เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขียนเล่นเป็นเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
นักการผู้ไม่เป็นแค่ภารโรง
  • พลังอำนาจอันน้อยนิดที่มาพร้อมภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่



    ผมคิดว่าความสุขเกิดจากการได้ทำ ผมทำเพราะผมมีความสุขที่ผู้อื่นจะได้นำสิ่งที่ผมทำไปใช้ประโยชน์”  -ลุงสุวิทย์

     

          ข้อความข้างต้นเป็นคำพูดจากความนึกคิดของชายคนหนึ่งผู้มีอาชีพอยู่เบื้องหลังของความสำเร็จ

    ต่างๆ ในโรงเรียน เขามีส่วนในการสร้างสรรค์ผลงานอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำการเกษตรที่นำมาสู่รางวัลโรงเรียนปลอดขยะ หรือการทำสิ่งประดิษฐ์จากสิ่งของเหลือใช้ที่นำมาสู่รางวัลสถานศึกษาพอเพียง จนถึงการที่โรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ด้วยใจรักในการทำงานที่ผสานการใช้ความคิดสร้างสรรค์และความวิริยะอุตสาหะในการอุทิศตัวให้โรงเรียน

     

           หลายคนคงทราบกันดีว่าแต่ละอาชีพมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับนักการภารโรงที่เป็นอาชีพที่มักถูกละเลยในการกล่าวถึงเพียงเพราะทำงานอยู่เบื้องหลัง บางคนอาจจะมีความเชื่อว่าเป็นอาชีพที่อยู่ใต้อาชีพอื่น ๆ เพราะต้องใช้แรงในการจับด้ามไม้กวาดเพื่อทำความสะอาดพื้น แต่สำหรับนักการฯ ร่างเล็กคนนี้ เขาคิดว่าการทำอาชีพนี้ไม่ได้เป็นเพียงการทำให้โรงเรียนสะอาดเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วมันคือการสร้างสรรค์ให้โรงเรียนได้รับประโยชน์สูงสุดให้คุ้มกว่าเงินเดือนที่ได้รับมา

     

    ในวันนี้เราจะมาพูดคุยกับ "ลุงสุวิทย์" สุวิทย์ สังข์ทอง ชายวัย 51 ปี อาชีพนักการภารโรงในโรงเรียนวัดจันทาราม (ตั้งตรงจิตร 5) อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ลุงสุวิทย์ผู้ที่มีใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มมิได้ทำงานเป็นนักการฯ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการทำความสะอาดโรงเรียนเท่านั้น แต่เขายังเป็นทั้งนักการเกษตรและนักประดิษฐ์ในตัวเองอีกด้วย

     




     

    ก่อนมาเป็นนักการภารโรง

     

    ทำอะไรมาก่อนที่จะมารับอาชีพนี้

     

           ที่บ้านลุงเลี้ยงวัวนมกับทำการเกษตรคู่กัน หลังจากนั้นก็ไปทำงานเทศบาลแล้วก็มาสอบเป็นนักการฯ ที่นี่ สอบเข้ามาแบบแข่งขันกันหลายคนเพราะเขารับแค่ไม่กี่คนเอง เอาจริง ๆ ในตอนแรกก็คิดจะเลี้ยงวัวนมหรอก แต่ทีนี้พ่อของลุงเขารู้จักคนในโรงเรียนแล้วเขาเห็นว่าเราน่าจะทำงานได้ดี เขาก็เลยชักชวนให้มาสอบ ตอนนั้นเราก็คิดในใจ เอ๊ะ เป็นนักการฯ นี่ก็ดีนะ เลยลองสมัครดู ตอนแรกที่สมัครเข้ามาก็ทำอะไรไม่เป็นเลย สอบก็ได้เฉพาะข้อเขียน แต่พวกงานช่างนี่ไม่เป็นเลย ลุงรีดนมวัวกับทำเกษตรเป็นอย่างเดียว แต่พอใจรักก็พยายามสังเกตแล้วลงมือทำ แต่ถ้าถามว่าพ่อลุงทำงานอะไร พ่อลุงเป็นช่างแต่ไม่อยากให้ลูกเป็นช่าง พอเข้ามาปุ๊บเราก็เจอทางที่เป็นเรา ที่มีความคล้ายพ่อนั่นแหละ ดังนั้นพอใจรักอะไรที่ว่ายากก็ไม่ยาก พอสงสัยก็สังเกต พอสังเกตแล้วก็ลงมือทำ แต่ถ้าทำแบบที่มีผลตอบแทนอื่นที่มากกว่าเงินเดือนนี่เราทำไม่ได้ แต่ถ้าทำแบบไม่หวังอะไร แค่ทำให้คนอื่นได้ใช้ แบบนี้ทำได้

