เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แอดเวนเจอร์ออฟเมอฤดี ฉบับโตเกียวดริฟต์SALMONBOOKS
คำนำ
  • คำนำสำนักพิมพ์


    เมอฤดีคือใคร?

    เราเคยถามอย่างนี้ตอนที่ไปตามส่องสเตตัสเฟซบุ๊คของ คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง หนึ่งในนักเขียนที่เราเฝ้ารอต้นฉบับสนุกๆ จากเขามากที่สุด (ที่จริงตอนที่กำลังพิมพ์คำนำสำนักพิมพ์อยู่นี้เขาก็ยังส่งมาไม่ครบ—แฉซะเลย)

    เมอฤดีมักออกมาปรากฏตัวอย่างหฤโหดอยู่ในสเตตัสที่เกี่ยวข้องกับชีวิตการผจญภัยในเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะโบกแท็กซี่ เดินห้างฯ ซื้อของ จองตั๋วหนัง นั่งดูภาพยนตร์ ฟังเพลง แทะโลมศิลปินที่ชื่นชอบ ฯลฯ

    ข้อความแต่ละอย่างที่ลงท้ายด้วยชื่อเมอฤดี ล้วนทำให้เรามึนไปด้วยความฮาในมุมมองเพี้ยนๆ จุกไปกับความกล้าในการใช้คำที่อ่านแล้วต้องสะดุ้งโหยง รวมถึงงานเขียนจิกกัดสังคมที่ทำให้เราต้องกดไลค์กันไปรัวๆ (มันได้แค่ทีเดียวนั่นแหละ แต่เรากดย้ำๆ เพราะรู้สึกว่าชอบมากเป็นพิเศษ)

    ในเวลาปกติ ถ้าใครติดตามเฟซบุ๊คของคันฉัตร เขา (หมายถึงคันฉัตร) มักจะโผล่มาในชีวิตปกติที่เขาจะต้องไปสอนหนังสือให้เด็กมหาวิทยาลัย เวลาไปกินข้าวกับเพื่อน หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในระดับปกติ แต่เมื่อไรก็ตามที่ต้องเจอสถานการณ์วายป่วงในสังคมมึนๆ งงๆ ประสาทๆ คันฉัตรจะเป็นเหมือนดอกเตอร์บรู๊ซ แบนเนอร์ ที่จะกลายเป็นฮัลค์เวลาโมโห แต่เขาจะอัญเชิญเมอฤดีอวตารมาอยู่ในตัวแทน และหลังจากนั้นสเตตัสเฟซบุ๊คจะกลายเป็นสมรภูมิเดือดให้เขาระบายอารมณ์อย่างเต็มที่ และมันช่างเพลิดเพลินจริงๆ!

    เราตระหนักได้ว่า เมอฤดีเป็นอีกภาคของคันฉัตร เป็นเขาในเวอร์ชั่นขยันบ่น และมีมุมมองในการมองโลกแบบตลกร้าย เป็นคนขี้รำคาญที่ไม่น่ารำคาญ เหมือนเพื่อนห่ามๆ ที่เราทุกคนต่างมีอยู่ในกลุ่ม เป็นข้อความที่ดู ‘จริง’ ดีในสังคม แถมแต่ละอย่างที่เขาพูดยังมีสาระอยู่ด้วยอีกต่างหาก เพราะอาชีพนักเขียนนักวิจารณ์ และอาจารย์ สุดท้ายเมอฤดีกับคันฉัตรก็ใช้ร่วมกันอยู่ดี

    หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกการเดินทางของคันฉัตรในญี่ปุ่น ประเทศที่เขาเต็มไปด้วยความหลัง ชาติที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมป๊อป ซึ่งเขา (รวมถึงพวกเรา) เติบโตมา ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนมังงะ อนิเมะเช้าวันเสาร์ วง X Japan และวงเจร็อกอีกหลายต่อหลายวง ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ หนังอินดี้ เอวี (แฮ่ม) หรือกระทั่งสาวญี่ปุ่น! เช่นเดิม คันฉัตรเดินทางไปเพราะอยากไปสัมผัสต้นตำรับของวัฒนธรรมเหล่านั้นในฐานะ ‘ติ่ง’ อย่างที่เคยทำมาแล้วใน Sorry, Sorry ขอโทษครับ...ผมเป็นติ่ง ที่เขาไปเดินร่าเริงอยู่ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี

    แต่การเดินทางไปต่างประเทศแต่ละทีของคันฉัตร มักเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นวายระดับผจญภัย ไม่รู้ว่าท ำไมเวลาเขาไปไหนจะต้องพบกับเหตุการณ์ประหลาดๆ ที่ชาวบ้านไม่ควรจะเจอ ไม่ว่าจะจากคน ธรรมชาติ สัตว์ สิ่งของ ฯลฯ

    และเมื่อการผจญภัยมันวายป่วงขนาดนี้ จะทำให้เมอฤดีในตัวเขาอยู่เฉยได้อย่างไร!?


    สำนักพิมพ์แซลมอน
  • คำนิยม

    “คันฉัตร in Japan? เห๊อะ!” ผมคิดในใจ

    “จะไปญี่ปุ่นคงกะจะไปให้ ‘ถึง’ ญี่ปุ่นละสินะ? จะไปให้ถึงยานแม่ หึหึหึ ปกติสั่งแต่แผ่นปั๊ม โหลดบิต ไปพันธุ์ทิพย์ล่ะสิ คราวนี้ตั้งใจจะไปซื้อแผ่นแท้ที่โน่นใช่ไหมละ? หึหึหึ รู้นะ” เพราะถ้าเป็นผม ผมก็คงทำอย่างนั้นแหละ

    “ชิส์ แหม ปากบอกว่าเป็นอาจารย์ๆ เป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่แท้ก็หาเรื่องจะไปซื้อแผ่นโป๊ล่ะวะ!!! ฮ่าๆ”

    ผมคิดอย่างนี้ตั้งแต่ตอนเริ่มเห็นเขาหยอดๆ ว่าจะไปญี่ปุ่นในแฟนเพจเขาแล้วละครับ เพราะเรื่องที่ท่านผู้อ่านคงไม่ทราบคือ ผม จูวินยอน จอห์น วิญญู เกิดวันเดียวกัน เดือนเดียวกัน ปีเดียวกันกับ คุณต่อ—คันฉัตร เนี่ยแหละครับ ผมเลยใช้มาตรฐานของผมเองว่าตัวเองชอบอะไร สนใจอะไรเหมือนกับคุณต่อเขาซะเลย เพราะมั่นใจมากๆ ว่าคนคนนี้แหละเหมือนเรา นอกจากหน้าตาของเราทั้งคู่จะดูมีความน่าสนใจเหมือนกันแล้ว (ฟังดูแปลกๆ นะ เหอๆ) ก็น่าจะหื่นเหมือนกันด้วย

    เวลาผ่านไปพักใหญ่ ผมก็ได้รับข้อความในทวิตเตอร์จากคุณต่อบอกว่าให้ช่วยเขียนคำนิยมในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขา ซึ่งเป็นเรื่องราวการเดินทางไปผจญภัยในประเทศญี่ปุ่นให้หน่อย ความคิดของผมที่ได้พรรณนาเล่าให้ท่านผู้อ่านด้านบนก็แล่นยูเทิร์นย้อนกลับมาอย่างกับรถไฟชินคันเซ็น คันฉัตรหนอคันฉัตร นี่ถึงกับเขียนออกมาเป็นหนังสือเลยหรือ? เอ้า! ลองส่งมาอ่านกันหน่อยครับ เดี๋ยวจะจัดคำนิยมให้งามๆ เลย

    เปิดมาในอีเมลมีใจความหนึ่งจากคุณต่อบอกผมว่า

    “อันนี้ต้นฉบับพ็อกเก็ตบุ๊คญี่ปุ่นของเรานะครับ (หนังสือยังไม่มีชื่อเลย ฮ่าๆ) เราส่งมาให้ 15 ตอนนะครับ ก็ประมาณครึ่งเล่ม (ทั้งหมดน่าจะ 26 ตอน)”

    .

