เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ทวิฆาต: A Man Who Died Twicepiyarak_s
Chapter 1: Dr. Faulkner's War
  • (1) 


    อาชญากรรมไม่เคยเลือกวัน เวลา และสถานที่ คือ สิ่งที่ข้าพเจ้าตระหนักดีมาตลอดระยะเวลาร่วมยี่สิบปี นับแต่เริ่มทำอาชีพตำรวจเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่เริ่มเป็นพลตระเวนสังกัดตำรวจภูธรภูมิภาคนอร์ทไรดิ้งและยอร์ก จนถึงบัดนี้ที่ข้าพเจ้าเป็นสารวัตรสืบสวนสังกัดกองบัญชาการกลางตำรวจนครบาล หรือ สก็อตแลนด์ยาร์ด ในกรุงลอนดอน 


    ด้วยการงานของตำรวจที่ยากจะเลือกวันหยุดได้ ทำให้แมรี่ ภรรยาผู้ล่วงลับของข้าพเจ้าต้องไปโบสถ์ตามลำพังในวันอาทิตย์อยู่บ่อยครั้ง หรือร้ายกว่านั้น คือ ข้าพเจ้าอาจถูกตามตัวออกไปจากโบสถ์กลางคัน และปล่อยให้หล่อนเดินทางกลับบ้านเพียงคนเดียว โดยที่หล่อนก็ไม่รู้ชัดว่า ข้าพเจ้าจะกลับไปรับประทานอาหารกับหล่อนได้มื้อไหน แต่กระนั้น หล่อนก็ไม่เคยบ่นว่าหรือแสดงอาการหงุดหงิดกับข้าพเจ้า และมีความอดทนกับข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก ซึ่งนั่นทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกผิดอยู่ไม่น้อยที่มีเวลาให้หล่อนน้อยลง หากข้าพเจ้ารู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ชายที่โชคดีที่สุดที่มีหล่อนเป็นคู่ชีวิต 


    เพราะแมรี่ ข้าพเจ้าจึงกระตือรือร้นจะหาเวลาว่างเพื่ออยู่กับหล่อน พาหล่อนไปเที่ยวบ้าง พยายามทำหน้าที่ของสามีที่ดีเพื่อตอบแทนความดีของหล่อน แต่เมื่อหล่อนตายจากและข้าพเจ้าย้ายเข้ามาอยู่ในลอนดอน ข้าพเจ้าก็ไม่เหลือเหตุผลในการขวนขวายหาเวลาว่างให้ตนเองอีก สิ่งที่ข้าพเจ้าเหลืออยู่มีเพียงงานอย่างเดียวเท่านั้น แม้จะมีเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชาที่สนิทสนมกัน แต่เราต่างก็อยากมีช่วงเวลาส่วนตัวเป็นของตนเองเสียมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อต้องทำคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่ไวท์ชาเพิลภายใต้ความกดดันมาตลอดระยะเวลาครึ่งปีที่ผ่านมา โดยไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายได้เมื่อใด 


    ในเวลาว่าง หากไม่ไปอ่านหรือยืมหนังสือที่ห้องสมุด ไปเดินเล่น หรือเล่นกีฬา ข้าพเจ้าก็ไม่คิดอยากไปไหน นานครั้งจึงจะออกไปรับประทานอาหารค่ำหรือไปดูมหรสพกับเพื่อนที่สนิทสนมกันสักหนหนึ่ง พวกสโมสรสำหรับสุภาพบุรุษต่าง ๆ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว สโมสรเหล่านี้เป็นที่พบปะสังสรรค์ของคนในสังคมชั้นสูงเสียมากกว่าชนชั้นกลางอย่างข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปร่วมงานเลี้ยงบ้างก็เฉพาะเวลาที่ต้องติดตามผู้บังคับบัญชา หรือไปตามมารยาทเพราะได้รับเชิญเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่า ชีวิตซ้ำซากของข้าพเจ้าจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เมื่อได้รู้จักกับ ดร. โทเบียส ฟอล์กเนอร์นี่เอง 


