เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
TalkAtiveYingYue_A
ล่มสภาไม่ใช่คำตอบสำหรับการล้มรัฐบาลประยุทธ์
  • ฉายา “สภาอับปาง” ที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับมาเมื่อปี 2564 ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด เพราะเปิดศักราชใหม่ยังไม่ทันไรก็เกิดเหตุซ้ำรอยอีก แต่สภาล่มเมื่อวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีความพิเศษที่น่าจับตามองกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่าเป็นมติร่วมของพรรคฝ่ายค้านที่จงใจ “ล่มสภา” เพื่อบีบให้พลเอกประยุทธ์ประกาศยุบสภา แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลไม่ลงเล่นเกมนี้ด้วย ผลที่ตามมาคือเกิดการสาดโคลนโยนความผิดกันไปมาระหว่างกองทัพของสองพรรคฝ่ายค้าน 

    ความน่าสนใจของเหตุสภาล่มในครั้งนี้ไม่ใช่วิวาทะระหว่างพรรคฝ่ายค้านทั้งสอง แต่คือสาเหตุที่ทำให้สภาล่มต่างหาก เราแน่ใจหรือว่าความจงใจล่มสภาครั้งนี้จะล้มพลเอกประยุทธ์และองคาพยพได้ ?

    ตามปกติในระบบรัฐสภาอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารไม่แบ่งแยกกันในลักษณะเด็ดขาด สภาจึงมีความสำคัญต่อรัฐบาลอย่างมาก หากรัฐบาลจะขอผ่านกฎหมายหรือขับเคลื่อนนโยบายใดต้องได้รับความไว้วางใจจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องรักษาเสียงข้างมากในสภาไว้เพื่อให้การดำเนินการในสภาเป็นไปอย่างราบรื่นและเพื่อเสถียรภาพของรัฐบาลเอง ในขณะเดียวกันสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจการทำงานของรัฐบาลและตีตกกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ 

    สำหรับประเทศไทยเรามักเห็นอยู่บ่อยครั้งว่าหากกฎหมายที่รัฐบาลเสนอไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร หรือเกิดความขัดแย้งระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในการพิจารณากฎหมายสำคัญ นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจประกาศยุบสภา แต่แท้จริงแล้วเหตุผลในการยุบสภาไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ หากแต่เป็นเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองของไทยเอง 

    ส่วนในกรณีการจงใจล่มสภาที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้เป็นความตั้งใจของฝ่ายค้านที่ไม่เข้าประชุมสภาเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถรักษาองค์ประชุมสภาไว้ได้ หากเปรียบเทียบกับกรณีรัฐบาลเสนอกฎหมายไม่ผ่าน เหตุการณ์นี้ไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ นอกจากพลเอกประยุทธ์จะไม่ยุบสภาแล้วยังส่งผลต่อความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพรรคฝ่ายค้านอีกด้วย

    นับตั้งแต่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคมปี 2562 เกิดเหตุการณ์สภาล่มมาแล้ว 16 ครั้ง หลายครั้งเป็นผลมาจากส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่เข้าประชุมสภา แต่พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกลับไม่เคยแสดงความรับผิดชอบเลยสักครั้งเดียว อีกทั้งยังเอา ส.ว.เข้ามาโหวตตนเองให้เป็นนายกฯ ส่วนพลเอกประยุทธ์เองเมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจมักเดินออกจากห้องประชุมในขณะที่ฝ่ายค้านกำลังอภิปราย ชี้ให้เห็นว่าในสายตาพลเอกประยุทธ์และองคาพยพ สภาเป็นแค่โรงละครราคาหมื่นล้าน แล้วเหตุใดพลเอกประยุทธ์ต้องเดือดเนื้อร้อนใจกับการจงใจล่มสภาในครั้งนี้ของฝ่ายค้าน 

    อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมกันคือ พรรครัฐบาลเพิ่งแพ้การเลือกตั้งซ่อมถึง 3 สนาม ศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 9 พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนรั้งท้าย อีกทั้งยังแพ้พรรคก้าวไกลในพื้นที่ทหาร เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่ามีทหารจำนวนไม่น้อยที่เห็นพ้องกับนโยบายปฏิรูปกองทัพของพรรคก้าวไกล ในส่วนของศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 1 ชุมพรและเขต 6 สงขลา เห็นได้ชัดว่าประชาชนหมดศรัทธากับพรรคพลังประชารัฐแล้ว ผลคะแนนเลือกตั้งซ่อมทั้งสามสนามบ่งชี้ว่ารัฐบาลอยู่ในช่วงเสื่อมถอยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

    สถานการณ์ความนิยมต่ำเช่นนี้เป็นไปได้ยากมากที่พลเอกประยุทธ์จะตัดสินใจยุบสภา ตามปกติการยุบสภามักถูกใช้เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง โดยเฉพาะในกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่รัฐบาลประยุทธ์ 2 ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขนั้น หากประกาศยุบสภาตอนนี้มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคพลังประชารัฐจะไม่มีโอกาสจับจองเก้าอี้สภาในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้อีก คงเหลือหนทางเดียวคือการรัฐประหารล้างไพ่ใหม่ไปเลย แต่ไม่ว่าเลือกทางไหนก็เจ็บหนักอยู่ดี

    และหากพรรคฝ่ายค้านจงใจล่มสภาอีกคงเข้าทางรัฐบาล เพราะในเกมนี้พรรคฝ่ายค้านเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่สุดท้ายฝ่ายที่เจ็บหนักมากกว่าใครคงไม่พ้นประชาชนที่อยู่นอกเกมนี้

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in