เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
whatfilmbehoramiji
Talk: Blade Runner 2049 "What Is It To Be Human?"
  • *SPOILER ALERT*
    บทความเรื่องนี้สปอยล์ทุกอย่างใน Blade Runner 2049
    ดูหนังแล้วค่อยอ่านนะ


    Blade Runner 2049

    ____________________

    What Is It To Be Human?

    เท่าที่จำได้ ยังไม่เคยร้องไห้ให้หนังไซไฟมาก่อนเลย...
    แต่ดู Blade Runner 2049 น้ำตาไหลไปสองฉากถ้วน ; _ ;

    ทั้งตัวเรื่อง ใจความที่สื่อ และการแสดงประกอบกัน
    มันสวยงามสะเทือนใจ กลั่นน้ำตาให้ค่อยๆ ไหลออกมาโดยไม่คาดคิด

    ถ้า Blade Runner (1982) เป็นหนังที่ตั้งคำถามต่อ "ความเป็นมนุษย์"
    Blade Runner 2049 ก็คงเป็นคำตอบที่งดงามที่สุดที่วิลล์เนิฟจะให้ได้

    ว่าแต่... คำตอบของความเป็นมนุษย์คืออะไรกันแน่?

    __________

    I. BIRTH

    "Happy Birthday."
    - Niander Wallace -

     

    การกำเนิดโดยธรรมชาติทำให้เราเป็นมนุษย์?

    จริงหรือ?

    การ "ถือกำเนิด" ก็คือมี "จิตวิญญาณ" ละมั้งครับ คือสิ่งที่เจ้าหน้าที่เคกล่าวไว้ ตอนจำใจรับคำสั่งไปทำลายเด็กที่เกิดจากมนุษย์เทียมเรเชล แต่อะไรทำให้ "การถือกำเนิด" (being born) ฟังดูศักดิ์สิทธิ์ถึงเพียงนั้น?

    เพราะมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ?
    มันก็แค่กระบวนการทางกายภาพมิใช่หรือ?

    หรือเพราะคนเราให้ค่าความหมายกับมัน?

    ในโลกที่เราอาศัยอยู่ เทคโนโลยีโคลนนิ่งเป็นที่ถกเถียงอย่างยิ่งในทางศีลธรรมจริยธรรมเพราะอะไร? เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งนั้นผูกกับหลักการในทางศาสนาคริสต์ คือ มันเป็นการกระทำที่ "ดูหมิ่นพระเจ้า" คริสต์ศาสนานับถือพระเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด เป็นผู้สร้างและดลบันดาลสรรพชีวิตบนโลก เมื่อมนุษย์ทำตัวเป็นพระเจ้าและสร้างชีวิตใหม่ของมนุษย์ขึ้นด้วยมือตนเอง ย่อมเป็นการสั่นคลอนความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจสูงสุดของพระองค์ การโคลนนิ่งจึงยังไม่เป็นที่ยอมรับและไม่อาจมี(อย่างเป็นทางการ) จวบจนปัจจุบัน

    ในเบลดรันเนอร์ มนุษย์เทียมได้รับการยอมรับให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นแรงงานทาส แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้สามารถ 'ให้กำเนิด' อยู่ดี พวกเขาถูกออกแบบและสั่งผลิต มิใช่เกิดจากมดลูกหรือสืบพันธุ์ได้เอง สถานะของมนุษย์เทียมจึงไม่ต่างจากสินค้าอื่น ไม่มีอภิสิทธิ์ในการได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ เพราะไม่ถูกยอมรับว่าเป็นมนุษย์

    แล้ว...ตกลงว่าพระเจ้าหรือมนุษย์กันแน่
    ที่ทำให้ "การถือกำเนิด" ศักดิ์สิทธิ์?


    ใน Blade Runner 2049 ผู้หมวดโจชิ หัวหน้าของเจ้าหน้าที่เค สั่งให้เขาทำลายหลักฐานทุกอย่างที่มีอยู่และเป็นข้อพิสูจน์ว่ามีมนุษย์เทียมที่สามารถตั้งครรภ์ได้ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นหายนะของมนุษยชาติ แน่นอนว่ามันน่ากลัวถ้ามนุษย์เทียมไม่ใช่สิ่งที่คนจะควบคุมการเพิ่มจำนวนด้วยการสั่งผลิตได้อีกต่อไป แต่จะแพร่พันธุ์ได้อย่างอิสระ และด้วยความสามารถ ความแข็งแกร่ง สมรรถนะที่เหนือกว่ามนุษย์แท้ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ที่นับวันยิ่งแพ้ภัยตัวเอง โลกในภายภาคหน้าอาจกลายเป็นโลกของมนุษย์เทียม

    อ้าว ตกลงว่ามนุษย์อยากคงความศักดิ์สิทธิ์ของการถือกำเนิดโดยธรรมชาติ หรือมันก็แค่ความหยิ่งผยองที่อยากให้เผ่าพันธุ์ตัวเองให้ปกครองโลกต่อไป จนกลายเป็นความกลัวต่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่จะเกิด - อย่างที่เลิฟปรามาสไว้ - กันแน่นะ?

