เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
whatfilmbehoramiji
Talk: War for the Planet of the Apes "Caesar & Why Serkis deserve OSCAR?"
  • นี่จะเป็นการเวิ่นที่โฟกัสซีซาร์เป็นหลัก: 

    PART I: "CAESAR" A MIRROR OF HUMANITY 


    ถ้าวานรคือกระจกสะท้อนมนุษยชาติ
    ซีซาร์ในภาคนี้คงเป็นกระจกเงาที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ได้ถึงแก่นที่สุดในหนังชุดนี้

    นั่นเพราะสุดท้ายแล้วทุกคนต่างก็มีด้านมืดในจิตใจให้ต้องเผชิญ

    เราเห็นซีซาร์เป็นเด็กดีใน Rise และเป็นผู้นำที่ยึดหลักความสงบมาตลอดแบบใน Dawn เมื่อเป็นเรื่องการปะทะกับมนุษย์ ซีซาร์เลือกประนีประนอมก่อนเสมอ เพราะเขาเติบโตมากับมนุษย์ที่ดี ได้รับความรัก ถูกเลี้ยงดูในครอบครัวที่อบอุ่น ต่างกับ "โคบา" ที่เกิดในแล็บและถูกเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย เป็นตัวทดลองในแล็บ ถูกมัด ถูกฉีดยา ไม่เคยได้รับการดูแลดีๆ 

    คนเรา - หรือในกรณีนี้ รวมถึงสัตว์ - จะรู้จักความรักได้ยังไง ถ้าไม่เคยได้รับความรักเลย
    หัวใจของโคบาจึงมีแต่ความเกลียดชังในมนุษย์ เพราะมันคือสิ่งเดียวที่เขาเคยได้รับ


    ซีซาร์เองก็ไม่เคยเข้าใจเงามืดในจิตใจโคบา จนกระทั่งมันกัดกินหัวใจของเขาเอง

    นี่แหละมิติที่หนังภาค War ได้เติมเต็มให้กับซีซาร์ ผู้นำวานรที่รักสันติและยอมให้มนุษย์เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียวานรและลึกๆ แล้วคงเพราะจิตใจเขายังเอ็นดูด้านดีของมนุษย์ด้วย ทว่า มีคำกล่าวหนึ่งที่เป็นจริงเสมอคือ 'ไม่เจอกับตัวเองไม่รู้หรอกว่ามันรู้สึกยังไง' ตลอดทั้งเรื่องเราจึงเห็นโคบาในฐานะภาพหลอนที่กัดกร่อนจิตวิญญาณของซีซาร์อยู่เรื่อยๆ เป็นนัยว่าเขาไม่ใช่วานรที่มีจิตใจเมตตาเท่าเดิมอีกแล้ว

    ซีซาร์เริ่มรู้จักความโกรธแค้นและเกลียดชังในตัวมนุษย์อย่างที่โคบาเคยสัมผัส

    ความแตกต่างเดียวระหว่างโคบากับซีซาร์ในตอนนี้ อาจเป็นโคบาเลือกจะเกลียดมนุษย์ทั้งหมด ในขณะที่ซีซาร์พุ่งเป้าไปยังบุคคลคนเดียวที่กระทำต่อเขา ซึ่งไม่แปลก เพราะโคบารู้จักมนุษย์แค่แบบเดียวเท่านั้นคือพวกที่ทำร้ายและกักขังเขาไว้ตลอดหลายปี ส่วนซีซาร์เคยรู้จักมนุษย์ที่ดีมามากมาย ไม่ว่าวิล พ่อบุญธรรมมนุษย์ใน Rise. มัลคอล์มกับครอบครัว ในภาค Dawn และเพิ่งถูก "ผู้พัน" ทำสิ่งร้ายแรงเกินกว่าจะให้อภัยด้วยการฆ่าลูกเมีย (ที่ตลกร้ายก็คือ ผู้พันไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำ แต่ได้ฆ่าเพราะเข้าใจว่าเป็นซีซาร์)


    แต่ความอยุติธรรมครั้งเดียวที่ได้รับก็หนักพอจะฉุดซีซาร์ลงไปสู่ก้นเหวอันมืดดำ

    ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์มีรัก มีโกรธ มีเกลียด เป็นเรื่องธรรมดา
    ที่ผ่านมาเราเคยเห็นแต่ซีซาร์รักและเมตตา ในภาคนี้เราได้เห็นซีซาร์โกรธและแค้น

