เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สิ่งที่เทพนิยายไม่ได้บอกLilith
โฉมงามกับ(อาจจะเหมือนแต่ใกล้เคียง)อสูร
  • จากตำนานกรีกและนิทานเมืองเหนือ ร่วมกับโรคร้ายที่เกิดกับบุคคลในประวัติศาสตร์
     สู่ตำนานความรักของสาวงามและอสูร (รึเปล่านะ)
    --------------------------------

    อีกหนึ่งงานผลิตจากดิสนีย์ที่ีทำให้นิทานเรื่องนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั่วโลกถึงสองครา กับ Beauty and the Beast หรือ โฉมงามกับเจ้าชายอสูร เรื่องราวของสาวน้อยแสนสวยที่จับผลัดจับผลูได้ผัวรวย เอ้ย! ต้องโดนบังคับแต่งงานกับอสูรร้าย (ที่พ่วงปราสาทและความร่ำรวยมาด้วย แต่แน่นอนมันไม่ใช่จุดสำคัญ...มั้งนะ)

    สิ่งหนึ่งที่เราไม่ทันสังเกต พล็อตของเรื่องเล่าสไตล์นี้มีแพร่หลายหลากวัฒนธรรม ถ้าจะพูดตรงๆ คือเรื่องของเจ้าสาวที่มีเจ้าบ่าวเป็นสรรพสัตว์หรืออสูรร้าย ที่บางครั้งหักมุมกลายเป็นเจ้าชายสุดหล่อ หรือเทพสุดเจิดจรัส เป็นของที่มีมาตั้งแต่สมัยตำนานกรีกโน่น...ตอนนี้บางคนอาจจะเริ่มนึกออกแล้ว เรื่องของไซคีกับอีรอส (Psyche and Eros) นั่นเอง

    สำหรับคนไม่เคยอ่าน นิทานเรื่องนี้เริ่มต้นจากการที่ไซคีถือกำเนิดขึ้นบนโลกในฐานะมนุษย์แสนสวย ที่สวยล่มเมืองขนาดที่คนขนานนามว่าอาจจะงามยิ่งกว่าอโฟรไดท์ ซึ่งเป็นเทพที่งามที่สุดในเทือกเขาโอลิมปัส ส่งผลให้อโฟรไดท์โกรธมาก เพราะนอกจากจะถูกเอาไปเทียบกับนังมนุษย์โลกแล้ว พวกมนุษย์ที่เคยเลื่อมใสนางก็ร้างราการบูชาไปอีก เทพธิดาจึงส่งบุตรชายคืออีรอส เทพแห่งความรัก ลงไปหาไซคี เพื่อจะใช้ลูกศรแห่งความรักทำให้ไซคีตกหลุมรักสัตว์ประหลาด

    ภาพอีรอสกับไซคี จุมพิตแรกจากอีรอส โดย Francois Gerard ปี 1798

    เกือบจะสำเร็จแล้วเชียว! ทว่าเมื่ออีรอสได้เห็นหน้าไซคี สวยล่มเมือง เทพหนุ่มน้อยก็ใจอ่อนยวบยาบตกหลุมรักนางเพราะทำศรสะกิดโดนตัวเอง (โธ่ถัง!) ไหนๆ ก็พลาดแล้ว อีรอสจึงพาตัวไซคีไปซ่อนในที่พำนักของตนเอง โดยปิดบังตัวตนที่แท้จริงไว้ตลอดเวลา ทำให้ไซคีหลงคิดว่าตัวเองถูกลักพาโดยอสูรร้าย ซึ่งอีรอสเองจะมาหาไซคีในยามค่ำคืน รวมทั้งไม่ให้มีการจุดไฟเพื่อไม่ให้ไซคีรู้ว่าแท้จริงแล้ว ตนเองได้สมรสแบบไม่เต็มใจกับเทพ

    มันเหมือนจะดีแบบแปลกๆ นะ เพราะนางไซคีได้มีสามีที่ร่ำรวย แต่มองไม่เห็นตัว ได้อาศัยในปราสาทสวยๆ จนมีลูกให้กับอีรอสโดยที่ไม่รู้ว่าหน้าตาสามีตนเป็นอย่างไร จนวันหนึ่งนางคิดถึงบรรดาพี่สาวรวมท้องที่ไม่ได้เจอกันนาน จึงขอร้องให้สามีพาพี่สาวมาหา อีรอสก็มอบหมายให้เซไฟรัส (Zephyrus) เทพแห่งลมตะวันตกนำพี่สาวทั้งสองของไซคีมาที่ตำหนัก เรื่องมันยุ่งตรงนี้แหละ เพราะพอพี่สาวขี้อิจฉาทั้งสองเห็นความเป็นอยู่ของน้องสาวแล้วก็เกิดความริษยาแรงมาก จนยุให้นางทรยศความเชื่อใจของอีรอส โดยการแอบดูสามีขณะนอนหลับ ส่งผลให้อีรอสโกรธนางมาก จึงบินหนีหายไป เรื่องจริงๆ มียาวกว่านี้ แต่คงพอแค่นี้ก่อน เพราะเท่าที่เท้าความกันมา ก็คงจะเริ่มคุ้นหูคุ้นตากันบ้างแล้ว