     

    ตอนที่เข้ามาทำงานหน้าที่หลัก ๆ ที่โรงเรียนมอบหมายให้ทำคืออะไร

     

           ยอมรับว่าเขาไม่เคยบอกเลย ลุงทำงานมา 4 ปี ลุงก็ยังสงสัยว่าหน้าที่ของนักการฯ คือให้ทำอะไร ตอนแรกที่เข้ามาใหม่ๆ ลุงก็เอาแต่ถูพื้น ถูตั้งแต่เช้าจรดมืดแบบไม่ได้ดูเวลาเลย แล้วเวลาผ่านไปเร็วมาก ก็เพราะว่าลุงเคยทำงานที่หนัก ทำเกษตรกับเลี้ยงวัวเป็นงานที่หนัก แต่พอให้มาถูพื้นมันเป็นงานเบา ลุงถูได้ทั้งวันจนมีความรู้สึกว่าเวลามันเหลือ ลุงก็เลยหันมาเพาะต้นไม้ จนเวลาของลุงหมดไปกับต้นไม้เยอะมาก พอลุงเห็นที่ไหนมีต้นไม้ลุงก็จะเด็ดยอดมา เด็ดกิ่งมา แล้วนำมาชำ เสร็จแล้วก็คิดว่าจะทำยังไงที่ไม่ต้องมาเสียเวลารดน้ำตลอดเวลา ก็เลยคิดว่าจริงๆ เด็กๆ ต้องใช้น้ำกันอยู่แล้ว ลุงก็เลยทำร่องทำแอ่ง เอาถุงมาตัด แล้วเอาดินมาใส่ตั้งๆ ไว้ พอเจอกิ่งอะไรก็เอามาเสียบ ถึงเวลาต้นไม้ก็ได้ความชื้นจากดินก็จะแตกกิ่งก้าน ลุงก็เอามาใส่กระถาง แล้วนอกจากที่ลุงเพาะต้นไม้ ก็จะมีอย่างเช่น ใบไม้เนี่ย พอถึงฤดูกาลมันก็จะร่วงเยอะ เมื่อก่อนลุงใช้วิธีเก็บใส่ถุงแล้วนำไปไว้หลังโรงเรียน หลังจากนั้นเอาไปปูไว้บนดิน เพราะลุงเคยทดลองเองที่บ้านและได้รู้ว่าตามธรรมชาติแล้วใบไม้เมื่อได้ลงดินก็จะได้รับความชื้น พอชื้นก็มีสัตว์ต่าง ๆ พวกไส้เดือน กิ้งกือ คางคก มาช่วยพรวนดิน ช่วยให้ดินมีสารอินทรีย์ พอได้ลองเอาไปปลูกต้นไม้แล้วก็เห็นเลยว่าต้นไม้งาม ฉะนั้นทุกอย่างที่ลุงทำลุงจะใช้ใจบวกกับความรู้ จินตนาการ และสภาพแวดล้อม

     

     



     

    มากกว่าการเป็นภารโรง

              หากในโรงเรียนเกิดปัญหาอะไรขึ้น คนแรกที่ทุกคนนึกถึงคือ "ลุงสุวิทย์"


           ในทุกๆ วัน ลุงสุวิทย์มักจะเดินทางมาถึงโรงเรียนในเวลาตีห้าครึ่งเพื่อที่จะมาทำความสะอาดและจัดระเบียบโรงเรียนก่อนที่คุณครูและนักเรียนจะมาถึง ช่วงเวลาระหว่างวันลุงสุวิทย์จะทำหน้าที่หลายอย่างแตกต่างกันออกไป เรียกได้ว่างานเกือบทุกอย่างตั้งแต่งานเล็กงานน้อย อย่างเช่น กวาดพื้นถูพื้น ขนของ รดน้ำต้นไม้ ตัดหญ้า เลี้ยงหมา ไปจนถึงงานที่ต้องใช้ฝีมืออย่างการเป็นช่างไม้ ช่างไฟ ช่างเหล็ก ช่างสี ฯลฯ เรียกได้ว่างานทุกอย่างล้วนผ่านมือลุงสุวิทย์มาด้วยกันทั้งนั้น

