เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
กลับตาลปัตรrainbowflick17☂️
หลักประกันความสูงถ้วนหน้า: ส้นสูงเป็นของผู้ชาย

  • (ภาพเดียวกันกับภาพหน้าปก ภาพจาก Midaz UK)

    ทุกคนควรมีสิทธิในการต่อความสูงเท่า ๆ กันโดยถ้วนหน้า ส้นสูงจึงควรเป็นของทุกคน แต่ถ้าพูดกันตามประวัติศาสตร์แล้ว ส้นสูงเป็นของผู้ชาย ก่อนที่จะเป็นของเพศอื่น และข้อจำกัดในช่วงแรกที่ทำให้บางคนไม่ได้ใส่ส้นสูง เป็นเรื่องสถานะทางการเงินและสถานะทางสังคมมากกว่าเรื่องเป็นหญิงเป็นชาย 

    ถ้าพูดถึงรองเท้า ก็อดพูดถึงแมคควีนไม่ได้เลย ตอนอเล็กซานเดอร์ แมคควีนออกแบบส้นสูงทรงนี้ ออกจะเท่เฉี่ยวไม่เบา เพราะมันเป็นส้นสูง ที่ไม่มีส้นสูง





    ภาพจาก https://pointytoeshoecrew.wordpress.com/2011/10/16/paris-fashion-week-recall-alexander-mcqueen/ 



    ภาพจาก https://footwearnews.com/2015/fashion/celebrity-style/daphne-guinness-heel-less-shoes-fashion-style-alexander-mcqueen-isabella-blow-37085/



    แต่แฟชั่นก็ไม่ได้มีเสน่ห์แค่เพราะมันแปลกใหม่อย่างเดียว มันยังมีเสน่ห์เพราะมันมักจะทำให้เรานึกถึงเทรนด์เก่า ๆ ด้วย อย่างเช่นถ้าลองมองส้นสูงในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ก็จะพบว่า มันหน้าตารูปร่างคล้าย ๆ กันเลยนะ







    ภาพจาก Collectorsweekly.com คลิกชมภาพสามมิติเพื่อหมุนรองเท้าเล่นได้ ตรงนี้ 


    ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือเมื่อย้อนกลับไปไกลยิ่งกว่าศตวรรษที่ 16 รองเท้าส้นสูงคู่แรกจริง ๆ ไม่ได้ผลิตมาเพื่อความสวยงาม และไม่ได้มาผลิตเพื่อเท้าของสุภาพสตรีแต่อย่างใด 




    High heels start out as a masculine look: ส้นสูงสวมใส่โดยผู้ชาย 


    17th century Persian shoes, Image courtesy The Star/Bata Shoe Museum. เข้าถึงภาพจาก mentalfloss.com 

    ผู้ชายเปอร์เซียนในศตวรรษที่ 10 ใส่ส้นสูงขึ้นบนหลังม้า เพราะจะช่วยให้เท้าพอดีกับโกลนและทรงตัวได้ดีกว่า เรียกว่าผลิตออกมาเพื่อใช้งาน ไม่ใช่เพื่อความสวยงามแต่อย่างใด 


    ต่อมาเมื่อชาวเปอร์เซียอพยพสู่ยุโรปก็ได้นำเทรนด์รองเท้าไปด้วย ช่วงกลางศตวรรษที่ 16 เหล่าชนชั้นสูงผู้ชายเริ่มรู้จักกับรองเท้าชนิดนี้ และพอถึงศตวรรษที่ 17 ชนชั้นสูงผู้ชายต่างพากันสวมรองเท้าส้นสูงเพื่อจะได้ดูสูงและน่าเกรงขามขึ้น


    นอกจากนั้นยังมีความน่าสนใจที่ว่า ไม่ใช่ว่าใครจะใส่รองเท้าส้นสูงเดินไปเดินมาก็ได้ เพราะนอกเหนือจากช่วยให้ทรงตัวได้ดีบนหลังม้าแล้ว ก็ไม่มีความสะดวกสบายคล่องตัวอะไรอีกเลย เมื่อใส่แล้วจะทำงานบางอย่างไม่สะดวก ชนชั้นแรงงานจึงไม่ใส่แน่นอน รองเท้าจึงกลายเป็นสัญลักษณ์บอกสถานะด้วย



     ภาพเหมือนหลุยส์ที่ 14 ปี 1701 ใส่รองเท้าส้นสูงส้นสีแดง Image courtesy Wikimedia Commons. 
    เข้าถึงภาพจาก mentalfloss.com 


    ในปี 1673 หลุยส์ที่14 ได้เอารองเท้าที่มีส้นและพื้นรองเท้าสีแดงมาใช้ในราชสำนัก จำกัดให้มีการสวมใส่รองเท้าดังกล่าวเฉพาะในกลุ่มบรรดาขุนนางของตัวเอง ซึ่งต่อมาการใส่รองเท้าลักษณะนี้กลายเป็นแฟชั่นที่รับเอาไปใช้ต่อกันในเหล่าราชวงศ์ทั่วยุโรป สีแดงนี้จัดเป็น Color Coding หรือการใช้สีเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าและความมีสิทธิพิเศษ (privilege) 