    และทำให้มนุษย์อย่างเราได้ย้อนสำรวจตัวเองผ่านซีซาร์

    ใน War เราได้เห็นซีซาร์ที่มีความซับซ้อนทางอารมณ์ที่สุดตั้งแต่เคยมีมา และแม้จะทนทุกข์ทรมานกับฝันร้ายอย่างโคบา ซีซาร์ก็ไม่ได้ปฏิเสธด้านมืดนั้นเลย การเดินทางของซีซาร์ตลอดทั้งเรื่องคือเส้นทางสู้การแก้แค้นผู้พัน และไม่เคยฉุกคิดว่าควรหยุด จนกระทั่งได้พบว่าฝูงที่ตนทิ้งให้เดินทางอย่างปราศจากผู้นำ ได้ถูกจับไปเป็นทาส

    อีกครั้งที่หนังใช้วานรเป็นกระจกสะท้อนเสียดสีมนุษย์

    เหล่าวานรถูกใช้เป็นแรงงานก่อสร้างกำแพงเพื่อเตรียมรับมือกับศึกจากมนุษย์อีกฝ่าย ฟังดูคุ้นไหม?

    ในโลกจริง มนุษย์ต่างเชื้อชาติ (หรือแม้แต่ชาติเดียวกัน) สู้รบกันเอง จับมนุษย์ด้วยกันเป็นทาส นึกออกใช่ไหม สงครามโลกที่ฝ่ายหนึ่งจับอีกฝ่ายเป็นเชลย ใช้แรงงานสร้างทางรถไฟ ฯลฯ และปฏิบัติราวกับคนเหล่านั้นไม่ใช่มนุษย์ด้วยกัน หนังใช้เวลาไม่กี่ฉากก็สะท้อนเรื่องนี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจน และกำลังเสียดสีว่าในประวัติศาสตร์ มนุษย์เราก็ทำกับเพื่อนมนุษย์อย่างกับเขาเป็นสัตว์ อย่างที่ผู้พันใช้พวกวานรนั่นแหละ 


    การได้เห็นฝูงของตนตกระกำลำบาก ทำให้ซีซาร์ได้สติขึ้นมานิดหนึ่ง แต่คงไม่แรงเท่าคำพูดของผู้พันที่ตบหน้าเขาอย่างจัง ตอนที่บอกว่า "คิดบ้างไหมว่าทหารของฉันจะทำอะไรกับวานรของแก ถ้าฉันเป็นอะไรไป...หรือว่าการฆ่าฉันมันสำคัญกว่า"

    เรียกว่าผู้พันจี้ใจดำกันสุดๆ ชี้ว่าซีซาร์เห็นแก่ตัว ในขณะที่ตนทำเพื่อส่วนรวม เพื่อ "มนุษยชาติ"

    ***แวบจากซีซาร์มาพูดถึงผู้พันนิด เราอาจเห็นว่าตัวละครผู้พันมีความบ้าคลั่งในจุดประสงค์ของเขา แต่เอาเข้าจริงนี่เป็นตัวละครที่มีความเป็นมนุษย์มากๆ ตัวหนึ่ง ลองนึกกลับกันว่านี่ไม่ใช่หนังที่วานรถูกเซ็ตมาให้เป็นพระเอก แต่เป็นหนังโลกล่มสลายที่เราเคยๆ กัน ลองแทนที่วานรด้วยซอมบี้ดูก็ได้ มนุษยชาติจะต้องดับสูญไปด้วยสิ่งมีชีวิตใหม่ เป็นใครก็ต้องเกิดความกลัวทั้งนั้น และถ้าเราอยู่ในฐานะที่มีอำนาจแบบผู้พัน ปฏิเสธได้ยากนะว่าเราจะไม่ทำอย่างเดียวกัน มนุษย์เห็นตัวเองเป็นเจ้าของโลกใบนี้มาตลอดหรือมิใช่***

