเชื่อเรื่องพวกนี้อย่างมากก็ตาม (คนแก่เป็นตัวแทนของความเชื่อโบราณ กลัวไปซะทุกอย่าง)

    ปูเริ่มฝันเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับแม่ของเธอที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว ความสม่ำเสมอและฝันที่สมจริงทำให้เธอคิดว่านี่ต้องมีผลอะไรกับความจริงบ้าง อาจเป็นลางบอกเหตุที่แม่เธอพยายามจะสื่อสารกับเธอ เพียงแต่เธอไม่สามารถหาความหมายของมันได้ด้วยตัวเอง

    พ่อปั๋มได้ทำนายว่าฝันของปูนั้นเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมาก หากเรื่องในฝันเกิดสำเร็จ มันถึงขั้นที่ทำให้พ่อของเธอตายได้ เธอต้องรีบไปทำพิธีกรรมบางอย่างเพื่อช่วยชีวิตพ่อ หนังได้ทำให้เห็นว่าเรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย พิธีกรรมบ้าๆที่โคตร idiot นั่นมีอยู่จริง ปูยอมทำเรื่องเพี้ยนๆโดยไม่เหลือการไตร่ตรองใดๆ การใช้แต่ความเชื่อทำให้เธอมองข้ามอะไรหลายสิ่ง ขอเพียงพ่อเธอไม่เป็นอะไร เธอมองข้ามไปว่าพ่อของปั๋มก็ไม่ได้เป็นหมอดู เป็นเพียงคนธรรมดาที่มีตำราหมอ เธอไม่รู้สึกตัวเลยว่าไอ้พิธีบ้าๆเนี่ยมันไร้ประโยชน์ ไม่สงสัยเลยว่าทำไมต้องทำแบบนี้ ทำไมต้องทำแบบนั้น เทพองค์ไหนจะช่วย เธอไม่สนใจ ไม่ใช่แค่เธอแต่นี่เป็นมุมมองที่ผู้กำกับมองเห็นสังคมไทยในเกือบ 20 ปีก่อนว่า 'ความเชื่อสำคัญกว่าความรู้' ซึ่งความคิดนี้ก็ยังคงอยู่มานานจนถึงปัจจุบัน การเปิดหนังเรื่องนี้ดูในช่วงใกล้ขึ้นปี 2560 นี้สะท้อนให้เราเห็นอะไรได้บ้าง?

    พ่อของปูรับบาทโดย ปั่น -ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว หนึ่งในตัวละครที่มีความ idiot สูงเป็นตัวละครประเภท 'ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา' ตั้งแต่แม่ของปูเสียไปพ่อก็เอาแต่เที่ยวบาร์คาราโอเกะ เมาเหล้า มีเรื่อง โดนกระทืบกลับบ้านทุกคืน สร้างภาระให้ปูอยู่เสมอ ไม่แน่ว่าในใจของปูเองอาจรู้สึกว่าการมีพ่อแบบนี้ น่าจะมีใครมาฆ่าให้ตายๆไปซะดีกว่า ซึ่งเหมือนกับซีนแรกของเรื่องที่ปูฝันว่าแม่ตัวเองมาฆ่าพ่อเพราะไปติดผู้หญิงอื่น แต่ความเป็นจริงคงไม่มีใครอยากให้พ่อตัวเองตาย บ้านของปูมีฐานะดี พ่อของเธอเล่นหุ้น มีเงินซื้อที่ริมหาดให้แม่ของปู แม้จะกินเหล้าเมามายตลอดทั้งเรื่องแต่ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าพ่อเธอจะมีปัญหาเรื่องเงินเลย มิหนำซ้ำยังมีเงินเหลือเฟือที่จะเปย์เด็กๆในคาราโอเกะได้ทุกคืน เรียกได้ว่ามีเงินเยอะจนคิดว่าทำอะไรก็ได้ จนลืมไปว่าเงินไม่ช่วยได้รอดตายได้ พ่อของปูดันเข้าไปหลงเสน่ห์และมีความสัมพันธ์กับ หยก - แชมเปญ เอ็กซ์ เมียน้อยของเสี่ยเจ้าของคาราโอเกะ ซึ่งดูท่าว่าความสัมพันธ์นี้จะไม่ทำให้พ่อของปูมีอายุยืนสักเท่าไหร่