    แล้วมันไปอยู่กับเท้าผู้หญิงตั้งแต่เมื่อไหร่

    อลิซาเบ็ธ เซมเมลแฮก ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ Bata Shoe ในโตรอนโต ประเทศแคนาดา ได้เล่าถึงเรื่องส้นสูงกับผู้หญิงไว้ว่า มันเริ่มขึ้นมาได้เพราะมีกระแสแฟชั่นช่วงทศวรรษ 1630 ที่ผู้หญิงชอบหยิบยืมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายผู้ชายมาใส่ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหมวกที่มีขนนก แผงประดับหน้าอก หรือแต่งตัวให้ดูมีความเป็นชายอยู่ในเสื้อผ้า บางคนตัดผมและสูบไปป์ด้วย โดยคนที่แต่งตัวแบบนี้จะถูกมองว่ากล้า ก๋ากั่นและทันสมัยเอามาก ๆ (Robertson,2013 ; Goldhill, 2018)


    ก็คงจะเป็นตอนนั้นนั่นแหละที่ผู้หญิงได้สัมผัสกับส้นสูงเป็นครั้งแรก

  • ปลายศตวรรษที่ 15 ถึงต้นศตวรรษที่ 17 สาวยุโรปชั้นสูงยิ่งสูงสมชนชั้นเมื่อหันมาใส่รองเท้าที่เรียกว่า 'chopine'  โดยรองเท้าชนิดนี้ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในเวนิส มีความสูงมากกว่าปกติ บางครั้งสูงถึง 54 เซนติเมตร ถ้าใส่สูงขนาดนั้นเวลาเดินต้องมีคนเดินขนาบข้างเป็นเสมือนไม้ค้ำเลยทีเดียว และถ้าตกลงมาก็ตายได้ด้วย

    Chopine แบบไม่สูงเท่าไหร่ ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Chopine
    Chopine แบบสูงหน่อย ภาพจาก  yeb.com

     ไม่มีใครโอกาสได้เห็นส้นสูงของสาว ๆ ยุคนี้แต่อย่างใด เพราะพวกเธอสวมกระโปรงยาวปิดรองเท้าเอาไว้ทั้งหมด แปลว่ายิ่งรองเท้าสูงก็จะต้องใช้กระโปรงยาวมาก กระโปรงยิ่งยาวก็ยิ่งใช้ผ้ามาก เป็นการบ่งบองถึงฐานะด้วยนั่นเอง



    Pietro Bertelli, “Courtesan and Blind Cupid,” was made with a hinged dress that reveals a pair of Venetian undergarment-style chopines, circa 1588. Via the Metropolitan Museum of Art. ภาพจาก collectorweekly.com 
    จุดประสงค์ของการใส่รองเท้านั้นต่างกันไป มีการใส่รองเท้าส้นสูงเพื่อให้เท้าเล็กมากกว่าเพื่อเพิ่มความสูงอีกด้วย เป็นผลพวงมาจากแนวคิดว่าผู้หญิงสวยคือผู้หญิงเท้าเล็ก เมื่อใส่ส้นสูงและใส่กระโปรงยาวแล้ว ก็จะสามารถโชว์ส่วนที่รองเท้าโชว์ออกมา ทำให้ดูเหมือนว่าเท้าเล็ก*

    สรุปได้ว่าในช่วงหนึ่ง ทั้งผู้หญิงและผู้ชายในยุโรปต่างก็ใส่ส้นสูงกันทั้งนั้น

    แล้วผู้ชายเลิกใส่เมื่อไหร่

    ช่วงปลายศตวรรษที่ 17 แนวคิดหนึ่งของยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) ที่มองว่าผู้ชายและผู้หญิงมีลักษณะต่างกัน โดยผู้ชายเจ้าเหตุผล ผู้หญิงเจ้าอารมณ์ กลายเป็นแนวคิดที่ส่งผลกระทบไปถึงการแต่งตัว
    ส้นสูงเริ่มถูกมองเป็นเครื่องแต่งกายไม่เหมาะกับผู้ชาย เพราะส้นสูงใช้งานจริงไม่ได้ ไม่สะดวก (Practical) ที่แน่ ๆ คือไม่สะดวกเท่ารองเท้าไม่มีส้น ไม่คล่องตัว ไม่เหมาะกับเพศที่ใช้เหตุผลและเน้นการปฎิบัติจริงแบบเพศชาย เมื่อมันใส่แล้วไม่คล่องตัว เหลาะแหละ มันควรจะเป็นของเพศหญิงที่ใช้อารมณ์มากกว่า
    ก็เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าการแบ่งกลุ่มโดยใช้เพศเริ่มเข้ามาแทนการแบ่งกลุ่มที่ใช้สถานะทางสังคมหรือสถานะทางการเงิน (gender, rather than class)
    ในศตวรรษที่ 18 รองเท้าส้นสูงกลายเป็นรองเท้าสำหรับ ผู้หญิง โดยสมบูรณ์ จากนั้นรูปร่างหน้าตามันจึงค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นเหมือนรองเท้าส้นสูงที่ส้นสูงแหลมขึ้นเรื่อย ๆ และปลายรองเท้าแหลมแบบวันนี้