    กลับมาที่ซีซาร์ ซึ่งในท้ายที่สุดก็ได้สติว่าควรเอาฝูงมาก่อนความแค้นส่วนตัว และสู้เพื่อความเป็นอยู่และอิสรภาพของวานร ตรงนี้ขอแวบไปพูดถึง "เลค" (คนรักของบลูอายส์ ลูกชายที่ตายไปของซีซาร์) ยกก้อนหินขึ้นมาแสดงว่าวานรพร้อมจะทำงานต่อตามที่สั่ง เพื่อหยุดยั้งไม่ให้ผู้พันยิงซีซาร์ทิ้ง ชอบรายละเอียดเล็กๆ ตรงนี้มาก เหมือนสื่อว่าในบางครั้งผู้หญิงก็เป็นผู้นำและตัดสินใจได้รอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วนกว่า ในการเลือกที่จะประนีประนอม โอนอ่อนตามสถานการณ์ เพราะบางครั้งการแข็งข้อ ยอมหักไม่ยอมงอก็ไม่ได้ส่งผลดี ซึ่งบางทีภายใต้แรงกดดัน ผู้ชาย(ตัวผู้?) อย่างซีซาร์ก็นึกไม่ถึง ว่าถ้าผู้พันยิงตัวเองจริงๆ ฝูงจะเป็นยังไง

    และสุดท้าย เป้าหมายสูงสุดของการต่อสู้อาจเป็นการเอาชนะใจตนเอง

    War ไม่ใช่หนังที่เอามนุษย์กับวานรมาห้ำหั่นกันเพื่อความสนุกสไตล์หนังบล็อกบัสเตอร์ช่วงซัมเมอร์ทั่วไป แต่กลับล้วงลึกถึงสงครามในระดับจิตใจ ความขัดแย้งภายในซีซาร์ และเสียดสีสงครามในโลกมนุษย์เราได้อย่างเฉียบแหลม ฉากที่ซีซาร์ได้โอกาสสังหารผู้พันแล้วไม่ทำจึงเป็นไคลแมกซ์ที่สะเทือนอารมณ์ จริงๆ ไม่ค่อยแน่ใจด้วยซ้ำว่าการที่ซีซาร์เลือกไม่ยิง ถือเป็นการปล่อยวางความแค้นที่แท้จริงไหม เพราะมันก็คิดได้ว่าการปล่อยให้ผู้พันทนทุกข์ทรมานกับสภาวะสมองถอยกลับไปสู่ความเป็นสัตว์อาจเป็นการแก้แค้นวิธีหนึ่ง แต่โชคดีที่ผู้พันเลือกจบชีวิตตัวเอง ทำให้อะไรๆ มันง่ายขึ้น มือซีซาร์ก็ไม่ต้องเปื้อนเลือด ความแค้นก็ตายไปพร้อมกับศัตรู แต่คิดๆ ไป ที่ซีซาร์ยอมให้ผู้พันฆ่าตัวตายก็เท่ากับปล่อยให้เขาไปดี เป็นการปลดปล่อยตัวเองจากโซ่ล่ามแห่งความพยาบาทแล้วนั่นแหละ

    กลายเป็นวานรยังเอาชนะใจตนเองได้ แต่คนเป็นมนุษย์กลับปลิดชีพตัวเองเพราะปล่อยวางไม่ได้ ว่าต่อไปต้องกลายเป็นคนเถื่อนและปล่อยให้เกิดโลกซึ่งวานรจะยิ่งใหญ่แทน ทั้งที่ที่ผ่านมา การกระทำแต่ละอย่างของตนก็ไม่ได้สูงส่งอย่างที่ทะนงตัวนักหนาว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงเลย แล้วจะยังหวงโลกไว้ให้มนุษย์ปกครองทำไมกัน

    เรียกว่าเสียดสีมนุษย์กันจนหยดสุดท้ายจริงๆ

    __________

    PART II: WHY SERKIS DESERVE OSCAR?