    ตอนที่ว่ามนุษย์กลัวมนุษย์เทียมจะยิ่งใหญ่แทน เป็นฉากที่เลิฟแสดงออกทางอารมณ์มากที่สุดฉากหนึ่ง 

    "สุขสันต์วันเกิด" เป็นสัญญะที่ถูกนำเสนอซ้ำๆ ในหลายมิติ ตั้งแต่ตอนที่นีแอนเดอร์ วอลเลซตรวจสอบมนุษย์เทียมโมเดลใหม่ของตน ไปจนถึงตอนที่ดร.สเตลลีนคุยกับเคไปด้วย ทำงาน 'สร้างความทรงจำ' ไปด้วย และความทรงจำนั้นเป็นช่วงเวลาเป่าเค้กวันเกิดของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ความสำคัญของมันจริงๆ อาจเป็นตอนที่หนังหลอกให้เราคิดว่า เคเป็นลูกที่เกิดจากเรเชลกับริค เด็คคาร์ด และจอยเอ่ยย้ำว่าการเกิดมานั้นสำคัญยังไง


    เพราะการได้ 'เกิด' มา ไม่ใช่ถูกสร้าง แปลว่า เขาเป็นที่ต้องการ เป็นที่รัก

    บางครั้งมนุษย์เราก็ต้องการแค่นั้น

    นึกถึงเด็กที่เกิดมาโดยพ่อแม่ไม่ตั้งใจ หรือแย่กว่านั้นคือถูกทิ้ง ถูกย้ำซ้ำอีกหนว่าไม่มีใครต้องการไม่ว่าจะให้เกิด หรือให้อยู่ด้วยสิ มนุษย์แท้ๆ ในโลกของเรายังต้องกระเสือกกระสนอยู่กับปมนี้ตั้งแต่เกิดและตลอดไปทั้งชีวิตเลย นับประสาอะไรกับเหล่ามนุษย์เทียมที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ในการใช้งาน ในการเป็นทาสตั้งแต่แรกล่ะ ชีวิตที่ไม่ได้เลือกเกิด แถมยังไม่ได้เลือกแม้แต่จะอยู่หรือใช้มันยังไงแบบนั้นน่ะ... แล้วจะไม่ให้เคคิดฝันไปไกลได้ยังไงเมื่อเบาะแสที่คลำได้ในขณะนั้นมันบอกเขาอย่างนั้น

    ว่าเขาเกิดจากความรักของคนคู่หนึ่ง

    แม้จะเป็นคนคู่ที่เป็นมนุษย์เทียม
    แม้ว่าพ่อแม่จะถูกผลิตขึ้นมา

    แต่การได้ลืมตาดูโลกด้วยวิธีการเดียวกันกับมนุษย์แท้ ด้วยความรักของพ่อกับแม่ 

    มันอาจเป็นสิ่งใกล้เคียงการเป็นมนุษย์ที่สุดเท่าที่เขาจะมีได้

    (แม้สุดท้ายทุกอย่างจะเป็นเพียงภาพลวงตาและความฝันอันแหลกสลายของเคก็ตาม ㅜ ㅜ)

    __________

    II. MEMORIES

    "Implants. Those aren't your memories, they're somebody else's."
    - Rick Deckard, 2019 -

     

    การมีความทรงจำทำให้เราเป็นมนุษย์?

    อย่างที่กล่าวไว้ในบทความ"Peek: Blade Runner 2049 หนังภาคต่อฉบับวิลล์เนิฟ" (ถ้าไม่เคยอ่านและไม่เคยดูภาคแรก แนะนำให้ไปอ่าน จะได้เข้าใจสิ่งที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้) ว่าใน Blade Runner (1982) นั้น เด็คคาร์ดต้องใช้กว่าร้อยคำถามในการตรวจจับว่าเรเชลเป็นมนุษย์เทียมหรือไม่ (ขณะที่มนุษย์เทียมทั่วไปใช้ 20-30 คำถาม) นั่นเป็นเพราะเรเชลมีความทรงจำ ไทเรลล์ผู้สร้างมนุษย์เทียมในภาคแรกได้ปลูกถ่ายความทรงจำของหลานสาวตัวเองลงไปในสมองเธอ

    ให้เธอมีความทรงจำวัยเด็ก
    จำได้ว่ามีแม่ มีพี่ชาย

    จำเรื่องราวเล็กน้อยที่ฝังแน่นโดยไร้เหตุผล
    ทั้งที่ความทรงจำนั้นไม่ใช่เรื่องราวของเธอ

    ไม่ใช่ความจริงของเธอ

    ไทเรลล์เคยอธิบายกับเด็คคาร์ดถึงเหตุผลที่ทดลองปลูกถ่ายความทรงจำให้เรเชลว่า มนุษย์เทียมเริ่มแสดงพฤติกรรมความหมกมุ่นแบบแปลกๆ และอาการโรคจิต เพราะมันไม่มีประสบการณ์ในการจัดการกับอารมณ์ (แน่นอนเพราะเกิดมาก็เป็นคนเลย ไม่ได้ค่อยๆ โตและผ่านการพบเจอสิ่งต่างๆ และเรียนรู้ปรับตัวใดๆ) แต่ถ้าสร้าง 'อดีต' ให้มนุษย์เทียม ก็จะมีฐานรองรับในการเกิดอารมณ์ความรู้สึก เมื่อมีความรู้สึกก็จะควบคุมได้ง่ายขึ้น

    ถ้าเราไม่รู้จักความเจ็บปวด
    จะมีใครทำร้ายเราได้ไหม? 
    ตีเท่าไรก็ไม่เจ็บ ถูกไหม?

