เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
LA 001 : หลัก(นักศึกษา)กฎหมายทั่วไปlawreallife
บทที่ 0 แนะนำบทเรียน
  •          
              บทความนี้จะแนะนำการเริ่มต้นเรียนกฎหมายสำหรับเด็กนิติน้องใหม่ หรือน้องๆม.6 ที่กำลังตัดสินใจว่าจะเรียนนิติศาสตร์ดีมั๊ยหนอ แต่ไม่รู้จะถามใครดี พวกรุ่นพี่ก็หน้าตาน่ากลัว วันๆทำหน้าดำเดินพูดคนเดียวเหมือนท่องคาถา ... อันที่จริง เด็กนิติคุยง่ายนะคะ แค่คุยไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะไม่มีสติเป็นปกติ

              เรื่องที่จะพูดถึงต่อไปนี้คือมุมมองการเรียนกฎหมาย ระดับมนุษย์ธรรมดา ที่ความจำกลางๆ สมองปลาทองบ้างเป็นบางเวลา เรียนแบบอาศัยลูกบ้าและแนวคิดแบบคนขี้เกียจ กระเสือกกระสนจนจบนิติศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม สอบได้ใบอนุญาตว่าความแบบคาบเส้น และตะเกียกตะกายจนได้เนติบัณฑิต ... ยังไม่สะใจเลยลากสังขารไปเรียนปริญญาโท และตอนนี้ก็กำลังจริงจังกับการลงไปสู้ศึกใหญ่เล็ก


     วิชา LA001 จะว่าด้วยเรื่อง How to เรียนกฎหมายเบื้องต้น

     (ฉบับ มนุษย์ธรรมดา) 


              ทำไมต้องมนุษย์ธรรมดา ... เพราะเรามักจะเห็นแต่คนเหนือมนุษย์ทั้งนั้นเลยน่ะสิ จำพวกผู้มีพลังวิเศษที่อ่านรอบเดียวก็จำได้ พวกที่จำเลขฎีกาได้ทั้งหมด พวกที่แบ่งเวลาอ่านหนังสือได้อย่างดี พวกที่ทำงานไปด้วยอ่านหนังสือไปด้วยก็สอบผ่าน ... อันที่จริงก็ไม่ใช่ว่าไม่อยากทำได้แบบนั้น แต่...ก็เพราะว่าทำไม่ได้นี่แหละ มนุษย์ธรรมดาแบบที่ต้องอ่านหลายๆรอบ ต้องอ่านข้ามวันข้ามคืน ต้องอัดกาแฟเข้าเส้น เรียนอย่างเดียวอ่านหนังสืออย่างเดียวก็เกือบเอาตัวไม่รอด อ่านยังไงก็ไม่เข้าใจ จะมีวิธีเอาตัวรอดในโลกกว้างแบบไหนได้บ้าง
              ถือว่ามนุษย์ธรรมดาคนนี้จะมา บอกเล่า เล่าเรื่อง และเป็นกำลังใจให้น้องๆที่กำลังท้อแท้เพราะเรียนไม่ไหวก็แล้วกันค่ะ

    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


              ถ้าพูดถึง "คณะนิติศาสตร์" เรียกได้ว่าเป็นคณะหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กม.6 ไม่มากก็น้อย...ซึ่งก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นเพราะว่าเท่ดีหรือโดนเพื่อนหลอกให้ลง (แฮร่!!)

              เอาเป็นว่า ไหนๆน้องๆก็หลงเข้ามาแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหนก็ตาม ก็ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม แล้วจะเริ่มที่ตรงไหนดี หลังจากที่มีชื่อว่าเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ... มาค่ะ จะเล่าให้ฟัง ทำใจให้สบาย หายใจเข้าลึกๆ ลึกๆ ลึกอีกค่ะ~

    (( อ้อ~ ลืมไป ก่อนที่จะไปต่อ ต้องขอบอกว่า ถ้าหลงเข้ามา เกิน 1 ปี~~ ...หนีไม่ทันแล้วนะคะ -..- ))

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT



              ...เริ่มต้นด้วยคำถามยอดฮิต


    เรียน ยากมั๊ยคะ?

              คำถามนี้มักโดนถามบ่อยๆ บ่อยมาก และการที่เด็กนิติศาสตร์จะตอบว่า "หนีไป" ก็ไม่ได้เป็นการกวนประสาทแต่อย่างใด ... คำว่าหนีไปคือหนีไปได้ก็หนีไปเถอะนะ เป็นห่วง ไม่อยากให้ประสบชะตากรรมที่เวทนา ที่ก็ไม่รู้ว่าชาติที่แล้วไปเผาห้องสมุดแห่งชาติไว้หรืออย่างไร ชาตินี้ถึงต้องมาชดใช้กรรมด้วยการอ่านหนังสือแบบ Never-ending แบบนี้