    เนื่องจากวันนี้เป็นวันอาทิตย์ และคดีที่พินชินสตรีทไม่ใช่คดีที่ซับซ้อน การชันสูตรศพของหญิงผู้เคราะห์ร้ายจึงใช้เวลาไม่นานนัก หลังจากตรวจศพและสรุปสาเหตุการตายของหล่อนได้แล้ว จ่ามัสเกรฟก็ขอตัวรีบกลับไปพบคู่หมั้นของเขาทันที ข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนตัวเปล่าก็ไม่มีแผนการอะไรอีก แต่แล้ว ดร. ฟอล์กเนอร์ก็ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจ เมื่อเขาถามว่า ข้าพเจ้าว่างอยู่หรือไม่ และชวนข้าพเจ้าไปเดินเล่นในสวนสาธารณะสักแห่งหลังรับประทานอาหารกลางวัน 

      
    นั่นเป็นเรื่องแปลก เพราะก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าเห็นเขามีอาการเจ็บขาและท่าทางไม่สะดวกกับการยืนหรือเดินนัก แต่เขากลับเลือกที่จะใช้เวลาว่างในวันอาทิตย์ไปกับการเดินเล่นท่ามกลางหิมะที่เริ่มละลาย แม้จะไม่ค่อยเข้าใจนัก หากข้าพเจ้าก็ตอบรับคำชวนนั้นโดยดี 


    หลังอาหารกลางวันในย่านสแตรนด์ ดร. ฟอล์กเนอร์และข้าพเจ้าก็พาตัวเองมาจนถึงสวนสาธารณะเซนต์เจมส์ ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากที่ทำงานของข้าพเจ้า คือ กองบัญชาการกลางตำรวจนครบาลที่ไวท์ฮอลล์นัก และเป็นสถานที่ซึ่งข้าพเจ้ามักจะมาเดินเล่นเพื่อผ่อนคลายจากการงานเป็นประจำ 


    เราเดินมาหยุดยืนที่มุมหนึ่งของทะเลสาบกลางสวนฝั่งติดกับฮอร์สการ์ดส์พาเรด ซึ่งเป็นมุมที่ข้าพเจ้าชอบที่สุดมุมหนึ่งในเซนต์เจมส์พาร์ก ไม่เพียงแต่เป็นมุมที่สามารถมองตรงไปยังพระราชวังบักกิ้งแฮมได้ชัดเจนที่สุดมุมหนึ่งอย่างเดียว หากการได้เห็นพื้นที่สีเขียวและผืนน้ำ ทำให้ข้าพเจ้าซึ่งเกิดในหมู่บ้านริมทะเลทางตอนเหนือของยอร์กเชียร์รู้สึกอุ่นใจเหมือนได้ใกล้ชิดกับถิ่นที่จากมา ทั้งเสียงของกิ่งวิลโลว์ที่ทอดโน้มลงสัมผัสผิวน้ำยามต้องสายลมยังเป็นเหมือนเสียงคลื่นทะเลที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยมาทั้งชีวิต แม้เวลานี้ต้นไม้จะทิ้งใบไปหมดแล้ว แต่น้ำแข็งและหิมะที่ยังหลงเหลือและเกาะค้างตามกิ่งก้านเหล่านั้นก็ดูงามไปอีกแบบหนึ่ง 


    “คุณหมอไม่เป็นไรแล้วแน่หรือ” ข้าพเจ้าถามเพื่อความแน่ใจ เพราะเราใช้เวลาในการเดินมาที่นี่นานมากพอสมควร แต่ดูเหมือนว่าหลังจากออกจากโรงพยาบาลมาแล้ว เขาแทบจะไม่แสดงความยากลำบากในการเคลื่อนไหวเท่าที่ข้าพเจ้าเห็นก่อนหน้านี้ 


    “ฤทธิ์ของมอร์ฟีนยังอยู่ได้อีกหลายชั่วโมงครับ ไม่เป็นไร” เขาตอบราวกับเรื่องที่พูดเป็นเรื่องดินฟ้าอากาศ


