เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
What's Newsteammha
Rohingya Crisis, How it began
  • 'ความเกลียดชังที่เริ่มก่อตัวขึ้นจากหน้าประวัติศาสตร์'



    เมียนมาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธ์ุสูงมาก ประชากรกว่า 53 ล้านคน ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ถึง 135 กลุ่มชาติพันธุ์ แต่กลุ่มโรฮีนจากลับไม่ถูกระบุอยู่ใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์นั้น 

    กลุ่มชาวโรฮีนจาเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณรัฐยะไข่ทางภาคตะวันตกของเมียนมาติดกับประเทศบังคลาเทศ ชาวโรฮีนจามีจำนวนกว่า 1 ใน 3 ของรัฐยะไข่และเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของเมียนมานั้นนับถือศาสนาพุทธ ที่มาของกลุ่มโรฮีนจาถูกอธิบายด้วยหลากหลายทฤษฎี มีตั้งแต่ชาวโรฮีนจาเป็นพ่อค้าชาวอาหรับที่เดินทางมายังเมียนมาเพื่อแสวงโชค หรือเป็นชาว  บังคลาเทศที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มานานแล้ว และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญช่วงที่อังกฤษปกครองเมียนมาและต้องการแรงงานทำให้เกิดการอพยพของชาวโรฮีนจาเข้ามามากอย่างมีนัยสำคัญช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 และอีกแนวคิดคือชาวโรฮีนจาไม่เคยปรากฎมาก่อนเลยในช่วงก่อนที่อังกฤษจะปกครองเมียนมาแต่ได้อพยพมาเป็นแรงงานจากการเกณฑ์แรงงานของอังกฤษ (W. Katja., S. Allison. Myanmar: Promoting Reconciliation between the rohingya Muslims and Buddhists of Rakhine State, 2017)

    ไม่ว่าชาวโรฮีนจาจะมีที่มาอย่างไรแต่ก็เป็นที่แน่ชัดว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมทำให้ชาวโรฮีนจาไม่สามารถหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมาได้ ชาวโรฮีนจาไม่เคยได้รับการยอมรับจากรัฐบาลเมียนมาว่าเป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา และชาวเมียนมาส่วนใหญ่มองชาวโรฮีนจาว่าเป็นผู้อพยพชาวบังคลาเทศที่หลบหนีเข้ามาในเมียนมาแม้ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาจะอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่เป็นเวลาหลายทศวรรษหรือศตวรรษก็ตาม

    ปัญหาของชาวโรฮีนจาเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อรัฐบาลทหารของเมียนมาประกาศกฎหมายความเป็นพลเมืองของเมียนมาในปี 1982 ได้แบ่งชาวเมียนมาออกเป็น 3 กลุ่มคือ Full Citizenship, Associate Citizenship และ Naturalized Citizenship ซึ่งชาวโรฮีนจาไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นกลุ่มใดๆเลย และเหตุผลที่เป็นแบบนี้เพราะรัฐบาลทหารของเมียนมาในขณะนั้นมีมุมมองต่อกลุ่มโรฮีนจาว่าเป็นผู้อพยพชาว
    บังคลาเทศที่มาเมียนมาช่วงที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม ซึ่งกฎหมายที่ออกมานั้นรองรับความเป็นพลเมืองให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ก่อนที่อังกฤษจะเข้ามาในเมียนมานั่นเอง

    จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแรกเริ่มในระดับชุมชนจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมได้แผ่ขยายกลายเป็นความรุนแรงมากขึ้นร่วมกับทั้งความยากจนและการกดขี่ทางการเมืองทำให้กลุ่มโรฮีนจาบางกลุ่มหันไปสู่ความรุนแรง กลุ่มโรฮีนจาหัวรุนแรงที่มีชื่อมากที่สุด คือกลุ่ม ARSA (Arakan Rohingya Salvatation Army) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2013 ซึ่งมีหลักฐานว่าผู้นำของกลุ่ม ARSA ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและมีฐานอยู่ที่บังคลาเทศและปากีสถาน ซึ่งกลุ่ม ARSA นี้ถูกรัฐบาลเมียนมาหมายหัวไว้ว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ

    เหตุการณ์ความรุนแรงอันกลายเป็นชนวนของวิกฤตการณ์โรฮีนจาเกิดขึ้นจากการโจมตีสถานีตำรวจในรัฐยะไข่ในวันที่ 25 สิงหาคม 2017 กลุ่มติดอาวุธ ARSA โจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในรัฐยะไข่ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 12 นายและกลุ่ม ARSA เสียชีวิต 77 คน (B. Zoltan., Where Myanmar Went Wrong, May/June 2018) หลังเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้นทำให้กองทัพเมียนมาทำการกวาดล้างชาวโรฮีนจาโดยใช้ข้ออ้างว่าเป็นการต่อต้านการก่อการร้าย ชาวโรฮีนจาหนีไปยังบังคลาเทศกว่า 650,000 คน ในปี 2017 และกว่า 200,000 คนในช่วงก่อนการกวาดล้างจะเริ่มต้นขึ้น








    Source: 
    https://www.theguardian.com/global-development/2017/sep/06/who-are-the-rohingya-and-what-is-happening-in-myanmar 
    Katja Weber., Allison Stanford. (2017). Myanmar: Promoting Reconciliation between the rohingya Muslims and Buddhists of Rakhine State. Social Justice Vol. 44, No. 4 (2017).
    Zaltan Baran. (2018).. Where Myanmar Went Wrong. Democratic Awakening to Ethnic Cleansing.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in