เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บันทึกสิ่งที่อยากแชร์Kulnida P.
แนะนำหนัง 9 เรื่องต้อนรับเดือนที่มี 29 วัน
  • กุมภาพันธ์อาจจะไม่ใช่เดือนแห่งความรักของใครหลายคน อาจเป็นเพียงเดือนที่มีวันหยุดชดเชยมาฆบูชา และโรงหนังช่วงนี้ก็อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ตรงใจ 

    สิ่งที่อยากแชร์วันนี้ คือลิสต์หนังที่อยู่ในอดีตและความทรงจำ ทุกเรื่องเป็นเรื่องที่รับประกันโดยความรู้สึกแล้วกันว่ามันเป็นหนังที่พิเศษจนยากจะลืม อาจเป็นหนังที่เคยดูแล้วอยากดูอีก หรือบางคนยังไม่เคยดู ยังไงก็ลองเช็คลิสท์ไปพร้อมๆกันนะว่ามีตรงใจกันบ้างไหม


    1. Moonlight (2016)

  • นอกจากดีกรีหนังยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ปี 2017 ความดีงามจากตัวหนังเป็นมากกว่าหนังรางวัล Moonlight เล่าผ่านช่วงชีวิตของ ไซรอน เด็กชายตัวจ้อยในไมอามีที่อาศัยกับแม่ติดยา ฉายาตอนเด็กของเขาคือ 'Little' ผ่านพื้นหลังบรรยากาศยุค 80s มีคนผิวสีหลายคนที่ยากจนและบางคนก็รวยผิดปกติ ความฝันของเด็กผู้ชายทุกคนคือการเติบโตขึ้นเพื่อเป็นผู้ชนะ ไม่ต้องกลัวใครมารังแก


    หนังที่เล่าบริบทสังคมผ่านช่วงชีวิตเด็กจนโตของไซรอน กระแทกกระเทือนโครงสร้างสังคมหลายๆอย่าง ทุกครั้งที่ความรักของไซรอนปรากฏบนจอมันเจ็บปวดมากกว่ากระชุ่มกระชวยแบบหนังรักวัยรุ่นเป็นความเจ็บปวดที่เงียบเชียบและตราตรึง
      

    2. Farewell My Concubine (1993)


     แล้วตอนนี้เราเห็น Doc Club นำกลับมาฉายอยู่ตอนนี้แหละ ลองไปเช็คในเพจดูได้ เรื่องนี้ยังอยู่กับอะไรที่ร้าวรานหัวใจ 5555 ถ้าเรื่องมูนไลท์เป็นชายรักชายฝั่งประเทศเสรีภาพอย่างอเมริกา 
    (แต่ในยุค80ที่หนังใช้ก็ลำบากพอสมควร) มาถึงเรื่องนี้เองก็ได้เล่าถึงช่วงชีวิตของ โตวจื่อ ตั้งแต่เด็กจนโตเหมือนกัน สิ่งที่เชื่อมโยงกับมูนไลท์ที่แนะนำไปก่อนหน้านี้ คือบริบทพื้นหลังเป็นการเมืองเหมือนกัน แต่เปลี่ยนเป็นปี 2000 เป็นช่วงที่จีนกำลังมีสงครามกับญี่ปุ่น 

    หนังเล่าถึงสิ่งสำคัญสองอย่างคือ ความรักของโตวจื่อที่มีต่องิ้วหรือการแสดงอุปรากรของจีน และความรักของโตวจื่อที่มีต่อ ซือโถว รุ่นพี่ที่ฝึกฝนงิ้วมาด้วยกัน 


    สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้โดดเด่นและแตกต่างจนน่าจดจำจึงเป็นความงดงามที่ผู้กำกับตั้งใจใส่ลงไปให้เห็นความสุนทรียะของการแสดงอุปรากรจีนอันเป็นรากเหง้าวัฒนธรรมมาแต่เก่าแก่ เบื้องหลังโรงละคร การฝึกฝนที่ทรหด ความแข็งแรงและอ่อนโยนที่ผสมผสานกันเหมือนหยินหยาง และเราก็ว้าวกับเลสลี่ จางในบทบาทนี้มาก เพราะชอบตั้งแต่ Happy together ของหว่องกาไวแล้ว แต่ Farewell My Concubine เป็นภาพยนตร์ดราม่าที่ทำให้รู้สึกลึกซึ้งเหมือนอ่านนิยายจีน ภาษาหนังเฉพาะตัวเป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ นับว่าเป็นหนังเก่าที่น่าเก็บน่ากลับไปดูอีกรอบ


