เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First StoryKridpuj Dhansandors
TMR: น้อง.พี่.ที่รัก (วิทยา ทองอยู่ยง, 122 min, 2018)
  • !SPOILER ALERT!
    .
    .
    .
    .
    .


    น่าประหลาดใจมาก เมื่อวานเรามีโอกาสได้ไปดู Bangkok Nites (2016) ที่ YMD ART SPACE เรื่องของลัก หญิงขายบริการอันเป็นฟันเฟืองเล็กๆที่ขับเคลื่อนระบบจักรวรรดินิยมร่วมสมัยของโลกที่หนึ่งในไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมรดกตกทอดของการล่าอาณานิคมจากสมัยสงครามโลก งานของเธออยู่ในซ่องแห่งหนึ่งในซอยธนิยะ ย่านสีลมที่เสมือนเป็นสวรรค์ของชายญี่ปุ่นที่เข้ามาทำมาหากินในไทย นับตั้งแต่ประธานบริษัทร่ำรวย ไปจนถึงพวกที่ตกอับสิ้นจนหนทาง สถานแห่งนี้เป็นเหมือนน้ำเลี้ยงหัวใจของพวกเขา

    เราได้รู้ว่าลักมีลูกพี่ลูกน้องมารดาเดียวกันเป็นลูกครึ่งชาวตะวันตก เมื่อเธอท่องเที่ยวตามติดคนรักของเธอไปทำภารกิจขยายอาณานิคมที่ลาว ในละแวกไทบ้านหนองคายเธอเองก็ยังมีบาร์ที่ชายชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งใช้ทุกค่ำคืนเพื่อละเลงเพลงสุรา คร่ำคราญถึงประเทศต้นกำเนิดที่เขาให้คำคุณศัพท์ขยายว่าเฮ็งซวย

    คราวนี้กลับมาที่ Brother of The Year เล่าเรื่องชัชและเจน พี่น้องลูกครึ่งไทย-จีน-ฝรั่งเศสจากครอบครัวชนชั้นกระฎุมพีที่จังหวัดมหาสารคาม หนึ่งในดินแดนพื้นที่สีแดงยุคสงครามเย็น ชัชเป็นพี่ที่ไม่อาจคงสถานะภาพจำของความเป็นพี่ได้ นั่นคือเสียสละ ดูแลช่วยเหลือน้อง เขาใช้บทบาทของเพศชายคือการให้น้องสาวเป็นผู้เก็บกวาดเหมือนคนใช้ที่ต้องคอยปรนนิบัติ ในขณะที่น้องสาวก็เป็นรักระเบียบ มีวินัย ประสบความสำเร็จในระบบการเรียนในหลายๆด้าน เอาจริงๆ เขาทั้งคู่ก็เป็นภาพสะท้อนของคู่รักชายหญิงหลายคู่อยู่เหมือนกัน ที่เพศหญิงจะเป็นคนซักล้าง ในขณะที่เพศชายจะเป็นคนทำสกปรก

     

    ส่วนน้องสาวก็ต้องการคงสภาพกดขี่พี่ชายของตนไว้ด้วยการเอาปมในอดีตที่เธอคิดว่าเป็นเรื่องตลกล้อเล้นของพี่ชายมาล้ออยู่ร่ำไป ในหนึ่งมันคือการแก้แค้นพี่ชายที่ใช้ความเป็นผู้ชายเข้ามาข่ม มากกว่าใช้ความเป็นพี่ในการดูแลช่วยเหลือน้องสาว แต่จุดที่หน้าสังเกตคือพอน้องสาวจะมีคนรัก ชัชจะเป็นจะตายให้ได้ นี่อาจเป็นความเป็นห่วงที่เขาแสดงออก เช่นเดียวกับฉากที่เขาขยับธูปยากันยุงให้น้อง แต่ในความที่ดูเหมือนว่าหวังดีนี่เอง มันก็มีอะไรที่อาจซ่อนอยู่เช่นเดียวกัน เขาอาจคิดว่าการแต่งงานคือการประสบความสำเร็จในชีวิตอีกขั้นที่เขาเองก็ยังทำไม่ได้ เขายังคงมีความสุขกับความสัมพันธ์แบบ Casual Sex

    และการจากไปของน้อง ไม่ใช่ว่าเขาเป็นห่วงว่าน้องจะถูกหลอก แต่เรากลับรู้สึกว่าเขาจะต้องถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว สิ้นไร้ไม้ตอก ในช่วงที่กราฟชีวิตกำลังดิ่งลงไม่หยุด (ตกงาน เพื่อนทิ้ง) เขากลัวที่จะไม่อาจคงสถานะความเป็นเพศชายไว้ได้ อำนาจที่เขาเคยมีกำลังถึงจุดสิ้นสุด 

    เอาจริงๆ ส่วนที่เล่ามานี่ไม่ใข่ส่วนที่เราสนใจเสียสักเท่าไหร่ เรากลับสนใจประเด็นที่ว่าคนรักของเจน โมจิหนุ่มนักบริหารลูกครึ่งไทยญี่ปุ่น เพราะสำหรับ Bangkok Nites (2016) เล่าถึงชีวิตของคนชนชั้นแรงงานที่ให้บริการทางเพศ ในขณะที่น้องพี่ที่รักเล่าถึงในอีกด้านหนึ่งคือชีวิตของกลุ่มนักธุรกิจญี่ปุ่นหรือลูกจ้างมนุษย์เงินเดือน กลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการในซอยธนิยะ ฉากเล่นกอล์ฟนี่ยิ่งทำให้นึกถึงธนิยะพลาซ่าแหล่งขายอุปกรณ์กอล์ฟ