    นี่เองกระมัง คือ สาเหตุที่เขาขอตัวเข้าไปทำธุระในห้องทำงานและให้ข้าพเจ้ารอเขาข้างนอกสักครู่หนึ่ง ก่อนที่เขาจะตามออกมา แม้จะเข้าใจถึงความจำเป็นของเขา แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าคาดไม่ถึง 
    ดร. ฟอล์กเนอร์ยิ้มน้อย ๆ ให้ข้าพเจ้า “ไม่ต้องตกใจไป ผมไม่ได้ใช้มันบ่อยนัก” 


    “ลูกปืนที่อยู่ในขานั่น ผ่าออกไม่ได้เลยจริง ๆ หรือ” 


    เขาไม่ได้ตอบคำถามที่ข้าพเจ้าหลุดปากออกไป และดูเหมือนคำถามด้วยความสงสัยใคร่รู้ของข้าพเจ้าข้อนั้นจะสะกิดความรู้สึกบางอย่างของเขาเข้าอย่างจัง ด้วยเขานิ่งเงียบไปชั่วขณะ และนั่งมองลมหายใจของตนเองกระทบอากาศหนาวเย็นที่ล้อมรับตัวเราอยู่จนกลายเป็นไอสีขาวลอยอยู่ในอากาศอยู่อย่างอาการครุ่นคิด


    “ขออภัยผมเถอะ คุณหมอ” 


    “มิได้ครับ สารวัตร ไม่ต้องขอโทษหรอก” เขาบอก “ที่ผ่ากระสุนออกมาไม่ได้ เนื่องจากทางเข้าของแผลอยู่ด้านหลังเข่า กระสุนฝังอยู่ในตำแหน่งที่ผ่าออกได้ยาก เสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ถ้าพลาด ผมอาจเสียเลือดจนตาย พิการ หรือติดเชื้อจนต้องตัดขาทิ้งทีหลัง ซึ่งวิธีรักษาที่ง่ายที่สุด คือ ตัดขาข้างซ้ายเหนือเข่าออกเสียให้หมดเรื่องไป แต่ผลก็อาจไม่ต่างกัน เพราะในเวลานั้น ผมจะเสียเลือดมาก และขาดน้ำถึงตายได้ ทางเลือกสุดท้ายที่มีอยู่ คือ ปล่อยไว้อย่างนั้น…” 


    “คุณพระช่วย” ข้าพเจ้าอุทานหลังจากได้ทราบคำตอบจากปากเขา แต่คนเล่ากลับเป็นฝ่ายที่ยังใจเย็น และยิ้มปลอบราวกับว่าสิ่งที่ตนประสบมานั้นไม่ใช่เรื่องหนักหนาอันควรต้องเป็นห่วงแต่อย่างใด 


    ดร. ฟอล์กเนอร์นั่งลงบนม้านั่งยาว พาดไม้เท้าไว้กับที่วางแขน และลูบเข่าข้างที่เจ็บด้วยอาการคิดคำนึง 

    “สารวัตรอยู่ลอนดอน คงได้ติดตามข่าวการรบที่อาบูเคลียในซูดานเมื่อสักสี่หรือห้าปีก่อนอยู่บ้างกระมัง”

      
    ข้าพเจ้าพยักหน้ารับ และนั่งลงข้างเขา “แน่นอน การรบครั้งนั้นเป็นที่กล่าวขวัญกันมากทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางไปช่วยนายพลกอร์ดอนที่กรุงคาทูม และการจัดกองทหารที่ใช้อูฐเป็นพาหนะขึ้น”

      
    การสู้รบที่อาบูเคลียที่เขากล่าวถึง เป็นส่วนหนึ่งของสงครามมาห์ดิสต์ซึ่งมีชนวนเหตุมาจากความพยายามของชาวซูดานในการที่จะขับไล่ผู้ปกครองชาวอียิปต์ออกไปจากประเทศ โดยโมฮัมเม็ด อาห์เม็ดรวบรวมกำลังผู้ศรัทธาออกทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ขับไล่เคดิฟแห่งอียิปต์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองซูดานออกไป แม้นายกรัฐมนตรีวิลเลียม แกลดสโตนคิดจะวางมือจากแทรกแซงกิจการของอียิปต์และซูดาน แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ศักดิ์ศรีของจักรวรรดิอังกฤษในฐานะเจ้าอาณานิคมกลายเป็นเรื่องหนักหนาเกินกว่าจะละวางได้ 

