เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#ตุ๊ดกูรู : ToodGuRutoodguru
ดอกเข้าพรรษา : ความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธองค์


  • ดอกเข้าพรรษาหรือดอกหงส์เหิน หนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น ในท้องที่อำเภอพระพุทธบาท พบว่ามี 2 สกุล ได้แก่ สกุลกระเจียว มีดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู และ สกุลหงส์เหิน ดังกล่าวข้างต้น เมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ชาวอำเภอพระพุทธบาทจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาตามไหล่เขาโพธิลังกาหรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุในเขตอำเภอพระพุทธบาท นำมาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ


    ซึ่งที่จังหวัดสระบุรีนี้ได้จัดพิธีตักบาตรดอกไม้ (ปัจจุบัน ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา) ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และเป็นสถานที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา มีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทฯ แห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่ง ต่อมารอยพระพุทธบาทนี้ถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม
    “ดอกเข้าพรรษา” นั้นหรือคือไม้ที่เรียกกันทั่วไปว่า “หงส์เหิน”

    ตำนานเล่าว่า ครั้งสมัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกรุงราชคฤห์ มีช่างจัดดอกไม้นาม สุมนะ ทุกเช้าจะนำดอกมะลิ 8 ทะนานไปถวาย พระเจ้าพิมพิสาร โดยจะได้ทรัพย์เป็นค่าดอกไม้วันละ 8 กหาปณะ วันหนึ่งขณะจะนำดอกไม้ไปถวายพระราชา เป็นช่วงเวลาพระบรมศาสดาเสด็จมาบิณฑบาตพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีออกจากพระวรกาย นายสุมนะ เห็นแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธามากอยากจะถวายดอกมะลิทั้ง 8 ทะนานเป็นพุทธบูชา

    สุมนะคิดว่า “ถ้าหากพระราชาไม่ได้รับดอกไม้ในวันนี้ เราอาจถูกประหาร หรือถูกเนรเทศ แต่ถึงพระราชาจะทรงอนุเคราะห์เราด้วยการพระราชทานทรัพย์เป็นค่าดอกไม้ ก็คงพอเลี้ยงชีวิตได้แค่ในภพชาตินี้ แต่การบูชาพระบรมศาสดาด้วยดอกไม้เหล่านี้ จะทำให้เราได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”

    คิดแล้วก็ตัดสินใจสละชีวิต เขาโปรยดอกไม้ทั้ง 8 ทะนาน บูชาพระบรมศาสดาทันที ทันใดนั้นสิ่งอัศจรรย์บังเกิดขึ้น ดอกมะลิทั้ง 8 ทะนานไม่ได้ตกถึงพื้นดินเลย ดอกมะลิ 2 ทะนาน กลายเป็นเพดานดอกไม้แผ่อยู่เหนือพระเศียรของพระบรมศาสดา อีก 2 ทะนานแผ่เป็นกำแพงดอกไม้ลอยอยู่ข้างขวา และ 2 ทะนานอยู่ข้างซ้าย ส่วนอีก 2 ทะนานอยู่ข้างหลัง กำแพงดอกไม้ทั้งหมดนี้ลอยไปพร้อมกับพระบรมศาสดา เมื่อทรงพระดำเนิน กำแพงดอกมะลิทั้งหมดก็ลอยตามไป เมื่อประทับยืนกำแพงดอกมะลิก็หยุดอยู่กับที่เหมือนกัน

    สุมนะเกิดความปีติปราโมทย์ยิ่ง และเมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบเรื่อง ก็ทรงชื่นชมและปูนบำเหน็จรางวัล ทำให้นายมาลาการสุมนะมีชีวิตสุขสบายขึ้น และคือที่มาของประเพณีตักบาตรดอกไม้ในวาระเข้าพรรษาโดยเฉพาะที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ที่ประเพณีตักบาตรดอกไม้นับเป็นเอกลักษณ์ หนึ่งในดอกไม้ที่นิยมใช้ในการนี้ คือ “ดอกเข้าพรรษา” หรือท้องถิ่นอื่นๆ เรียกว่า “หงส์เหิน” ตามรูปร่างของดอกและเกสรที่ดูเหมือนตัวหงส์กำลังจะบินในลีลาสง่างาม ทั้งมีกลีบประดับเรียงตามช่อดอก ไม้เดียวกันนี้ยังมีชื่อเรียกว่า กล้วยจ๊ะก่า (ตาก) กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน) กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่) ก้ามปู (พิษณุโลก) ขมิ้นผี กระทือลิง (ภาคกลาง) ว่านดอกเหลือง (เลย)

    #ตุ๊ดกูรู : ToodGuRu
    เรื่องบางเรื่องไม่ต้องพึ่ง “กูรู” แค่เป็น “กูรู้” ก็พอ
    #สาระ #ความรู้ #ตุ๊ดกูรู

    Twitter : https://twitter.com/ToodGuRu
    Facebook : https://www.facebook.com/toodguru
    Maggang : https://toodguru.maggang.com/
    Minimore : http://minimore.com/b/RcoPh
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in