     

           ลุงสุวิทย์ไม่ได้สนใจเพียงแค่การทำความสะอาดหรือการซ่อมสิ่งของเครื่องใช้ภายในโรงเรียนเท่านั้น หากแต่ยังสนใจด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจพอเพียง จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของโครงการต่างๆ ในโรงเรียน   ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ดัดแปลงสิ่งของเหลือใช้ต่างๆ มาทำให้เกิดประโยชน์ การปลูกผักลอยฟ้า ทำสวนเกษตรพอเพียง หรือการทำแปลงเกษตรอินทรีย์โดยใช้ปุ๋ยจากขยะใบไม้ ซึ่งนำผลผลิตมาสู่โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน มากไปกว่านั้นลุงสุวิทย์ยังชักชวนเด็กๆ มาทำกิจกรรมด้านเศรษฐกิจพอเพียงและสิ่งแวดล้อมให้แก่โรงเรียนอีกด้วย

     

     


     

     

     

    เรียนวิชาช่างไม้มาจากไหน

     

           ตอนสมัยเรียนคุณครูก็สอนนะ ประกอบกับที่บ้านรับจ้างก่อสร้าง เวลาใครปลูกบ้านเราก็ไปช่วยเขา แต่ที่ลุงได้ความรู้มากที่สุดก็คือตอนที่ลุงทำงานที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ลุงได้เรียนรู้การเป็นช่างไฟ ช่างเหล็ก ช่างสี  ในนั้น นักการฯ ทุกคนเป็นช่าง แต่ยกเว้นลุง ดังนั้นเมื่อลุงเห็นว่าตำแหน่งไหนที่ว่างงาน ลุงจะกระโจนลงไปทำงานนั้นทันทีเพราะอยากเรียนรู้ทุกอย่าง แต่ยังไม่ถึงขั้นมืออาชีพนะ แต่ถ้าให้นำมาแก้ไขหรือซ่อมอะไรในโรงเรียนนี่ทำได้

     

    มีคนบอกว่าคุณลุงเก่งงานประดิษฐ์ เรียนมาจากไหน
     

           จริงๆ ก็ไม่ได้เก่งมาจากไหน แต่มาจากมโน จากจินตนาการ ถามว่ามีแบบไหม ไม่มี แต่มาจากมโนภาพของเราเองซึ่งเป็นสิ่งที่ลุงทำได้ทุกวันนี้ พอจิตนิ่ง ทุกอย่างในมโนภาพมันก็จะขึ้นมาจากสมอง ถ้าทำงานเป็นทีมลุงจะวางความคิดของลุงไว้แล้วจะทำตามที่เขาบอกเท่านั้น แต่ถ้าทำคนเดียวลุงก็จะใช้มโนภาพของตนเองทั้งสิ้น ทำไปแก้ไป สิ่งที่ออกมาทั้งหมด ก็ออกมาจากสิ่งที่ลุงคิดโดยไม่ได้วางแผนไว้ ซึ่งลุงจะใช้เวลาว่างเสาร์-อาทิตย์ในการทำงานเงียบๆ คนเดียว แต่งานทุกอย่างลุงไม่ได้ทำแบบทำทีเดียวแล้วจบ เพราะจะต้องมีการแก้ไขให้งานออกมาดีที่สุด ลุงมักจะให้คนอื่นมาชมผลงานของลุงก่อนแล้วให้เขาติว่ามีอะไรที่ยังดีไม่พออีกไหม แล้วก็จะแก้เพราะลุงคิดว่าทุกคนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกัน เราต้องคำนึงถึงคนอื่นด้วย ว่าเขาเห็นดีเห็นงามกับงานของเราไหม แต่อย่างไรลุงก็จะยึดความคิดตัวเองด้วย ถ้ามีงานไหนที่ลุงคิดว่าดีพอแล้ว ลุงก็จะให้เหตุผลว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น