      
    ถึงรัฐบาลของเราจะหลีกเลี่ยงการใช้กำลังเข้าจัดการปัญหาของอียิปต์และซูดาน โดยบอกผ่านทางเคดิฟให้ออกคำสั่งให้ผู้ว่าการชาร์ลส์ กอร์ดอนพาคนของอังกฤษออกไปจากซูดานเสีย แต่นายพลกอร์ดอนก็วางเฉย รัฐบาลอังกฤษจึงจำต้องยอมให้นายพลกอร์ดอนดำเนินการต่อ และได้แต่หวังว่า เขาจะเข้าถึงกรุงคาทูมและพาคนของอังกฤษออกจากพื้นที่ได้โดยไม่มีความสูญเสีย แต่เมื่อไปถึงกรุงคาทูมแล้ว เขากลับตกอยู่ในวงล้อม ทางหนีที่เหลืออยู่เพียงทางเดียว คือ แม่น้ำไนล์ ก็เชี่ยวกรากและมีอุปสรรคกีดขวางจำนวนมาก ช่องทางการติดต่อสื่อสารกับทางการอังกฤษในอียิปต์เป็นไปด้วยความยากลำบาก เรียกได้ว่าแทบถูกตัดขาดไปเกือบทั้งหมด 


    ต่อให้นายกรัฐมนตรีแกลดสโตนไม่อยากเข้าแทรกแซง แต่ประชาชนที่คอยติดตามข่าววีรกรรมของนายพลกอร์ดอนมาตลอดไม่พอใจกับการไม่เข้าไปช่วยเหลือคนตน ทั้งสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียก็ทรงมีพระราชดำริในทำนองเดียวกัน ทำให้เขาจำต้องส่งกองกำลังสำรวจ ไปยังกรุงคาทูม เพื่อนำตัวนายพลกอร์ดอนออกมาให้ได้ ซึ่งในข้อนี้ ข้าพเจ้าก็มองเห็นความจำเป็นดังกล่าวอยู่ แม้ว่าจะเห็นว่านายพลกอร์ดอนไม่ควรพาตนเองเข้าไปเสี่ยงตั้งแต่แรก แต่ก็ยังมีคนของอังกฤษคนอื่น ๆ และชาวต่างชาติอีกมากที่ยังติดค้างอยู่ในนั้นที่ควรได้รับการช่วยเหลือ 


    ลอร์ดโวลส์ลีย์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกองกำลังสำรวจในพื้นที่ซูดานได้เลือกใช้เส้นทางเข้ายังกรุงคาทูมผ่านแม่น้ำไนล์ เพราะแม้จะไกลกว่า แต่ก็เสี่ยงกับการปะทะน้อยกว่า ถึงกระนั้นก็ยังประสบปัญหาในการเดินทางในเส้นทางดังกล่าว เพราะจำเป็นต้องใช้เรือกลไฟซึ่งต้องต่อขึ้นใหม่ เนื่องจากถูกกดดันด้วยความคาดหวังของประชาชนชาวอังกฤษ ที่ต้องการให้เข้าไปช่วยเหลือนายพลกอร์ดอนออกมาให้ได้ ลอร์ดโวลส์ลีย์จึงจัดกองกำลังผสม ให้เข้าไปถึงพื้นที่เป้าหมายไปก่อน โดยจัดตั้งหน่วยทหารซึ่งใช้อูฐเป็นพาหนะขึ้น โดยดึงเอากำลังทหารราบและทหารม้าจากหน่วยต่าง ๆ เข้าปฏิบัติการ ข่าวหน่วยทหารที่ใช้อูฐเป็นพาหนะ เป็นที่กล่าวขวัญในบรรดาผู้ที่ติดตามข่าวอยู่ในลอนดอนด้วยความตื่นเต้นและอัศจรรย์ใจกันเป็นอันมาก