    .

    .

    หา? 26 ตอน? จะเล่าอะไรนักหนากับอีแค่การเดินทางไปซื้อหนังโป๊ อื้มหืม นี่บอกว่าดูหนังเยอะก็พอเข้าใจนะ แต่จะบุกไปศึกษา ดื่มด่ำ อิ่มเอิบกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ผู้ใหญ่ขนาดนั้นเลยรึ? ดูท่าจะเสพติดหนังแนวนี้เยอะไปนะเนี่ยคุณคันฉัตร เพลาๆ บ้างก็ได้ ชีวิตคนเราเนี่ยมีอะไรมากกว่านั้นเยอะ

  • เอ้าๆ ลองอ่านดูก่อนดีกว่า เรายังไม่ควรตัดสินเขา
    .
    .
    .

    โอ้โห บ่องตงครับท่านผู้อ่าน ผิดคาดอย่างแรง! เรื่องราวที่ผู้ชายคนนี้เล่าให้ฟังในหนังสือเล่มนี้ (แม้ว่าจะแค่ครึ่งเดียวก็ตามเพราะส่งมาแค่ 15 บท) ผมรู้สึกว่าเป็นหนังสือนำเที่ยวให้กับเราได้เลยทีเดียว เพราะเรื่องราวรายละเอียดการเตรียมการการเดินทางไปมาตามสถานที่ หรือจุดต่างๆ ค่อนข้างเล่าและอธิบายได้ละเอียดมาก

    ที่ผมรู้สึกอย่างนั้นเพราะผมเองเป็นคนที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นบ่อยมาก เรียกได้ว่าเกือบจะยี่สิบครั้งแล้วครับ ผมยังมีความกล้าๆ กลัวๆ กับการเดินทางในญี่ปุ่นอยู่เลย เพราะรู้สึกว่ามันยากมันวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องราวของการสื่อสารที่คนญี่ปุ่นนี่ไม่ค่อยจะยอมพูดภาษาอังกฤษกันเล้ย หรือรถไฟใต้ดินของบ้านเขาครับ อย่างกับเขาวงกต งงมาก แต่คุณต่อสามารถเล่าให้เราสนุกไปกับการเดินทางและทำให้ความกลัวที่มีกับการเดินทางหายไป นี่คือความเจ๋งอย่างแรกของหนังสือเล่มนี้ครับ

    ถัดมาคือเรื่องราวที่คุณต่อสอดแทรกเข้าไประหว่างการเดินทางท่องเที่ยว คือการมองย้อนและหยิบเอาความเป็นญี่ปุ่นในความทรงจำของเขาหรือของคนในรุ่นๆ เดียวกัน (อย่างผมเนี่ยแหละ) มาใส่ไว้ตลอดการพาผจญภัยทริปนี้

    คุณน่าจะจดจำเรื่องราวความเป็นญี่ปุ่นที่คุณได้สัมผัสมาตั้งแต่เด็กๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ดราก้อนบอล กันดั้ม ซีรีส์ญี่ปุ่นที่คุณเคยดูทางช่อง itv …ผมจำได้เลยว่าซีรีส์ต่างประเทศเรื่องแรกในชีวิตที่ผมดูเป็นของประเทศญี่ปุ่นเรื่อง Precious Time หรือชื่อไทยคือ อยู่เพื่อรัก เรื่องนี้นำแสดงโดย เคียวโกะ ฟูคาดะ (Kyoko Fukada) ครับ สมัยนั้นเธอโคตรฮอต น่ารักมาก อยากได้...อยากได้เป็นแฟนเลยล่ะ ส่วนพระเอกเราน่าจะคุ้นกันคือ ทาเคชิ คาเนชิโร่ (Takeshi Kaneshiro) เป็นเรื่องราวชีวิตและความรักของเด็กสาวที่ดั๊นไปติดเชื้อ HIV โอ้โหคุณพระ เรื่องนี้ทำเอาจอห์น วิญญูในวัยสิบกว่าๆ ร้องไห้ค่าาาา ไม่อยากจะบอกว่าคุณต่อเองก็พูดถึงเรื่องนี้ในเล่มนี้ด้วยนะจ๊ะ (อิอิอิ ร้องไห้เหมือนกันละสิเตง คริคริ)