    3. In the mood for love (2000)


    พอดูถึงหนังหว่อง คงทิ้งเรื่องนี้ไปไม่ได้จริงๆ หนังชู้สาวอันดับหนึ่งในใจคือฉากเดินสวนทางไปซื้อก๋วยเตี๋ยว กับอารมณ์เหงาๆรายล้อมรอบทาง และแน่นอน เป็นเรื่องรักร้าวรานอีกตามเคย 55
    กล่าวเรื่องย่อสั้นๆง่ายคืิอ การพบกันของคู่สามีภรรยาสองคู่ที่ต่างฝ่ายต่างได้มารู้ว่าคนของตัวเองเป็นชู้กัน และได้ใช้เวลาร่วมกันในการจัดการเรื่องนี้ เมื่อนำคำว่าชู้มาชำแหละ มันจะไม่ร้าวรานได้อย่างไร 

    นอกจากเนื้อเรื่อง เราชื่นชอบมู้ดโทน อารมณ์ต่างๆที่ใส่เข้ามาในแต่ละฉาก ทุกแสงที่ส่อง เงาที่ตกกระทบ สีสันในเรื่อง ทุกภาพทุกเฟรมจัดองค์ประกอบภาพออกมาได้งดงามมากๆ

    4. ดิว ไปด้วยกันนะ (2019)


    เดี๋ยวอาจจะเกิดคำถามว่าไม่มีหนังไทยที่ถูกใจบ้างเลยหรอ จริงๆมีหลายเรื่อง แต่ในลิสต์หนังรัก 9 เรื่องที่จะแนะนำ อยากเลือกอะไรที่มีจุดเชื่อมโยงกัน แล้ว ดิว ไปด้วยกันนะ หนังไทยเรื่องล่าสุดของมะเดี่ยว
    ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับที่ทำให้ 'รักแห่งสยาม' มีพื้นที่ในหัวใจของใครหลายคนไปแล้ว และสำหรับเรื่องดิวเราคิดว่ามันก็ใช้ประเด็นของรักต้องห้ามมาเล่าโดยดัดแปลงบทจากภาพยนตร์เกาหลีโดยหยิบความสำคัญมาใช้นั่นคือ ความรักที่สังคมบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เปรียบเป็น ความคิดขบถของคนรุ่นหลัง
    แม้ความประทับใจแรกด้วยใบปิดและมู้ดโทนของหนังเรื่องนี้จะดูเป็นหนังรักวัยใส แต่ระหว่างดูถ้าคุณได้วิเคราะห์วิพากษ์แต่ละตัวละครออกมาดูแล้ว มันไม่ใสเลยสักนิดเดียว

    ดิว แบ่งเรื่องราวเป็นสองช่วง ซึ่งเราชอบทั้งพาร์ทของดิวภพกับความเป็นธรรมชาติของนักแสดงหน้าใหม่ด้วยมั้ง แต่แล้วมวลความสดใสจากพาร์ทแรกจะเริ่มสร้างความสับสนให้คุณในพาร์ทตอนโตของภพ เสียงตอบรับและวิจารณ์ถือว่ามีหลายทางเหมือนกัน โดยรวมแล้ว เป็นหนังรักที่ใช้เงื่อนไขของเวลาและสถานที่ได้อย่างชาญฉลาด

    5. แสงกระสือ (2019)


    ยังอยู่ในหมวด 'รักต้องห้าม' ซึ่งไปไกลกว่ากรอบสังคม หรือกรอบศีลธรรม แต่แสงกระสือ เราเรียกมันว่าหนังรักต้องห้ามระหว่างเผ่าพันธุ์ ถ้าทุกคนชอบเรื่องรักปรัมปราเด็กสาวกับแวมไพร์หรือมนุษหมาป่า ลองเปิดใจให้กับชายหนุ่มกับกระสือสาวดูบ้าง เพราะหนังเรื่องนี้นำมาทำให้ปรัมปราที่ไว้ขู่ให้คนกลัวกลายเป็นเรื่องโรแมนติกได้ แถมยังเป็นเรื่องรักสามเส้าของวัยรุ่นอีกด้วย ถือเป็นความกล้าที่จะหาวิธีเล่าปรัมปราในมุมใหม่ๆผ่านภาพยนตร์ไทย แม้ที่ผ่านมาจะวงการหนังในไทยจะมีความพยายามนำกระสือมาเล่าใหม่ แบบ กระสือวาเลนไทน์ (2006) หรือกระสือสยามที่ปล่อยออกมาในปีที่แล้วใกล้ๆกับแสงกระสือจนนึกไปว่าเป็นกระสือฟีเว่อหรืออย่างไร 
    สิ่งที่ทำให้เราหยิบเรื่องนี้มาแนะนำเพราะเราดูหนังรักข้ามเผ่าพันธุ์มาหลายเรื่อง การมาเจอหนังไทยในหมวดนี้แล้วพบว่านอกจากหนังสามารถพากระสือไปไกลกว่าคำว่าสยองขวัญและน่ากลัวได้ ยังสามารถเป็นหนังรักวัยรุ่นที่สนุกเรื่องนึงเลย แสงกระสือ เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนสามคนในวัยเด็ก และ ณ ในตอนนั้นเราคิดไม่ถึงหรอกว่า วันหนึ่งเด็กผู้หญิงจะกลายเป็นอมนุษย์ที่มีความรักจากมนุษย์ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งวุ่นวายในหมู่บ้านนี้ ต่อมา เมื่อสังคมไม่ได้มีแค่ชาวบ้านกับกระสือ แต่ยังมีทั้งกระหัง ทั้งพระ คนปราบกระสือ สภาวะความขัดแย้งในหมู่บ้านนั้นจึงเกิด ซึ่งเกิดเป็นคำถามเช่นเดียวกันว่า บทสรุปของความขัดแย้งที่เกิดในสังคม ควรจะจบอย่างไร 