    ระหว่างที่ลอร์ดโวลส์ลีย์ควบคุมการต่อเรือ เซอร์เฮอร์เบิร์ต สจ๊วร์ตก็ได้นำกองทหารเดินทางล่วงหน้าไปทางทะเลทราย โดยมีกำลังสนับสนุนจากกองพลน้อยซัสเซ็กส์ และทหารม้าฮุสซาร์หน่วยที่สิบเก้า ซึ่งปฏิบัติการในซูดานจนคุ้นเคยกับพื้นที่ตามมาสมทบ 


    อย่างไรก็ตาม การเข้าช่วยเหลือนายพลกอร์ดอนก็ยังคงมีอุปสรรคอย่างต่อเนื่อง เพราะอูฐที่นำมาใช้นั้นไม่สามารถลำเลียงอาหารและน้ำได้มากเพียงพอกับจำนวนของกำลังพลได้ เซอร์เฮอร์เบิร์ตจึงเลือกเดินทางไปยังแหล่งน้ำที่จาคดุล ให้กำลังบางส่วนรออยู่ที่นั่น และนำอูฐทั้งหมดเดินทางต่อ แต่เมื่อเดินทางใกล้ถึงอาบูเคลีย กองอูฐและทหารม้าฮุสซาร์หน่วยที่สิบเก้าซึ่งเดินทางล่วงหน้ามาก่อนได้พบกับกองกำลังมาห์ดิสต์ ทางอังกฤษจึงจำต้องตั้งรับอย่างไม่มีทางเลือกด้วยกำลังอีกส่วนหนึ่งอยู่ไกลเกินไปที่จะตามมาสมทบทัน โดยกำลังของอังกฤษในเวลานั้นมีน้อยกว่ากำลังของกลุ่มมาห์ดิสต์กว่าสองเท่า เซอร์เฮอร์เบิร์ตจึงให้จัดรูปแบบการเดินทางเป็นรูปสี่เหลี่ยมเพื่อพร้อมตั้งรับหากมีการโจมตีได้ทันที และการต่อสู้ที่หนักหน่วง โหดร้าย และนองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งของกองทัพอังกฤษในต่างแดนก็เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 17 มกราคม 1885 นั่นเอง 


    แม้มีเหตุขัดข้องหลายประการ ด้วยม้าพาหนะที่มีอยู่หมดแรงและขาดน้ำ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ถูกใช้อย่างต่อเนื่องยาวนานจนติดขัดและหลายชิ้นไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่กองสำรวจภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลสจ๊วร์ตก็ยังสามารถยืนหยัดต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามทั้งที่มีกำลังน้อยกว่าหลายเท่าจนกระทั่งได้รับชัยชนะอันควรค่าแก่การยกย่องในความกล้าหาญ ไม่ยอมแพ้ แม้จะตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบ ถึงกระนั้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นตามมาก็มากเกินประมาณอยู่ดี เพราะทหารที่มีความสามารถหลายนายสู้จนตัวตาย นายพลสจ๊วร์ตได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการปะทะอีกครั้งระหว่างทาง ยิ่งไปกว่านั้น กองทหารของลอร์ดโวลส์ลีย์ที่เดินทางด้วยเรือกลไฟโดยทางแม่น้ำไนล์มาไปถึงช้าเกินไป แม้เป็นแค่สองวัน เพราะนายพลกอร์ดอนถูกกลุ่มมาห์ดิสต์สังหารระหว่างการบุกยึดกรุงคาทูมเสียแล้ว 


    ไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมงท่ามกลางการสู้รบที่ติดพันใจกลางดินแดนของฝ่ายตรงข้ามและเป็นฝ่ายตั้งรับการโจมตี ถึงเป็นระยะเวลาไม่ถึงวัน แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าในความรู้สึกของคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์บีบคั้นเช่นนั้นคงเหมือนยาวนานนับปี 