    ในเล่มนี้ยังมีพูดถึงเรื่องอย่างพวกการ์ดพลังยูกิ ตู้สติ๊กเกอร์แบ๊วๆ คิกขุๆ โนเนะๆ การ์ตูนชื่อดังมากมาย โอ้ อีกเยอะเลยครับ การมีโอกาสได้ย้อนรอยความทรงจำในวันวานไปพร้อมๆ กับสัมผัสการผจญภัยครั้งนี้ของคุณต่อมันสนุกมากๆ เลยนะครับ

    ท้ายสุดที่ผมรู้สึกว่ายอดเยี่ยมมากๆ และทำให้คนไทยทุกเพศ ทุกวัย สามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ก็คือ การมองสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นที่คุณต่อได้สัมผัสและนำมาถ่ายทอดในหนังสือเล่มนี้ครับ

    เราได้ยินกันมาเยอะ เรื่องของความมีระเบียบวินัย เรื่องความขยันขันแข็ง เรื่องความพิถีพิถันใส่ใจรายละเอียด และอีกเยอะแยะมากมายของคนญี่ปุ่น

    แต่ครั้งนี้คุณจะมีโอกาสสัมผัสมันไปพร้อมๆ กับผู้ชายที่ชื่อต่อ—คันฉัตร ผู้ซึ่งมีมุมมองที่สนุก น่าสนใจ และน่าตื่นเต้น (รวมถึงแอบแดก (ดัน) แดกไปเรื่อยอะครับ ตั้งแต่ความเร็วอินเทอร์เน็ตยันการศึกษาไทย)

  • การเห็นวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตของสังคมญี่ปุ่นในทริปครั้งนี้ ตัวคุณต่อเองอาจจะเป็นตัวแทนในการมองสังคมบ้านเขาแล้วสะท้อนย้อนกลับมาดูตัวเองของคนในสังคมไทย กลายเป็นมุมมองสนุกๆ ของคนรุ่นใหม่ที่ย้อนกลับมามองบ้านตัวเองว่า แล้วเราละไปถึงไหนแล้ว? แล้วเราจะสามารถเรียนรู้อะไรจากวัฒนธรรมเขาได้บ้าง?

    หนังสือเล่มนี้ครบเครื่องครับ สนุก ได้ความรู้ ได้ย้อนความทรงจำเก่าๆ ได้สัมผัสความกวนประสาทและความเกรียนของผู้เขียน รับรองว่าครบรสแน่นอน (แม้ว่าผมจะได้อ่านแค่ 15 บทเท่านั้นผมก็มั่นใจครับ)

    แต่ก่อนจากกันเพื่อเปิดโอกาสให้ท่านผู้อ่านได้สัมผัสรสชาติความสนุก ความตื่นเต้นของหนังสือเล่มนี้ ผมขอฝากคำถามถึงคุณคันฉัตรเล็กน้อยครับว่า...