    แน่นอน ถ้าพูดถึงซีซาร์ ก็ต้องพูดถึงคนคนนี้

    "แอนดี้ เซอร์คิส" นักแสดงผู้ทำให้ซีซาร์มีชีวิต


    นอกจากบทซีซาร์ วานรพระเอกแห่งแฟรนไชส์ Planet of the Apes แล้ว แอนดี้ เซอร์คิสยังมีผลงานการแสดง Motion Capture อีกมาก

    ถ้าใครเกิดทัน(...) มหากาพย์แฟนตาซีอย่าง Lord of the Rings ย่อมต้องรู้จักเจ้ากอลลั่ม ซึ่งปรากฏตัวในภาคที่ 2 Lord of the Rings: The Two Towers (2002) และเจ้ากอลลั่มนี่เองที่ทำให้การแสดง Motion Capture เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง


    หลังจากเป็นเจ้าตัวเล็กกอลลั่ม ในปี 2005 แอนดี้เซอร์คิสก็รับบทเป็นเจ้าตัวยักษ์อย่างคอง ใน King Kong ด้วยคำชวนจากปีเตอร์ แจ็คสัน ผู้กำกับเดียวกับ Lord of the Rings นั่นแหละ


    ยังไม่หมด ล่าสุดเซอร์คิสก็มาเป็น สโน้ก ตัวร้ายบอสใหญ่ใน Star Wars: The Force Awaken (2015) อีกต่างหาก


    เรียกว่า ทั้งวงการฮอลลีวูด คงไม่มีใครแสดง Motion Capture เยอะเท่าแอนดี้ เซอร์คิสแล้ว ไม่งั้นสื่อนอกคงไม่ตั้งฉายาให้ว่า "King of Mo-Cap" หรอก ซึ่งผลงานข้างต้นที่ยกตัวอย่างมายังเป็นแค่ตัวที่ดังๆ นะ พี่แกยังเล่นอีกหลายตัว บางเรื่องคุณอาจไม่รู้

    ถ้าอยากรู้ว่าการแสดง Motion Capture ทั้งหมดของเซอร์คิสมีอะไรอีกบ้าง ก็ลองดู:


    • ประวัติศาสตร์ย่อของการแสดง Motion Capture

    เท้าความนิดนึง เผื่อใครจะงง ว่ากำลังพูดถึงอะไรอยู่ เรากำลังพูดถึงการแสดงที่เรียกว่า โมชั่น แคปเจอร์ แอคติ้ง

    Motion Capture Acting : คือ การแสดงที่อาศัยเทคโนโลยี  โดยนักแสดงจะใส่ชุดรัดรูปที่มีเซนเซอร์เป็นจุดๆ ไว้ตรวจจับการเคลื่อนไหว แล้วคนทำอนิเมชั่นค่อยไปใส่สเปเชียลเอฟเฟกต์ด้วยคอมพิวเตอร์ ออกมาเป็นตัวละครที่ต้องการอีกที

    แรกๆ มันเป็นเทคโนโลยีตรวจจับการเคลื่อนไหวที่ใช้ในสายงานวิทยาศาสตร์สุขภาพ แต่ภายหลังถูกนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์แหละ

    ในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่ ตัวละคร CGI ที่ใช้เทคนิค Mo-Cap (ต่อไปขอเรียกย่อแค่นี้) ตัวแรกคงเป็นกอลลั่ม แต่แท้จริงแล้วก่อนหน้านั้นยังมี จาร์-จาร์! จาก Star Wars Episode I: The Phantom Menace ซึ่งมันเป็นละครที่แฟนสตาร์วอร์สเกลียด ทุกคนเลยคงอยากจะลืมๆ มันไป...


    (เผื่อใครสนใจอ่านประวัติ Mo-Cap เต็มๆ source: 

    • การแสดง Motion Capture ในปัจจุบัน

    เดี๋ยวนี้ นอกจากแอนดี้ เซอร์คิส ยังมีนักแสดงอีกมากที่ได้แสดงด้วยเทคโนโลยี Mo-Cap ที่ว่านี้ เพราะยิ่งพัฒนามันก็ยิ่งไร้ขีดจำกัด แถมช่วยให้นักแสดงไม่ถูกตีกรอบด้วยกายภาพ จนสามารถเล่นเป็นตัวอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องเสียเวลามานั่งเมคอัพกันนานๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว

    ตัวอย่างการแสดงโมแคปอื่นๆ :

    บิล ไนอีและผองเพื่อน ในบทเดวี่ โจนส์กับลูกเรือ จากแฟรนไชส์โจรสลัด Pirates of the Caribbean:

    แซม เวิร์ทธิงตันและโซอี้ ซัลดานา ในร่างชาวนาวีตัวสีฟ้า จาก Avatar (2009):