    6. The Shape of Water (2017)


    รักข้ามเผ่าพันธุ์ฝั่งไทยในใจฉันแนะนำจบไปแล้ว คราวนี้ขอเพิ่มอีกเรื่อง ถ้าคุณรู้สึกว่าชอบเรื่องราวแฟนซีแบบนี้ คุณมีฉันเป็นเพื่อนแล้ว The Shape of Water หนังจากผู้กำกับสัญชาติเม็กซิโก พูดถึงหญิงกำพร้าใบ้ทำความสะอาดในศูนย์วิจัยของหน่วยงานรัฐบาล การเป็นใบ้ที่ได้ยินแต่พูดไม่ได้คนอาจเข้าใจว่าคงมีความลำบากในการสื่อสาร แต่หนังเรื่องนี้ทำให้เห็นว่ามันไม่มีความสำคัญเลยที่เธอจะพูดได้หรือไม่ เพราะถึงพูดได้ คนก็จะพูดเรื่องของตัวเองให้เธอฟังอยู่ดี ทำให้คิดไปว่าแท้จริงแล้วเธออาจจะมีเสียงก็ได้ แต่ไม่มีใครได้ยินหรือไม่มีใครฟังเสียงจากสาวทำความสะอาดคนนี้นั่นเอง เธอจึงเลือกมอบความรักให้กับมนุษย์ปลาที่ถูกจับมาวิจัยในศูนย์ที่เธอทำงานอยู่ ผู้ที่ซึ่งถูกกระทำแบบอมนุษย์ไร้จิตใจ


    หนังเล่าด้วยบรรยากาศปี 1962 ในยุคที่สหรัฐอเมริกากำลังทำสงครามเย็น มุ่งแต่เทคโนโลยีหรือการวิจัยที่จะใช้ประโยชน์เป็นอาวุธสงครามได้ และสายลับรัสเซียก็ต่างอยากรู้ความเคลื่อนไหวของขั้วอำนาจตรงข้าม เมื่อบรรยากาศการเมืองคุกรุ่น และความรักของมนุษยชาติบังเกิดขึ้น เรื่องราวที่ถอดจากปรัมปราอันว่าด้วยโฉมงามกับเจ้าชายอสูรจึงตามมาด้วยความงดงาม


















  • 7. The Lure (2015)



    หนังมิวสิคเคิลส่วนใหญ่ที่คุณดูเป็นหนังรักใช่หรือไม่ The Lure เป็นหนังสัญชาติโปแลนด์ซึ่งบรรยากาศหนังที่ปกคลุมไปด้วยความหนาวเย็นของโปแลนด์อาจทำให้เราไม่คุ้นชินสักหน่อย ใบปิดและคำโปรยที่ไทยนำเข้ามาฉายอาจดูเป็นหนังสยองแปลกๆมากกว่า
    หนังเล่าถึงเงือกสาวสองพี่น้องที่ขึ้นฝั่งมาอยู่ในผับแห่งหนึ่งซึ่งต่อมาได้ร่วมเข้าไปอยู่ในวงดนตรีด้วยความพวกเธอชอบร้องเพลง เรื่องรักกำเนิดเมื่อเงือกคนน้องตกหลุ่มมนุษย์หนุ่มรูปงามเจ้าเสน่ห์ที่เล่นดนตรีในพวกเธอในวงดนตรีเดียวกัน หนังดำเนินคล้อยไปตามเพลงตามแบบมิวสิคเคิล เราสะดุดตากับภาพหนังที่ไม่ได้ฟรุ้งฟริ้ง เงือกเป็นได้ทั้งตัวละครแฟนตาซีสยดสยองและขณะเดียวกันก็เป็นเงือกน้อยน่ารักแบบที่เด็กๆชอบ แล้วแต่สไตล์การนำมาเล่า ซึ่งเรื่องนี้หาจุดตรงกลางที่ทำให้รู้สึกถึงความแฟนตาซีน้อยลง แต่เรียลลิสติกมากขึ้น เหมือนกับว่าถ้าเงือกมีจริง ต้องประมาณนี้แน่เลย

