เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
This is Netflixcould be blue could be grey
รีวิว Tales by Light : Season 3 สารคดีถ่ายภาพที่ไม่ได้มีแค่การถ่ายภาพ
  •           ซีรี่ย์สารคดีเรื่อง Tales by Light จาก Netflix ได้รับการสนับสนุนจาก Canon Australia และ National Geographic ที่จะพาเราติดตามการเดินทางของช่างภาพชื่อดังระดับโลก พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวการออกล่าความฝัน แรงบันดาลใจ และค้นหาความหมายของการถ่ายภาพ สารคดีนี้ได้ดำเนินมาถึง Season ที่ 3 แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้ง 2 seasons ก็ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมและสร้างความประทับใจให้กับผู้เขียนอย่างมาก โดยส่วนตัวแล้วมันช่วยเปิดหูเปิดตาให้เราได้เห็นด้านอื่นๆ ได้พบแง่มุมใหม่ๆ ของโลกใบนี้ โดยใช้การถ่ายภาพ มาเป็นตัวเชื่อมโยง

              ภาพถ่ายของแต่ละช่างภาพล้วนแล้วแต่ถูกขับเคลื่อนด้วย Passion ที่ต่างกัน แน่นอนว่า ผลผลิตหรือภาพที่ออกมาก็จะมีความแตกต่างกันออกไป บ้างก็เป็นรูปคน บ้างก็เป็นรูปสัตว์ บ้างก็เป็นรูปวิวทิวทัศน์ ซึ่งหากเรามองแค่ตัวผลผลิตของมันอย่างเดียว เราจะไม่สามารถเข้าใจถึงความหมาย คุณค่า ความหลงใหล ความอดทน ความยากลำบาก ความสุข แม้กระทั่งความเศร้า ที่ซ่อนอยู่ในรูปถ่ายสวยๆ เหล่านี้ได้เลย และหน้าที่ของสารคดีชุดนี้ที่ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมก็คือ การนำความแตกต่าง และเบื้องลึกเบื้องหลังเหล่านี้มาเสิร์ฟให้กับเรา ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “การถ่ายภาพ”
              สิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับผู้เขียนมากที่สุดก็คือ "ภาพ" ของเรื่องนี้ โครตตตตตตตตต!!! สวยยยยยยยยย!!!!!! (ขออภัยในอินเนอร์นี้ด้วย 55555) ทั้งเทคนิค มุมกล้อง เอาจริงๆ แค่ได้ไปดู ไปเสพความเทพของ โปรดักชั่นก็ฟินแล้วแหละ สมกับเป็นสารคดีถ่ายภาพของเหล่าบรรดามือโปรจริงๆ

              สำหรับ Season 3 มาในธีม การปกป้องความงดงามและคุณค่าทั้งในผู้คนและสถานที่ (โดยจะประกอบด้วยเด็ก / มหาสมุทธ /และ วัฒนธรรมพื้นเมืองออสเตรเลีย) มีทั้งหมด 6 ตอนย่อย ตอนละประมาณ 20-25 นาที (น้อยเหลือเกิน T-T) เป็นเรื่องราวของช่างภาพ 3 คน air time คนละ 2 ตอน

    Episodes 1&2 : Children In Need Part 1&2

              เปิดฉากมาด้วยช่างภาพคนแรกไซม่อน ลิสเตอร์ ( Simon Lister ) ผู้ซึ่งได้ค้นพบความหมายของการถ่ายรูปและอุทิศชีวิตการทำงานของเขาให้กับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เด็กๆ และเป็นหนึ่งในช่างภาพผู้ทุ่มเทให้กับการทำงานกับองค์กร UNICEF

             ลิสเตอร์ คิดว่าอาวุธ (กล้อง) และวิทยายุทธ (การถ่ายภาพ) ของเขา จะนำมาสู่โลกที่ดีกว่าเดิมได้ ซึ่งหลังจากได้เห็นภาพถ่ายของเขา (ในตอนท้ายของ EP.2) ผู้เขียนเองก็รู้สึกได้ถึงพลังบางอย่างที่อัดแน่นอยู่ในภาพถ่ายเหล่านั้นจริงๆ

              นอกจากนี้ยังมีแขกรับเชิญพิเศษ ออร์แลนโด บลูม ( Orlando Bloom ) แบรนด์แอมบาสเดอร์จากองค์กร UNICEF ที่หลายคนคงคุ้นเคยกับเขาในบทบาทของ เลโกลัส (Legolas) ยอดนักธนู ชาวเอลฟ์จากภาพยนตร์ไตรภาค The Lord of the Rings ผู้เดินทางร่วมไปกับ อารากอร์น และ กิมลี เพื่อปกป้อง มิดเดิ้ลเอิร์ธ