    เจ๊ดาว-- โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ในบท Iron Man ก็ใส่ชุดโมแคปแสดงเช่นกัน:

    รวมถึงเพื่อนร่วมทีม Avengers อย่าง ฮัลค์ ที่แสดงโดย มาร์ค รัฟฟาโล:

    เจมส์ สเปเดอร์ ในบทอัลตรอน ตัวร้ายจาก Avengers: Age of Ultron ก็ด้วย:

    ด้วยการแสดงโมแคป นักแสดงจะเป็นตุ๊กตาหมีก็ได้... 
    (เซธ แมคฟาเลน จาก TED)

    รึจะเป็นมังกร... ก็ได้...
    (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ จาก Hobbit: The Desolation of Smaug
    - ต้องใช้จินตนาการสูงส่งเบอร์ไหนอะ เล่นเป็นมังกร)

    เป็นเจ้าชายอสูรก็ได้ แบบแดน สตีเวนส์ จาก Beauty and the Beast (2017)

    แฟรนไชส์ใหญ่อย่างสตาร์วอร์ส หลังจากจาร์จาร์ ก็ยังมีการใช้โมแคปอยู่จนถึงปัจจุบัน ล่าสุดในภาคแยกอย่าง Rogue One เจ้าหุ่นยนต์ขวัญใจตัวใหม่ K-2SO ก็มีอลัน ทูดิค เป็นนักแสดงด้วยเทคนิคโมแคป 

    แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของทูดิคที่เล่นเป็นหุ่นยนต์ด้วยเทคนิคโมแคป เขาเคยเป็นซันนี่ ใน I, Robot (2004) มาก่อนแล้ว

    พูดถึงนักแสดงโมแคปในปัจจุบันก็ต้องพูดถึงคนนี้ด้วย โทบี้ เคบเบลล์ ที่เริ่มติดลมบนกับการแสดงโมแคปรัวๆ ตั้งแต่ ดร.ดูม ใน Fantastic Four (2015), ดูโรทัน ใน Warcraft (2016), และคอง ใน Kong: Skull Island (2017)


    • การแสดง Motion Capture กับโอกาสในการเข้าชิงรางวัลออสการ์

    ในเมื่อปัจจุบัน การแสดงโมแคปมันแพร่หลายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดเบอร์นี้ แถมหลายๆ ครั้งการแสดงนั้นก็น่าประทับใจและสร้างอารมณ์ร่วมให้คนดูได้ไม่แพ้การแสดงธรรมดา(ในร่างมนุษย์หน้าเปล่า) แล้วเหตุใดจึงยังไม่มีนักแสดงโมแคปคนใดได้ชิงออสการ์สาขานักแสดงยอดเยี่ยมสักที?

    • ถามว่ามีกฎห้ามไหม?
      ตอบว่า ไม่นะ ออสการ์ไม่ได้มีกฎแบ่งแยกว่าการแสดงโมแคปเข้าชิงไม่ได้ เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเสนอชื่อนักแสดงโมแคปคนใดเข้าชิงมาก่อนเท่านั้น 
      (ซึ่งต้องหมายเหตุไว้ว่า ออสการ์เป็นรางวัลที่ค่อนข้างจะขวัญใจมหาชนนั่นแหละ เพราะกรรมการผู้สิทธิ์เสนอชื่อและตัดสินรางวัลก็คือสมาชิกของสมาคมในสาขานั้นๆ เช่น นักแสดงก็จะมีสิทธิ์เสนอชื่อและโหวตผู้ชนะในสาขานักแสดง)

    • น่าจะเป็นเพราะความรู้ความเข้าใจในเรื่องการแสดงโมแคปยังไม่ลึกซึ้งเท่าที่ควรมากกว่า
      ไม่ใช่แค่ความเห็นเรานะ แต่แอนดี้ เซอร์คิสก็พูดเหมือนกัน คือคนส่วนใหญ่พอพูดถึงโมแคปก็จะคิดว่ามันเป็นสเปเชียลเอฟเฟกต์ ทั้งที่จริงๆ แล้วหัวใจสำคัญที่ทำให้มันต่างจากตัวละคร CGI ล้วนๆ (แบบตัวละครอนิเมชั่น ที่ใช้นักแสดงให้เสียงอย่างเดียวน่ะ) ก็คือการแสดงจากนักแสดงในชุดโมแคปนั่นแหละ ไม่งั้นจะเปลืองค่าจ้างนักแสดงทำไม ก็ใช้ animator ทำตัวละครเปล่าๆ ไปเลยสิ จริงไหม 