     




     

     

    แบบนี้จะเรียกว่าเราทำเกินหน้าที่ไหม

     

           ถ้าเปรียบเทียบระหว่างทำการเกษตรกับเพาะเลี้ยงนมวัวแล้วหันมามองเงินเดือน จะเห็นเลยว่าเขาให้เงินเดือนเราสูง แล้วเราทำเกษตรก็ไม่ได้เท่านี้ ลุงเลยมีความรู้สึกว่าเราต้องทำให้มากขึ้น ให้เหมาะสมกับที่เขาให้ค่าแรงเราสูงและขึ้นเงินเดือนให้เราทุกเดือน ก็เลยเป็นที่มาของการทำงานของลุง ลุงเป็นคนชอบทำงาน ถ้าลุงไม่ได้ทำงานลุงจะไม่กินข้าวเลย ตื่นมาต้องทำงาน ถ้าถามว่าอยู่ตรงนี้ทำไม ลุงขอบอกว่าเป็นเพราะใจรักมากกว่า เพราะลุงเห็นว่าหลายสิ่งน่าจะนำไปดัดแปลงมาใช้สอยได้ ลุงเป็นคนชอบคิดแล้วลงมือ พอเรามีปีติ เราก็ลงมือทำ แล้วมันจะทำได้เร็วมาก แต่ถ้าไม่จินตนาการหรือปลุกใจตัวเองไว้ล่วงหน้าก็จะไม่ได้ทำ พอทำแล้วก็จะเอาใจตัวเองวัดก่อนแล้วค่อยถามหาความเห็นจากคนอื่น แต่เราก็คิดอย่างเดียวว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด

     

     

    เหนื่อยไหมที่ทำแบบนี้

     

           ตอบเลยว่าไม่เหนื่อยเพราะเราไม่ได้ถูกใช้ แต่เราทำด้วยใจ อะไรที่มันทำด้วยใจมันเหมือนการพักไปในตัว ทำไปเรื่อยๆ รู้แค่ว่างานต้องเสร็จ เพราะพองานเสร็จแล้วเรามีปีติ วันไหนทำไม่เสร็จลุงจะนอนไม่หลับ ความคิดช่วงไหนที่มันแล่นก็จะรีบลุยทำเพราะมันจะต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่รู้หรอกว่าเหนื่อยหรือไม่เหนื่อยแต่อยากให้สิ่งของที่มันเหลือใช้เกิดประโยชน์มากที่สุด สิ่งที่เราเก็บไว้สักวันมันจะต้องมีประโยชน์เราคิดอย่างนี้

     

     
    แรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ มาจากอะไร

     

           มาจากใจกับปัญหา อย่างเช่น รถเข็นขยะ เรามองว่าถ้าเรามีรถเข็นมันจะสบายขึ้น บางทีกวาดได้ครู่เดียวก็เต็ม ต้องเดินกลับไปกลับมาเพื่อทิ้งขยะในถัง มันเปลืองเวลา เราก็เลยคิดขึ้นมาว่าเวลาเราไปห้าง เขามีรถเข็นใส่ของ เอ้อ มันดีเนอะ เราก็ดัดแปลงได้นี่หน่า เรามีเหล็กมีอุปกรณ์ พอมองแล้วจินตนาการภาพของรถเข็น ก็นึกได้ว่าเก้าอี้ที่เราเก็บไว้มันรูปร่างคล้ายกับรถเข็น ก็เลยลองจับมันมาแบบไม่ได้วางแบบเลยนะ ก็ลงมือทำตอนนั้นเลย ตัดๆ ประกอบๆ ใช้เวลาไปหนึ่งชั่วโมง ถ้าเราตั้งใจทำอะไรทุกอย่างก็จะลงตัว เรามีอุปกรณ์ทุกอย่าง ทั้งล้อ โต๊ะ เราเห็นว่าโต๊ะนี้มันดีแต่มันใช้ไม่ได้แล้ว ลองจับมันหงายขึ้น ใส่ล้อเข้าไป ก็จะเห็นว่าต้องเพิ่มอะไรเวลาใช้งาน แล้วก็จะต่อยอดไปทีละนิดทีละหน่อย เราคิดอย่างเดียวว่าทุกอย่างที่เราเก็บไว้สักวันมันจะต้องมีประโยชน์