    สรุปว่าเล่มนี้จะมีแฟนเซอร์วิสให้ตรูหน่อยไหม? สรุปว่าได้ไหมแผ่นแท้? พรรณนาให้ฟังหน่อยก็ได้นะในครึ่งหลังที่ผมยังไม่ได้อ่านเนี่ยว่าบรรยากาศร้านเป็นอย่างไร? ผมไปมาจะยี่สิบรอบยังไม่เคยไป ‘ถึง’ เล้ย (หราาาาาา)


    จอห์น—วิญญู วงศ์สุรวัฒน์
    • คำนิยมจากเมอฤดี

      สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน 

      ดิฉันคือเมอฤดีนะคะก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าดิฉันก็คือคนคนเดียวกับอีตาคันฉัตร เจ้าของหนังสือเล่มนี้แหละค่ะ

      .

      .

      .

      งงใช่ไหมคะ!?

      อธิบายเพิ่มก็ได้ค่ะ นอกจากจะเป็นคนเดียวกับคันฉัตรแล้ว ดิฉันก็ยังเป็นคนคนเดียวกับต่อ คุณต่อ อีต่อ อาจารย์คันฉัตรอาจารย์ต่อ ‘จารย์ต่อ จานต่อ (ตามที่อีพวกลูกศิษย์มันชอบเรียก) merveillesxx คุณเมอร์ ไอ้เมอร์ อีเมอร์ นังเมอร์ ฯลฯ ด้วยค่ะ

      .

      .

      .

      ยิ่งงงใช่ไหมคะ!!??

      ที่จริงแล้วมันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรหรอกค่ะ อย่างที่เขาว่ากันว่าคนเรามีหลายด้านหลายมิติ เราจะปรับเปลี่ยนตัวตนของเราไปตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างกรณีของคันฉัตรเขาก็มีร่างที่เป็นนักวิจารณ์ชื่อว่าคันฉัตร ร่างที่เป็นนักเลงคีย์บอร์ดมีนามแฝงว่า merveillesxx ร่างที่เป็นอาจารย์คันฉัตรยามสอนหนังสือ และร่างติ่งหู/แฟนบอยที่กรี๊ดกร๊าดเหมือนหมูป่าโดนเชือดยามดูคอนเสิร์ตพวกชะนีเกาหลี

      ส่วนดิฉัน—เมอฤดี—ก็เป็นอีกร่างหนึ่งของคันฉัตรเขาค่ะ เมอฤดีมักจะออกมายามที่คันฉัตรปรี๊ดแตก วีนแตก หรือลิมิตเบรกขึ้นถึงขีดสุด หรือถ้าเปรียบเปรยกับการ์ตูนเรื่อง โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ เมอฤดีก็เป็นเหมือนสแตนด์ของคันฉัตรค่ะ (รู้สึกว่ายิ่งอธิบายจะยิ่งไปกันใหญ่นะคะ

      ใครที่ติดตามเฟซบุ๊คของคันฉัตรคงจะเห็นนะคะว่าบางทีเขาก็โพสต์สเตตัสด้วยโหมดของคันฉัตร (ซึ่งจะเป็นการโพสต์รูปหรือคลิปของวง Girls’ Generation ไปเสีย 60%) แต่ยามใดที่เจอเรื่องฉิบหายวายป่วง โดยเฉพาะการตบตีกับนักศึกษาหรือคนขับแท็กซี่ คันฉัตรก็จะวิ่งมาแตะมือกับดิฉัน แล้วให้เมอฤดีออกไปโพสต์สเตตัสทันที สรุปคือดิฉันมักจะได้รับบทตัวร้ายที่ออกมาด่ากราดจิกกัดถึงความเสียสติของผู้คนและโลกใบนี้อยู่เสมอค่ะ

      ด้วยความที่อยู่ในร่างคุณคันฉัตร ดิฉันเลยได้เฝ้ามองการใช้ชีวิตอันบ้าบอคอแตกของเขามานานหลายปี โดยเฉพาะเวลาที่เขาเดินทางไปต่างประเทศ ดิฉันจะอดลุ้นไม่ได้ว่ามันจะรอดชีวิตไปตลอดทริปหรือไม่ อย่างทริปที่ไปโตเกียวเจ็ดวัน หลายครั้งคันฉัตรก็ทำให้ดิฉันรู้สึกสมเพชเวทนาเสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะตอนที่คุยกับพนักงานโรงแรมไม่รู้เรื่อง สั่งอาหารไม่เป็น หลงทาง (มันหลงทั้งทริปแหละค่ะ) หรือตอนที่มันไปเดินดุ่มๆ ตากลมหนาว ตามหาทุ่งอีธ่งอีเธอร์อะไรของมัน