    ถ้าเราไม่รู้จักความเสียใจ
    จะมีใครทำเราร้องไห้ได้ไหม?
    เสียใครไปเราก็ไม่มีน้ำตาจะเสียให้ จริงไหม?

    ถ้าเราไม่รู้จักความรัก
    จะมีใครทำให้เรารักได้ไหม
    ให้ใจมาเท่าไร ก็ไม่มีอะไรจะให้ตอบ ใช่ไหม

    แต่ถ้าเรามีความรู้สึก คนอื่นก็ขู่ทำร้ายร่างกายให้เรากลัวได้ ทำให้เราเสียน้ำตาได้ ทำให้เรารักแทบเป็นแทบตายได้ เราถูกควบคุมได้เพราะเรารู้สึก เราไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ทำอะไรตามตรรกะและเหตุผลร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา เราอาจถูกโน้มน้าวและชักจูงให้ทำตามคนอื่นต้องการได้

    และสิ่งที่เราประสบก็สร้างความทรงจำ
    ความทรงจำทิ้งร่องรอยเป็นความรู้สึก

    รูปถ่ายของแม่กับเรเชล: หรือที่จริงก็คือหลานสาวไทเรลล์ ผู้เป็นเจ้าของความทรงจำเธอ

    ไทเรลล์ใส่ส่วนผสมเล็กๆ ที่ทำให้มนุษย์อ่อนแอลงไปในเครื่องจักร

    ความทรงจำที่ถูกปลูกถ่ายจึงทำให้เรเชลใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่ามนุษย์เทียมอื่นๆ ทั่วไป

    เอาว่าชีวิตจริง ทำไมคนเราเวลาเลิกกับแฟนเก่าแล้วยังรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่เห็นเขาอยู่กับคนอื่น หรือเวลาคนที่รักตายไปแล้วบางคนจึงทนอยู่ในบ้านที่เคยอยู่ด้วยกันอีกไม่ได้ เพราะความทรงจำเกี่ยวกับพวกเขามันยังทำให้เรารู้สึกได้เสมอยังไงล่ะ มันควบคุมให้เราหันหน้าหนีภาพบาดตาของแฟนเก่ากับคนอื่น มันควบคุมให้เราย้ายบ้านหนีภาพคนที่รักซึ่งเรายังมองเห็นซ้ำๆ ในมุมโน้นมุมนี้ของบ้าน

    ใน Blade Runner 2049 ดร.สเตลลีนผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างความทรงจำของมนุษย์เทียมก็พูดถึงการที่ความทรงจำทำให้มนุษย์เทียมตอบสนองได้เหมือนคนจริงๆ อดีตยังช่วยให้มนุษย์เทียมมีสิ่งยึดเหนี่ยว ให้ได้คิดถึงและมีรอยยิ้ม เพราะนั่นคือสิ่งที่แม้แต่มนุษย์แท้ก็ต้องการ...ความทรงจำดีๆ ที่ทำให้หวนกลับไปนึกถึงทีไรก็มีแต่รอยยิ้มยังไงล่ะ 

    และหนังยังขยี้หนักเข้าไปอีกด้วยการเล่นประเด็นปลูกถ่ายความทรงจำกับพระเอกของเรา 

    ความทรงจำเกี่ยวกับม้าไม้ของเล่นทำให้เคเข้าใจผิด และเมื่อคิดว่าความทรงจำพวกนั้นเป็นของเขา และเขาเคยมีวัยเด็กจริงๆ มันก็ทำให้เขาสับสน เมื่อหนังหลอกซ้ำด้วยการเล่นกับคำยืนยันของสเตลลีนว่า 'มีคนอยู่ในความทรงจำนี้จริงๆ' (ซึ่งเธอหมายถึงตัวเองเพราะนั่นคือความทรงจำของเธอ) จึงยิ่งตอกย้ำให้เคเข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ เป็นคนพิเศษ เป็นเด็กที่เกิดมาจริงๆ เป็นอะไรที่ใกล้เคียงกับมนุษย์จริงๆ ที่สุด ใกล้เคียงยิ่งกว่ามนุษย์เทียมคนไหนๆ


    พอมั่นใจ(ไปผิดๆ) ว่าตัวเองมีความทรงจำที่แท้จริง ไม่ได้ปลูกถ่ายมา เคจึงเริ่มรู้สึกมากขึ้น จากที่ทำหน้านิ่ง ไม่แสดงออกทางอารมณ์มากนักมาตลอด (ตามประสามนุษย์เทียม) เริ่มตั้งแต่คลั่งตะโกนต่อหน้าดร.สเตลลีน ไปจนกระทั่งไม่ผ่านการทดสอบ Post-Trauma Baseline Test* ที่กรมตำรวจแอลเอ ไปยันโกหกกับหัวหน้าว่ากำจัดเด็กคนนั้นเรียบร้อยแล้ว ไปจนถึงเสียใจเมื่อรู้ความจริงว่าตนไม่ใช่เด็กที่ 'เกิด'