    “ในเวลานั้น ผมเป็นศัลยแพทย์ประจำกองทหารม้าฮุสซาร์หน่วยที่ 19” เขาบอกข้าพเจ้า


    “แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร แพทย์น่าจะเป็นฝ่ายที่เสี่ยงภัยน้อยกว่าคนอื่นที่ออกรบในด่านหน้าไม่ใช่หรือ”


    “ไม่แน่เสมอไปหรอกครับ สารวัตร ในตอนนั้น คนเจ็บมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเรารอรับอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องไปพาเขาเข้ามาให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะได้รับอันตรายถึงชีวิต และตอนที่รู้ตัวว่าถูกยิง ผมกำลังพาทหารที่ถูกยิงอีกคนหนึ่งกลับเข้ามารักษาในวงล้อม” เขาเฉลย “ตอนนั้น ทุกอย่างติดพันจนหยุดพักไม่ได้ ผมไม่มีทางเลือกนอกจากเอาผ้ามัดห้ามเลือด แล้วทำงานต่อ” 


    สิ่งที่เขาเล่า ทำให้ข้าพเจ้าเห็นภาพของเขา แพทย์ทหารคนอื่น ๆ และทหารเสนารักษ์ซึ่งทำหน้าที่ผู้ช่วยวิ่งไปตามเสียงร้องเรียกว่ามีคนเจ็บ สาละวนกับการช่วยชีวิตทหารฝ่ายตนใจกลางแนวตั้งรับคนแล้วคนเล่า ทั้งที่กองกำลังผสมของอังกฤษยังคงเคลื่อนที่ไปข้างหน้าพร้อมกับสู้รบไม่หยุดหย่อน จนในที่สุดแล้ว เขาก็กลายเป็นหนึ่งในผู้บาดเจ็บจากการสู้รบไปด้วย แต่ถึงกระนั้น เขาก็ยังไม่หยุดทำหน้าที่ของตนเอง

      
    “ถึงจะปฐมพยาบาลไปแล้ว แต่มันช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะยิ่งเดินมาก เคลื่อนไหวมาก เลือดก็ยิ่งไหล แต่ในสถานการณ์แบบนั้น อย่างที่ผมบอกสารวัตรไปแล้วว่า ผมทำอะไรกับมันไม่ได้มาก นอกจากปล่อยมันทิ้งไว้อย่างนั้น แต่ผมถือว่านั่นเป็นเรื่องดีที่ผมรักษาขาของตัวเองเอาไว้ได้ เพราะอย่างน้อย ผมยังทำงานในช่วงที่การสู้รบยังไม่เสร็จสิ้นต่อไปได้ และแบ่งเบางานของศัลยแพทย์คนอื่นได้ ถึงขาจะเจ็บ ผมก็ยังเดินไปไหนมาไหนได้ ถ้าขาผมขาดไปข้างหนึ่งแล้ว ผมจะกลายเป็นคนเจ็บที่ทำอะไรไม่ได้เลยไปอีกนาน ตอนนั้นอูฐกับม้าที่ใช้ลำเลียงคนที่เจ็บหนักเริ่มไม่พอเสียแล้ว” 


    “ถึงผมจะรักษาขาของผมไว้ได้ แต่ผมก็ไม่สามารถทำทุกอย่างที่เคยทำได้อีกต่อไปด้วยเหมือนกัน” เขาอธิบาย “ไม่ว่าจะมียาสลบหรือไม่ การตัดแขนขาก็ต้องทำให้เสร็จสิ้นให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งใช้เวลานานเท่าไหร่ คนเจ็บยิ่งมีโอกาสเสียเลือดมากเท่านั้น และในกรณีที่ไม่มียาสลบ ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร่ คนเจ็บก็ทรมานน้อยลงเท่านั้น แต่พอเป็นแบบนี้แล้ว พละกำลังของผมก็มีไม่พอที่จะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยในเวลาเท่าเดิมได้” 


    ข้าพเจ้าจับนัยบางอย่างในคำบอกเล่าของเขาได้ “นี่คือเหตุผลที่แท้จริงที่คุณหมอลาออกจากแพทย์ทหารอย่างนั้นหรือ” 


