เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Shall we Netflix and Pizzafrom bed to beach
#4 | Triangle Of Sadness - มันยอร์ชมาก
  •   Triangle Of Sadness (มันยอร์ชมาก) ภาพยนตร์ตลกร้าย เสียดสีสังคม ผลงานล่าสุดของผู้กำกับชาวสวีเดน รูเบน ออสต์ลุน (Ruben Östlund) เจ้าของ รางวัลปาล์มทองคำ (Palm d'Or) ที่เทศกลาลหนังเมืองคานส์ (Cannes Film Festival)  นอกจากนี้หนังได้รับการปรบมือยาวถึง 8 นาที หลังฉายจบในรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลคานส์ 


    เรื่องย่อ
      เรื่องราวที่บอกเล่าชีวิตของ 3  ชนชั้นฐานะทางสังคม ได้แก่ ชนชั้นสูง (พวกคนรวย คนมีอำนาจ), ชนชั้นกลาง และ ชนชั้นล่างสุด (พวกแรงงานในเรือ อย่างพนักงานทำความสะอาด) เริ่มด้วยญาญ่าและคาร์ลได้ขึ้นไปล่องเรือยอร์ช ที่เต็มไปด้วยผู้โดยสารที่มีอำนาจทางการเงินทั้งหลาย ระหว่างมื้อดินเนอร์ที่จัดขึ้นเพื่อกัปตัน สภาพอากาศกลับไม่เป็นใจ การจบลงของมื้อเย็นนี้เลยไม่ค่อยน่าประทับใจเสียเท่าไร ทว่ากลับเกิดเหตุไม่คาดฝันเมื่อทั้งคู่รวมถึงผู้โดยสารและลูกเรือบางคนตื่นขึ้นมาและพบว่าพวกเขาติดอยู่ที่เกาะร้าง สถานการณ์กลับหัวกลับหางเมื่อมีเพียงลูกเรือเพียงคนเดียวที่จะสามารถช่วยให้ทุกคนอยู่รอดได้

      ภาพยนตร์เรื่องนี้แบ่งออกเป็น 3 พาร์ท หลัก ซึ่งหนังเรื่องนี้มีความยาวถึง 2 ชั่วโมง 27 นาที หรือราวๆ 2 ชั่วโมงครึ่ง อาจจะยาวไปสักหน่อยสำรับหนังแนวนี้ แต่ความยาวก็ไม่ได้ทำให้หนังน่าเบื่อ การเดินเรื่องก็ไม่ได้เอือดอาด แต่สื่อการสะท้อนสังคมได้ตรงจุด ย่อยง่าย และไม่น่าเบื่อ นอกจากนี้หลายๆคนก็เทียบกับภาพยนตร์เกาหลีชื่อดัง ที่คว้ารางวัลออสก้าร์ไปอย่าง Parasite จะว่าคล้ายก็ไม่เชิงเพราะเป็นหนังที่เสียดสีชนชั้นสังคมเหมือนกัน แต่อารมณ์และความรู้สึกระหว่างและหลังการรับชมแตกต่างกันสิ้นเชิง


    Part 1
     เรื่องเริ่มต้นด้วยชีวิตของชนชั้นกลางอย่าง คาร์ล (รับบทโดย Harris Dickinson) นายแบบผู้ที่เคยมีชื่อเสียงเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ยังต้องตระเวนหางานถ่ายแบบอยู่ กลับกันแฟนสาวของเขา ญาญ่า (รับบทโดย Charlbi Dean Kriek) ที่เป็นนางแบบแนวหน้าของวงการ สะท้อนถึงแวดวงสังคมในวงการแฟชั่น ที่โอกาสของผู้หญิงและผู้ชายนั้นไม่เท่ากัน นอกจากนี้พาร์ทนี้ยังมีการล้อเลียน ระหว่างแบรนด์แฟชั่น อย่าง 'Balenciaga' ที่นายแบบจะต้องเคร่งขรึมดูดุ เข้าถึงยาก (ภาพลักษณ์ที่แสดงถึงว่าเป็นคนมีคลาส มีระดับ ต้องมีเงินถึงจะเข้าถึงได้)  และ 'H&M ที่นายแบบจะดูสดใส ยิ้มร่าเข้าถึงง่าย (ภาพลักษณ์ที่ใครๆก็สามารถเข้าถึงได้ ราคาถูก เฟรนลี่ เป็นมิตร )

      ในตอนนี้เราจะได้เห็นฉากบนโต๊ะอาหารระหว่างคาร์ลและญาญ่า ถกเถียงกันเรื่องบิลค่าอาหารที่ฝ่ายหญิงปัดไปให้ผู้ชายจ่าย ทั้งที่ก่อนหน้าเธอบอกเองว่าจะเป็นคนจ่ายเองและ เธอยังมีรายได้ที่มากกว่าคาร์ล ซึ่งถือได้ว่าเป็น Gender Role  อย่างหนึ่งของสังคมในยุคปัจจุบัน ที่ผู้ชายจะต้องเป็นคนจ่ายตลอด  นอกจากนี้ความสัมพันธ์ของทั้งสองคนคือการคบหากันเพื่อประโยชน์ทางสังคม


