เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Vantage PointTeepagorn W.
On How To Sound Smart
  • เห็นสเตตัสบอกว่า "ถ้าอยากเขียนอะไรให้ดูฉลาด ให้ใช้คำต่อไปนี้ : ชนชั้น การประกอบสร้าง รากฐาน เลื่อนไหล ฯลฯ" (สเตตัสนี้ถูกเอาไปลงเพจ ฉันเป็นฮิปสเตอร์ ด้วย) จำทั้งหมดไม่ได้ แต่เก็ตเซนส์ว่าคนที่อัพสเตตัส ต้องการประชดประชัน (แซะ) บทความทางวิชาการ หรือบทความวิพากษ์สังคมที่เขียนๆ กัน ว่าเปลือกมันเป็นอย่างไร (มีคนไปคอมเมนต์ว่านี่อย่างกับบทความมติชน)

    เขายกตัวอย่างว่าถ้าใช้คำพวกนี้ แม้แต่เรื่องไปซื้อหมูปิ้งก็กลายเป็นเรื่องที่ดูใหญ่โตและเฉลียวฉลาดขึ้นมาได้

    อยากบอกว่าเมื่อก่อนก็มีความรู้สึกว่าทำไมบางบทความต้องใช้คำใหญ่ๆ หรือกระทั่งบางบทความก็ทำอย่างที่หลายคนแซะว่าชอบวงเล็บภาษาอังกฤษ แต่พออ่านหนังสือไปเรื่อยๆ ก็เข้าใจว่าเป็นคำเซตนี้ (ที่แซะกันนี่แหละ) ที่อนุญาตให้เรามองโลกด้วยมิติที่ abstract หรือเป็นนามธรรมมากขึ้น เมื่อหลุดไปจากกรอบที่ผัสสะรับรู้/สัมผัสแล้ว ในบางครั้งเราก็จะเห็นเรื่องที่ปรากฏด้วยชุดความจริงอีกแบบ (เอ้อ - คำว่าชุดความจริง ก็เหมือนจะเป็นคำหนึ่งที่แซะกัน) ที่ไม่ได้บอกว่าแบบไหนจริงกว่าแบบไหน แต่มันก็เป็นแว่นที่ทำให้เราคิดได้หลายมุมมากขึ้น

    ส่วนเรื่องที่ต้องวงเล็บภาษาอังกฤษ ก็เพราะว่าคำไทยและคำภาษาอังกฤษนั้นมันไม่ซ้อนทับทาบสนิทกันพอดี เมื่อพูดถึงคำคำหนึ่ง หากหาคำที่มาแทนที่ภาษาอังกฤษไม่ได้ตรงๆ ก็จะต้องใช้คำตัวแทนที่มีความหมายกว้างกว่าลงไป แล้วถ้าแคร์สักหน่อย ก็จะวงเล็บภาษาอังกฤษให้ผู้อ่านเข้าใจอีกชั้นด้วยว่าที่หมายความน่ะ หมายถึงคำนี้ในเซนส์ของคำไหน เช่น สมมติบอกว่า ความเห็นใจ (empathy) ก็หมายถึงว่าพูดถึงความเห็นใจในเซนส์นี้นะ ซึ่งหากจะแปลให้มันครบถ้วนกระบวนความก็ทำได้แหละ แต่ว่ามันก็จะยืดยาวจนไม่น่าอ่าน คือในบางคำ ภาษาอังกฤษมันสามารถครอบรวม (encapsulate) ความหมายของคำได้ดีกว่าภาษาไทย

    ดังนั้นถ้าอยากฉลาดจริงๆ ไม่ใช่แค่อยาก "ดูฉลาด" ก็อาจต้องเลือกที่จะไม่ปฏิเสธคำพวกนี้ (ที่เป็นเครื่องมือให้เรามองโลกอีกแบบได้) ด้วยแหละ เราว่านะ

    อัพเดท มันคือสเตตัสนี้นะ (เครดิตไม่ใช่ของเพจ ฉันเป็น hipster เป็นของใครไม่รู้ เขาไม่ได้ให้เครดิตไว้อะ

    "วิธีการเขียนหนังสือให้ดูฉลาด เริ่มต้นที่การใส่ถ้อยคำดังต่อไปนี้ลงไป
    "วิพากษ์ วาทกรรม กระบวนทัศน์ การล่มสลาย ทุนนิยม ภาพสะท้อน ย้อนแย้ง ลักลั่น มายาคติ ทับซ้อน พร่าเลือน ปัจจุบัน เคลื่อนไป บ่งบอก ความจริง ความเชื่อ ประกอบสร้าง ส่งผล"
    ตัวอย่าง : แม่ใช้เป้ไปให้ซื้อซีอิ๊วจากร้านเจ๊กิม แต่ซีอิ้วหมด
    ปัจจุบันการที่แม่ใช้เป้ให้เคลื่อนไปซื้อซีอิ๊วจากร้านเจ๊กิม เป็นภาพสะท้อนที่ย้อนแย้งถึงการล่มสลายของระบอบทุนนิยมที่พร่าเลือน เกิดจากกระบวนทัศน์อันลักลั่น เนื่องด้วยความเชื่อที่ถูกประกอบสร้างจากมายาคติทับซ้อนกระบวนทัศน์ของวาทกรรม "ซีอิ๊วมีอยู่จริง" ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์ความจริงว่า "แม่ๆ เจ๊กิมบอกว่าซีอิ๊วหมดมีแต่ซอสหอยนางรม"
    เอาไปใช้กัน"
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in