เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First Storytsindehella
Introduction to Modelling Clay
  • บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อแนะนำดินและการปั้นสำหรับผู้ที่สนใจ โดยอ้างอิงจากการสืบค้นและประสบการณ์การใช้งานจริงของเราเอง

    ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับดินปั้น ดินปั้นแบ่งกว้างๆ ได้เป็นสามแบบ
    - ดินที่แห้งเองเมื่อโดนลม (air dry clay / air hardening clay)
    - ดินที่ต้องอบถึงจะแข็งตัว (oven baked clay) ซึ่งมักจะหมายถึงดินโพลีเมอร์ (polymer clay)
    - ดินที่สามารถใช้งานซ้ำได้เรื่อยๆ ไม่มีแข็งตัว เช่น ดินน้ำมัน แป้งโด ดินสำหรับปั้น prototype บางชนิด

    อนึ่ง ดินในที่นี้โดยมากไม่ได้หมายถึงดินแบบดินเหนียวที่ใช้ปั้นเครื่องปั้นดินเผาจริงๆ (แบบที่ปั้นดินเผาหรือทำเซรามิกคือ pottery clay ซึ่งแห้งเมื่อโดนลม แต่ก็ต้องเอาไปอบด้วยความร้อนสูงมากอีกรอบจึงจะเสร็จสิ้น) แต่ทำจากวัสดุอื่นที่มีความนิ่มหนืด สามารถยึดเกาะกันได้ในตัวเอง รวมทั้งสามารถยึดเกาะพื้นผิวได้หลายแบบ และสามารถนำมาปั้นขึ้นรูปร่างต่างๆ ได้เหมือนดินเหนียว

    ในบทความนี้เราจะพูดถึงดิน air dry กับ polymer เป็นหลักเพราะใช้ประจำอยู่

    Air dry clay

    ดินแอร์ดรายมีน้ำเป็นส่วนประกอบ หากยังปั้นไม่เสร็จต้องรักษาความชื้นในดินเอาไว้ตลอด ด้วยการใช้ขวดสเปรย์พ่นน้ำใส่หรือจะเอานิ้วแตะน้ำมาลูบๆ ก็ได้ (ห้ามแช่น้ำเพราะมันจะเละ) เมื่อปั้นเสร็จแล้วก็วางทิ้งไว้เฉยๆ ได้เลย พอมันแห้งแล้วจะแข็งตัวเอง

    ด้วยเหตุนั้น ดินที่ยังไม่ได้ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินที่แกะห่อแล้ว ต้องเก็บให้มิดชิดจากลม ส่วนตัวมองว่าบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมของมันถูกออกแบบมาให้รักษาสภาพดินในห่อดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแกะออกมาใส่บรรจุภัณฑ์อื่น แต่ถ้าไม่มั่นใจ ก็เอาแร็ปใสที่แร็ปอาหารนั่นแหละ มาพันหุ้มกันไว้อีกชั้น

    ชิ้นงานที่ทำจากดินแอร์ดรายส่วนใหญ่ เมื่อแห้งแล้วหากยังไม่ได้ลงสีที่สามารถกันน้ำได้เช่น สีอะคริลิก หรือเคลือบ varnish ไม่ควรให้โดนน้ำเพราะเนื้อดินมีโอกาสเสียหายหรือละลายน้ำได้

    โดยผลงานที่มีขนาดเล็กย่อมแห้งไวกว่าผลงานที่มีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามควรจะวางทิ้งไว้ 24 ชั่วโมงถึง 2-3 วันเพื่อให้ชิ้นงานแห้งสนิท หลายครั้งพื้นผิวภายนอกแข็งแล้วแต่ภายในยังไม่แห้ง ในระหว่างนั้นหากชิ้นงานได้รับความกระทบกระเทือน อาจบุบเสียหายได้มากกว่าชิ้นงานที่ข้างในแห้งสนิทแล้ว