    นอกจากนี้ยังมีนิทานโบราณในประเทศนอร์เวย์ ชื่อว่า East of the Sun and West of the Moon เป็นเรื่องเล่าขานที่ราวกับจะลอกพล็อตกันมาเด๊ะๆ เพียงแต่เป็นเรื่องราวของชายยากจนที่มีลูกสาวมาก และลูกคนสุดท้องก็สวยที่สุดเสียด้วย วันหนึ่งมีหมีขาวตัวใหญ่โผล่มาที่กระท่อมของชายผู้นี้ โดยมีข้อเสนอว่า "เจ้าจะยกลูกสาวคนเล็กให้ข้าเพื่อความร่ำรวยมั่งคั่งหรือไม่?" 

    คิดว่าชายยากจนจะตอบว่าอะไร? แน่นอนว่าต้องขอคิดดูก่อน (แม้ว่าในใจจะมีคำตอบอยู่แล้ว) ชายยากจนเกลี่ยกล่อมจนลูกสาวยอมขี่หลังไปกับหมีขาว เพื่อตัวเองจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หมีขาวพาหญิงสาวมายังปราสาทแห่งหนึ่ง ที่เมื่อตอนกลางคืน หญิงสาวรู้สึกว่าบนเตียงอันสวยงามนั้น มีชายหนุ่มเข้ามาร่วมหออยู่ด้วย เธออยู่กินแบบง่ายๆ กับเค้านี่แหละ แม้ว่าสามี (?) มักจะมาที่เตียงตอนเธอดับไฟแล้วก็ตาม จนกระทั่งวันหนึ่งที่เธอคิดถึงบ้านขึ้นมา...เรื่องมันเริ่มตรงนี้อีกล่ะ

    หมีขาวก็พาเธอไปดูปราสาทที่พ่อและแม่ รวมถึงพี่ๆ ของเธออยู่อาศัย ทว่ามีข้อแม้เพียงอย่างเดียวคือเธอห้ามคุยกับแม่เพียงลำพัง แต่เธอก็ดื้อ และนั่นเองที่แม่ของเธอได้รู้เรื่องชายลึกลับกลางดึก และยุว่าเธอคงได้โทรลมานอนเป็นเพื่อนแน่ๆ ให้เอาเทียนไปส่องดูซะ สุดท้ายพอส่องแล้วจึงรู้ว่าแท้จริงแล้วตนร่วมหอกับเจ้าชายหนุ่มรูปหล่อ ที่ถูกสาปให้กลางวันเป็นหมีขาวตัวใหญ่ กลางคืนถึงจะคืนร่างเป็นชายหนุ่มนั่นเอง...เรื่องคร่าวๆ ก็มีประมาณนี้ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่านิทานเรื่องนี้เก่าแก่แค่ไหน แต่ก็ดูจะคล้ายกับฉบับที่ฝรั่งเศสเขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18

    ภาพจากภาพยนตร์ La Belle et La Bête ปี 1946

    ปีค.ศ.1740 La Belle et La Bête ก็ถูกเขียนขึ้นในหนังสือ La Jeune Américaine, et les Contes Marins หรือ The Young American and Tales of the Sea   โดย Gabrielle-Suzanne Barbot de Villeneuve โดยคำว่า Bête นี่เองแปลตรงตัวว่า "ด้อยปัญญา" ซึ่งทำให้น่าคิดไปอีกว่าอสูรในเรื่องนั้นคือสัตว์ประหลาดโดยแท้ หรือมีนัยยะแฝงอย่างอื่นกันแน่ แต่ในฉบับนี้พอจะย่นย่อเรื่องของเบลล์ สาวน้อยแสนสวยได้อย่างง่ายๆ ว่านางเกิดในบ้านพ่อค้าที่มีลูกทั้งหมด 6 คน เธอมีพี่ชาย 3 คนและพี่สาวอีก 2 คน พ่อของเธอออกไปทำมาค้าขาย ระหว่างทางเรือเกิดล่ม แต่เขาได้รับการช่วยเหลือให้พำนักในปราสาทแห่งหนึ่งที่ดูไร้วี่แววมนุษย์ ทว่าเขาเองก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากปราสาท โดยมีเจ้าของสนทนากับเขาด้วยเสียงเท่านั้น ทว่าเมื่อพ่อค้าเกิดพบต้นกุหลาบแสนงาม จึงตั้งใจจะเก็บไปฝากเบลล์ เท่านั้นแหละ...เจ้าของปราสาท หรืออสูรโกรธมาก บังคับให้พ่อค้าต้องนำเบลล์มาเป็นภรรยาของเขา 