    Part 2
      ญาญ่าได้รับตั๋วล่องเรือยอร์ชฟรีแลกกลับการถ่ายรูปลงโปรโมทลงในโซเชียลมีเดีย เธอและคาร์ลจึงได้ขึ้นมาเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจผู้โดยสารจะเป็นคนรวยเสียส่วนใหญ่ มีฉากหนึ่งในตัวอย่างที่หัวหน้าพนักงานบริการ พอลล่า (รับบทโดย Vicki Berlin) กำชับพนักงานว่าห้ามปฏิเสธผู้โดยสารเด็ดขาดซึ่งในtrailerได้มีฉากนี้ปรากฏอยู่ "I don't wanna hear anybody saying NO. It's always 'Yes, sir!' 'Yes ma'am!' " เปรียบเสมือน ลูกค้าคือพระเจ้า จะเห็นได้ว่าฉากนี้หญิงแก่คนหนึ่งได้บังคับให้พนักงานคนหนึ่งลงเล่นน้ำ และสั่งให้พนักงานทุกคนบนเรือลงเล่นน้ำ สิ่งที่เห็นได้ชัดจากฉากนี้คือ คนมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้เพราะพวกเขามีเงิน ขณะที่คนที่ไร้อำนาจไม่ได้อยากจะทำตามคำสั่งแต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งยังจะเกิดแต่ผลเสียตามมา 

      มื้อเย็นที่จัดขึ้นเพื่อกัปตันเรือ โทมัส (รับบทโดย Woody Harrelson) ผู้ที่ขี้เมา ไร้ความรับผิดชอบ และยังเอาแต่ใจตนเอง กลับมีคนยกย่องเชิดหน้าชูตาด้วยตำแหน่งและยศฐา ฉากนี้คือฉากแห่งความอัปยศเลยก็ว่าได้เพราะกัปตันเลือกที่จะจัดงานมื้อค่ำนี้ในวันที่อากาศไม่เป็นใจ ทำให้ผู้โดยสารต่างอ้วกกันระเนระนาดอาหารราคาแพงที่ทานไปสุดท้ายก็กลายเป็นอ้วก ผู้คนที่ต่างดูสวยหรูแต่งตัวโอ่อ่าสภาพกลับดูไม่ได้ ธรรมชาติมนุษย์นั้นไม่สามารถฝืนได้ทุกคนก็เป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนกัน ในตอนท้ายสุดคนที่ต้องเก็บอ้วกเก็บขี้ก็คือคนชั้นล่างสุด พนักงานระดับล่างที่ต้องตามทำความสะอาดกับสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งนี้สะท้อนถึงไม่ว่าคนรวยจะทำอะไรมาร้ายแรงเละเทะขนาดไหน คนที่รับผิดชอบก็คือคนที่อำนาจต่ำกว่าหรือไม่มีอำนาจต้องตามล้างตามเช็ดให้สะอาดราวกับบทลงโทษ


    Part 3
      หลังจากค่ำคืนสุดหฤโหดและอยากจะลืมมันไปกลับเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น เมื่อพวกเขาตื่นมาและพบว่าติดเกาะร้าง ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางที่ทักษะการเอาตัวรอดชีวิตขั้นติดลบ ขณะที่ชนชั้นล่างอย่างพนักงานทำความสะอาด อบิเกล (รับบทโดย Dolly de Leon) ผู้ที่ก่อไฟเป็น หาอาหารได้ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำในสถานการณ์นี้ มันก็ยากที่จะยอมรับเมื่อที่ผ่านมามีอำนาจต่ำกว่าเราต้องก้มหัวให้เราแต่ตอนนี้เรากลับต้องก้มหัวและทำตามที่เขาสั่ง ถึงแม้ว่าจะติดเกาะเรื่อง Beauty Privilege ก็ยังเกิดขึ้นได้ คาร์ล เป็นคนที่หน้าตา รูปร่างดีที่สุดในหมู่ผู้ชายที่ติดเกาะด้วยกันอย่าง เศรษฐีชาวรัสเซีย นักธุรกิจโค้ดดิ้ง และลูกเรือผิวดำ เขาได้มีสัมพันธ์ทางเพศกับอบิเกล แลกกับการที่เขาได้อาหารและที่พักที่อบอุ่น เรามักจะเห็นว่าสังคมจะหยิบยื่นโอกาสให้แก่ คนสวย คนหล่อ ก่อน และให้ความสำคัญมากกว่าความสามารถ ไม่ว่าจะในโรงเรียน ที่ทำงาน คนที่ไม่ตรงตาม Beauty standard  จะถูกมองเห็นในลำดับท้ายสุดอยู่เสมอ

      เมื่อได้ขึ้นมามีอำนาจ มนุษย์เรามักหลงระเริงไปกับความหอมหวานของอำนาจ การกดขี่ผู้อื่น การที่ทุกคนเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่ง จนไม่ได้นึกถึงวันที่อำนาจนั้นสลายหายไปภายในพริบตา อย่าง อบิเกล ที่ไม่สามารถยอมรับความเป็นจริงได้ว่าต้องกลับคืนสู่โลกแห่งความจริง ความเป็นจริงที่ว่าเธอต้องกลับไปเป็นคนที่ต้องก้มหัวต่ออำนาจที่สูงกว่า ยอมรับการกดขี่จากเจ้านาย 

      เป็นหนังที่ดูแล้วได้ตกตะกอนความคิดหลายอย่าง โลกในตอนนี้กำลังเป็นแบบไหน ความเท่าเทียมที่ไม่มีจริง เมื่อสังคมยังปฏิบัติต่อผู้คนต่างชนชั้นที่แตกต่างกัน อำนาจที่กำลังกดขี่คนที่ไม่มีทางสู้ และการมีหน้ามีตา การเป็นที่ยอมรับในสังคม เรารู้สึกว่าคุ้มค่าที่ได้เสียเงินไปดูในโรง ภาพสวย ดนตรีดี การแสดงที่ยอดเยี่ยม น่าเสียดายที่ Charlbi Dean Kriek ผู้ที่รับบทเป็น ญาญ่า ได้เสียชีวิตก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นฉาย ผลงานชิ้นสุดท้ายของเธอชิ้นนี้จะต้องเป็นที่จดจำของทุกคนในฐานะนักแสดงแน่นอน 






      
      
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in