    • แต่นั่นแหละค่ะ คันฉัตรก็คือเมอฤดี เมอฤดีก็คือคันฉัตร การเดินทางของคันฉัตร มันก็คือการเดินทางของดิฉันด้วย (ขนาดหนังสือเล่มนี้ยังชื่อ แอดเวนเจอร์ออฟเมอฤดี เลยนะคะ) ดิฉันเลยคอยเอาใจช่วยคันฉัตรอยู่ห่างๆ

      ดังนั้นดิฉันก็อยากจะขอร้องให้คุณผู้อ่านเอาใจช่วยคันฉัตรด้วยเหมือนกัน แต่จะหัวเราะสมน้ำ หน้ามันเป็นระยะก็ได้เช่นกันค่ะ

      เมอฤดี

      ป.ล. นี่เป็นการเขียนคำนิยมที่ถูกต้องหรือเปล่าคะ ดูเหมือนดิฉันจะด่ามันแทบทุกย่อหน้าเลยอะค่ะ
  • ก่อนจะเดินทางไปญี่ปุ่น ผมได้พูดคุยคร่าวๆ กับสำนักพิมพ์แซลมอนว่าประสบการณ์เยือนต่างแดนครั้งนี้จะถูกแปรรูปเป็นหนังสือ (ที่ท่านกำลังถืออยู่ในมือนี่แหละ) ฟังดูแล้วมันชวนให้คิดว่าทริปครั้งนี้ต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดีใช่ไหมครับ ...แต่เปล่าเลย ผมเดินทางของผมทั้งมั่วซั่ว เละเทะ (จริงๆ ใช้คำว่าฉิบหายอาจจะตรงกว่า) และเผชิญกับวิบากกรรมมากมาย

    มันทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่ บ.ก. แบงค์ แห่งสำนักพิมพ์แซลมอนเคยเขียนในทวิตเตอร์ของเขาว่า “การอ่านต้นฉบับของคันฉัตร ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังดูชีวิตของหมีที่กำลังเดินไปมาอยู่ในป่าใหญ่ แวะนู่น ดูนี่ เพลินดี” ตอนแรกผมอ่านแล้วก็งง (งงว่ามันกำลังหลอกด่าว่ากูเป็นหมีเปล่าวะ) แต่พอคิดไปคิดมาแล้ว เอ้อ ก็จริงนะ เป็นการเปรียบเปรยที่ตรงทีเดียว

    ดังนั้นท่านที่หลวมตัวซื้อหนังสือเล่มนี้แล้ว สิ่งที่ท่านจะได้อ่านต่อไปก็คือประสบการณ์ของหมีเทอะทะที่เดินซุ่มซ่ามไปเรื่อยนั่นแหละครับ

    แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น ผมก็ยังอยากชวนทุกท่านมาร่วมเดินทางด้วยกันอยู่ดี

    ขอให้อ่านสนุกครับ :)

    คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

    กันยายน 2556
  • แด่



    ภาพยนตร์เรื่อง All About Lily Chou-Chou

    วง X Japan

    และ

    วง Luna Sea
  • ท่ามกลางอากาศหนาวอุณหภูมิ 4 องศาฯ หรืออาจจะน้อยกว่านั้น

    ผมเดินอยู่บนถนนที่ร้างไร้ผู้คน ทิวทัศน์รอบตัวมีเพียงถนนสายยาวและผืนดินเวิ้งว้าง นอกจากเสียงลมและเสียงรถที่วิ่งผ่านมานานๆ ครั้งแล้ว มันไม่มีเสียงอย่างอื่นเลย บรรยากาศเงียบสงบจนน่าขนลุก ทำเอาผมแทบจะเชื่อไปแล้วว่ามีผมคนเดียวที่เดินอยู่ ณ พื้นที่แห่งนี้