              แต่ในสารคดีชุดนี้ออร์แลนโด บลูม นั้นเดินทางร่วมไปกับ ลิสเตอร์ เพื่อปกป้องและให้ความช่วย เหลือเด็กๆ ที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แสนโหดร้าย ณ บังกลาเทศ ซึ่งก็ได้พบเจอกับเด็กที่ต้องอาศัยตามสลัมข้างทางรถไฟ หาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บขยะรวมไปถึงขายแรงงานให้กับอุตสาหกรรมที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาต้องแขวนอยู่บนเส้นด้าย
               ภารกิจของ ลิสเตอร์ ในครั้งนี้คือการถ่ายภาพเด็กเหล่านี้ เพื่อนำไปเผยแพร่ให้ผู้คนในส่วนอื่นๆ ของโลก ได้รับรู้ว่ายังมีเด็กที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากและอยู่ในสถานที่ๆ คุณคงไม่สามารถจินตนาการได้ว่าเด็กจะไปใช้ชีวิตแบบนี้ได้อย่างไร มันหดหู่และรู้สึกเสียใจกับความไม่เท่าเทียม ความโชคร้ายที่เกิดขึ้น แต่เด็กก็ยังคงเป็นเด็ก พวกเขายังคงยิ้มแย้ม สดใสและเล่นสนุกไปกับชีวิตได้เสมอ

    photo credit : http://www.simonlisterphotography.com/


    Episodes 3&4 : Paradise in Peril Part 1&2

              ตอนนี้เป็นเรื่องราวของช่างภาพใต้น้ำผู้อุทิศตนเองให้กับการปกป้องมหาสมุทธ ผู้เป็นกระบอกเสียงให้กับสิ่งที่ออกมาพูดเพื่อตนเองไม่ได้ เขาคือ ฌอน ไฮน์ริชส์ ( Shawn Heinrichs ) นักอนุรักษ์ทางทะเลที่มีชื่อเสียง ผู้ก่อตั้งองค์กร the Blue Sphere Foundation โดยมีภารกิจสำคัญคือการปกป้องเหล่าบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ใต้ท้องทะเล ในตอนนี้จะเปิดมาด้วยภาพความโหดร้ายของการล่าฉลาม เพียงเพื่อเอามาประกอบอาหาร และนี่ก็ได้นำไปสู่เรื่องราวการต่อสู้ของ ฌอน ที่ลุกขึ้นมายืนหยัดปกป้องสิ่งที่เป็นดั่งสรวงสวรรค์ของเขา สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุดในตอนนี้คือการโชว์ให้เห็นถึงความสวยงามของโลกใต้มหาสมุทธ ณ หมู่เกาะ ราชาอัมพัต (Raja Ampat) ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมันสวยงามมากกกกกกก (กอ ไก่ ล้านตัว) และไม่ผิดไปจากคำเปรียบเปรยที่ ฌอน บอกว่า ที่แห่งนี้เป็นดังสวรรค์ของเขาจริงๆ

               ฌอน ได้พูดถึงหลักปรัชญาชีวิตที่เขายึดถือ นั่นก็คือ “Strong medicine in small doses”  หรือ “ใช้ยาแรงแต่น้อย”  ในที่นี้ ฌอน หมายถึงว่า เราไม่สามารถใช้ภาพที่สร้างความกดดัน สร้างความรู้สึกผิด หรือใช้ภาพที่โหดร้ายเพื่อตอกย้ำว่านี่คือความผิดของมนุษย์ ในการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนออกมาดูแลรักษาธรรมชาติ ซึ่งวิธีนี้มักไม่ได้ผล หรือได้ผลแค่ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ถ้าเราใช้ภาพที่สร้างสรรค์ ใช้วิธีการดึงดูดให้คนตกหลุมรักมัน ความรักจะทำให้เขาออกมาทำอะไรสักอย่าง เช่น ออกมาปกป้องมัน เหมือนกับที่ ฌอน เป็นอยู่นั่นเอง 
              