    ถือว่าหนังโหดร้ายมากจริงๆ ㅠ ㅠ
    (โอ๋นะเคลูกกกกก)

    แต่นั่นละ ทั้งหมดนี้ยืนยันกับเราว่าการมีความทรงจำทำให้เรารู้สึก 

    ถ้าเราไม่มีความทรงจำเลย เราจะยังเป็นมนุษย์อยู่ไหม คงยากที่จะตอบ

    ที่แน่นอนก็คือ ความทรงจำตั้งแต่เริ่มจำความได้มาจนถึงทุกวันนี้ หล่อหล่อมให้เราเป็นเรา เป็นมนุษย์ตนที่ยืนอยู่ตรงนี้ขณะนี้

    (หรือนั่งอยู่ นอนอยู่ และอ่านบทความนี้อยู่นี่)

    __________

    III. FEELINGS

    "Replicants weren't supposed to have feelings... neither were blade runners.
    "
    - Rick Deckard, 2019 -

     

    การมีความรู้สึกทำให้เราเป็นมนุษย์?

    ต่อจากข้างบน เมื่อความทรงจำทำให้เรามีความรู้สึก การมีความรู้สึกก็ทำให้เราถูกควบคุมได้ โดยบางครั้งผู้ควบคุมก็อาจไม่รู้ตัว คนบางคนก็ไม่ตั้งใจจะทำให้เราเจ็บ หรือทำให้เรากลัว หรือทำให้เรารักหรอก แต่ว่าเราก็รู้สึกไปแล้ว และมันห้ามไม่ได้ด้วย 

    แต่มันคือสิ่งบ่งชี้ความเป็นมนุษย์ใช่หรือเปล่า?

    เจ้าหน้าที่ KD6-3.7 ของเรานั้น เป็นมนุษย์เทียมที่ถูกออกแบบมาให้มีประสิทธิภาพสูงมาก (ดูมันวิ่งทะลุกำแพงสิ--) เพื่อเป็นเบลดรันเนอร์ที่จะล่าตัวมนุษย์เทียมรุ่นเก่ากว่าตนและปลดประจำการ (ฆ่านั่นแหละ) แต่เคก็ยังเป็น Emotion-Based Replicant คือมนุษย์เทียมรุ่นที่พัฒนาให้มีความรู้สึก (เรเชลเป็นตัวแรก) ก็ยังรู้สึกรู้สา ไม่ถึงกับทื่อเป็นหุ่นยนต์แบบพวกสมัยภาคแรก ที่ตัวเด็คคาร์ดเองเคยบรรยายไว้ว่า 'มนุษย์เทียมไม่ควรมีความรู้สึก เบลดรันเนอร์ก็เช่นกัน'

    เมื่อทำงานเสร็จ เราจะเห็นเคถูกทดสอบในห้องเล็กๆ มีคอมพิวเตอร์จ้องเขา คอยถามคำถามแปลกๆ ให้เขาทวนคำ ถ้าเครื่องทดสอบ Voight-Kampff ที่เด็คคาร์ดใช้สอบเรเชลในภาคแรกเป็นเครื่องตรวจจับว่าใครเป็นมนุษย์เทียม เจ้า Post-Trauma Baseline Test* นี่ก็เป็นประมาณเวอร์ชั่นย้อนกลับของมัน 

    Post-Trauma Baseline Test ใช้ทดสอบคนที่ระบุได้อยู่แล้วว่าเป็นมนุษย์เทียม และตรวจจับความเสี่ยงว่ามันจะมีความเป็นมนุษย์มากเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือยัง (แน่นอน คงไม่ดีถ้าเบลดรันเนอร์เกิดเห็นใจมนุษย์เทียมที่ตนต้องปลดประจำการขึ้นมา | ภาคแรกเด็คคาร์ดเคยบ่นเรื่องนี้ไว้ด้วยตอนที่ต้องยิงมนุษย์เทียมผู้หญิงจากข้างหลัง ว่ามันไม่ได้รู้สึกดีเลย ทั้งที่เบลดรันเนอร์ไม่ควรจะรู้สึกอะไร)

    ส่วนไอ้คำที่เครื่องมันให้เคทวนๆ ชวนปวดประสาทนั่น ถ้าถอดออกมาแล้วจะได้แบบนี้:

    Cells interlinked within cells interlinked
    Within one stem. And dreadfully distinct
    Against the dark, a tall white fountain played.

    เป็นคำประพันธ์จากหนังสือ "Pale Fire" ของวลาดิเมียร์ นาโบคอฟ* มีใจความเกี่ยวกับการฆาตกรรม ความบ้าคลั่ง อะไรสักอย่าง แต่ใจความของมันคือการพึ่งพาอาศัยกันและกันของสองสิ่ง ซึ่งในหนังก็มีเป็น easter egg อยู่โต้งๆ ตรงหนังสือที่จอยอ้อนให้เคอ่าน และเคแย้งว่าเธอไม่ชอบมัน เธอเลยบอกว่าไม่อยากอ่านแล้วโยนทิ้งไป มันคือเล่มนั้นแหละ

    (*source: “Blade Runner 2049”: The Mysteries Deepen)

    กลับมาที่เค...