     

    งานที่ทำเป็นรูปแบบไหน
     

           ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของหน้างาน เราก็คิดว่าสิ่งนี้มันใช้งานลำบาก เราจะทำยังไงให้มันใช้งานสะดวกกว่านี้ เราก็คิดมันขึ้นมา แล้วของที่เราเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้จะเอามาทำอะไร เราก็จะเก็บไว้ก่อน พอถึงเวลา สิ่งของพวกนี้ก็จะเข้ามาในสมองเราว่าเอามาทำตรงนี้ได้ แล้วบางทีเวลาเราไปไหนเราก็จะสังเกตแล้วคิดปะติดปะต่อกันว่าถ้าเอามาจับรวมกันแล้วจะใช้ในงานจริงได้ไหม

     

     

    ผลงานแห่งความสุข

     

    ในการประดิษฐ์ของขึ้นมาสักชิ้น อะไรสำคัญที่สุด
     

           ลุงมีปีติเวลาใช้งานของทุกอย่าง บางสิ่งที่คนอื่นเขาทิ้งลุงก็จะไปคัดมาเก็บไว้ ถ้าอันไหนยังไม่ได้ใช้งานลุงก็จะคิดว่าสักวันมันจะต้องได้ใช้ สิ่งสำคัญในงานทุกชิ้นของลุงคือเพื่อให้ใช้งานได้ดี ความสะสวยเป็นเรื่องไม่จำเป็น

     

    เคยหันกลับไปมองผลงานตัวเองไหม รู้สึกอย่างไรบ้าง

     

           ลุงคิดว่ามันไม่ใช่ผลงานนะ มันเป็นเรื่องธรรมดามากกับสิ่งที่ทำ บทสรุปแล้วในโรงเรียน เรียกได้ว่าลุงไม่มีผลงานเลย เพราะในความรู้สึกลุงมันเป็นเรื่องปกติที่ลุงทำ สิ่งหลายๆ สิ่ง อย่างบางเรื่องมันเป็นเรื่องยาก แต่พอได้ลงมือทำ จะมีเสียงเข้ามาในหัวเลยว่า ทำอย่างนี้สิ ทำอย่างนั้นสิ นั่นคือมันมาจากจินตนาการแล้วได้ลงมือทำ บางสิ่งที่คนอื่นบอกว่าทำไม่ได้ แต่ลุงจะบอกว่าทำได้ ลุงมักจะทำสิ่งต่างๆ เงียบๆ คนเดียว คนอื่นจะไม่เห็นตอนที่เริ่มต้น แต่จะเห็นตอนที่ผลลัพธ์มันออกมาแล้วเท่านั้น หลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆ เช่น ถูพื้น ทำความสะอาด ลุงก็จะใช้เทคนิคบวกกับความเร็วนะ ลุงจะคิดเลยว่าถ้าน้ำยาถูพื้นหมด อะไรที่เราจะเอามาใช้แทนได้บ้าง เพราะลุงคิดว่าถ้าเราใช้ปัญญาในการทำงานมันจะมีประสิทธิภาพกว่า แต่ถ้าเราใช้แรงมันก็จะเหนื่อย ทำให้งานไม่เสร็จ พองานไม่เสร็จเราก็จะฟุ้งซ่าน

     


    คิดว่าเด็ก ๆ และคนอื่น ๆ ได้อะไรจากสิ่งที่เราทำบ้าง

     

           สำหรับเด็กๆ แล้ว ส่วนใหญ่เขามักจะมาร้องขอ อย่างเช่นเวลาเขาต้องทำงานส่งครู เขาก็จะประดิษฐ์ของมา แล้วมาที่ลุง ลุงก็แนะนำเขาว่าควรใช้อะไรเสริมตรงไหนแล้วทำให้เขาดู หลังจากนั้นลุงก็จะให้เขาฝึกจับเครื่องมือเองเลย สำหรับคนอื่นๆ เพียงบอกมาว่าคุณต้องการอะไร ลุงมีให้ทุกอย่าง

     

    แล้วเราได้อะไรจากสิ่งที่ตัวเองทำบ้าง

     