             ฌอน พยายามชี้ให้เห็นถึงพลังของความรัก ซึ่งผู้เขียนนั้นสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจนจากการลำดับภาพและการเล่าเรื่องของเขา เขาทำให้เราตกหลุมรักปะการัง ปลากระเบน ปลาฉลาม บรรดาสิ่งมีชีวิตใต้ท้องมหาสมุทธ ระบบนิเวศ ราชาอัมพัต และอีกมากมาย ซึ่งหลังจากตอนที่ 4 ได้จบลง ยาที่ ฌอน ได้ใส่ลงไปในสารคดีนี้ก็ค่อยๆ เริ่มออกฤทธิ์ภายในใจของผู้เขียนซะแล้วสิ


    photo credit : http://www.shawnheinrichs.com

    Episodes 5&6 : Preserving Indigenous Culture Part1&2

              ดิลลัน ริเวอร์ ( Dylan River ) ผู้ผลิตภาพยนตร์ชาวออสเตรเลีย จาก Alice Springs นี่เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มผู้ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง และต้องการใช้ความรู้ ประสบการณ์ที่มีจากการทำภาพยนตร์ มาสานฝัน สนองความต้องการลึกๆ ในใจเขา ซึ่งก็คือการเก็บบันทึกเรื่องเล่า, ความรู้, นิทาน, วิถีชีวิต, ประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย (Native Australia) โดย ดิลลัน ได้รับแรงบันดาลใจในความปรารถนานี้จากคุณย่าของเขา เพื่อรวบรวมและเก็บบรรดาวัฒนธรรมดั้งเดิม  ที่ยังหลงเหลืออยู่ในออสเตรเลียไม่ให้หายสาบสูญไป ด้วยความเชื่อที่ว่า ภาพยนตร์จะช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมเหล่านี้ให้คงอยู่ตลอดไป 

              การดำเนินเรื่องและเนื้อเรื่องในตอนนี้ค่อนข้างเรียบง่าย ไม่ค่อยมีอะไรมาฉุดกระชากลากอารมณ์เท่ากับสองตอนแรกที่ผ่านมา ทำให้เราได้เสพภาพสวยๆ พร้อมตื่นตาตื่นใจเล็กน้อยกับวัฒนธรรมแปลกๆ ที่ ดิลลัน ได้บันทึกออกมา 

              แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาก็ได้เกิดขึ้นเมื่อตอนนี้กำลังจะจบลง เหมือน ดิลลัน ค่อยๆ ใช้ยาแบบ ฌอน แต่เป็นคนละชนิดกันนะ ยาของ ดิลลัน นั้นมันเศร้ากว่า เพราะมันทำให้ผู้เขียนตระหนักได้ว่า การสูญเสียทางวัฒนธรรมนั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ และคนรุ่นสุดท้ายของชนเผ่านั้นๆ เขาจะต้องผ่านอะไรมาบ้าง เขาต้องต่อสู่กับการเปลี่ยนแปลง มองดูผู้คนในเผ่าค่อยๆ จากไปทีละคน มีอะไรอีกมากมายที่เขาต้องปกปักษ์รักษาแต่ด้วยเรี่ยวแรงที่ค่อยๆ โรยรา เขาทำได้แค่เตรียมตัวจากโลกนี้ไปพร้อมกับมรดกอันล้ำค่าที่ต้องหายไปพร้อมกับตัวเขา ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอขอบคุณ ดิลลัน ที่เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้และหยิบยื่นโอกาสที่สำคัญที่สุดเพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้

    photo credit : https://www.canon.com.au/explore/preserving-aboriginal-culture-dylan-rive

               มาถึงตรงนี้แล้วเราอยากให้ทุกคนได้ดูจริงๆ นะ แล้วถ้าเป็นไปได้ก็ลองย้อนไปดูอีกสองซีซั่นก่อนหน้าด้วยก็จะยิ่งดีเลยแหละ ผู้เขียนคิดว่ามันเป็นสารคดีที่เหมาะกับคนที่อยากหาอะไรใหม่ๆในชีวิต เพื่อมาเติมเต็มทั้งสมองและหัวใจ อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่านี่ไม่ใช่แค่สารคดีภาพถ่าย แต่นี่คือสารคดีที่รวบรวมเรื่องราวที่สวยงามจากมุมต่างๆ ทั่วโลก โดยใช้พลังของการถ่ายภาพ มาสะกดเราและพาเราไปรู้จักกับเรื่องราวที่แสนสวยงามเหล่านั้น :)


    ***********

    # สามารถติดตามผลงานของเหล่าช่างภาพยอดฝีมือจาก Season นี้ ได้ทาง Link ด้านล่างนี่เลย




    Credit :
    https://petapixel.com/2018/08/25/tales-by-light-season-3-using-photos-to-protect-at-risk-people-and-places/




Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in