    ในการทดสอบนี้

    ครั้งแรก เคผ่านค่ามาตรฐานสบายๆ
    ครั้งที่สอง เคหลุดค่ามาตรฐานไปเป็นไมล์...

    เพราะตอนนั้นเคไปรับรู้ความจริง(ผิดๆ--) มาแล้วว่าตัวเองคือเด็กที่เกิดมาคนนั้น มันทำให้ความรู้สึกเขาเปลี่ยนทันที ท่วมท้นทันควัน จนไม่ผ่านการตรวจของเครื่อง


    ถึงตรงนี้ หนังเล่นกับความคิดเรา ทำให้เราคิดไปว่า เคมีความรู้สึกเพราะเป็นมนุษย์ที่เกิดมาจริงๆ (แม้จากมนุษย์เทียม) ใช่ไหม? 

    กระทั่งเรื่องราวคลี่คลายว่าเคไม่ใช่เด็กคนนั้น ความจริงที่ปรากฏขึ้นใหม่จึงกลายเป็น: 

    เคมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นเพราะมีความรู้สึก

    __________

    IV. LOVE

    "Sometimes to love someone, you got to be a stranger."
    - Rick Deckard, 2049 -

    การรักใครสักคนทำให้เราเป็นมนุษย์?

    ความรักเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง
    ความรู้สึกที่ทำให้มนุษย์เสียการควบคุมตัวเอง

    ยอมให้ตัวเองถูกควบคุม

    ความรักทำให้คนเรายอมทำได้ทุกอย่างเพื่อคนที่เรารัก แม้กระทั่งการไม่ได้อยู่กับเขา ถ้านั่นจะหมายถึงการปกป้องเขาเอาไว้

    อย่างที่ริค เด็คคาร์ดว่า "บางครั้งการรักใครสักคน เราก็ต้องเป็นคนแปลกหน้าซะ"

    ริคจำเป็นต้องแยกกับเรเชลเพื่อโอกาสรอดในการหลบหนีและซ่อนเร้นลูกสาวของทั้งคู่เอาไว้จากเงื้อมมือรัฐบาล ถ้านี่ไม่ใช่ความรัก แล้วอะไรใช่? อันนี้ไม่มีอะไรต้องเถียง

    แต่ระหว่างเคกับจอยล่ะ?


    จอยเป็นแค่ปัญญาประดิษฐ์ฮอโลกราฟิก (Holographic Artificial Intelligence) ไม่มีเลือดเนื้อ สัมผัสเคไม่ได้ด้วยซ้ำ (ถ้าไม่สิง เอ๊ย Sync กับร่างเนื้อของแมเรียตต์) แต่คนเราจะรักโปรแกรมได้หรือ? นี่ยังไม่ได้พูดถึงประเด็นที่เคก็ไม่ใช่มนุษย์แท้ด้วยซ้ำนะ มันรักกันได้จริงๆ หรือ มนุษย์เทียมกับสาวฮอโลกราฟเนี่ย?

    จำตอนที่เคต้องหลบหนีแล้วจอยบอกให้ลบเธอออกจากเครื่องในบ้านได้ไหม? เธอกังวลว่าพวกเขาจะเอาข้อมูลจากความจำของเธอในเครื่องไปแกะรอยหาเค ทางเดียวคือเขาต้องลบเธอออก ย้ายเธอไปอยู่ในเครื่องฉายประจุพกติดตัวอย่างเดียวเท่านั้น

    เคไม่อยากทำเพราะถ้าเกิดอะไรกับเครื่องฉายประจุ ข้อมูลความจำของจอยจะถูกลบหายไป นั่นเท่ากับจอยจะหายไป คนรักของเขาจะหายไปตลอดกาล

    ตรงนี้ย้อนกลับไปย้ำจุดที่ว่า ความทรงจำเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความเป็นมนุษย์ จอยเป็นแค่ AI ก็จริง แต่เธอมีความทรงจำร่วมกับเคมากมาย ความรู้สึกลึกซึ้งที่ยึดโยงทั้งคู่ไว้ด้วยกันมันไม่มากพอจะเรียกว่าความรักแค่เพราะเธอไม่มีกายหยาบงั้นหรือ?


    เคอิดออด แต่จอยก็ยืนยัน เพราะต้องการปกป้องเค แม้ว่ามีความเสี่ยงสูงที่เธอจะสูญสลายอย่างไม่มีวันหวนคืนถ้าเกิดเครื่องฉายประจุพังไปก็ตาม มันเป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่เพราะไม่ใช่แค่ความทรงจำอันมีค่าจะหายไป แต่ตัวเธอนั่นแหละคือความทรงจำนั้น ทั้งหมดที่เป็นเธอจะหายไป 

    ไหนทวนคำของริค เด็คคาร์ดใหม่

    "บางครั้งการรักใครสักคน เราก็ต้องเป็นคนแปลกหน้าไปซะ"

    แล้วจอยที่ยอมแลกทุกอย่าง ไม่เพียงแต่เสี่ยงกลายเป็นคนแปลกหน้า แต่จะต้องดับสลายไปไม่หลงเหลืออะไรอีกเลย (เด็คคาร์ดยังเหลือกระดูกเรเชล...) มันยังไม่มากพอหรือ?