      ล่าสุด แอนดี้ เซอร์คิสก็เพิ่งให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ไปว่า "ทำไมการแสดงโมแคปถึงไม่ควรเข้าชิงล่ะ มันก็คือการแสดงเหมือนกัน การแสดงก็คือการแสดง ไม่ว่าจะเมคอัพหรืออะไร อย่างเมื่อก่อน[ถ้าเล่นบทวานร] ก็แต่งหน้าเติมขน สมัยนี้ไม่ต้องทำแบบนั้นแล้ว พอใช้เทคนิคโมแคปก็ไม่ต้องมีเมคอัพแบบเดิมมาเป็นอุปสรรคในการแสดงสีหน้า เราจะเล่นเป็นตัวอะไรก็ได้ไม่มีข้อจำกัด มันก็คือเมคอัพแบบดิจิตอลนั่นละ [เรื่องรางวัล] ขึ้นอยู่ที่ว่าจะทำให้ผู้คนตระหนักรู้ได้มากขึ้นแค่ไหน"

    (ฟังแอนดี้ เซอร์คิสพูดเต็มๆ: ‪‬


    • การแสดง Motion Capture ที่สมควรได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกสักที: แอนดี้ เซอร์คิส ในบท "ซีซาร์"

    ทั้งหมดทั้งมวลที่พล่ามมาก็เพื่อจุดนี้แหละ คืออยากให้แอนดี้ เซอร์คิสได้เข้าชิงออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากบทซีซาร์ (หัวเราะ)

    ซึ่งออสการ์เป็นรางวัลที่ตัดสินจากการแสดงแค่ครั้งเดียว ในบทหนึ่ง ในหนังเรื่องนั้น ที่เข้าฉายในปีที่แจกรางวัลเท่านั้น (ไม่งั้นลีโอนาร์โดที่สะสมแต้มบุญมาแทบตายแต่ยังไม่ได้สักทีคงไม่ต้องโดนแซ็วมาจนกระทั่งคว้ารางวัลไปจากเรื่อง Revenant หรอก มันเป็นเรื่องของจังหวะ นอกจากฝีมือต้องถึง บทก็ต้องส่ง แล้วต้องดูคู่แข่งในปีนั้นๆ อีก)

    เขาไม่ตัดสินจากผลงานเรื่องก่อนๆ ไม่ว่าจะทำมาพีคแค่ไหน
    (อาจจะยกเว้นลีโอที่เราว่าได้เพราะแต้มบุญสั่งสม จนคนอยากให้ได้สักทีจริงๆ)

    ถามว่าเป็นอุปสรรคกับเซอร์คิสไหม ก็ไม่

    ไม่ต้องย้อนไปถึงกอลลั่มหรอก หรือแค่ในแฟรนไชส์ Planet of the Apes อย่าง Rise และ Dawn ก็ไม่ต้องย้อน เพราะแค่การแสดงใน War ภาคเดียวมันก็ทรงพลังจนสมควรได้เข้าชิงแล้ว

    เพราะมันมีมิติลึกซึ้งจนแค่นั่งดูซีซาร์ในภาค War เราก็เห็นไปถึงเส้นทางการเป็นนักปฏิวัติของซีซาร์ใน Dawn ย้อนไปยันจุดกำเนิดของวานรน้อยใน Rise ทะลุปรุโปร่งหมดเลย

    เซอร์คิสให้การแสดงที่ครบถ้วนทุกมุมมองจนหนังภาค War ไม่ต้องเท้าความให้มากเราก็อินไปกับซีซาร์จนน้ำตารื้นน้ำตาไหลไปหลายฉาก  คือมันเป็นซีซาร์ที่พัฒนามาจากปูมหลังตั้งแต่ Rise ยัน Dawn ไม่ใช่ตัวละครที่แค่โผล่มาพร้อม personality เดิม แต่แบกเอาประสบการณ์ทุกอย่างที่เจอมา แล้วเซอร์คิสถ่ายทอดทั้งหมดให้เราเห็นในตัวซีซาร์ภาคนี้ได้อย่างน่าประทับใจจริงๆ ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ทำล้วนๆ มันไม่มีทางออกมาได้ขนาดนี้