              แต่ถ้ามั่นใจว่า ใช่ค่ะ หนู/ผม อยากเรียน ตั้งใจไว้แล้ว เลือกมาจากบ้านแล้วคณะนี้ ... มาค่ะ ฟังต่อ~

              มันไม่มีคณะไหนง่ายหรอก มันอยู่ที่ใจว่าสู้รึเปล่า สู้แค่ไหน พร้อมหรือไม่ที่จะอ่านหนังสือข้ามวันข้ามคืน หามรุ่งหามค่ำ อัดกาแฟ เอ็มร้อย อัดน้ำตาล อัดทุกอย่างที่ทำให้ตาสว่าง และท่องประมวลก่อนสอบทั้งๆที่ สมองไม่รับอะไรแล้ว~...ต่อให้ขี้เกียจก็ต้องไปต่อ ต้องท่องประมวลทั้งน้ำตาก็ต้องท่องต่อ ท้อจนแทบปาประมวลทิ้งก็ต้องอ่านต่อ...เพราะ F มันน่ากลัว~ และการสอบไม่ผ่านมันน่ากลัวกว่า! (และที่น่ากลัวสุดๆคือค่าหน่วยกิต)



              ...ต่อด้วยคำถามที่ฮิตไม่แพ้กัน

    เรียน ต้องความจำดีไหม?


              ความจำไม่ใช่ทุกอย่างและเรียนนิติศาสตร์ก็ไม่ได้จำเป็นต้องท่องประมวลได้ทั้งหมด (มันจะมีพวกที่ท่องได้ทั้งหมดอยู่ แต่นั้นเราจะไม่นับว่าเป็นมนุษย์ปกติ) หลัก ๆ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เรียนกฎหมายไม่ได้เรียนทุกตัว นักกฎหมายก็ไม่ได้รู้กฎหมายทุกตัวเช่นกัน เพราะกฎหมายประเทศนี้มีเยอะมาก แก้บ่อยมาก แต่การเรียนนิติศาสตร์ทำให้เราอ่านกฎหมายแล้วเข้าใจว่ากฎหมายนี้ตราขึิ้นด้วยวัตถุประสงค์อะไร ควรที่จะบังคับใช้อย่างไร มีเจตนารมณ์เพื่ออะไร
              อันที่จริงก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นต้องท่องตัวบทเพื่อไปสอบ แต่ถ้าเข้าใจแล้วว่าตัวบทใช้อย่างไร ก็ไม่จำเป็นต้องท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง เพราะต่อให้ท่องได้ทุกตัวอักษรแต่ไม่เข้าใจ ใช้ไม่เป็น ก็ตอบข้อสอบไม่ได้อยู่ดี... ปกติเวลาสอบ จำแค่หลักกฎหมายก็เพียงพอให้ตอบข้อสอบ ส่วนการจำตัวบทได้ทุกตัวอักษรและเลขมาตราถูกต้องอันนี้เป็นคะแนนแถมสำหรับคนมีความพยายาม (แต่ถ้าไม่แน่ใจเลขมาตราอย่าทะลึ่งตอบเด็ดขาดเลยนะ เป็นการยื่นมีดให้อาจารย์แทงสวนล้วนๆ)
              เพราะฉนั้น เพื่อลดเวลาการท่องประมวล จงทำความเข้าใจให้ถี่ถ้วนเสียก่อนว่าเรื่องนั้น มาตรานั้นใช้อย่างไร อ่านฎีกา อ่านข้อสอบเก่าบ่อยๆ เดี๋ยวก็จำเลขมาตราได้เอง


    --คำถามพ่วง--

    ทำยังไงถึงจะจำได้แม่นๆ


              ใช่ค่ะ สำหรับมนุษย์ธรรมดา ท่องอย่างเดียวให้ตายก็ไม่จำ เดินสะดุดยอดหญ้าหรือนอนหลับหนึ่งตื่น ก็ลืมหมดแล้ว (อย่าไปเทียบกับคนที่ท่องประมวลคู่กับเบียร์กระป๋องแต่ยังจำได้เลยค่ะ เรื่องมันเศร้า เรามันสมองปลาทอง TT^TT) ... แต่ก็พอจะมีวิธีแก้ ... ถ้าจำด้วยสมองอย่างเดียวไม่ซึมเข้าร่าง ต้มประมวลแดกไปเลย (ล้อเล่น)
              "เขียน" คือวิธีการที่ดีที่สุดค่ะ สมองไม่จำ ต้องใช้ร่างกายจดจำ การเขียนตัวบท เราจะได้อ่าน ได้เห็น ได้ลงมือ ... ส่วนกี่รอบนั้น~ ก็แล้วแต่สะดวก
              ส่วนตัว อย่างต่ำสามรอบ อย่างมาก(ถ้ามีเวลา)คือนับไม่ถ้วน แต่อย่างน้อยๆก็จะประมาณนี้....
                        รอบที่ 1 คือการรีวิวตัวบททั้งหมด แล้วเลือกเรามาตราที่คิดว่าสำคัญในระดับหนึ่งเขียนลงมาก่อน (รอบนี้ต้องอ่านทุกมาตรานะคะ แต่ไม่ต้องเขียนทุกมาตรา เลือกมาตราที่คิดว่าสำคัญ)
                        รอบที่ 2 คัดมาตราจากรอบ 1 ที่สำคัญกว่า + ย่อตัวบทให้เหลือแต่คำสำคัญในมาตรา
                        รอบที่ 3 ย่อในย่ออีกที (ถ้ามีเวลา) ... รอบที่ 4...5...6 เขียนวนไป อ่านท่อง ท่องอ่าน อ่านคู่กับฎีกา คู่กับตัวอย่าง อ่านวนไป
              และอีกวีธีหนึ่งที่ทำคู่กันไปได้คือ อัดเสียงท่องประมวล เอาไว้ฟังเวลาที่อยู่ในสถานที่ที่การหยิบกระดาษหรือหนังสือออกมาลำบาก เช่น นั่งรถ เดินทาง เป็นต้น (จะอัดเองหรือโหลดจากยูทูบก็ได้นะ มีคนอัดแจกไว้เยอะแยะ)