         ได้ปีติ ณ ช่วงเวลานั้นที่เราคิดว่าสิ่งที่เราทำมันจะนำไปใช้ได้ จากคนที่ทำอะไรไม่เป็น เคยทำแต่เกษตร เลี้ยงวัว แต่พอได้โอกาสมาทำงานพวกนี้ อยู่ในแวดวงของการสร้างสรรค์ เราก็เกิดปีติ

     

    หลาย ๆ คนบอกว่า "ลุงสุวิทย์ทำเพื่อผู้อื่น"
    คุณลุงมีความรู้สึกอย่างไรบ้างเวลามีคนชมแบบนั้น

     

           ลุงคิดว่าความสุขเกิดจากการได้ทำ ลุงทำเพราะลุงมีความสุขที่ผู้อื่นจะได้นำไปใช้ประโยชน์ ลุงคิดว่าเราทำอะไรก็ได้ถ้าเรามีความตั้งใจและพอใจกับมัน บางสิ่งที่คนอื่นบอกว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าเรามีใจรักมันทุกอย่างจะเป็นไปได้ งานทุกอย่างที่ลุงทำขึ้นมาส่วนมากต้องยอมรับว่าไม่ได้ทำขึ้นมาจากความรู้เลย มาจากจินตนาการล้วนๆ และที่ลุงทำลุงคิดอย่างเดียวว่าลุงอยากทำให้คนอื่น ถ้าจ้างลุงจะไม่ทำ ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่ลุงทำมันเกิดจากความสบายใจ ลุงจึงสบายใจที่จะทำ สิ่งนี้เลยเป็นความสุขที่เกิดขึ้นง่ายๆ ของลุงเลย




    ในฐานะนักการฯ ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ลุงสุวิทย์ทำงานทุกอย่างด้วยความรัก และสิ่งที่ลุงสุวิทย์ได้ทำนั้นก่อให้เกิดประโยชน์กับโรงเรียนเป็นอันมาก การใช้เวลาทำงานในโรงเรียน ทำให้ลุงสุวิทย์มองเห็นโรงเรียนเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง และลุงสุวิทย์ได้ค้นพบความสุขในการทำงานในฐานะนัก(ก่อ)การฯ ผู้สร้างสรรค์ที่เป็นมากกว่าภารโรง



    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น


    ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ “เขียนเล่นเป็นเรื่อง” รวมผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 3 ในหนังสือชุด “วิชญมาลา” รวมผลงานด้านภาษาและวรรณคดีไทย จัดทำโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563
    อ่านฉบับ E-book ได้ที่  https://www.mebmarket.com/ebook-134349-เขียนเล่นเป็นเรื่อง-รวมผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย


    หมายเหตุเกี่ยวกับงานเขียน: ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชา “ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว” ปีการศึกษา 2562


    ผู้ให้สัมภาษณ์:                                                 สุวิทย์ สังข์ทอง
    ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงบทสัมภาษณ์:        รัตน์ฟ้า ศุภภูดล

                                                                             ศิษย์เก่านิสิตทุนโครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษา

                                                                             และวรรณคดีไทย ภาควิชาภาษาไทย 

                                                                             คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                                                                             ชื่นชอบนวนิยายแปลและตำนานตะวันตกมาตั้งแต่เด็ก                                                                             ปัจจุบันสนใจประวัติศาสตร์ การเมืองและภาษา

                                                                             มีหนังสือ ภาพยนตร์และเพลงเป็นสิ่งเยียวยาจิตใจ

                                                                             ความสุขคือการแบ่งปันความหลงใหล

                                                                             กับผู้ที่มีจิตวิญญาณเหมือนกัน

    ภาพประกอบ:                                                  รัตน์ฟ้า ศุภภูดล                                                          เอื้อเฟื้อสถานที่:                                               โรงเรียนวัดจันทาราม (ตั้งตรงจิตร 5)

    ขอขอบคุณ:                                                     นางกัญญ์ภรณ์ วรรณศิริ

                         ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดจันทาราม

                         (ตั้งตรงจิตร 5) สพป.ราชบุรี เขต 2


    บรรณาธิการต้นฉบับ:                                     หัตถกาญจน์ อารีศิลป
    กองบรรณาธิการ:                                           ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง บุษกร บุษปธำรง วรนุช ขาวเกตุ
                                                                            ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์ จุฬารัตน์ กุหลาบ

         






เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in