    ในหมวด air dry clay ยังสามารถแบ่งย่อยได้เป็นอีกหลายแบบ เช่น
    - ดินเยื่อกระดาษ (paper clay)
    - ดินผงหิน (stone powder clay)
    - ดินเบา (lightweight air dry clay)
    - ดินเรซิน (resin clay)
    เป็นต้น

    - ดินเยื่อกระดาษ (paper clay)
    เนื้อดินมีส่วนผสมของเยื่อกระดาษ เวลาฉีกดินออกจากกันจะเห็นชัดว่าเป็นเยื่อๆ ดินประเภทนี้มีน้ำหนักพอสมควร เวลาแห้งสนิทแล้วจะแข็งมาก ตกไม่แตกไม่ร้าว แต่ชิ้นส่วนเล็กๆ ยังมีโอกาสหักได้ ดินประเภทนี้เมื่อแห้งแล้วสามารถขัดด้วยกระดาษทราย เจาะ แกะสลัก ลงสีต่างๆ ได้ โดยดินเยื่อกระดาษมักจะมาในรูปแบบของสีพื้น เช่น สีขาว สีน้ำตาล

    ดินเยื่อกระดาษยี่ห้อ Homespun
    (หาซื้อง่ายในไทย เมื่อแห้งแล้วแข็งมาก เจาะ/แกะสลักค่อนข้างยากแต่สามารถทำได้)
    ตัวอย่างผลงานที่เราปั้นด้วยดิน Homespun
    **************

    - ดินผงหิน (stone powder clay)
    ดินประเภทนี้มีความคล้ายกับดินเยื่อกระดาษมาก แต่มีส่วนผสมของผงหินด้วย โดยลักษณะการใช้การทั่วไปเหมือนดินเยื่อกระดาษทุกประการ บางยี่ห้ออาจมีน้ำหนักเบากว่า

    ดินผงหินยี่ห้อ La Doll
    (ขึ้นชื่อในหมู่นักปั้น BJD เมื่อแห้งแล้วทนทานสูง แกะสลัก/เจาะได้
    ตัวอย่างผลงานที่เราปั้นด้วยดิน La Doll
    **************

    - ดินเบา (lightweight air dry clay)
    เป็นดินที่มีน้ำหนักเบามากสมชื่อ และเนื้อดินนิ่มมากเมื่อเทียบกับดินประเภทอื่น ดินเบาเมื่อแห้งแล้วพื้นผิวจะคล้ายกับโฟมยาง ลักษณะการใช้งานค่อนข้างต่างกับดินเยื่อกระดาษหรือดินผงหินพอสมควร ดินประเภทนี้สามารถผสมสีลงไปในเนื้อดินได้กรณีที่ดินเป็นสีขาว หรือหากดินมาแยกสีอยู่แล้ว ก็สามารถนำแต่ละสีไปผสมกันให้ได้สีที่ต้องการได้ โดยดินที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า ดินญี่ปุ่น ดินเกาหลี มักจะหมายถึงดินเบาแบบนี้


    ดินเบายี่ห้อ Hearty Soft
    ตัวอย่างผลงานที่เราปั้นด้วยดิน Hearty Soft
    **************

    - ดินเรซิน (resin clay)
    ดินประเภทนี้เราเคยใช้แค่ครั้งเดียว ส่วนตัวคิดว่ามันคล้ายกับดินเบาพอสมควร ต่างกันที่หลังจากแห้งสนิทแล้วจะสามารถกันน้ำได้โดยไม่ต้องเคลือบอีกชั้น ดินเรซินสามารถผสมสีลงในเนื้อดินได้เช่นเดียวกับดินเบา หลังจากแห้งแล้วก็ยังลงสีทับได้ เพียงแต่สีจะติดยากเพราะพื้นผิวลื่นเหมือนพลาสติก

    ดินไทยที่ใช้ปั้นดอกไม้ก็อาจจัดเป็นดินประเภทนี้ (ไม่แน่ใจเพราะไม่เคยใช้)