    ที่นี่คือเมืองอาชิคางะ จังหวัดโทะชิงิ ประเทศญี่ปุ่น อยู่ห่างจากโตเกียวราวเจ็ดสิบห้ากิโลเมตร มันเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวทั่วไปแทบไม่รู้จัก ตอนที่ผมบอกใครต่อใครว่าจะมาที่นี่ ทุกคนล้วนมีปฏิกิริยาไปในทางเดียวกัน “เมืองบ้าอะไรของมึง” “เมืองอะไรกูไม่เห็นเคยได้ยินชื่อเลย” “มึงจะไปทำหอกอะไรเนี่ย” “อาชิอะไรวะไม่รู้จัก เคยได้ยินแต่วง Arashi” ฯลฯ

    แต่เมืองนี้มีความสำคัญสำหรับผมมาก มันคือสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง All About Lily Chou-Chou หนังปี 2001 ของ ชุนจิ อิวาอิ (Shunji Iwai) มันเป็นหนังที่ผมดูซ้ำนับไม่ถ้วน เป็นหนังที่ผมเขียนพรรณนาถึงมันออกมายาวหลายหน้ากระดาษ และเมื่อโพสต์ลงอินเทอร์เน็ต คนก็เรียกสิ่งที่ผมเขียนว่าบทวิจารณ์ซะงั้น

    พูดได้อีกแบบว่า All About Lily Chou-Chou นี่แหละที่ทำให้ผมเริ่มต้นการเขียนวิจารณ์หนัง จนไปๆ มาๆ ทุกวันนี้ผมก็หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักวิจารณ์มาเก้าปีแล้ว (แต่ไม่รู้ทำไมค่าต้นฉบับแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย อืม...)

    ผมมาที่เมืองอาชิคางะเพื่อตามหาทุ่งหญ้าที่ตัวละครเอกเสียบหูฟังและยืนฟังเพลงอยู่กลางทุ่งหญ้าเขียวขจีอันเป็นภาพจำของหนังเรื่อง All About Lily Chou-Chou ...ใช่แล้วครับ ผมนั่งเครื่องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาหลายชั่วโมงก็เพื่อมาตามหาทุ่งหญ้า แม้ใครหลายคนอาจจะมองว่ามันบ้าบอคอแตกสิ้นดี แต่นี่คือหนึ่งในสิ่งที่ผมคิดว่าจะต้องทำให้ได้ก่อนตาย

    สารภาพตามตรงว่าผมเดินทางมาเมืองนี้แบบเอาดาบหน้ามากๆ ผมไม่รู้เลยว่าทุ่งหญ้าแห่งนั้นมันจะยังอยู่หรือเปล่า มันอาจจะกลายเป็นคอนโดฯ LPN ไปแล้วก็ได้ แต่ถึงกระนั้นผมก็ยืนยันกับตัวเองว่าจะต้องมา

    เมื่อหยิบมือถือขึ้นมาดู หน้าจอแสดงผลว่ายังเหลือระยะทางอีกราวสี่กิโลเมตรกว่าจะถึงทุ่งหญ้าอันเป็นจุดหมาย ผมเดินฝ่าความหนาว ลมหายใจพวยพุ่งเป็นควันสีขาว สายตามองเห็นแต่ถนนที่ว่างเปล่า สมองของผมเลยคิดไปถึงเรื่องต่างๆ นานา ทั้งช่วงเวลาห้าวันก่อนหน้าที่ผมท่องเที่ยวในโตเกียว และการย้อนคิดถึงสาเหตุที่ทำให้ผมมายืนอยู่ตรงนี้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in