    ประชดประชัน เสียดสีสังคมไทย ผ่านความคิดของตัวละครได้อย่างแสบสัน

    "อีกคนหนึ่ง ยอมทำทุกอย่างเพื่อไปถึงฝันให้เร็วที่สุด"

    สิ่งที่แหวกจากหนังในยุคนั้นคือ ความสัมพันธ์ของตัวละครเองมีความ idiot รวมไปถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นแม่งก็โคตร idiot หลายอย่างในเรื่องอาจดูไม่สมเหตุสมผลก็จริง แต่ดูแล้วมีเสน่ห์ดึงดูดที่ทำให้เราจดจำ character ได้เป็นอย่างดี เรย์ แมคโดนัลด์  ในบทบาทของ น้อย มือปืนผู้มีความฝันอยากเดินทางไปอเมริกามาก (เหมือนไปตามหาพ่อ) จนทำทุกอย่างเพื่อเก็บเงินให้เยอะและไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ น้อยตั้งใจฝึกพูดประโยคภาษาอังกฤษจากเทปแทบทุกคืน ดูเป็นมือปืนมีการศึกษา ในการทำงานเป็นมือปืนน้อยเป็นตัวละครที่ดูจิตๆ มีความสนุกสนานในการฆ่าและทรมาณคน แต่ในมุมของคนธรรมดาน้อยเป็นคนเฟอะฟะ ทะเล่อทะล่า ขี้อาย และชอบใส่แว่นดำในเวลากลางคืน น้อยและปูชอบต่างกันแต่ก็พยายามเลี่ยงที่จะเปิดโอกาสทำความสัมพันธ์กันอยู่เสมอ และด้วยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในเรื่องนี้ ก็ไม่แน่ว่าความรักของทั้งคู่อาจไม่มีทางเกิดขึ้นได้แบบที่ฝันกันไว้

    ในเรื่องงานด้านภาพถือว่าถ่ายทำ และจัดวางภาพได้เท่และเก๋กว่าหนังไทยอื่นๆในยุคสมัยนั้น แถมใช้เทคนิคถ่ายแบบ handheld ที่ฮิตกันในยุคนี้ซะด้วย โดยรวมงานภาพจะดูไม่เหมือนหนังไทย (ออกทางฮ่องกงด้วยซ้ำ) มีการสื่อสารอารมณ์โดยการใช้โทนสีในซีนต่างๆที่แตกต่างกัน มีความโมเดิร์นตรงการเลือกใช้เพลงต่างชาติ อย่างเพลง My Baby Just Cares For Me ของ Nina Simone  รวมไปถึงเพลงอินดี้จากค่ายเบเกอรี่ในยุคนั้นมาผสมผสานในซีนต่างๆ ซึ่งบางทีก็ดูไม่ได้เข้ากันเลย แต่เราดันจำได้ว่าเพลงอะไรออกในฉากไหน โดยรวมถือว่าการเล่าเรื่องค่อนข้างตรง ลำดับเหตุการณ์เข้าใจง่าย แค่บางอย่างคนดูอาจแปลไม่ออกหรือไม่แน่มันอาจเป็นสิ่งที่ผู้กำกับชอบจึงใส่ลงไปแต่ไม่ได้มีความหมายอะไรก็เป็นไปได้

    ถือว่าเป็นหนังดูสนุก มีมุมตลกร้าย และเสียดสีสังคมไทยอยู่ตลอดเวลา แม้หนังจะไม่ได้เด่นในด้านเนื้อเรื่องแต่ก็เด่นในด้านตัวละครที่ทำออกมาได้มีอย่างมิติ มีความเป็น 'คนไทย' อยู่สูง รวมไปถึงมุมกล้องที่ถูกออกมาแบบอย่างมีศิลปะ หลายซีนจึงออกมาดูเท่เป็นพิเศษ เป็นอีกหนึ่งในหนังไทยดีๆที่หากมีโอกาสก็ควรลองหยิบมาเปิดดูกันครับ

    ปิดท้ายด้วยโปสเตอร์หนังที่โคตรเท่ เฟี้ยวได้ใจวัยรุ่นมากๆ
    แต่คงไม่มีใครลืมโปสเตอร์ของ ตลก69 แน่นอน อันนั้นเด่นติดตายอมใจ


     คะแนนความอิน : 7 / 10


    - - - - --------------------------------------------- - - - - 

    ขอฝากเพจไว้ด้วยฮับ 
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in