    ในฉบับนี้ พล็อตเรื่องก็จะคล้ายๆ กับทางกรีกนิดหน่อย ตรงที่พอเบลล์กลับไปเยี่ยมบ้าน พี่สาวทั้งสองก็อิจฉาในความมั่งมีที่เธอได้รับจากอสูร จึงพยายามรั้งตัวเธอไว้ ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอีกระลอก ดูแล้วพล็อตทั้งหมดจะเหมือนกันตรงที่...การทรยศความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือทำลายความซื่อสัตย์ที่นำมาซึ่งปัญหามากมายนั่นเอง

    La Belle et La Bête ปี 2014

    หลังตา Villeneuve เสียชีวิตแล้ว Jeanne-Marie Leprince de Beaumont นักเขียนสัญชาติเดียวกันอีกคนก็นำเรื่องนี้มารีไรท์ใหม่ โดยมีการผนวกเนื้อหาเบื้องหลังของตัวละครหลักสองตัวเพิ่มไปอีก แถมยังดราม่าหนักกว่าเก่าด้วย โดยในฉบับนี้ที่ตีพิมพ์ปี ค.ศ.1756 ใส่เรื่องที่ว่าแท้จริงเบลล์นั้นมีชาติกำเนิดสูงส่ง คือเป็นเจ้าหญิง ที่ราชาม่ายสมรสกับราชินีองค์ใหม่ ไม่นานราชินีก็ยึดครองอำนาจและตั้งใจจะฆ่าเบลล์เสีย เพื่อความปลอดภัย เบลล์จึงถูกนำไปซ่อนโดยอาศัยเป็นลูกสาวของพ่อค้า ส่วนเจ้าชายอสูรของเรานั่นก็ดราม่าไม่แพ้กัน คือเป็นเจ้าชายที่โดนแม่มดใจร้ายสาปเพราะไม่ยอมรับรักของนาง

    ที่มาที่ไปของหนึ่งในภาพยนตร์แอนิเมชันทำเงินของดิสนีย์ก็ประมาณนี้แหละ แต่ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเก็บมาคิดอีกเล็กน้อย เมื่อพล็อตเรื่องเจ้าชายอสูรได้ภรรยาแสนงามนั้น ดูจะสอดคล้องกับกรณีของชายในประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งนามว่า Pedro González (เปโดร กอนซาเลซ) มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1537 - 1618 เป็นขุนนางที่สังกัดในราชสำนักฝรั่งเศส โดยเขาป่วยด้วยโรค Hypertrichosis ที่เป็นอาการผิดปกติของเส้นขนตามร่างกายที่จะงอกงามเกินควรไปหน่อย ทำให้ผู้ป่วยดูคล้ายสัตว์ป่าที่มีขนยุบยับเต็มไปหมด และหากใครได้ชมภาพวาดของเปโดรผู้นี้ ย่อมเห็นตรงกันว่า..."นี่มันเจ้าชายอสูรชัดๆ"

    เหมือนพอมะ? ภาพวาดโดยใครไม่รู้ แต่ระบุปีได้ราวค.ศ.1580


    แรกเริ่มเปโดรถูกนำมาจากสเปน และถวายเป็นของกำนัลแก่กษัตริย์ Henry II โดยได้ชื่อว่าเป็น "มนุษย์ป่าเถื่อน" หรือ "ชายผู้มาจากป่า" ระหว่างที่อยู่ในราชสำนักนี้เอง ที่เปโดรได้สมรสกับ Lady Catherine และมีบุตรน่ารักน่าชังด้วยกัน 3 คน ซึ่ง 2 ในนั้นก็ได้ยีนส์พ่อไปเต็มๆ โดยเรื่องราวของการสมรสนี้เองที่ดูจะส่งแรงบันดาลใจให้นักเขียนรุ่นหลังจากนั้นอีกศตวรรษไม่ยากเลย

    ภาพเปโดรและแคทเธอรีน วาดโดย Joris Hoefnagel ปี 1575/1580

    แม้จะจัดอยู่ในระดับขุนนาง ทว่าบทบาทของเปโดรและครอบครัวไม่ต่างอะไรกับของแปลก หรือตัวตลกที่ถูกส่งต่อไปมาระหว่างผู้มีอิทธิพล พวกเขาถูกนำไปวาดภาพหลายครั้งเพื่อประดับปราสาทต่างๆ ก่อนจะเอนหลังลงใช้ชีวิตที่อิตาลี เป็นผลทำให้เขาได้พบกับแพทย์ที่วินิจฉัยอาการป่วยของเขาในที่สุด




เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in