    รวมๆแล้ว The Lure อาจเป็นหนังนางเงือกที่โหดกว่าหนังรักทั่วไปที่ใช้นางเงือกเป็นผู้เล่า และมันก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นหนังโรแมนติกแต่อย่างใด เพียงโครงสร้างของปรัมปราก็ยังไม่หายไปไหน ทั้งที่มีฉากเลือดสาดอยู่บ้าง แต่กลับทำให้ฉันร้องไห้กับพาร์ทของความรักของเงือกกับมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างสองเงือกพี่น้องได้เหมือนกัน


    8. Phoenix (2014)


    แนะนำหนังรักต้องห้ามหรือรักแฟนตาซีระหว่างเผ่าพันธุ์มามากพอแล้ว เรื่องนี้ขอเรื่องรักฉบับคลาสสิค คือสงครามและความรักนั่นเอง Phoenix เป็นภาพยนตร์ดราม่าสัญชาติเยอรมัน ว่าด้วยสภาพบ้านเมืองหลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง เนลลี่ เป็นหญิงสาวผู้รอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเธอศัลยกรรมใบหน้าที่ผ่านบาดแผลและกลับมาเยอรมันอีกครั้งเพื่อตามหาสามีของเธอ แต่จอห์นนี่ สามีของเธอ กลับจำเธอไม่ได้และบอกให้เธอช่วยเล่นเป็นภรรยาเก่าของเขาที่ตายไปจากสงครามเพื่อรับมรดกมาแบ่งกัน


    ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นทั้งความรัก ความเคลือบแคลงใจ และสิ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือความรู้สึกที่เตือนย้ำไม่ให้เราหลงลืมความโหดร้ายจากสงคราม ประวัติศาสตร์การฆ่าล้างมนุษยชาติที่ใหญ่ที่สุดที่สร้างบาดแผลในใจที่ไม่สามารถเยียวยาให้หายได้เหมือนเนลลี่ศัลยกรรมแผลบนหน้าของเธอ 




    9. Lost in Translation (2003)


    ขอจบด้วยหนังรักที่จะเป็นท็อปลิสต์ตลอดกาลของฉันกับชื่อไทยแสนเก๋ หลง/เหงา/รัก โดยผู้กำกับหญิงโซเฟีย คอปโปลา ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของความเหงาและว่างเปล่าของเหล่าคนมีอันจะกินที่อยู่บนห้องชั้นสูงๆในโรงแรมใจกลางเมืองโตเกียว คนหนึ่งเป็นนักแสดงรุ่นใหญ่ที่ดังมากในอดีต อีกคนเป็นนักศึกษาสาขาปรัชญาที่เพิ่งเรียนจบและไม่รู้จะทำงานอะไรต่อ คนสองคนที่มาอยู่ต่างเมือง ความสับสนของไทม์โซน ภาษา และวัฒนธรรม ทำให้การเจอกันของคนสองคนที่ต่างคิดว่าอีกคนนั้นคล้ายกับตนเองจึงเกิดเป็นความหมายลึกซึ้งขึ้นมา


    สิ่งที่ชื่นชอบในหนังเรื่องนี้คือการสร้างบรรยากาศความเหงา ความสับสน ความไม่เข้าพวก และความเนิบช้าในพาร์ทแรกที่อยู่กันบนชั้นสูงของห้องโรงแรมก็ทำให้เรารู้สึกตามตัวละครว่าชีวิตของชนชั้นนำมันน่าเบื่อและเวลาช่างผ่านไปช้าเหลือเกิน ซึ่งนั่นก็เป็นการจิกกัดสังคมที่ผู้กำกับหญิงคนนี้เติบโตมานั่นแหละ หนังของโซเฟีย คอปโปลาช่วยทำให้เราเห็นว่าคนรวยน่ะทุกข์เรื่องอะไร เหงายังไง รักกันยังไง   

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in