    ยังไม่พอจะเรียกว่าความรักอีกหรือไง?

    แต่... ความรักของจอยมันเป็นของจริง?
    หรือเป็นแค่รหัสโค้ดโปรแกรมที่ถูกตั้งมา?

    ที่แน่ๆ จอยถูกสร้างมาเพื่อเป็นประสบการณ์ความรักให้มนุษย์เทียม ให้ชีวิตของแรงงานทาสดูมีความหมายมากขึ้น มีคนให้กลับบ้านไปหา มันสื่อเป็นนัยอยู่แล้วว่าชีวิตมนุษย์จะมีความหมายอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อได้รักใครสักคน ไม่ว่าคนในครอบครัว เพื่อน คนรัก 

    ความรักจึงทำให้มนุษย์เทียม 'รู้สึก' เป็นมนุษย์มากขึ้น

    __________

    V. REALITY

    K: [Pointing at dog] Is he real?

    Rick Deckard: Ask him.

    (2049)


    การเป็น 'ของจริง' ทำให้เราเป็นมนุษย์?

    (ต่อประเด็นเคกับจอยจากข้างบน)

    ไม่ว่าตัวจอยจะเป็น AI ที่วิวัฒน์จนมีความรู้สึก
    หรือทั้งหมดนั้นโปรแกรมตั้งมาให้เธอแสดง
    เขาไม่เคยสงสัย อาจเพราะมันไม่สำคัญ

    ความรักของจอยจริงพอแล้วสำหรับเขา

    จอยอยากมีตัวตนจริงๆ เพื่อให้เคสัมผัส
    ขณะที่เคก็คิดว่าจอยจริงอยู่แล้วสำหรับเขา

    สรุปแล้ว 'ของจริง' คืออะไรกันแน่?
    ความจริงอยู่ตรงไหน เอาอะไรเป็นเกณฑ์?

    การเป็นมนุษย์แท้ที่เกิดตามธรรมชาติทำให้เรา 'จริง' หรือ? แล้วจริงแค่ไหน? แล้วการเป็นมนุษย์เทียมที่ถูกสร้างขึ้นมาทำให้มันไม่ 'จริง' หรือ? แล้วไม่จริงแค่ไหน? 

    เราใช้อะไรวัดค่าความเป็น 'จริง' ?

    เอาละ การเป็นมนุษย์ที่กำเนิดจากมดลูกของแม่อาจทำให้เรามีอภิสิทธิ์ในการเป็น 'จริง' ได้ในระดับหนึ่ง ในแง่ว่าไม่มีใครมาปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงออกแบบเราตามชอบใจ เหมือนอย่างมนุษย์เทียมซึ่งถูกสร้างและสั่งผลิตตามลักษณะงานที่จะนำไปใช้ เราเป็นพันธุกรรมที่เสกสรรค์ปั้นแต่งโดยรหัสของธรรมชาติ

    เอ๊ะ หรือฝีมือพระเจ้า?

    แล้วถ้าพระเจ้าสร้างมนุษย์จริง (หรือแม้แต่มีจริง?) พระเจ้ามีโรงงานผลิตหรือ? แล้วแบบนั้นหน้าตาเราไม่ต้องเหมือนกันหมดหรือ? ไม่อย่างนั้น พระองค์ออกแบบและปั้นเราทีละคนตามแผนการของพระองค์หรือเปล่า? อ้าว สรุปถ้าเป็นงี้ เราก็ถูกสร้างและปรุงแต่งด้วยมือใครสักคนเหมือนกันสิ ทางกายภาพก็ดูเหมือนกันทุกอย่าง(แถมสมรรถภาพที่ซ่อนอยู่เหนือกว่าหลายขุม) ต่างแค่ผู้สร้างคนละคน แล้วมนุษย์วิเศษกว่ามนุษย์เทียมยังไงล่ะ? เราเป็นของจริงแค่เพราะพระเจ้าสร้างเนี่ยหรือ? 

    งั้นถ้าถามไทเรลล์หรือวอลเลซที่เป็นพระเจ้าผู้สร้างมนุษย์เทียม พวกเขาอาจว่าลูกๆ พวกเขาก็น่าจะจริงอยู่พอตัว? ไหม?

    โมเดลใหม่มนุษย์เทียมของวอลเลซ

    แล้วจริงหรือไม่มันสำคัญแค่ไหน?

    Blade Runner 2049 ยังเล่นกับความ 'จริง' หรือไม่นี้อยู่เสมอ ทั้งตอนที่เคไปหาผู้สร้างความทรงจำ เพื่อหาคำตอบว่าความทรงจำในหัวเขามันถูกปลูกถ่ายหรือเป็นของจริง เพราะว่าความ 'จริง' ของมันจะเปลี่ยนนิยามเขาจากมนุษย์เทียมผู้ถูกสร้างไปเป็นมนุษย์ที่เกิดมา มันจึงสำคัญมาก

    หรือตอนเคถามว่า 'หมาของเด็คคาร์ดเป็นของจริงไหม?' ในโลกอนาคตที่กำลังจะตาย อากาศเป็นมลพิษ ต้นไม้จริงตายหมด(การที่ม้าไม้ของเล่นทำจากไม้จริงจึงน่าตื่นเต้นมาก) ทุกอย่างสร้างเลียนแบบด้วยพันธุวิศวกรรม รวมทั้งตัวเขาผู้ถูกเหยียดหยามไล่ตั้งแต่ผู้คนตามท้องถนนไปยันประตูห้องว่าเป็น 'ของปลอม' มันก็ไม่แปลกที่เคจะสงสัยและอยากรู้ว่ามีอะไร 'จริง' บ้าง?