    ถึงซีซาร์จะฉลาดสุดและพูดได้เยอะสุดในบรรดาวานร แต่การแสดงส่วนใหญ่ก็ยังเป็นแบบไร้คำพูด คืออาศัยการกระทำ หลายครั้งอาศัยแค่สีหน้าแววตาเท่านั้น แต่มันทำให้คนดูรู้สึกไปกับซีซาร์ได้ทุกอย่าง เซอร์คิสแสดงออกมาได้ดีมากจริงๆ  ไม่ต่างอะไรกับการแสดงของนักแสดงที่แสดงเป็นมนุษย์ทั่วไปเลย 

    เพราะฉะนั้นโมแคปไม่ควรใช่ปัญหาที่จะมาขัดขวางเส้นทางรางวัลของนักแสดง คืออย่างที่บอกว่ามันเหมือนเมคอัพอย่างหนึ่ง นักแสดงบทปกติที่ชนะออสการ์หลายบทก็ใช้เมคอัพช่วยให้เข้าถึงตัวละครนั้นๆ เช่นกัน ตัวอย่างชัดๆ ก็ชาร์ลีซ ใน Monster หรือฮีธ เลดเจอร์ในบท Joker จาก The Dark Knight


    ถามว่าสองคนข้างบนนี่ใช้หน้าสวยหล่อปกติเล่นจนได้รางวัลไหม ก็เปล่า อาศัยเมคอัพจากเครื่องสำอาง หรือกระทำกับใบหน้าโดยตรง(ชาร์ลีซโกนคิ้ว) เพื่อให้คนดูเห็นคาร์แร็กเตอร์และสภาพจิตใจของตัวละครชัดเจนขึ้นผ่านรูปลักษณ์ภายนอก

    โมแคปก็แค่เมคอัพที่เป็นดิจิตอล มากลบไม่ให้เห็นหน้าจริงนักแสดงเหมือนกัน แถมต้องเล่นเป็นอะไรที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วยนะ บางทีนักแสดงโมแคปก็ต้องอาศัยทักษะการแสดงที่มากกว่านักแสดงที่เล่นเป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ 

    อย่างเบเนดิกต์เล่นเป็นมังกร, แดนเล่นเป็นเจ้าชายอสูร, อลันเล่นเป็นหุ่นยนต์ นี่การเคลื่อนไหวร่างกายก็ต้องเปลี่ยนแล้ว ทั้งระบบเลย มังกรสัตว์เลื้อยคลานก็ต้องลงไปเลื้อย อย่างอสูรนี่ก็ต้องเล่นใหญ่มากเพราะหน้าขน ไม่งั้นการแสดงมันไม่ออก หุ่นยนต์ก็เดินแข็งๆ

    ซีซาร์ก็เหมือนกัน เป็นวานร นอกจากต้องเล่นให้ได้สีหน้าอารมณ์ซับซ้อนแล้ว เซอร์คิสต้องเคลื่อนไหวด้วยท่าทางแบบวานรไปพร้อมกัน รายละเอียดท่าเดิน ท่าวิ่ง อะไรต่างๆ ก็ต้องฝึกและทำให้ชินจนน่าเชื่อว่านี่คือวานร แล้วยังแสดงสีหน้าแววตาน้ำเสียงออกมาได้ลึกล้ำ น่าเกรงขาม สะเทือนอารมณ์พร้อมกันด้วยแบบนั้นมันสุดยอดมากนะ การแสดงที่ได้ออสการ์บางครั้ง แค่ใช้แววตาเก่งอย่างเดียวทั้งเรื่องแล้วชนะก็มี

    ทำไมการแสดงที่ต้องอาศัยทักษะมากมายเหนือมนุษย์อย่าง Motion Capture แถมน่าสงสารเพราะสุดท้ายหนังออกมาก็ไม่ใช่หน้าตัวเองที่อยู่บนจอ จะคว้าออสการ์ตัวแรกไปครองบ้างไม่ได้.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in