เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Navy's StoryKamchai Charoenpongchai
ทำไมไม่เป็นทหารน้ำล่ะ
  • คงมีหลาย ๆ คน สงสัยมานานแล้วใช่มั๊ยล่ะครับ ว่าทำไมทหารสามเหล่าทัพ มีทหารเรือ เท่านั้น ที่ไม่เรียกชื่อ ตามพื้นที่ปฏิบัติการ

     

    ทหารบก ทหารอากาศ แล้ว.... ทำไมไม่เป็น ทหารน้ำ นั่นน่ะสิ ทำไม ?

     

    คิดในทางกลับกัน แล้วทำไมทหารบก ทหารอากาศ ถึงไม่เรียกตามทหารเรือล่ะ เป็น ทหารรถถัง ทหารเครื่องบิน นั่นน่ะสิ ทำไม ?

     

    สาเหตุของเรื่องนี้ ผมสันนิษฐานมาจาก ชื่อเรียกเหล่าทัพในภาษาต่างประเทศครับ เพราะในสมัยก่อนนั้น ศาสตร์ทางการทหารสมัยใหม่นั้น เรารับมาจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะทหารเรือที่มาจากอังกฤษแบบเน้นๆ ซึ่งชื่อเรียกทั้งสามเหล่าทัพ บก เรือ อากาศ ก็คือ Army , Navy และ Air Force ตามลำดับครับ

     

    ผมเชื่อ (แบบหาหลักฐานมายืนยันไม่ได้) ว่า ทหารอากาศ และทหารเรือ นั้น เราแปลความมาจากคำในภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษตรงๆ 

     

    ยกเว้น แต่ ทหารบกเท่านั้น ที่ผมคิดว่าไม่ได้มีที่มาจากคำในภาษาอังกฤษ แต่เป็นคำที่คนไทยเราประดิษฐ์กันขึ้นมาเอง เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดแบ่งกำลังออกเป็น ทางบก ทางน้ำ  และทางอากาศ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อาจจะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ หรือเก่ากว่านั้นก็เป็นได้ แต่ผมก็ไม่แน่ใจนัก เพราะเพิ่งจะได้เห็นคำว่าทหารบกบ่อยครั้งก็ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่มีคำว่ากลาโหม มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา


    เนื่องจากทหารไทยในสมัยก่อนมีแต่ทหารบก ยังไม่มี ทหารเรือ หรือ ทหารอากาศ ที่มีการทำงานแยกให้เห็นเด่นชัด จะมีก็แต่ทหารบกเท่านั้น ถึงแม้จะมีเรือรบในแม่น้ำก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ใช้เรือเพื่อการรณรงค์อย่างในปัจจุบันนี้ ดังนั้น คนเรือที่เป็นฝีพาย ก็คือทหารบกที่ถูกฝึกให้พายเรือ และเห่เรือตามราชประเพณีเท่านั้น และทหารในสมัยก่อนก็เรียกกันแต่ว่า "ทหาร" แต่อาจจะเรียกเป็นประเภทๆ แบ่งตามพาหนะ หรืออาวุธที่ใช้บ้าง ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น ทหารม้า พลม้า นายม้า, พลช้าง นายช้าง ,ทหารปืนใหญ่ ทหารราบ นายตีนทหารมหาดเล็ก ฯลฯ 

     

    ต่อมา ไทยเราเริ่มรับเทคโนโลยีทางการทหารสมัยใหม่เข้ามาในสมัย รัชกาลที่ ๔ จึงได้เริ่มมีการแบ่งแยกทหารออกเป็นประเภท โดยแบ่งตามพื้นที่รับผิดชอบ หรือเขตปฏิบัติการ คือ ทางบก ทางน้ำ โดยมีคำเรียกชัดเจนว่า ทหารเรือ ปรากฏให้เห็นในสมัยนั้น คือ มีการจัดแบ่งทหารเรือออกเป็น ทหารเรือวังหน้า และทหารเรือวังหลวง หรือทหารเรือบ้านสมเด็จ ส่วนทหารอากาศนั้น แน่นอนว่ามาทีหลังอีก ๒ เหล่าทัพ เป็นเวลานาน 

     

    จากสมมติฐานที่ว่า ชื่อ ทหารบก ที่น่าจะกำหนดคำขึ้นมาเอง และทหารเรือ และทหารอากาศ เป็นชื่อที่น่าจะแปลมาจากภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ จึงพินิจพิเคราะห์ได้ดังนี้

     

    Army นั้น แปลกันตรง ๆ แล้วก็คือ กองกำลังติดอาวุธ หรือ Armed Force ซึ่งอย่างที่ผมบอกในตอนต้นว่า ยกเว้นทหารบกเท่านั้น ที่เราไม่ได้เรียกตามฝรั่ง เพราะว่า Army นั้นไม่ได้แปลว่า ทหารบก ตรง ๆ ตัว ดังนั้น ผมจึงสันนิษฐานเอาว่า ทหารบกนั้นเรียกตามพื้นที่ที่รับผิดชอบมากกว่า

     

    ส่วน Air Force นั้นก็บอกกันโต้ง ๆ ว่าเป็น กองกำลังทางอากาศ ดังนั้น จึงไม่ต้องคิดต่อให้วุ่นวายครับ

     

    ทีนี้มาดูคำว่า Navy กันบ้าง คำ ๆ นี้เป็นคำที่อังกฤษรับมาจากภาษาฝรั่งเศสคือ navie และฝรั่งเศสรับมาจากละตินอีกที ดังที่ผมค้นมาได้จาก thefreedictionary.com

     

    Navy = Middle English, from Old French navie, from Latin nvigia, pl. of nvigium, ship, from nvigre, to sail


    และคำว่า นาวี นี้ก็มีในภาษบาลี ซึ่งเป็นภาษาในตระกูล อินโด-ยูโรเปียน เช่นเดียวกับภาษาละตินเช่นกัน แต่แตกต่างและแพร่หลายกันคละพื้นที่ คือภาษาละติน แผ่ขึ้นไปทางเหนือคือกรีก โรมัน และยุโรป ส่วนภาษาบาลีมาทางอินเดียตะวันตก 


    คำว่า นาวีนี้ เป็นคำสมาส มาจากคำว่า นาวา ที่แปลว่า เรือ เติมวิภัตติ อี แปลได้ว่า มี ซึ่งเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของตามหลักไวยากรณ์ในภาษาสันสกฤตรวมกันแล้วเป็น นาวี ซึ่งแปลว่า มีเรือ หรือกองทัพเรือ นั่นเองครับ


    แต่ไม่ว่าจะรับมาจากภาษาอังกฤษ หรือภาษาบาลี ทั้งสองภาษานี้ แปลว่า เรือ ไม่ได้ แปลว่า น้ำ ด้วยเหตุนี้แหละครับ เราจึงไม่เรียกทหารเรือว่า ทหารน้ำ แต่เรียกว่า ทหารเรือ ครับ

     

    แถมให้อีกนิดกับ ตำรวจน้ำ ภาษาอังกฤษว่า Marine Police ซึ่งก็แปลออกมาได้เกือบ ๆ ตรง ซึ่งถ้าจะแปลตรง ๆ ก็ต้องเป็น ตำรวจทะเล แต่คงจะฟังดูแปร่ง ๆ จึงต้องเลี่ยงไปเรียกว่า ตำรวจน้ำ(ทะเล) แทน เนื่องจากฟังดูดีกว่า

     

    ป.ล. เรื่องทั้งหมดนี้ ผมสันนิษฐานเอาทั้งสิ้นนะครับ เนื่องจากหาข้อเท็จจริงไม่ได้ครับ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in