    “ครับ สารวัตร” เขาพยักหน้ายืนยัน “ไม่ใช่เพราะผมมีอาการบาดเจ็บเรื้อรังถึงได้ลาออก แต่เพราะสภาพร่างกายของผมทำให้ผมไม่สามารถทำหน้าที่แพทย์ประจำกองทหารอย่างมีประสิทธิภาพได้อีก ระหว่างที่ผมกลับมาพักฟื้นอยู่ที่บ้านที่เซอร์รีย์ และกำลังตัดสินใจว่าเมื่อหายดีแล้ว ผมจะกลับอียิปต์ไปเป็นศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลทหารที่อเล็กซานเดรียหรือจะทำอย่างไร เพื่อนของผมที่เป็นแพทย์ก็เดินทางมาเยี่ยมและบอกผมว่า อาจารย์ของผมทราบเรื่องที่ผมบาดเจ็บกลับมาแล้ว ท่านอยากให้ผมกลับมาเป็นศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลในลอนดอน และงานศัลยแพทย์ตำรวจก็ยังขาดแคลนคนอยู่ ผมถึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นแพทย์ประจำกองทัพ และทำงานในลอนดอนมาจนถึงปัจจุบัน อย่างที่สารวัตรเห็น” 


    “แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ผลสุดท้าย คุณหมอก็ต้องอยู่กับอาการเจ็บขาอย่างนี้…” 


    “ไปตลอดชีวิต” เขาเติมประโยคให้ข้าพเจ้า “นั่นคือผลลัพธ์ของสิ่งที่ผมเลือกเอง ผมอยู่กับมันมาสี่ปีแล้ว และผมต้องอยู่กับมันต่อไป… ซึ่งก็ไม่เป็นไร” 


    หากเขาแสดงความขมขื่นกับสิ่งที่ต้องเผชิญอยู่ออกมาบ้าง ข้าพเจ้าคงพอจะมีคำปลอบใจให้ แต่การยอมรับชะตาของตนเองแต่โดยดี ไม่ต้องการความสงสาร ไม่ต้องการความเห็นใจ ทำให้ข้าพเจ้าอับจนถ้อยคำ และได้แต่มองเขาด้วยความรู้สึกที่อัดแน่นเต็มอกโดยไม่อาจระบายออกมาเป็นคำพูดใด ๆ ได้


    “ผมเสียใจด้วยจริง ๆ” ข้าพเจ้าบอกเขา แม้จะรู้ดีว่าสิ่งที่พูดไปนั้นไม่เข้าท่า แต่ข้าพเจ้าก็ไม่อาจหาคำอื่นใดที่ดีกว่านี้ได้ 


    ตลอดชีวิต… ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าชีวิตของคนคนหนึ่งจะยาวนานเท่าใด แต่ในความรู้สึกของข้าพเจ้าแล้ว ความเจ็บปวดที่ติดตัวไปตลอดชีวิตนั้นเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ทุกข์เพราะความเจ็บปวดเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความทุกข์เพราะไม่อาจรู้ได้ว่า ความทรมานที่ต้องแบกรับนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เป็นความทุกข์ที่สาหัสยิ่งกว่า 


    อย่างไรก็ดี สิ่งที่เขาเฉลยให้ฟังทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจเหตุผลในการกระทำต่าง ๆ ของเขาขึ้นอีกมาก โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องขยายความเกี่ยวกับตนเองอีก 


    ในช่วงเวลาที่การสำรวจดินแดนใหม่เป็นสิ่งที่คนในสังคมจับตามองด้วยความอยากรู้อยากเห็น โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับวีรกรรม ความกล้าหาญของบุคคลที่ยินดีละความสะดวกสบายในบ้านเกิดเมืองนอนออกไปผจญภัยในดินแดงที่ไม่รู้จักเพื่อแสวงหาความรู้ ทรัพยากร หรือเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่และรักษาเกียรติภูมิของอังกฤษ บรรดาสโมสรและสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ย่อมพร้อมอ้าแขนรับเขาเป็นสมาชิกเพื่อให้เขาถ่ายถอดประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นในสมรภูมิต่างแดนให้ฟัง และให้ชื่อเสียง ความนับหน้าถือตาแก่เขาเป็นรางวัล แต่นั่นหมายความว่า เขาต้องยอมแลกสิ่งเหล่านี้กับความลำบากในการเดินทาง ต้องคอยตอบคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งที่บางเรื่องไม่ใช่สิ่งที่น่าจดจำ ข้าพเจ้าไม่แปลกใจเลยที่เขาเลือกใช้ชีวิตอย่างสันโดษมากกว่าทำตนให้เป็นที่รู้จัก