    "ไม่รู้ ถามมันดูสิ" เด็คคาร์ดตอบเคแบบนั้น

    เขาอาจจะไม่รู้จริงๆ
    หรือเขาก็แค่ไม่สนใจอีกต่อไป

    ต่างกับเค สำหรับเด็คคาร์ด สำหรับชายผู้ผ่านโลกอันสับสนวุ่นวายของความจริง/ไม่จริง? มาเกินสามสิบปี จริง/ไม่จริงแล้วมันยังไงล่ะ ใช้ได้เหมือนกัน ถ้าของจริงมันดีพอหรือมีพอก็คงไม่สร้างของเลียนแบบ แล้วทีนี้ของเลียนแบบไม่สำคัญกว่าหรือ? ดังนั้นคำถามว่าจริงหรือไม่คงไม่สำคัญอีกแล้ว


    โอริกามิรูปแกะ(?)ที่กัฟฟ์พับ ทำให้นึกถึงทั้งหนังสือ Do Androids Dream Of Electric Sheep? ที่เป็นแรงบันดาลใจของ Blade Runner
    และนึกถึงโอริกามิยูนิคอร์นที่กัฟฟ์พับในภาคแรก เพื่อบอกใบ้เป็นนัยว่าเด็คคาร์ดเป็นมนุษย์เทียม

    เช่นเดียวกับความเป็นมนุษย์แท้หรือเทียมของเขาซึ่งเป็นที่ถกเถียงของแฟนหนังกันมาตลอด 35 ปี นั่นแหละ (แม้ตัวริดลีย์ สก็อตต์จะยืนยันแล้วว่าเด็คคาร์ดเป็นมนุษย์เทียมก็ตาม ส่วนแฮร์ริสัน ฟอร์ดเจ้าของบทยังเชื่อว่าเขาเป็นมนุษย์) ใน Blade Runner 2049 ก็ไม่มีตรงไหนที่บอกชัดเจนเหมือนกัน ประเด็นคือมันไม่สำคัญนี่ละ

    ความเป็นมนุษย์หรือมนุษย์เทียมของเด็คคาร์ด
    มันไม่สำคัญเท่ากับการกระทำของเขา

    บางทีโลกของเราก็ควรคิดแบบนั้นเช่นกัน

    ตัวตน เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ สีผิว เพศ ฯลฯ
    ไม่ควรจะสำคัญไปกว่าสิ่งที่เราทำ

    ตอนที่พบกับวอลเลซ เด็คคาร์ดถูกกรอกหูด้วยชุดความจริงที่ว่าเขานั้นถูกออกแบบมาแต่แรกเพื่อให้ตกหลุมรักกับเรเชล จะได้มีลูกด้วยกัน เป็นหนึ่งในการทดลองของไทเรลล์ที่กำลังสร้างโมเดลของมนุษย์เทียมที่ขยายพันธุ์เองได้ (แต่ไม่มีใครรู้ว่าวอลเลซพูดจริงแค่ไหน อาจจะเป็นแค่อุบายให้เด็คคาร์ดยอมพูดก็ได้)


    เด็คคาร์ดปฏิเสธเรเชลที่วอลเลซสร้างขึ้นใหม่
    เขาเลือกจะเชื่อในความรักของตนกับเรเชล

    "ฉันรู้ว่าอะไรจริง"

    สรุปแล้วจะเอาอะไรมาวัดค่าความจริงน่ะหรือ?

    บางทีอาจเป็น...ความรู้สึกของเราต่างหากที่กำหนดความ 'จริง'

    สุดท้ายแล้วอะไรจริงไม่จริง ก็ไม่ขึ้นอยู่กับใคร
    เราเท่านั้นที่บอกได้ว่าอะไร 'จริง' สำหรับเรา

    ความเป็น 'ของจริง' ตามนิยามของใครๆ คงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของความเป็นมนุษย์เท่าไร อย่างน้อยก็ในมุมของมนุษย์เทียม จะมีประโยชน์อะไรถ้าเราเกิดมาเป็นมนุษย์แท้จริง แต่ไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ ในโลกของเบลดรันเนอร์ มนุษย์เทียมไม่โกหก ไม่มีวันหักหลัง ก้มหน้ารับใช้มนุษย์ เราจะกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นของจริงได้ยังไง ในเมื่อเราทั้งโกหก เห็นแก่ตัว เหยียดหยามคนที่แตกต่างจากเรา กดขี่คนเป็นทาส ก่อสงครามเข่นฆ่ากันเอง อย่างที่เราทำมาตลอดประวัติศาสตร์การเป็นมนุษย์ และดูเหมือนจะยังคงทำมันต่อไปในรูปแบบอื่นๆ

    เดาว่าความเป็นมนุษย์ของมนุษย์เทียม คงไม่ขึ้นอยู่กับความ 'จริง'

    __________

    VI. BELIEF

    "Dying for the right cause is the most human thing we can do."
    - Freysa, 2049 -

     

    การมีความเชื่อทำให้เราเป็นมนุษย์?