    ทำยังไงให้อ่านหนังสือแล้วไม่ง่วง


              ทำใจนะคะ~~ ...อ่านหนังสือแล้วไม่ง่วงได้คือยอดคน นั่งดูซีรี่ย์ข้ามวัน อ่านการ์ตูนข้ามคืน เล่นเกมยาวๆไม่มีหาว พอเปิดประมวลหน้าแรกเท่านั้นแหละ *สลบ* ... ง่วงเป็นเรื่องปกติ แต่จะทำยังไงให้ตาสว่างนี่สิ
              เรื่องนี้แต่ละคนมีวิธีการที่อต่างกัน เปิดเพลงไปด้วยบ้าง กาแฟ เอ็มร้อย กินขนมไปด้วยบ้างก็มี แต่จุดร่วมที่ได้ผลคืออัดน้ำตาเข้าร่างกายค่ะ ... จริงๆเป็นวิธีการที่ไม่ค่อยดีเท่าไร แต่ถ้าจำเป็น ก็ไปวิ่งลดน้ำหนักทีหลังเอาเนาะ...วิ่งไปก็ฟังประมวลที่อัดเสียงไปในข้อข้างบนนั้นแหละค่ะ!


              ก่อนจะเข้าบทเรียนแรก คงต้องขอไม่กล่าวถึงเรื่องเรียนนิติศาสตร์ที่มหาลัยไหนดีกว่ากันนะคะ เพราะไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ก็เรียนเหมือนกันหมด กฎหมายเดียวกัน รัฐธรรมนูญโดนฉีกเหมือนกัน เท่าเทียมค่ะ ไม่ต้องห่วงนะคะ *ฮา* เรื่องชื่อเสียงมหาลัยก็สุดแล้วแต่จะคะแนนจะถึงแล้วกันค่ะ มหาลัยเอกชนที่คณะนิติศาสตร์มีชื่อเสียงก็เยอะแยะ เลือกได้ตามสะดวก เพราะไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชน ส่วนใหญ่หนังสือเล่มหลักๆที่ใช้อ่านเสริมก็ไม่ค่อยต่างกัน ดังนั้น เรื่องมหาลัยไหนดี ไม่ถือว่าเป็นประเด็นที่จะต้องกังวลใจ (เว้นแต่ อยากมีส่วนร่วมในงานฟุตบอลประเพณี อันนี้ก็ต้องขยันเยอะหน่อย)

              เพราะฉนั้นเอาเป็นว่า ขอข้ามขั้นตอนเรื่องอ่านหนังสือสอบเข้ามหาลัยไปเลยนะคะ เพราะวิธีสอบตรง สอบอ้อม สอบรวม สอบแยก เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ แต่ผู้เขียนตามวิธีสอบของน้องๆไม่ไหวจริงๆ คะแนนหลายส่วนเกินไป เอาเป็นว่าเป็นกำลังใจให้นะคะ ให้บทความต่อไปนี้ เป็นบทความประกอบการตัดสินใจของน้องๆแล้วกัน ว่าคณะนิติศาสตร์ คุ้มกับการสู้อ่านหนังสือ เพื่อสอบเข้ามหาลัยมั้ยดีกว่านะ


    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

    มันไม่ง่ายนะ เปลี่ยนใจไปเรียนอย่างอื่นยังทันนะคะ

    ... ไม่หรอ?

    ถ้าอย่างนั้น ไปบทต่อไปได้เลยค่ะ ^ ^



    [มีคำถาม สงสัยหรืออยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติม คอมเมนต์ไว้ด้านล่าง หรือ ติดต่อได้ที่ Twitter @LawRealLife]



    Update 27 Apr 2021

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in