  • Currently related topics 

    ส้นสูงกับเฟมินิสต์

    Christian Louboutin ดีไซเนอร์ดังเคยกล่าวไว้ในปี 1950 ว่า ส้นสูงทำให้ผู้หญิงเดินช้าลง เปิดโอกาสให้ผุู้ชายได้มองผู้หญิงคนนั้นมากขึ้น และเขาผลิตรองเท้าโดยคำนึงถึงความพอใจของผู้ชายด้วย 
    มีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับส้นสูงและการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ประวัติศาสตร์บอกให้รู้ว่าผู้หญิงต้องพยายามปรับอะไรหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้ผู้ชายพอใจ ในมุมหนึ่ง ผู้หญิงต้องใส่ส้นสูงเพื่อจะสวยตามคติความสวยที่(เมื่อย้อนกลับไปก็จะพบว่า)สร้างโดยผู้ชาย 

    ในอีกมุม การใส่ส้นสูงเพราะพอใจจะใส่เป็นการแสดงออกถึงสิทธิในร่างกายและอิสระทางเพศของตัวเอง เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีสิทธิ์ที่จะเลือก รวมถึงเป็นการให้ความหมายใหม่ (redefine) กับรองเท้าชนิดนี้
    ปัจจุบันก็ยังเห็นการโต้วาทีเรื่องนี้กันอยู่

    ส้นสูงกับการกดทับในที่ทำงาน

    ไม่ว่าแนวคิดส้นสูงในชีวิตประจำวันกับเฟมินิสต์จะไปกันได้หรือไม่ เรื่องการบังคับ หรือออกกฎว่าผู้หญิงจะต้องใส่ ส้นสูง (และกระโปรงทรงเอ ในขณะที่กางเกงไม่สุภาพ) เท่านั้น ดูจะไปกันไม่ได้อย่างมาก

    ส้นสูงไม่เพียงลดความคล่องตัวในการทำงาน แต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเท้า ข้อเท้า และขา การบังคับให้เพศใดเพศหนึ่งใส่ทั้งที่ไม่เกิดประโยชน์จึงเป็นประเด็นขึ้นมา คำตอบเรื่องภาพลักษณ์ก็ดูจะไม่สามารถสร้างความพอใจได้ด้วย เพราะมีน้ำหนักน้อยกว่าข้อเสียสองข้อข้างบน
  • Other Related Topics
    - การรัดเท้า
    - พูดถึงรองเท้ากับชนชั้น ในเรื่องซินเดอเรลลา รองเท้าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เธอสามารถเปลี่ยนสถานะจากคนใช้ไปเป็นชนชั้นสูงได้ 

    - นึกถึงเซ็ทภาพถ่ายของเอซรา มิลเลอร์ ที่ใส่ส้นสูงค่ะ
    - แล้วที่จริงหัวข้อวันนี้ก็ไม่ได้กลับตาลปัตรเท่าไหร่ ถ้าไม่เอากรอบไปครอบเครื่องแต่งกายเสียตั้งแต่แรก
  • References 


    Brennan, S. (2019, March 20). Sex, power, oppression: why women wear high heels. Retrieved from https://www.theguardian.com/fashion/2019/mar/20/sex-power-oppression-why-women-wear-high-heels

    Goldhill, O. (2018, July 1). It's enlightenment philosophy's fault that women wear high heels instead of men. Retrieved from https://qz.com/quartzy/1317090/its-enlightenment-philosophys-fault-that-women-wear-high-heels-instead-of-men/

    Murray, R. (2016, July 21). What?! High heels were originally invented for men ? here's why. Retrieved from https://www.today.com/style/surprisingly-functional-reason-high-heels-were-invented-t100969

    Nast, C. (2017, July 12). High Heels Actually WEREN'T Created For Women. Retrieved from https://www.teenvogue.com/story/heels-history-men

    Pitt, B. (n.d.). Do Your High Heels Make a Feminist or Misogynistic Statement? Retrieved from https://bust.com/style/10710-do-your-high-heels-make-a-feminist-or-misogynistic-statement.html


    เหมือนเดิม สะกดผิด แปลประหลาด ขอความเมตตา เตือนได้นะคะ

    Contact
    twt : @rainbowflick17




    ขอบคุณจ้า ขอให้มีสุขภาพเท้าที่ดีกันทุกคน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in