    “ผมต้องขอบคุณสารวัตรที่รับฟัง” ดร. ฟอล์กเนอร์กล่าว “เพราะผมเองก็ไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้ใครทราบ ยกเว้นคนที่สนิทกันหรือคนที่ผมไว้วางใจ” 


    “ด้วยความยินดี” ข้าพเจ้าบอกอย่างเต็มใจ “คุณหมอช่วยผมมามาก หากมีอะไรให้ผมช่วย ขอให้บอกได้โดยไม่ต้องลังเลใจใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าผมช่วยได้ ผมจะช่วยคุณหมอเต็มที่” 


    เขายิ้มให้ข้าพเจ้า “ขอบคุณอีกครั้งครับ ที่ผมรบกวนให้สารวัตรมาที่นี่ ไม่ใช่เพียงแต่ต้องการให้สารวัตรมาเดินเล่นเป็นเพื่อน หรือเพื่ออธิบายเรื่องอาการบาดเจ็บเก่าแก่ของผมให้ฟังเท่านั้นดอก เพราะผมยังมีเรื่องหนึ่งที่อยากให้สารวัตรช่วยด้วย”

      
    คำกล่าวของเขาทำให้ข้าพเจ้าเผลอจ้องมองเขาด้วยความประหลาดใจอยู่ครู่ใหญ่ เพราะก่อนหน้านี้ เขาไม่มีท่าทีว่ามีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจอะไรแม้แต่น้อย หากสีหน้าจริงจังของเขาคือคำยืนยันว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ฟังผิดไป 


    “ขอโทษด้วยที่ไม่ได้บอกตั้งแต่แรก” เขาบอก ล้วงเอากระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งพับเอาไว้ออกมาจากกระเป๋าเสื้อโค้ต ยื่นส่งให้ข้าพเจ้าอ่าน “นี่คือจดหมายที่มีคนจ้างให้เด็กนำมาส่งให้ผมที่โรงพยาบาลก่อนที่ผมจะออกมา” 


    ข้าพเจ้ารับกระดาษแผ่นนั้นไว้ คลี่ออกอ่านข้อความที่อยู่ภายใน 



    To be continued... 
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
salmonrism (@salmonrism)
ใจไม่ดีเลยค่ะ คุณหมอนี่เป็นคนที่ชอบความท้าทายเสียจริง แต่ยังไงก็ให้คุณสารวัตรช่วยนะคะ;-;
piyarak_s (@piyarak_s)
@salmonrism คุณหมอไว้ใจสารวัตรที่สุดแล้วค่ะ ถึงจะเจอกันมาไม่นานก็เถอะ ><
seven792pn (@seven792pn)
ขอบคุณที่มาลงตอนใหม่ให้ได้อ่านกันนะคะ
รุู้สึกว่าการปลอบโยนที่ดี บางครั้งแค่รับฟังก็ช่วยเหลือ แบ่งเบาได้มากเลยล่ะค่ะ
piyarak_s (@piyarak_s)
@seven792pn ขอบคุณค่ะ ดีใจที่ได้รู้ว่ามีคนอ่านเรื่องนี้ด้วย ><
พลังแห่งการฟังก็มีอำนาจไม่แพ้สิ่งอื่นเลยค่ะ :)
seven792pn (@seven792pn)
ขอบคุณที่มาลงตอนใหม่ให้ได้อ่านกันนะคะ
รุู้สึกว่าการปลอบโยนที่ดี บางครั้งแค่รับฟังก็ช่วยเหลือ แบ่งเบาได้มากเลยล่ะค่ะ