    แน่นอน เคเสียใจที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้พิเศษ

    ไม่ใช่เด็กที่ 'เกิด' มา ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ ไม่ใช่คนสลักสำคัญอะไร และเฟรย์ซ่าก็ปลอบ(ตอกย้ำ--)  ด้วยคำว่า ทุกคนก็หวังว่าจะเป็นเด็กคนนั้นนั่นแหละ เพราะลึกๆ แล้วเราก็เชื่อว่าตัวเองเกิดมาเพื่อเป็นคนสำคัญ เป็นคนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ในเมื่อเราเลือกเกิดเป็นคนสำคัญไม่ได้ ทางเดียวที่ดีที่สุดคงเป็นการเชื่อว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และลงมือทำ

    สุดท้ายแล้วเราจะเป็นอะไรก็ขึ้นกับสิ่งที่เราทำ
    และสิ่งที่เราจะทำก็ถูกกระตุ้นด้วย 'ความเชื่อ'

    "ยอมตายเพื่ออุดมการณ์ที่ถูกต้อง อาจใกล้เคียงความเป็นมนุษย์ที่สุดเท่าที่เราจะเป็นได้" 


    เมื่อเครู้ความจริงว่าตนไม่ใช่เด็กคนนั้น ไม่ใช่มนุษย์ที่เขาหวังจะเป็น และจอยผู้เป็นความรักของเขาก็แหลกสลายไปแล้ว แม้แต่ความทรงจำของเขาก็ไม่ใช่ของเขา สิ่งเดียวที่จะยึดเหนี่ยวเขาไว้อาจเป็นการเชื่อมั่นในอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองอย่างที่เฟรย์ซ่ากล่าว ยอมสละตัวเองเพื่อสิ่งที่ตนเชื่อถือ เพราะมันไม่เกี่ยวกับแค่ตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องสำคัญ แต่เราทำในสิ่งที่สำคัญต่อตนเองและผู้อื่นได้ 

    การต่อสู้ครั้งสุดท้ายที่เคยอมสละชีวิตจึงเป็นก้าวแรกสู่ความเป็นมนุษย์ของเขา

    ลมหายใจสุดท้ายของเขากลับเป็นช่วงเวลาที่เขาได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นนายตัวเองครั้งแรก

    ไม่ต้องรับคำสั่งใคร ทำในสิ่งที่ตนเชื่อ
    มนุษย์บางคนยังทำแบบนั้นไม่ได้เลย

    และในตอนนั้นเอง ที่เคนอนนิ่งสงบรอความตายอยู่ใต้หิมะโปรยปราย คำพูดของหัวหน้าโจชิที่เคยบอกว่าเคไม่จำเป็นต้องมีจิตวิญญาณก็อยู่ได้ กลับลอยขึ้นมาในหัวเรา อาจใช่...ก่อนหน้านี้ เคไม่เคยมีจิตวิญญาณ แต่ในชั่วขณะที่ความมีชีวิตกำลังค่อยๆ สูญสลายไปจากเขา...

    มันเป็นเวลาเดียวกับที่เขามีจิตวิญญาณขึ้นมา

    __________

    "More human than humans."

    Joshi: You've been getting along fine without one.

    K: What?

    Joshi: A soul.

    (2049)


    มนุษย์เกิดมาพร้อมจิตวิญญาณ แต่มันอาจเสื่อมสลายลดน้อยถอยลงไปทุกวันที่เราใช้ชีวิต ต่างกับมนุษย์เทียมในหนัง พวกเขาถูกสร้างขึ้น แต่ยิ่งได้ใช้ชีวิตมากขึ้นเท่าไร ยิ่งค่อยๆ มีจิตวิญญาณ มีเจตจำนงอิสระที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

    และเป็นมนุษย์...ยิ่งกว่ามนุษย์

    สรุปแล้ว ความเป็นมนุษย์คืออะไร?

    Blade Runner (1982) ตั้งตำถามนี้ทิ้งไว้ ผ่านไป 35 ปี Blade Runner 2049 ก็มาให้คำตอบ แต่คำตอบที่ว่าไม่ใช่คำคำเดียว ของสิ่งเดียว เราไม่ได้เป็นมนุษย์เพียงเพราะเราถือกำเนิดจากครรภ์มารดา ขณะเดียวกันการมีเลือดเนื้อ ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ ตัวหนังให้ทางเลือกว่าเราจะเป็นมนุษย์ด้วยวิธีทางไหน และสุดท้ายคนเดียวที่ตอบได้อาจคือตัวเรา

    เราจะเป็นมนุษย์ด้วยวิธีไหน?

    เป็นมนุษย์เพราะมีความรัก?
    เป็นมนุษย์เพราะมีความเชื่อ?

    อันนี้ก็คงสุดแท้แต่ "จิตวิญญาณ" ของใครจะเลือก


    ถ้าคุณมีละก็นะ.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in