ใครๆ ก็มีความทรงจำ—ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับคน สัตว์ สิ่งของเหตุการณ์ รสชาติ สถานที่ หรืออะไรก็ตามที่เราเคยเกี่ยวข้อง อะไรก็ตามที่เราเคยผ่านล้วนกลายเป็นประสบการณ์ที่จะอยู่ติดตัวเราต่อไป ถ้าไม่บังเอิญว่าเป็นคนลืมง่ายเกินไปนัก
‘หน้าพระลาน’ เป็นชื่อถนนเส้นที่ตัดผ่านหน้าม.ศิลปากร ฝั่งวัดพระแก้ว โดยส่วนตัวครั้งแรกที่เราไปเยือนถิ่นศิลปากร เราก็นั่งรถเมล์ไปลงตรงถนนเส้นนี้ มีป้ายรถเมล์เล็กๆ อยู่ตรงข้ามประตูมหาวิทยาลัย ลงรถเมล์แล้วก็เดินข้ามถนน ตรงเข้าประตูไปได้เลย
แต่แปลก ม.ศิลปากรที่อยู่ตรงนั้น ไม่ยักจะใช้ชื่อว่า วิทยาเขตหน้าพระลาน
ลูกไม้เป็นเด็กชอบเล่าเรื่องความทรงจำ (ถ้าดูจากผลงานเล่มก่อนของเธอ) แล้วบังเอิญความทรงจำ ของเธอสามารถถ่าย-ทอด ออกมาเป็นรูปวาดสีน้ำสวยๆ เมื่อบวกกับการเล่าแบบง่ายๆคล้ายคุยให้เพื่อนฟัง ความทรงจำของเธอจึงดูเป็นมิตรกับทุกคนได้ไม่ยาก
และตามประสาเด็กจบใหม่ ความทรงจำส่วนใหญ่ในชีวิตยังคงชัดเจนอยู่ในบริเวณรอบรั้วมหาวิทยาลัย เราเชื่อว่าเวลาไม่รู้จะไปไหน คนเรามักอยากกลับไปอยู่ในที่ที่รู้สึกว่าเป็นของเรา
มหาวิทยาลัยของตัวเองน่าจะเป็นหนึ่งในที่ที่หลายคนอยากกลับไป
ลูกไม้เป็นเด็กศิลปากร—แล้วบังเอิญว่าเธอชอบออกไปเดินเล่น ความประทับใจและความทรงจำของลูกไม้ก็เลยไม่ได้อยู่แค่ภายในอาณาเขตของม.ศิลปากร แต่หมายรวมไปรอบบริเวณหน้าพระลาน ท่าช้าง ท่าพระจันทร์ และพานั่งเรือข้ามฟากไปถึงถิ่นวังหลัง แต่แน่นอน
ลูกไม้ไม่ลืมพาเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัย พาเดินขึ้นไปบนตึกคณะมัณฑนศิลป์—ใช่ ลูกไม้เป็นเด็กมัณฑนศิลป์
แต่อย่าคาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นไกด์บุ๊ค พาเที่ยวสถานที่ขึ้นชื่อแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
หรือพาไปดูของยอดฮิตย่านท่าพระจันทร์ พาไปดูห้องเรียนของเหล่านักศึกษา เพราะสิ่งที่ลูกไม้พาเราไปรู้จักในหนังสือเล่มนี้มีแต่สถานที่ธรรมดา ร้านค้าเล็กๆ ริมทาง และผู้คนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงสำคัญอะไร แต่แน่นอนทุกคน ทุกที่ และทุกอย่างย่อมมีความหมายมีตัวตนอยู่ในความทรงจำของใครสักคน
พวกเรา—สำนักพิมพ์บัน อยากทำหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวน่ารักๆ ของช่วงเวลาที่เคยผ่านมา เผื่อว่าเวลาที่ไม่รู้จะไปไหน ก็อยากให้ทุกคนได้นึกถึงและได้กลับไปเดินเล่นในที่ที่รู้สึกว่าเป็นของเรา
คงจะดีถ้าที่ของเราเป็นที่เดียวกัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in