    ดินเรซินยี่ห้อ Modena Soft
    ตัวอย่างผลงานที่เราปั้นด้วยดิน Modena Soft
    **************


    Polymer clay

    ดินโพลีเมอร์มีองค์ประกอบแบบพลาสติก เมื่อปั้นและอบแล้วชิ้นงานจะนวลเนียนและที่สำคัญกันน้ำ สิ่งที่ทำให้ดินนิ่มปั้นได้คือ plasticizer ดินแบบนี้จึงสามารถปั้นได้เรื่อยๆ เมื่อโดนลมอุณหภูมิปกติไม่แข็ง แต่ถ้าวางทิ้งไว้นานๆ ดินจะแห้งจนปั้นยากขึ้นได้ กรณีนี้ต้องใช้ plasticizer หรือน้ำยาที่ระบุว่าทำให้ดินโพลีเมอร์นิ่มมาช่วย หรือถ้าอยากประหยัด ปิโตรเลียมเจลลี่หรือน้ำมันแบบเบบี้ออยล์ก็ใช้ได้ (แต่เบบี้ออยล์ส่วนใหญ่มีกลิ่น) ซึ่งควรลองใส่ทีละนิดดูก่อน ถ้ามันพอปั้นได้แล้วก็ไม่ต้องใส่เพิ่ม เพราะถ้าใส่เยอะเกินไปดินจะเละ หนืดติดนิ้ว

    ดินประเภทนี้ต้องใช้ลมร้อนในการทำให้แข็งตัว โดยทั่วไปคือใช้เตาอบอบ (เตาอบที่ใช้อบของกินนั่นแหละ) ห้ามใช้ไมโครเวฟเด็ดขาดเพราะมันจะทำให้ดินเสีย ลมจากไดร์เป่าผมก็ทำให้ดินโพลีเมอร์แข็งได้เหมือนกัน แต่ความร้อนจากไดร์ไม่เพียงพอจะทำให้ดินออกมาแข็งแรง

    ส่วนต้องใช้ความร้อนและระยะเวลานานแค่ไหนในการอบขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ให้ดูที่บรรจุภัณฑ์ของมันจะมีระบุไว้ และไม่ควรใช้อุณหภูมิเกินที่กำหนด เพราะจะทำให้สารพิษที่อยู่ในดินระเหยออกมาได้

    ดินโพลีเมอร์แบ่งได้เป็นสองแบบ คือดินสีพื้นที่เหมาะสำหรับการปั้น prototype หรือฟิกเกอร์ต่างๆ กับดินที่แยกสีมาให้ตั้งแต่ต้น โดยแบบหลังนี้สามารถใช้ปั้นแบบเดียวกับที่ดินเบาแยกสีทำได้ และยังสามารถใช้ทำเครื่องประดับตกแต่ง หรือทำแท่ง cane ซึ่งไม่สามารถใช้ดินเบาทำได้อีกด้วย

    ตัวอย่างวิธีการทำ cane ด้วยดินโพลีเมอร์สี


    เนื่องจากดินโพลีเมอร์มีพื้นผิวเรียบลื่นแบบพลาสติก จึงไม่ค่อยเกาะสีเท่าไรนัก แต่สามารถลงสีทับได้ และดินสีพื้นสามารถขัด แกะสลัก เจาะ ได้หลังจากอบแล้ว เช่นเดียวกับดินเยื่อกระดาษและดินผงหิน

    ดินโพลีเมอร์สีพื้นยี่ห้อ Super Sculpey
    ตัวอย่างผลงานที่เราปั้นด้วยดิน Super Sculpey
    **************
    ดินโพลีเมอร์สียี่ห้อ Premo
    ตัวอย่างผลงานที่เราปั้นด้วยดิน Premo
    **************
    ดินโพลีเมอร์สียี่ห้อ Fimo
    ตัวอย่างผลงานที่เราปั้นด้วยดิน Fimo

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in