    ทั้งสองเรื่องต่างมีตัวละครลูกครึ่ง หากแต่เกิดในคนละสถานภาพทางสังคม น้องชายของลักใน Bangkok Nites (2016) เกิดในครอบครัวชนชั้นล่าง หากแต่ทั้งสองเรื่องไม่มากก็น้อยล้วนน่าจะเกิดจากผลการเปิดประเทศในช่วงสงครามอินโดจีน ชายหญิงจากโลกที่หนึ่งเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น 

    ความรักของเจนที่แน่วแน่มัั่นคง ถึงแม้จะมีช่วงจากกันแต่ก็เพราะความหวังดีที่ให้กัน ผิดกับความรักของลักที่เลื่อนลอย แม้แต่กับโอซาวาเอง เธอก็ดูไม่ได้จริงจังอย่างที่คิด เธอถึงกับบอกว่าถ้าเขาจะไปวังเวียงแล้วไม่กลับมาก็ไม่สนใจ แต่ลึกแล้วภายในของลักเองกลับว่างเปล่า เธอโหยหาอ้อมอกจากบุพการีอยู่เสมอ 



    รักของเจนจึงเป็นความรักภายในชนชั้นพ่อค้า และความรักของลักกับคู่นอนของเธอเป็นความสัมพันธ์ของคนชายขอบ แต่เหมือนกันตรงที่ฝ่ายชายของทั้งคู่เป็นคนจากโลกที่หนึ่ง มันจึงมีชนชั้นในความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะอยู่ในระนาบเดียวกัน สังเกตจากเมื่อเจนไปญี่ปุ่นแล้วสถานะของเธอจากหญิงทำงานแข็งขัน กลายเป็นแม่บ้านอันเป็นภาพจำซ้ำซากของเพศหญิง ส่วนโมจิก็ยังเป็นผู้บริหารเช่นเดิม 

    เพศชายเองในทั้งสองเรื่องก็เป็นเพศที่เลือกได้ อย่างโมชิเองเขาเลือกจะไปใช้บริการที่ธนิยะกับเพื่อนๆ ก็ยังได้ หรือจะสร้างครอบครัวอันงดงามสดใสแบบที่เราเห็นในเรื่องก็ได้ เช่นเดียวกับน้องชายของลักที่เลือกจะเป็นทหารหรือพระก็ได้เพื่อรักษาธรรมเนียมปฏิบัติของชาติไทย แต่ลักและเจนเองที่ดูเหมือนมีทางเลือกน้อย 

    การกลับไปอีสานของทั้งสองเรื่องไปยังพื้นที่สีแดงทั้งคู่ในเรื่อง ที่เราพูดถึงเรื่องคอมมิวนิสต์เพราะอย่างที่พูดไปว่าน้องพี่ที่รักเป็นการเล่าถึงโรแมนติกดราม่าของลูกหลานจากยุคสงครามเย็น และน่าสนใจว่าทำไมเขาถึงเลือกจังหวัดในภาคอีสาน อาจจะเพราะต้องการขายหนังให้คนอีสานด้วย หรือเพราะมีฉากหลังเป็นหนังชุดไทบ้าน 

    อย่างไรก็ตามการกลับไปครั้งนั้นมันเต็มไปด้วยความชื่นมื่นของบรรยากาศการแต่งงาน แม้เจนจะทุกข์ใจอย่างมากเรื่องการไม่ปรากฎตัวของพี่ชาย ผิดกับลักที่กลับบ้านไปรอบนี้ มันเหมือนกันไปย้ำเตือนความสัมพันธ์ที่แตกร้าวยากจะเยียวยาระหว่างแม่และเธอเอง

    ทั้งหมดทั้งมวลสำหรับเราแล้วการได้ดูหนังสองเรื่องติดกัน ได้เห็นชีวิตของคนที่เติบโตมายุคหลังสงครามเย็นระหว่างสองชนชั้นที่นับวันยิ่งถีบห่างออกจากันไปเรื่อยๆ ตอกย้ำด้วยภาพตอนจบที่งดงามตามท้องเรื่องของน้องพี่ที่เก็บเกี่ยวช่วงเวลาภราดรภาพกำลังเบิ่งบานอีกครั้งด้วยการเล่นกีฬาในนิยายญี่ปุ่น สายสัมพันธ์ครอบครัวแน่นแฟ้น ความห่วงหาอาทรถูกส่งต่อจากน้าชายสู่หลานรัก ฉากที่ทำให้เราน้ำตาร่วง นี่พอมาคิดดูอีกทีคือเราไม่ได้ร้องเพราะตัวเนื้อเรื่องเลยเสียด้วยซ้ำ แต่ร้องเพราะนึกถึงน้องชายตัวเองต่างหาก

    ตัดภาพไปที่ลัก ควีนตัวท๊อปของซ่องแห่งธนิยะ ชีวิตเธอยังป่วนปั่น ภาพในอดีตมันหลอกหลอน ครอบครัวแตกสลาย ในระหว่างที่ผีร้าย (ที่คาร์ล มากซ์พูดถึง) ดูดเลือดเธออย่างเอร็ดอร่อย

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in